สนธิสัญญา (ความลับ) ฟลามิงโก

สนธิสัญญา (ความลับ) ฟลามิงโก

 

13082485_10154088673997305_2610597221467111447_n
แสงจริง: เขียน

 

หลังอ่าน สนธิสัญญาฟลามิงโก จบลง ฉันสงสัยว่าถ้าลองเปลี่ยนสัตว์ในนิยาย แล้วแทนที่ด้วยมนุษย์ เรื่องราวจะส่งผลไปอีกแบบหรือไม่

โลกใน สนธิสัญญาฟลามิงโก คือโลกของแมว นก แพะ หมา เสือดาว ฯลฯ ตัวละครหลักคือแมวนักเขียนชื่อ มี แมวนักดนตรีชื่อทอนน์ และนกฟลามิงโก บุตรชายผู้ดีมีตระกูลและเป็นเจ้าของธุรกิจตู้เปลี่ยนความลับเป็นพลังงาน

ระบบตรรกะและเหตุผลที่รองรับโลกในนิยายเรื่องนี้ เป็นตรรกะและเหตุผลของสังคมมนุษย์ ระบบศีลธรรมที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่ออยู่ร่วมกันถูกใช้เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนการดำเนินเรื่องของเหล่าสัตว์เมืองพูดได้ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี วัฒนธรรมดนตรี การอ่าน การแต่งงาน การนอกใจ การปรุงอาหาร (แมวในเรื่องทำน้ำพริกกะปิ) การสืบพันธุ์ในระบบเครือญาติเดียวกัน ความมั่นคงของชาติ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ลดทอนความเป็นสัตว์ของตัวละครไปสิ้น แม้ตัวละครทั้งหมดเป็นสัตว์ แต่ สนธิสัญญาฟลามิงโก กำลังพูดเรื่องมนุษย์ ความสัมพันธ์ของมนุษย์ มนุษย์ที่ถูกจำลองในสรีระของสัตว์

ความลับคือหัวข้อใหญ่ คือจุดศูนย์กลางของนิยายเรื่องนี้ คือสิ่งขับเคลื่อนความสัมพันธ์ของตัวละครหลัก ผู้ประพันธ์นำเสนอความลับด้วยรูปแบบที่มีกลิ่นแบบเรื่องแต่งวิทยาศาสตร์และเรื่องแต่งแบบดิสโทเปีย เป็นโลกในอนาคตที่สมาชิกในสังคมสามารถถ่ายทอดความลับของตนผ่านตู้เก็บความลับเพื่อแปลงเป็นพลังงาน (ในภายหลังหน่วยงานความมั่นคงของรัฐเข้ามาควบคุมสอดแนมอย่างละเมิดสัตวชน – สัตวชนคือสำนวนของจิราภรณ์) เธอยังออกแบบให้อาหารการกินของสัตว์ในนิยาย เป็นอาหารที่ถูกโคลนนิ่งเพื่อผดุงศีลธรรม ว่าสัตว์ไม่กินเนื้อสัตว์ที่กำเนิดโดยวิธีธรรมชาติกันเอง

ดูเหมือนว่า ‘ความลับ’ เป็นญาติสนิทของ ‘เรื่องโกหก’ สองสิ่งนี้ต่างกันที่ความลับคือการไม่เผยเพื่อปกปิดความเป็นจริง แต่การโกหกคือการเผยบอกแต่บิดเบือนจากความเป็นจริง สองสิ่งนี้ดำรงอยู่เพื่อสร้างความจริงชุดอื่น ซึ่งสองศรีพี่น้องคู่นี้เป็นศัตรูกับ ‘ความจริง’ นึ่คือหมอกที่ปรากฏในนิยายทั้งเรื่อง และจิราภรณ์ก็คงสนใจพวกมันทั้งสาม -ความลับ เรื่องโกหก และความจริง- และเธอพยายามทำให้เราเห็นและร่วมวิพากษ์พวกมันอย่างเงียบๆ ระหว่างอ่านนิยาย

เราถูกสร้างมาจากเรื่องโกหกพอๆ กับเรื่องจริง (หน้า 154)

ดังนั้น นกฟลามิงโกเจ้าของธุรกิจความลับที่ถูกคุกคาม จึงต่อต้านการควบคุมของรัฐด้วยเทคนิคบางประการ เล่นกลกับความลับ ขายความลับให้คนทำงานศิลปะนำไปสร้างงานใหม่ (แต่มีเงื่อนไขว่าต้องปกปิดที่มาของความลับ) กลับหัวกลับหางความลับ เรื่องโกหก และความจริง

ถ้าเรานำความลับของสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นความลับในระดับจุลภาคหรือมหภาค ความลับของตัวเองหรือความลับของสังคม ให้ไปปรากฏในเรื่องแต่ง ในนิทานที่มีสัตว์พูดได้ ในนิยายที่มีอารมณ์ขันและโรแมนติกสักเรื่อง ความลับเหล่านั้นจะถูกอ่านว่าเป็นเรื่องโกหก ด้วยเหตุนี้ ความลับและเรื่องโกหกจึงทำให้เรื่องแต่งมีศักยภาพที่จะพูดความจริง เรื่องแต่งจึงมีเครดิตที่จะเผยความจริง แม้ว่าในท้องเรื่องแมวจะเป็นนักเขียน หรือเสือดาวจะขับรถได้

ฉันเห็นสิ่งเหล่านี้ใน สนธิสัญญาฟลามิงโก ของ จิราภรณ์ วิหวา

 

author

Random books

© WAY MAGAZINE. All rights reserved