ยิ่งเป็นชาย ยิ่งต้องเป็น ‘เฟมินิสต์’

ยิ่งเป็นชาย ยิ่งต้องเป็น ‘เฟมินิสต์’

เรื่อง: ณัชปกร นามเมือง

ออกตัวก่อนว่า บทความดังกล่าวไม่ใช่การเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ แต่เป็นเพียงการ ‘เล่าเรื่อง’ ความไม่เท่าเทียมทางเพศ โดยเฉพาะกับ ‘เพศหญิง’ ที่เกิดขึ้นบ่อยจนชินตา แต่ทว่ายังมีคนอีกจำนวนมากที่ยังไม่สังเกตเห็น และถึงเวลาแล้วที่เราจะเหลียวมองปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังไม่ว่าคุณนั้นจะเป็นเพศอะไร

เมื่อประมาณปลายปี 2558 ผมและพี่สาวยืนปรับทุกข์กันอยู่ริมถนน โดยกล่าวถึงบุคคลที่สาม (ที่แถวบ้านเรียกว่า ‘นินทา’) โดยมีผมเป็นผู้เล่าและพี่สาวเป็นคนฟัง ผมเล่าให้เธอฟังถึงปัญหาเพื่อนชายล้วนในกลุ่มกำลังแตกคอกัน เนื่องจากเพื่อนคนหนึ่งชอบเอาคนนู้นคนนี้ไปพูดในทางเสียหาย หนักเข้าๆ ก็ตั้งกลุ่มนินทา ก่อนที่ผมจะปิดท้ายการสนทนาว่า “ผมไม่ชอบเลยจริงๆ พวกผู้ชายที่ชอบทำนิสัยแบบผู้หญิง”

ในขณะที่ผมส่ายหัวถอนหายใจ แต่นัยน์ตาของพี่สาวของผมกลับเบิกกว้าง เธอถามกลับว่า “นิสัยผู้หญิงคืออะไร” ผมมองเธออย่างฉงนสงสัย พร้อมกับบอกว่า “ก็นิสัยชอบนินทา ขี้เม้าท์ไง นิสัยที่พวกผู้หญิงชอบทำ” พี่สาวของผมเธอทำสีหน้าไม่พอใจอีกครั้ง และตั้งคำถามต่อวิธีคิดของผมว่า “นี่กำลังเหมารวมหรือเปล่า มันเป็นเรื่องบุคคลหรือเป็นเรื่องลักษณะนิสัยที่ติดมากับเพศ?”

ผมและพี่สาวเรามีเวลาไม่มากนักที่จะต่อบทสนทนากันริมถนน แล้วรีบโบกรถและเดินทางไปที่อื่นๆ โดยทิ้งคำถามปลายเปิดนั้นไว้ และยังไม่มีใครมาช่วยผมหาคำตอบ

‘การเหมารวม’ เป็นบันไดขั้นแรกของความเข้าใจผิด และเมื่อคนเราเข้าใจผิดก็ย่อมมีผลต่อการแสดงออก และผลลัพธ์ของการแสดงออกที่อยู่บนฐานความเข้าใจที่ผิด ย่อมมีผู้ได้รับผลกระทบในเชิงลบตามมา ไม่มากก็น้อย

เวลาผ่านไปเร็วอย่างน่าใจหาย เผลอแป๊บเดียว ก็เป็นช่วงต้นปี 2560 เสียแล้ว ในปีนี้ หัวหน้าผมมีของฝากเป็นหนังสือบางๆ หนึ่งเล่ม แต่ผมไม่ได้สนใจเปิดอ่านมัน และเมื่อเวลาผ่านไป หนังสือก็ยังวางอยู่ที่เดิมแต่ที่เพิ่มเติมคือกองงานและหนังสือที่ผมเอามาวางทับหนังสือเล่มเก่าที่หัวหน้าผมวางไว้แทน

จะด้วยความบังเอิญหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ เมื่อผมกำลังจัดโต๊ะที่แสนจะรกให้เรียบร้อย เจ้าหนังสือที่หน้าปกเต็มไปด้วยรอยขีดลิปสติกก็หล่นลงมาจากโต๊ะ ผมก้มลงไปหยิบขึ้นมา พร้อมกับเห็นประโยคภาษาอังกฤษเขียนที่หน้าของหนังสือว่า ‘WE SHOULD ALL BE FEMINISTS’ หรือที่แปลว่า ‘เราทุกคนควรเป็นเฟมินิสต์’ ซึ่งเขียนโดย ชิมามานดา เอ็นโกซี อาไดชี่ นักเขียนนวนิยายชื่อดังชาวไนจีเรีย

ไม่รู้เพราะเหตุใด ภาพที่ผมกำลังยืนเถียงกับพี่สาวของผมหมุนวนมาอีกครั้ง และผมได้แต่ขำในใจว่า นี่ต้องเป็นหนังสือแบบที่พี่สาวของผมอ่าน และเธอก็กำลังปฏิบัติการณ์ตามหนังสือที่ชี้นำอะไรบางอย่างให้กับเธอ

แน่นอนผมเคยได้ยินคำว่า ‘เฟมินิสต์’ หรือแนวคิดสตรีนิยมที่เรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ แต่ทว่า ทำไมทุกคนควรเป็นเฟมินิสต์คือคำถามที่ผมต้องการหาคำตอบมาเนิ่นนานแล้ว

ผมอ่านหนังสือไปไม่ถึง 20 หน้า ผู้เขียนอย่างชิมามานดา ก็ปล่อยหมัดแย็บเข้าที่หน้าของผมโดยที่ผมเองยังไม่ทันได้ตั้งการ์ด เธอเกิดในประเทศไนจีเรียที่ภูมิศาสตร์ความคิดเกี่ยวกับเรื่องเพศจะเชิดชูความเป็น ‘ชาย’ มากกว่า ‘หญิง’ อันจะเห็นได้ในเรื่องเล่าวัยเด็กของเธอ ที่คุณครูของเธอเคยวางกฎว่าใครก็ตามที่ได้คะแนนสูงสุดจะได้เป็นหัวหน้าห้อง และแน่นอน ชิมามานดาก็คือคนที่ได้คะแนนสูงสุดของห้อง แต่คุณครูกลับบอกว่า “หัวหน้าห้องต้องเป็นผู้ชาย” และทำให้ตำแหน่งหัวหน้าห้องตกเป็นของเด็กผู้ชายซึ่งได้คะแนนเป็นลำดับที่สอง แทนที่จะเป็นเธอ

หลังจากหมัดแรกที่แย็บเข้าใบหน้า ผมสัมผัสได้ว่า ผมมีอาการทางจิตอ่อนๆ เพราะผมยังอยากอ่านต่อและอยากให้เธอฮุคหรืออัปเปอร์คัตปลายคางผมสักครั้ง ด้วยเรื่องราวที่เธอแบกรับอยู่

เธอไม่ปล่อยให้ผมรอนาน เธอเล่าถึงประสบการณ์เมื่อครั้งเธอโตเป็นสาวว่า มีอยู่วันหนึ่งที่เธอและเพื่อนต้องออกไปร้านอาหาร และที่ไนจีเรียมีความยุ่งยากในเรื่องที่จอดรถ แต่ถึงอย่างนั้นก็จะมีเด็กหนุ่มคอยให้บริการตามหาที่จอดรถและสัญญาว่าจะ ‘ดูแล’ รถของคุณเป็นอย่างดี

ในวันนั้นเอง ที่เด็กหนุ่มซึ่งคอยดูแลรถให้เธอและเพื่อน ทำงานได้อย่างน่าประทับใจ เธอจึงตัดสินใจตอบแทนเด็กหนุ่มด้วยเงินเล็กๆ น้อยๆ แต่ในวินาทีที่เธอหยิบเงินออกจากกระเป๋าและยื่นให้ เด็กหนุ่มคนนั้นรับเงินไปและมองข้ามชิมามานดาพร้อมกับกล่าวขอบคุณ ‘ผู้ชายคนข้างๆ’ ของชิมามานดาซึ่งเป็นเพื่อนของเธอ ทั้งที่เธอเป็นคนควักเงินของตัวเองเพื่อจ่ายไป

เท่านั้นยังไม่พอ ชิมามานดายังต้องหัวเสียกับโรงแรมที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในไนจีเรีย เพราะเธอถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยขวางและตั้งคำถามอย่างน่ารำคาญใจ ไม่ว่าจะเป็นแขกที่เธอมาหาเป็นใคร พักอยู่ห้องไหน หรือเธอสามารถแสดงคีย์การ์ดเพื่อพิสูจน์ว่าเธอเป็นเจ้าของห้องจริงๆ ได้หรือเปล่า โดยความยุ่งยากดังกล่าวมาจากฐานความเชื่อที่ว่า “ผู้หญิงไนจีเรียไม่สามารถที่จะจ่ายค่าห้องโรงแรมได้” หรือไม่ก็เข้ามาเพื่อขายบริการทางเพศแต่เพียงอย่างเดียว

สิ่งหนึ่งที่ผมชอบมากๆ ในหนังสือที่เธอเขียนก็คือ เธอไม่ได้พยายามด่ากราดเพศตรงข้ามของเธอ แต่เธอพยายามเชื้อเชิญให้สังคมปรับมุมมอง รวมทั้งสะท้อนผลกระทบต่อแต่ละเพศควบคู่ไปด้วย

เธอเล่าว่า สำหรับผู้ชายในไนจีเรียมักจะถูกคาดหวังมากกว่าผู้หญิง ให้ต้องเป็นคนจ่ายเงินสำหรับทุกอย่างเพื่อแสดงความเป็นชาย หรือแสดงถึงความเข้มแข็งที่มีมากกว่า ซึ่งเธอมองว่า เรื่องดังกล่าวเป็นดาบสองคม เพราะในขณะที่สังคมบีบบังคับให้ผู้ชายต้องแข็งแกร่งเท่าไร อีโก้ของเขาก็จะยิ่งเปราะบางมากเท่านั้น แต่ยิ่งกว่านั้นก็คือ ‘ผู้หญิง’ เป็นผู้ได้รับผลกระทบหนักสุดจากเรื่องนี้

ชิมามานดาเล่าให้ฟังถึงปัญหาในชีวิตคู่ในประเทศไนจีเรียที่สั่งสอนให้พวกเธอมีความทะเยอทะยานได้ แต่ห้ามมีมากเกินไป หรือเธอควรจะประสบความสำเร็จได้ แต่ไม่ควรมากเกินไป เพราะมันจะไปคุกคามเพศชาย และเธอรู้จักผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องยอมขายบ้านตัวเองทิ้ง เพราะไม่ต้องการข่มผู้ชายที่ขอเธอแต่งงาน

และอีกสิ่งหนึ่งที่ผมชอบมากที่สุดในหนังสือเล่มนี้ก็คือ เธอนับผู้ชายเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสมการการแก้ปัญหา มากกว่าจะบอกว่าเราเป็นตัวปัญหาแต่เพียงลำพัง โดยเธอเสนออยู่ประเด็นหนึ่งว่า

“ผู้ชายบางคนรู้สึกถูกคุกคามจากแนวคิดสตรีนิยม ฉันคิดว่าปัญหานี้มาจากความรู้สึกไม่ปลอดภัยที่ปะทุมาจากการอบรมเลี้ยงดูเด็กผู้ชายนั่นเอง มาจากการที่พวกเขารู้สึกว่า คุณค่าของตัวเองจะลดลงถ้าไม่ได้เป็นผู้นำตามธรรมชาติในฐานะผู้ชาย”

“ผู้ชายคนอื่นอาจตอบกลับด้วยการกล่าวว่า โอเค เรื่องนี้น่าสนใจนะ แต่ผมไม่ได้คิดแบบนั้น ผมไม่ได้คิดเรื่องเพศสภาพเลยด้วยซ้ำ และนั่นแหละที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ปัญหาที่ว่าผู้ชายจำนวนมากไม่ได้ใส่ใจคิดหรือสังเกตเรื่องเพศสภาพ ปัญหาที่ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะพูดเหมือนหลุยส์เพื่อนของฉันว่า เรื่องนี้อาจจะเคยเลวร้ายมาก่อน แต่ตอนนี้ทุกอย่างราบรื่นดีแล้ว และปัญหาที่ว่าพวกเขาจะไม่ทำอะไรเพื่อเปลี่ยนแปลงมัน”

“ถ้าคุณเป็นผู้ชายเข้าไปในร้านอาหารแล้วพนักงานเสิร์ฟทักทายคุณคนเดียว คุณคิดจะถามพนักงานไหมว่า ทำไมไม่ทักทายเธอด้วยล่ะ ผู้ชายจำเป็นจะต้องตอบโต้ต่อเรื่องเล็กๆ ที่แสนจะโจ่งแจ้งแบบนี้”

ทั้งนี้ ในหนังสือยังมีตัวอย่างและเรื่องเล่าอีกมากที่อยากให้ผู้อ่านไปสัมผัสเรื่องราวในหนังสือของ ‘ชิมามานดา’ ด้วยตัวเอง แต่อยากจะโน้ตไว้สักเล็กน้อยถึงมุมคิดของเธอซึ่งน่าสนใจมาก เธอเขียนว่า

“ว่ากันตามตรง ผู้ชายครองโลกจริงๆ เป็นเรื่องที่ฟังขึ้นเมื่อหลายพันปีก่อน เพราะมนุษย์ในตอนนั้นอาศัยอยู่ในโลกที่ความแข็งแกร่งเชิงกายภาพคือคุณลักษณะสำคัญที่สุดในการอยู่รอด ผู้ที่แข็งแกร่งกว่ามีโอกาสสูงกว่าในการเป็นผู้นำ และโดยปกติแล้วผู้ชายมีลักษณะทางกายภาพที่แข็งแกร่งกว่า (แน่นอนว่าต้องมีข้อยกเว้นอยู่มากมาย) แต่ในปัจจุบันเราอยู่ในโลกที่แตกต่างจากอดีตโดยสิ้นเชิง”

“คนที่มีคุณสมบัติเป็นผู้นำไม่ใช่ผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงกว่าอีกต่อไป แต่เป็นผู้ที่เฉลียวฉลาดกว่า มีความรู้มากกว่า มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์มากกว่า และฮอร์โมนก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคุณลักษณะเหล่านั้น ผู้ชายและผู้หญิงต่างก็มีความเฉลียดฉลาดมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เท่าเทียมกัน พวกเราพัฒนาแล้วก็จริง แต่ความคิดเรื่องเพศสภาพของเรากลับยังไม่พัฒนามากนัก”

อย่างไรก็ดี ‘เฟมินิสต์’ เป็นคำที่ยาก และยิ่งยากสำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้ฉุกคิดถึงเรื่องเหล่านี้มาก่อน แต่ผมชอบนิยามที่ชิมามานดาเขียนไว้ว่า “นิยามคำว่า เฟมินิสต์ ของฉัน คือชายหรือหญิงคนใดก็ตามที่พูดว่า ใช่ ในปัจจุบันนี้เรามีปัญหาเรื่องเพศสภาพ และเราควรจะแก้ไขมัน เราต้องทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม ‘เราทุกคน’ ไม่ว่าชายหรือหญิงต้องทำให้มันดีขึ้นกว่าเดิม”

author

Random books

© WAY MAGAZINE. All rights reserved