WAY to READ: ‘น้ำใสของผม น้ำข้นน่ะของเขา’ รสที่ไม่ต้องปรุงของนิยามคำว่า Yayoi

WAY to READ: ‘น้ำใสของผม น้ำข้นน่ะของเขา’ รสที่ไม่ต้องปรุงของนิยามคำว่า Yayoi

คิดเหมือนกันไหม?

แรกทีเดียวเมื่อเห็นปกนิยายเล่มนี้ อดไม่ได้ที่จะชี้ชวนให้นึกไปถึงอะไรที่ชวนให้คิดลึกอยู่สักหน่อย จนเมื่อได้อ่านจนจบ ความเข้าใจที่มีต่อเรื่องราวของ ‘เท็น’ และ ‘ก่อ’ ก็ทำให้เห็นอีกแง่มุมของสิ่งที่เรียกว่า รสนิยมในการเสพวรรณกรรมที่เปลี่ยนไปของวัยรุ่นปัจจุบัน และมุมของตนเองที่มีต่อนวนิยายที่เรียกว่า Y

พูดอย่างตรงไปตรงมา ก่อนหน้า น้ำใสของผม น้ำข้นน่ะของเขา เราแทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับ นิยายชายรักชาย หรือที่เรียกในภาษาเฉพาะของวัยรุ่นเด็กสาวว่า ‘Yayoi’ หรือเรียกสั้นๆ ว่า Y นั้นเป็นอย่างไร จนเมื่อได้รับโจทย์ให้รีวิวนิยาย Y เราจึงสอบถามกับเด็กสาวคนสนิท จึงได้รู้ว่านิยามของนิยาย Y นอกจาก Yayoi ที่เป็นเรื่องของชายรักชายแล้ว ยังมี Yuri ที่เป็นเรื่องหญิงรักหญิงด้วย บุคลิกของตัวละครพระ-นางในขนบนิยายประเภทนี้แทบไม่แตกต่างจากนิยาย (หรือการ์ตูน) ที่เคยคุ้นในขนบของชายรักหญิงทั่วไป กล่าวเฉพาะ Yayoi ตัวละครตัวนางจะถูกเรียกว่า Uke หรือ ‘เคะ’ ขณะที่ตัวละครตัวพระจะถูกเรียกว่า Seme หรือ ‘เมะ’

ง่ายๆ แบบนี้ ‘น้ำใสของผม น้ำข้นน่ะของเขา’ เหมือนนิยายรักทั่วไป เพียงแต่เปลี่ยนตัวนางในรูปผู้หญิงที่คุ้นเคยเป็นบทบาทของเด็กชายในลักษณะอรชรอ้อนแอ้น สดใส ร่าเริง และบริสุทธิ์ ซึ่งในอีกแง่หนึ่งไม่อาจปฏิเสธว่าทำไมชื่อของนิยายเรื่องนี้ ถึงเริ่มต้นด้วย ‘น้ำใสของผม’

แรกทีเดียว เมื่อเราได้รู้จัก ‘เท็น’ จะถูกแนะนำโดยผู้เขียนในฐานะผู้ชื่นชอบรสชาติก๋วยเตี๋ยวน้ำใสโดยไม่ต้องปรุงเพิ่มของร้าน ‘ก่อ’ ก่อนเรื่องราวจะค่อยพาเราให้รู้จักถึงความรู้สึกที่พิเศษระหว่างพวกเขาที่เป็นมากกว่าพ่อค้าและลูกค้า ที่เป็นมากกว่าชายวัยพ่อที่ถูกเรียกว่าพี่ กับน้องหน้าใสปีหนึ่งที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกับลูกชายของก่อที่ชื่อ ‘เกม’

บทบาทของเกมในนิยายเล่มนี้แทบไม่ต่างจากนางร้ายหรือตัวอิจฉาในละครทีวีทั่วไปที่เคยคุ้น เขาแค่ไม่ได้ลุกขึ้นมากรีดร้องเมื่อรู้ว่าพ่อของตนไปมีความรักให้กับเด็กหนุ่มในวัยเดียวกัน สิ่งที่เกมทำ คือการพรากเอาความบริสุทธิ์ของเท็นไป เพื่อต้องการจะเอาชนะพ่อตัวเอง นั่นประการหนึ่ง อีกประการ เพราะเกมเองก็รู้สึกชอบเท็นไม่ใช่น้อย แม้ว่าเท็นจะอยู่ในฐานะรุ่นพี่ แต่ถึงแม้จะมึนเมา ถึงแม้จะถูกพรากเอาความบริสุทธิ์ไป เท็นยังคงเข้าใจว่าคนที่ตนร่วมรักด้วย คือ พี่ก่อ พ่อของเกม

…ใบหน้าแสนน่ารักขาวอมชมพูด้วยแรงของแอลกอฮอล์ ดวงตาที่ปรือน้อยๆ นั่นช่างเชิญชวนให้ผมมองอย่างหลงใหลเมื่อผมประคองเขาลงกับเตียงนอน

“พี่เท็น เมาขนาดนี้ยังน่ารักมากเลยนะ รู้ตัวบ้างไหม?”

ผมก้มหน้าลงไปหอมที่แก้ม สูดดมกลิ่นแป้งเด็กปนกับกลิ่นเหล้าเข้าจมูก พี่เท็นส่งเสียงอืออารับก่อนเขาจะหันมายิ้มแก้มปริ

“พี่ก่อ”

ผมเม้มปากแน่น แม้แต่ตอนที่ยังไม่ได้สติ ผมก็ยังแพ้พ่ออยู่ดี…

พูดในอีกนัยได้ว่า ความบริสุทธิ์ที่มาจากจิตใจของเท็นนั้น กลับฉายให้เห็นจิตใจที่ดำมืดของเกมที่ปรารถนาเพียงสิ่งเดียวจากความรัก คือ การเอาชนะ

ณ จุดนี้ เราได้เห็นแง่มุมของครอบครัวก่อ ได้เห็นว่าเหตุใด ชื่อเรื่องในท่อนหลังถึงได้ชื่อว่า ‘น้ำข้นน่ะของเขา’

มุมมองที่มีต่อนิยาย Y เรื่องนี้ เปลี่ยนไปเป็นความเข้าใจว่า น้ำใสของผม น้ำข้นน่ะของเขา มันไม่ได้หมายถึงอะไรที่สัปดนอย่างที่ใจคนหยาบโลนกักขฬะอย่างเราคิดไปเอง แต่เปรียบได้ถึงจิตใจของตัวละครทั้งสองมากกว่า

ชีวิตที่เติบโตมาอย่างสด ‘ใส’ แทบไร้มลทินของเท็น

ชีวิตที่ผ่านพ้นอุปสรรคอันเข้ม ‘ข้น’ และเก็บกักความรู้สึกเอาไว้ของก่อ

ก๋วยเตี๋ยวที่ดีชามหนึ่งนั้น เป็นได้ทั้งน้ำใส และน้ำข้น แต่ก๋วยเตี๋ยวที่จะทำให้คนจดจำได้นั้นคือก๋วยเตี๋ยวที่ไม่จำเป็นต้องปรุงรสเพิ่มให้เสียตัวตนของมันไป

กล่าวอย่างตรงไปตรงมา หากถอดเอาความเป็นชายรักชายออกไปแล้ว โดยตัวบทของ น้ำใสของผม น้ำข้นน่ะของเขา แทบไม่ได้เล่าอะไรใหม่ แต่ในขณะเดียวกัน ด้วยความที่เป็นนิยาย Y นั่นแหละ รสชาติของนิยายเล่มนี้ตามที่ได้รับการปรุงมาอย่างพอเหมาะพอควรแล้วจากผู้เขียน จึงเป็นรสที่ไม่ต้องปรุงเพิ่ม พ้นจากนี้อยู่ที่คนรับประทานแล้วว่าจะชื่นชอบในรสชาติเพียงไร


สนิมกรุงเทพฯ

’รงค์ วงษ์สวรรค์
อธิคม คุณาวุฒิ: อ่าน

ความน่าสนใจเบื้องแรกของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่โปรยปก ระบุว่า ‘นวนิยายเรื่องแรกในชีวิตของพญาอินทรีแห่งสวนอักษร’

ข้อความนี้ขัดกับภาพประทับหรือความทรงจำที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยและจดจำ

สาวกตัวหนังสือของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ จำนวนหนึ่งมักจดจำว่า งานเขียนในรูปแบบนวนิยายเรื่องแรกของนักเขียนระบือนามท่านนี้คือ สนิมสร้อย มหากาพย์แห่งโสเภณีที่ทำเอานักเขียนหนุ่มหลายต่อหลายคนใช้เป็นเหตุผลในการเที่ยวซ่อง

พ้นจากข้ออ้างที่ไปกันได้กับจริตรสนิยมส่วนตัว หากเอาจริงเอาจังกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์สักหน่อยก็จะพบว่า ความคลุมเครือของการเป็น ‘นวนิยายเล่มแรกของ ’รงค์’ เริ่มต้นจากคำถามที่ว่าเราจะนับจากการลงมือผลิตต้นฉบับและคำยืนยันของผู้เขียน หรือนับจากการตีพิมพ์เผยแพร่

ถ้านับแบบแรก ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ระบุในคำนำฉบับพิมพ์ครั้งที่หนึ่งเมื่อเดือนธันวาคม 2504 ชัดเจนว่า หนังสือเล่มนี้เป็นนวนิยายขนาดยาวเรื่องแรกในชีวิต แต่ถ้านับจากการตีพิมพ์เผยแพร่ ก็ต้องยอมรับว่า สนิมสร้อย ตีพิมพ์ก่อน สนิมกรุงเทพฯ 9 เดือน คือเผยแพร่ในเดือนมีนาคม 2504

อย่างไรก็ดี ความโด่งดังและกระแสตอบรับจาก สนิมสร้อย นั้น กลบ สนิมกรุงเทพฯ โดยสนิทอย่างไม่ต้องสงสัย ไม่ต้องดูอื่นไกล ในขณะที่ สนิมสร้อย ตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ สนิมกรุงเทพฯ เพิ่งตีพิมพ์ครั้งที่สองในปีนี้ ซึ่งหมายความว่าห่างจากการตีพิมพ์ครั้งแรกถึง 56 ปี

แล้วทำไมต้องสนใจด้วยว่า หนังสือเล่มไหนควรนับเป็นนวนิยายเรื่องแรกของนักเขียนผู้นี้

ข้อนี้นักอ่านทั่วไปอาจไม่จำเป็นต้องใส่ใจซีเรียส แต่สำหรับคนที่ทำงานด้านขีดๆ เขียนๆ นวนิยายเล่มแรกของนักเขียนนั้นมันบอกอะไรหลายอย่าง

อย่างน้อยที่สุด มันย่อมบอกถึงความพลุ่งพล่าน ความทะเยอทะยาน ความอ่อนด้อย พร้อมทั้งซ่อนนัยชีวิต ภาพต่อจิ๊กซอว์คนเขียนอยู่ในนั้น

’รงค์ วงษ์สวรรค์ ย้ำในคำนำว่า เขาไม่ต้องการทำงานที่เหมือนใคร และเมื่อในยุคนั้น ผู้เขียนนวนิยายเกือบทั้งหมดล้วนเป็นสุภาพสตรี กระทั่ง สันต์ เทวรักษ์ เอ่ยปากผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ว่า นักเขียนนวนิยายผู้ชายหาได้ยาก หรือเกือบพูดได้ว่าไม่มี นั่นเป็นแรงขับดันเบื้องต้น ที่ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ขวนขวายหาโอกาสพิสูจน์คำกล่าวนี้ จนกระทั่งได้เวทีที่ เดลิเมล์วันจันทร์ ภายใต้การดูแลของบรรณาธิการ มานิต ศรีสาคร

นั่นเป็นที่มาชั้นต้นของการทำงานเล่มนี้ ผนวกเข้ากับความทะเยอทะยานที่จะใช้กรุงเทพฯ ทุกซอกมุมเป็นฉากในนวนิยาย ใช้เทคนิคการเขียนแบบนักหนังสือพิมพ์ ตัดเข้าประเด็นเนื้อหาอย่างรวบรัดรวดเร็ว ไม่รบกวนเวลาผู้อ่าน ใช้ต้นทุนชีวิตตนเองเสกสร้างตัวละคร ทั้งบรรณาธิการ นักเขียนบทโทรทัศน์ นักข่าวสายบันเทิง คอลัมนิสต์ ผู้กำกับละคร ฯลฯ จนผู้อ่านเขียนเข้ามาถามว่าคนนั้นคนนี้เป็นใครในชีวิตจริง รวมกระทั่งถึงตัวละครปริศนาอย่าง ‘น้ำค้างหยดเดียว’ ว่าเกี่ยวข้องอย่างไรกับผู้เขียน

อย่าลืมว่า ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เกิดเมื่อปี 2475 นั่นหมายความว่าขณะที่เขียนงานเล่มนี้ เขาอายุยังไม่ถึง 30 ปี คนวัยนี้ต่อให้เก่งกาจทะเยอทะยานเพียงใด ก็ย่อมเปิดเผยร่องรอยอ่อนหัด

จะชอบหรือไม่ชอบงาน ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่การปรากฏตัวของหนังสือเล่มนี้คือรอยเท้าก้าวย่างแรกที่ยิ่งใหญ่ สำแดงพลังสร้างสรรค์อย่างที่คนหนุ่มควรจะเป็น ก่อนที่ใครต่อใครจะยกให้เขาเป็นพญาอินทรีแห่งสวนอักษรในเวลาต่อมา

เอเรวอน ดินแดนไร้แห่งหน

ซามูเอล บัตเลอร์
ประสิทธิ์ ตั้งมหาสถิตกุล: แปล
สันติสุข กาญจนประกร: อ่าน

มนุษย์เป็นเผ่าพันธุ์ที่มีสัญชาตญาณการระวังภัยลึกซึ้งกว่าสิ่งมีชีวิตอื่น พวกเรามักสร้างเกราะกำแพงขึ้นมาล้อมรอบตัวอย่างแน่นหนาเมื่อตระหนักได้ว่าตนกำลังถูกอบรมและเทศนาโดยสิ่งแปลกหน้า ในขณะเดียวกัน เผ่าพันธุ์มนุษย์กลับเปื่อยยุ่ยเหมือนปลาถูกต้มในน้ำเดือด หากปลงใจสมาทานความคิดไปกับความเชื่อใดความเชื่อหนึ่ง

ด้วยความกระพร่องกระแพร่งอันเป็นปกติสามัญแห่งความเป็นมนุษย์ดังกล่าว ไม่มากก็น้อย วรรณกรรมประเภทแซตไทร์ (satire) หรือแนวเสียดสีจิกกัด จึงได้ถูกนักเขียนหยิบมาใช้งานเพื่อสื่อสารประเด็นของตนผ่านความลักลั่นอันน่าขบขันอยู่บ่อยครั้ง

หมู่มวลงานประเภท dystopia หรือวรรณกรรมโลกสมมติทั้งหลายแหล่ นับได้ว่า ‘เอเรวอน ดินแดนไร้แห่งหน’ ของนักเขียนชาวอังกฤษ ‘ซามูเอล บัตเลอร์’ เป็นนิยายระดับเวิลด์คลาสอย่างแท้จริง พูดได้ว่าไม่อ่านก็ได้ แต่เสียดายแน่นอน

งานเขียนที่กล่าวถึงชายผู้ดั้นด้นไปค้นพบดินแดนลึกลับเล่มนี้ ไม่เพียงมีคุณค่าในด้านการเสียดสีจิกกัดเพื่อเรียกเสียงซี้ดซ้าดตามสไตล์ของวรรณกรรมประเภทนี้เท่านั้น ความฉกาจของผู้เขียนได้ถูกพิสูจน์ให้ประจักษ์เมื่อมันสามารถอ่านได้ถึงสองแบบ เป็นการแสดงความเอกอุในการซ้อนแก่นเรื่องอันมหึมาอยู่แล้ว ให้มีความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก

แบบแรก ผู้เขียนวิพากษ์อย่างกล้าหาญถึงค่านิยมต่างๆ ในสมัยวิคตอเรียน อันลือชาเรื่องความเคร่งครัดทางศีลธรรมและศาสนา ผ่านจารีตและตัวบทกฎหมายของชาวเอเรวอน ทั้งเรื่องความกตัญญู การกินเนื้อสัตว์ ความไร้เหตุผล รูปเคารพ กระทั้งเรื่องเสียงส่วนน้อย แน่นอนว่า เอเรวอนก็คล้ายการจับโลกในระเบียบแบบแผนมาคว่ำหัวลง มันมิใช่โลกที่เราอาศัย ทว่าเราจะรู้สึกคุ้นเคยกับมันอยู่ลึกๆ

แบบที่สอง หากอ่านด้วยสายตาของคนยุคปัจจุบัน ท่ามภูมิประเทศของตัวบทที่ใหญ่โตสลับซับซ้อนดุจเขาวงกต บางเรื่องอาจต้องให้เวลามากกว่าหนึ่งรอบในการอ่าน แต่เมื่อหลุดออกมาจากเส้นทางคดเคี้ยวเหล่านั้น แล้วหันหลังกลับไปมอง เราจะต้องตะลึงพรึงเพริดกับภาพที่เห็น มันได้ฉายกะเทาะวิธีคิดแบบคนที่ฝักใฝ่การครอบงำผู้อื่นออกมาได้อย่างหมดจด โดยเปลือยออกมาจากตัวตนของตัวละครอย่างแนบเนียน รวมถึงบทเฉลยในตอนท้าย ณ จุดนี้อยากให้ได้แกะรอยพิสูจน์กันในเล่ม   

เหล่านี้เป็นการยืนยันอีกครั้งว่า แม้เสียงวิพากษ์ของ ซามูเอล บัตเลอร์ ในเรื่องจะแหลมคมเพียงใด แต่เขามิได้มีเจตนาจะยัดเยียดหรือสถาปนาความเชื่อใดให้กลายเป็นสถาบัน อันเป็นแก่นสำคัญหนึ่งที่วรรณกรรมระดับโลกพึงมี

สุดท้ายที่ขาดไม่ได้ซึ่งต้องเอ่ยถึงคือสำนวนของผู้แปล ที่มาแบบไม่มากและไม่น้อยจนน่าเบื่อ เจนจัดขัดเงาให้เสน่ห์ของภาษาไทยปรากฏอย่างพอเหมาะ อันส่งผลให้นิยายเล่มนี้เต็มอิ่มและวับวาว  

ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า

จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์
รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์: อ่าน

รวมเรื่องสั้นขนาดไม่หนาไม่บางเกินไปของนักเขียนรุ่นใหม่มือดีประจำศักราชหลังๆ นี้ ใช้เทคนิควิธีการเล่าเรื่องหลากหลาย ทั้งบรรยาย บทสนทนา บทละคร การแบ่งองก์และตอนในหนึ่งเรื่องสร้างความน่าสนใจ หากเปิดผ่านๆ ในรอบแรกแล้วพบว่าเรื่องสั้นทุกเรื่องเสมือนสิ่งมีชีวิตหน้าตาไม่ซ้ำแบบมาเรียงแถวถมทับกัน พอค่อยๆ เปิดทีละหน้าทำความรู้จักกับมัน กลับเข้าใจง่ายกว่าที่คิด แน่นอนว่าบางรสอาจแปร่งแปลกไปจากที่คุ้นเคยแต่สามารถอ่านรวมๆ กันได้อย่างไม่เคอะเขิน

หลายเรื่องในนี้ใช้ตัวละครสมมุติที่มีบุคลิกไม่ค่อย ‘ไทย’ บางเรื่องก็สวมทับด้วยฉากและชื่อต่างชาติไปเลย ซึ่งเป็นเรื่องดีสำหรับสอดแทรกการวิจารณ์สังคมที่ไม่อนุญาตให้ใครพูดอะไรออกมาตรงๆ ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า  เป็นหนึ่งในนั้น มีตัวเรื่องที่ยิ่งใหญ่ เสียงวิพากษ์ผ่านตัวหนังสือ และจบชนิดกินความรู้สึกคนอ่าน

ขณะที่อีกแบบ เช่น บทเกริ่น ‘ชานชาลา’ หรือในเรื่อง ‘เจลาตินรุ่มรัก’ ก็เป็นการจูงมือคนอ่านให้วิ่งตาม คล้อยตาม จุ่มจ่อมในบ่ออารมณ์ ตามผู้เขียนจะบัญชา แต่แล้วฉากสีเทาทั้งหมดก็มีบทจบที่เป็นตลกร้าย ร้ายแบบไม่หักมุม แต่เป็นอะไรที่ต้องอุทาน ‘เชี่ย’ ออกมา ก่อนจะตามด้วยอารมณ์ขำ หึ หึ นั่นเพราะผู้เขียนแสดงให้เห็นแล้วว่า เรื่องของเขานำพาผู้อ่านมาถึงจุด หึ หึ ได้อย่างแนบเนียนแค่ไหน

The Shape of Ideas

Grant Snider
antizeptic อ่าน

ลายเส้นแบบนี้คุณอาจคุ้นตา เพราะสามารถเสพได้ฟรีๆ ที่เพจ incidental comics ซึ่งส่วนใหญ่คือไอเดียกระจุ๊กกระจิกที่จบใน 1-2 หน้ากระดาษ ว่าด้วยความคิดสร้างสรรค์ และบ่อยครั้งกล่าวถึงแรงขับดันภายในที่ปะทุออกมา แต่ไม่ได้พูดด้วยท่วงท่าโอ่อ่าหรอกนะ ติดจะถ่อมตัวและมีอารมณ์ขันนิดๆ เหมือนที่ผู้เขียนเล่าไว้ ว่าคิดอะไรได้ก็จดๆ เอาไว้ แล้วค่อยมานั่งวาดตอนกลางคืน (กลางวันเขาเป็นทันตแพทย์)

ไล่สายตาไปแต่ละช่องอาจไม่ถึงขำก๊าก แต่เพียงพอให้ยิ้มมุมปาก และกระตุ้นให้สังเกตสังกาสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัว เผื่อหยิบฉวยมาใช้เป็นไอเดียบ้าง ผมตามอ่านเป็นประจำและติดงอมแงม พอรวมเป็นเล่มก็ดูมีเนื้อมีหนัง และช่วยบำบัดยามสิ้นไร้ไอเดียและซังกะตายกับงานในหน้าที่ได้ดีทีเดียว

author

Random books

© WAY MAGAZINE. All rights reserved