WAY to READ: ความไม่เงียบใน ‘วันเงียบ’

WAY to READ: ความไม่เงียบใน ‘วันเงียบ’

ยังไม่ทันที่จะอ่านรวมเรื่องสั้นครบทุกเรื่อง แต่ความรู้สึกอยากจะปล่อยหน้าโปรแกรม word ให้ว่างเปล่าแล้วเคาะ enter ลงมาเรื่อยๆ จนได้ระดับกึ่งกลางจึงค่อยพิมพ์สั้นๆ ลงไปแค่คำว่า ‘ร้ายกาจ’ ก็เกิดขึ้นเสียแล้ว ยิ่งเมื่ออ่านจนครบทุกเรื่องยิ่งมั่นใจ

แต่ก็นะ มั่นใจเช่นกันว่า บก. คงจะไล่ให้ไปเขียนเพิ่มด้วยคำตอบ “มันสั้นไป๊!”

นี่จึงอาจเป็นรีวิวหนังสือในแบบสั้นๆ เพราะอยากให้คนอ่านไปหาอ่านโดยไม่ต้องมีความเห็นทื่อๆ เซอะๆ นี้มาเป็นไกด์ไลน์
อย่างที่ วาด รวี เขียนไว้คำนำโดยอ้างอิงคำพูดของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ว่า เรื่องสั้นเหนือจริงที่ผสมผสานกับการใช้สัญลักษณ์สื่อความหมาย… และถ้าจะเขียนเท่านี้ก็อาจจะครบแล้วที่อยากสื่อ แต่อย่างที่เกริ่น ดังนั้นจึงขออนุญาตขยายความของรวมเรื่องสั้นในนิยามเหนือจริงของ รัชตะ อารยะ ในชื่อ วันเงียบ เท่าที่จะไม่เป็นการ ‘เปิดเผยเนื้อหาบางส่วน’ จนเกินไป

รวมเรื่องสั้น วันเงียบ ประกอบด้วยเรื่องสั้นอย่างชนิดที่เรียกว่า ‘สั้นๆ’ จำนวน 10 เรื่องด้วยกัน และอย่างที่สุชาติได้กล่าว เรื่องสั้นทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องสั้นที่เล่นกับสภาวะสามัญสำนึก ทั้งไม่อาจแยกแยะระหว่างความจริงกับความลวง ไม่อาจตระหนักถึงโซ่ตรวนที่ล่ามอิสระเสรี และไม่อาจได้ยินเสียงกรีดร้องในความเงียบงันนั้น

หากให้นิยามนอกเหนือจากที่สุชาติได้กล่าวไปแล้ว รวมเรื่องสั้นของรัชตะมีกลิ่นที่คล้ายคลึงกับงานของ ฟรานซ์ คาฟคา สูงทีเดียว แต่สิ่งที่แตกต่างคือ เรื่องสั้นแต่ละเรื่องมีบรรยากาศที่ทำให้สัมผัสได้ว่าโลกใน วันเงียบ ไม่แตกต่างจากโลกในปัจจุบันของเราๆ ท่านๆ ของผมและคุณมากนัก ในขณะที่งานคาฟคามักจะหลุดพ้นออกไปจากกรอบเหล่านี้ แม้ไม่สิ้นเชิง แต่ทุกวันนี้ ‘ปราสาทแห่งความไม่เข้าใจ’ ในงานของคาฟคายังคงตระหง่านไม่เปลี่ยนแปลง

ยอมรับเลยว่าเพราะความคล้ายคลึงนี้ ทำให้รู้สึกอยากจะพิมพ์แค่สั้นๆ ลงไปว่า ‘ร้ายกาจ’

ซึ่งความร้ายกาจนี้ไม่ได้หมายถึงผู้เขียนมีกลวิธีเล่าที่คล้ายคลึง เปล่าเลย จริงๆ แล้วเรื่องสั้นแต่ละเรื่องใน วันเงียบ ไม่ได้ชวนให้งุนงงในทำนอง ‘อ่านไม่รู้เรื่อง’ ตรงกันข้าม รัชตะเขียนอย่างเข้าใจง่าย แต่ในความเข้าใจง่าย รัชตะกลับมีลูกล่อลูกชนทางภาษาที่ยั่วเย้าคนอ่าน ตั้งคำถาม กระทั่งกระตุกเบาๆ ให้หวนดูความจริงอีกทีในทำนอง “ดูให้ใกล้อีกนิดสิ”

ความร้ายกาจของ วันเงียบ อยู่ตรงนี้

มากกว่านั้นด้วยบรรยากาศที่ไม่ไกลไปจากสภาวะที่เราพบเจอ การมีความรู้สึกร่วม เรื่องราวที่ยังตกค้างในความรู้สึก ทำให้เรื่องสั้นแต่ละเรื่องมีมวลของสิ่งที่อยากบอกมากกว่าสิ่งที่ตัวมันเองอยากนำเสนอออกมา เรื่องสั้นใน วันเงียบ มีจังหวะที่ซ้อนอยู่ในน้ำเสียงของบรรยากาศที่เงียบงันนั้น

คงไม่อึกทึกเกินไป หากจะบอก หากตั้งใจฟัง เชื่อว่าคงได้ยินเสียงของความเงียบนั้น


อะไรทำให้ชีวิตคนเรามีความหมาย (The power of meaning)

Emily Esfahani Smith
อรรวรรณ คูหเจริญ นาวายุทธ: แปล
อธิคม คุณาวุฒิ: อ่าน

ไม่ได้อ่านหนังสือแนวนี้มานานแล้ว (เอ…หรือว่าเอาเข้าจริง แทบไม่เคยอ่าน)

ลองนึกเร็วๆ มีคนประเภทไหนบ้างจะหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่าน

หนึ่ง – คนหนุ่มสาว คนวัยแสวงหา อยากรู้คำตอบว่าชีวิตคืออะไร เราเกิดมาทำไม ความหมายของการมีชีวิตคืออะไร
สอง – คนมีความทุกข์ กำลังสงสัยว่าอะไรคือความทุกข์ อะไรคือความสุข
สาม – คนเคว้งคว้างแหว่งวิ่น นึกไม่ออกว่าจะมีชีวิตไปเพื่ออะไร ต้องการแรงบันดาลใจในการหายใจและใช้ชีวิต

คงมีอีกนั่นแหละ แต่นึกคร่าวๆ แค่นี้ก่อน

บังเอิญช่วงนี้กำลังอีดิทงานทฤษฎีการเมืองเล่มหนึ่ง จึงพบว่าคำถามนี้เป็นคำถามสำคัญที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคที่มนุษย์เริ่มศึกษา เรียนรู้ และมีบันทึก คนที่พูดเรื่องทำนองนี้เอาไว้ตั้งแต่ยุคกรีกก็คือ อริสโตเติล

อริสโตเติลเสนอไว้ตั้งแต่ยุคโน้นว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นดำรงอยู่อย่างมีจุดหมายปลายทาง (ภาษากรีกใช้คำว่า telos) ซึ่งต่อมาก็คือหลัก teleology หรือการมองและทำความเข้าใจสรรพสิ่งจากจุดมุ่งหมายปลายทางของมัน อาทิ telos ของเมล็ดข้าวคือการผลิออกรวงใหม่ ให้ผลผลิตงดงาม telos ของน้ำคือความบริสุทธิ์ ความสมดุล ฯลฯ

ถ้าความพยายามที่จะตอบคำถามนี้มีมาตั้งแต่ยุคกรีก แล้วอะไรคือเงื่อนไขใหม่ที่เป็นเหตุเป็นผลให้ต้องอ่านหนังสือเล่มนี้

บทที่หนึ่งปูเรื่องไว้ว่า นับแต่ปี 1960 เป็นต้นมา อัตราผู้มีอาการซึมเศร้าในสหรัฐเพิ่มสูงขึ้นมาก ระหว่างปี 1988-2008 มีการใช้ยาต้านอาการซึมเศร้าเพิ่มขึ้นสี่เท่าตัว ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 อัตราการฆ่าตัวตายในหมู่ประชากรชาวสหรัฐอายุระหว่าง 15-24 ปี เพิ่มสูงขึ้นถึงสามเท่า และในกลุ่มประชากรวัยกลางคน อัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 40 นับตั้งแต่ปี 1999 เป็นต้นมา

ในแต่ละปี มีชาวอเมริกันฆ่าตัวตายราว 40,000 ราย และถ้าจะหาตัวเลขผู้กระทำอัตวินิบาตกรรมทั่วโลกพบว่าสูงถึง 1 ล้านคนต่อปี

จะเห็นว่าเริ่มเข้าสู่สถานการณ์ร่วมสมัยแล้ว

ประเด็นที่ผู้เขียนเสนอก็คือ เงื่อนไขของความพยายามฆ่าตัวตายไม่ใช่ความทุกข์ แต่เป็นการไม่สามารถอธิบายความหมายของการมีชีวิตอยู่

สิ่งที่ควรรู้ก่อนอ่านก็คือ ผู้เขียนร่ำเรียนมาทางจิตวิทยาเชิงบวกประยุกต์ เติบโตมาในครอบครัวที่ผูกพันกับศาสนา อีกทั้งยังมีความรักความสนใจในวรรณกรรมคลาสสิก เพราะฉะนั้นแนวทางของข้อเสนอและคำอธิบายของเธอ จึงพิงอยู่กับเงื่อนไขพื้นฐานเหล่านี้

ผู้ที่ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวได้ ก็คงได้รับพลังบวก ได้แรงบันดาลใจจากการอ่านหนังสือหนึ่งเล่ม

ส่วนพวกมนุษย์ซับซ้อนหรือพวกที่พอรู้ทางกระบวนท่างานเขียนที่พิงอยู่กับจิตวิทยาเชิงบวก ศาสนา หรือการอ้างอิงวรรณกรรมเล่มใหญ่ๆ อาจจะไม่ต้องอ่านก็ได้ เพราะอ่านไปอ่านมาอาจเกิดอาการคัน

บันทึกลับเซินเจิ้น (Shenzhen No One Knows)

ศิลา บัวเพชร
รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์: อ่าน

‘ปลอม’ สิ่งที่ ศิลา บัวเพชร เขียนยั่วเยาะล้อเลียนจินตนาการตัวเองก่อนไปใช้ชีวิตในประเทศจีน คือ กลัวของปลอม

ผมก็แอบแวบคิดว่าหนังสือเล่มนี้อาจปลอม ด้วยความเข้าใจผิดแต่เดิมว่าของจริงมันต้องเขียน ‘เสินเจิ้น’ …

บันทึกเล่มนี้คือการเปิดเผยชีวิตไม่ลับของศิลา (แต่ลับสำหรับผู้อ่าน) โดยอิงจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ต้องระหกระเหินหนีวิชาชีพสถาปนิกที่แร้นแค้นงานในบางกอกไปหาความรุ่มรวยกระเป๋าแบบ architect ผู้มีอันจะกินในเซินเจิ้น

คล้ายคู่มือนำเที่ยวที่ถูกเล่าผ่านการใช้ชีวิตหลายปีในเซินเจิ้น นำพาคนอ่านด้วยภาษาง่ายๆ ในทีนี้หมายถึงภาษาปากที่พูดจาประสาเพื่อนด้วยเสียงที่หนึ่งแบบไม่ประดิดประดอยให้สุภาพมากความ จะมึงก็มึง จะกูก็กู บางทีบางครั้งก็เล่าเรื่องส่วนตัวล้วนๆ นี่คือการสนทนาเยี่ยงมิตรสหายไม่ผลักไสคนอ่าน เป็นลายเซ็นของเขาเช่นเดียวกับที่เคยเห็นใน ประเด็นก็คือ ใน WAY Magazine

ถึงจะเป็นงานเขียนจริงๆ เล่มแรก แต่เรื่องเล่าของเขาก็ไม่แห้งแล้ง ด้วยความเป็นสถาปนิกที่มีงานวาดรูปเผยแพร่ก่อนงานเขียนเรื่อง การ์ตูน ภาพสเก็ตช์ทั้งเส้นและลงสี รูปถ่าย จะทำให้คุณเดินทางตามรอยการผจญภัยตามแบบของเขาได้ง่ายๆ แม้จะแฉลบออกไปเจอความเลอะข้างทางบ้าง แต่ไม่มีหลง

ยืนยันอีกครั้ง ถ้าจะหาคู่มือนำเที่ยวเซินเจิ้นให้พิจารณาเล่มอื่นบนแผง นี่คือบันทึกการใช้ชีวิตส่วนตัวที่มีตัวละครมากหน้าหลายตาผ่านเข้ามา เพื่อนร่วมงาน ชาวต่างชาติ มิตรสหายชายไทยหน้าตาคุ้นๆ จากในการ์ตูนผู้บินข้ามน้ำไปเยี่ยมเยือน หากจะตีความให้เข้านิยาม ‘คู่มือ’ บันทึกลับเซินเจิ้น น่าจะใกล้เคียงกับคู่มือการใช้ชีวิตมากกว่า เพราะเล่าตั้งแต่ลงจากเครื่องบิน ที่อยู่ ห้องนอนแคบๆ โรงนวด ร้านตัดผม ผับบาร์ ย่านลับซอกหลืบ ชนิดที่นักท่องเที่ยวคงคิดว่า “มันอโคจรสำหรับกูแท้ๆ”

นี่คือการใช้ชีวิตในแบบเซินเจิ้น – ของจริง ทำในจีนแท้ ไม่มีปลอม เบสออนทรูสตอรีล้วนๆ

เรื่องง่ายๆ

Leonardo Sciascia
นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ: แปล
วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์: อ่าน

1. นวนิยายหนา 70 หน้า สามารถอ่านรวดเดียวจบ

2. ไม่ได้ฉงนใจกับการหักมุม เรื่องราวจบชัดเจน แต่เหมือนมีหมอกบางๆ ทำให้เราทบทวนว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ระหว่างทางการอ่าน

3. จึงบันทึกเป็นข้อๆ เผื่อสามารถนำมาประกอบกันเพื่อพิจารณาประหนึ่งบันทึกของตำรวจผู้สืบหาความจริง

4. ผู้เขียนเล่าเรื่องชัดแจ้งทุกคำและทุกสิ่งที่เล่า เล่าเรื่องง่ายๆ ฉากชนฉาก ไม่มีเหวี่ยงหวือทางภาษา ชัดเจนและเรียบง่าย

5. เป็นนิยายสืบสวนสอบสวนที่มีผู้ร้ายคือกระบวนการสืบหาความจริง

6. มีประโยคนี้โปรยก่อนเข้าเรื่อง “อีกครั้ง ข้าพเจ้าประสงค์จะหยั่งหาความเป็นไปได้ให้ละเอียดถี่ถ้วน ว่าอาจยังมีความยุติธรรมหลงเหลืออยู่” เดือร์เร็นมัทท์, ความยุติธรรม

7. ภาพวาดที่หายไปในนิยายเรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากข่าวการหายไปของภาพวาดชื่อ Nativity with Saint Lawrence and Saint Francis ของ คาราวัจโจ หายไปจากโบสถ์ในเมืองปาแลร์โมเมื่อปี 1969 เป็นฝีมือของกลุ่มมาเฟีย

8. นิยายเรื่องนี้ตีพิมพ์ปี 1989

9. เรื่องนั้นชัดเจนอยู่แล้วว่า ใครทำอะไรและเกิดอะไรขึ้นในเหตุการณ์ที่เกิดในเทศกาลฉลองแด่นักบุญบนเกาะซิซิลี ประเด็นนี้ตกไปได้เลย

10. การเปรียบเทียบระหว่างกระบวนการสืบสวนกับการเขียนนิยายทำให้คนอ่านปลีกความสนใจจากคดีความมาสู่อะไรที่เป็นปรัชญากว่าตัวคดี

11. “การใช้ภาษาไม่ใช่การใช้ภาษา แต่มันคือการใช้เหตุผล” คือประโยคที่ตัวละครที่เป็นอาจารย์กล่าวกับอัยการ

12. แต่ใน ซิซิลี (หรือในอิตาลี ฉากหลังของเรื่อง) “ถ้าอ่อนเรื่องการใช้ภาษามากกว่านี้ คุณคงยิ่งมีตำแหน่งสูงขึ้น”

13. เมื่อนำ 12 ข้อข้างต้นประกอบกันแล้ว ผมคิดว่า จะต้องอ่าน เรื่องง่ายๆ ซ้ำอีกสักรอบ

author

Random books