วันที่ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ถอดหมวก

วันที่ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ถอดหมวก

เรื่อง: พีระพัฒน์ สวัสดิรักษ์

 

เมื่อเข็มนาฬิกาขยับเคลื่อนเดินหน้า วันเวลาก้าวเปลี่ยนจากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี ไม่สิ้นสุด ชีวิตเองก็คงไม่ต่างกัน ไม่อาจกล่าวได้ว่าเราสามารถหยุดยั้งความคิดและตัวตนของเราไว้อย่างนิ่งสนิท

นั่นจึงถือเป็นเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่งว่าปาฐกถาของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในวัยใกล้ 70 ปี จะเป็นเช่นไร  ‘ประเทศไทยในความคิด ความคิดในประเทศไทย’ คือชื่อหัวข้อปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งจะจัดขึ้น ณ หอประชุมศรีบูรพา (หอประชุมเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันศุกร์ที่ 9 มีนาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 8.30 – 12.00 น.

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในฐานะผู้นำนักศึกษาเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และหนึ่งในสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่เคยจับปืนต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการในป่า คงเป็นภาพจำของใครหลายคนที่เกิดทันห้วงเวลาเหล่านั้น และสำหรับคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ก็คงสืบค้นเรื่องราวเหล่านี้ได้ไม่ยากเย็นนัก

ด้วยบุคลิกยอมหักไม่ยอมงอในวัยหนุ่ม พบพานความพ่ายแพ้ในการต่อสู้จนถอยออกจากป่า บาดแผลลึกเชิงอารมณ์ในหลายแง่มุมทำให้นักคิด นักเขียน นักวิชาการ และอาจารย์มหาวิทยาลัยผู้นี้ ผละตัวเองออกจากสังคมอันวกวนวุ่นวาย ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย กระทั่งวันหนึ่งยอมถอดหมวกของตัวเองที่เปรียบเสมือนการละทิ้งตัวตนและอัตตา

WAY ขอพาย้อนไปสำรวจความเป็น เสกสรรค์ ประเสริฐกุล จากผลงานรวมเล่มความเรียง วันที่ถอดหมวก ก่อนที่งานปาฐกถา ‘ประเทศไทยในความคิด ความคิดในประเทศไทย’ จะเริ่มขึ้น ลองพินิจพิจารณากันว่าในห้วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ถึงขณะปัจจุบัน ความเป็น เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง และชวนตั้งคำถามว่าเขาจะส่งต่อความคิดรูปแบบใดให้กับสังคมไทยในปี 2561

วันที่ถอดหมวก

ความเรียงว่าด้วยอิสรภาพจากตัวตน (The Art of Being Nobody) ที่ เวียง-วชิระ บัวสนธ์ บรรรณาธิการสำนักพิมพ์สามัญชน นิยามผลงานเล่มดังกล่าวว่าเป็นแก่นคิด-แนวทาง หรือทฤษฎีในการจัดชีวิตจิตใจให้ดี โดยเน้นถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับสรรพสิ่งทั้งมวล บวกกับความกล้าที่จะเปิดรับ กระทั่งไม่ยึดติดเรียกร้องต้องการอันใดทั้งสิ้น

‘วันที่ถอดหมวก’ คือชื่อของบทหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งกล่าวถึงตัวเองในวันที่เดินทางไปสอนหนังสือที่ธรรมศาสตร์ตามปกติ ทว่าในวันปกตินั้นก็เกิดเหตุการณ์ที่เขาเชื่ออยู่ลึกๆ ว่าฟ้าดินกำลังมอบบทเรียนบางอย่างให้กับเขาอยู่ พูดอย่างตรงไปตรงมาก็คือขณะเดินออกจากคณะรัฐศาสตร์เพื่อไปทำธุระอีกที่หนึ่ง เขาพบหมาจรจัดตัวโต ซึ่งเคยตั้งท่าจะกัดมาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งทำให้เขาเดือดเนื้อร้อนใจเป็นอย่างมาก

แต่เมื่อได้รู้ถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของหมาตัวนี้ว่าอาจเคยถูกชาวต่างชาติที่แต่งกายคล้ายกับเขาทำร้ายมาก่อน กล่าวคือ มีหมวกอยู่บนศีรษะและสะพายเป้ใบหนึ่งอยู่กับตัวนั่นเอง แผลในใจของหมาเถื่อนตัวนี้จึงทำให้ อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก เขาไม่เคยคิดมาก่อนเหมือนกันว่าชีวิตนี้จะต้องยอมถอดหมวกที่เป็นเหมือนเครื่องแต่งกายประจำตัวตั้งแต่ยุค 14 ตุลา เป็นเครื่องแบบนักปฏิวัติ หรือกระทั่งยามจับปลาก็ยังต้องมีหมวกสักใบสวมไว้เสมอ แต่เขากลับต้องถอดหมวกเพื่อความพึงใจของหมาตัวหนึ่ง

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในวัยใกล้ 60 ปี (ช่วงที่เขียนหนังสือ) มีข้อคิดมากมายจากเหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ ในชีวิต เช่น การเผชิญหน้ากับหมาจรจัดข้างต้น การยืมวีซีดีมาดูที่บ้านในหน้าฝน การเดินออกกำลังกายตามคำแนะนำของหมอ หรือแม้แต่การนั่งหวนนึกถึงความทรงจำในอดีต เขาคิดใคร่ครวญกับทุกอย่างที่เกิดขึ้น จนทำให้เกิดเป็นความตระหนักรู้ ส่งผลไปถึงการพัฒนาตัวเองในระดับจิตวิญญาณ

ตลอด 10-20 ปีที่ผ่านมา หลากหลายคำถามประเดประดังเข้ามาถาโถม เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เกี่ยวกับจุดยืนทางการเมือง เนื่องด้วยไม่ได้เห็นเขาแสดงบทบาทผู้นำที่ต่อสู้กับความอยุติธรรมร่วมกับประชาชนในระหว่างบ้านเมืองประสบปัญหาการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน

ในบท ‘นอกเหนือการเมือง’ เขาได้ตอบโต้คำถามดังกล่าวไว้ว่า

… สำหรับผมคงต้องขอเรียนตรงๆ ว่าหลังจากเห็นโลกมาเกินกึ่งศตวรรษ และผ่านความขัดแย้งระดับเลือดนองแผ่นดินมามากกว่าหนึ่งครั้ง ‘ความดันทางการเมือง’ ของผมนับวันยิ่งลดลง

เปล่า…อันนี้ไม่ได้หมายความว่าผมเลิกสนใจเรื่องบ้านเมืองหรือหมดความเห็นเรื่องส่วนรวม ผมเพียงแต่มีสติมากขึ้นเกี่ยวกับลักษณะสัมพัทธ์หรือความเป็นอนิจจังของเรื่องผิดถูกดีชั่วทางสังคม รวมทั้งให้ความสำคัญต่อความถูกต้องทางจิตวิญญาณมากกว่าเดิม

และในปาฐกถา ‘ทิศทางการเมืองไทยกับสังคม 4.0’ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2560 น่าจะเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ยืนยันได้อย่างแจ่มชัดว่าเขาคือคนหนึ่งที่ใส่ใจต่อบ้านเมืองมาโดยตลอด เพราะทุกคำพูดที่เอ่ยออกมานั้นถือได้ว่าเป็นการชำแหละให้เห็นเนื้อในของการเมืองไทยที่นับวันยิ่งพิลึกพิลั่นมากขึ้น รวมทั้งเผยให้เห็นปัญหาอันสลับซับซ้อนอย่างเป็นขั้นเป็นตอนตามแบบฉบับของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

ดังนั้นไม่ว่าจะมองจากมุมไหน เคยอ่านหนังสือของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล มาแล้วเท่าไหร่ หรือรู้จักตัวตนของเขาจากเสียงลือเสียงเล่าอ้างมามากน้อยแค่ไหน ก็ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าความคิดของเขายังคงมีพลังต่อสังคมในทุกยุคทุกสมัยจริงๆ

ด้วยวัยใกล้ 70 ปี ของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ไม่ได้ทำให้ความน่าสนใจของงานปาฐกถาที่จะเกิดขึ้นลดน้อยถอยลงไปเลย เขาจะสุขุมคมคายขึ้นมากแค่ไหน ผู้เป็นนายของภาษาคนนี้จะสร้างสรรค์คำว่าอะไรขึ้นมาบ้างในปี 2561

และเขาจะพูดอะไรในหัวข้อ ‘ประเทศไทยในความคิด ความคิดในประเทศไทย’ พลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง ณ หอประชุมศรีบูรพา (หอประชุมเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันศุกร์ที่ 9 มีนาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 8.30 – 12.00 น.

author

Random books

© WAY MAGAZINE. All rights reserved