WAY to READ: สมิงสำแดง การร่ายรำของหงส์ขาวในร่างเสือสาว

WAY to READ: สมิงสำแดง การร่ายรำของหงส์ขาวในร่างเสือสาว

ประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซียปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าเริ่มต้นเมื่อกองทัพญี่ปุ่นขับไล่เนเธอร์แลนด์ออกไปในช่วงสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา ซึ่งแยกจากการสู้รบในสมรภูมิที่ยุโรปในยุคสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งกองทัพญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ เอกราชที่จะมีสิทธิเหนือดินแดนของชาวอินโดนีเซียจึงปรากฏแสงรำไรขึ้นครั้งแรก หากเพียงแต่เนเธอร์แลนด์ยอมรับในการประกาศเอกราชนั้นแล้วไม่นำกองทัพเข้าสู้รบกับชาวอินโดนีเซีย จนนำไปสู่ข้อตกลงลิงกัดยาติ (Linggadjati Agreement) ในปี 1946 (พ.ศ. 2489) เพื่อยอมรับอำนาจปกครองตนเองให้กับรัฐบาลอินโดนีเซียเหนือเกาะชวาและสุมาตราเท่านั้น

เรื่องราวใน สมิงสำแดง นวนิยายชิ้นเอกของ ‘เอกา กรุณียาวัน’ เริ่มต้นด้วยความตายของ ‘พ่อ’ สองคนจากสองครอบครัวที่ต่างเป็น ‘พ่อ’ ที่ระยำตำบอนด้วยกันทั้งคู่ แต่เนื้อหาที่เป็นแก่นกลางของเรื่องนั้นเจาะลงไปที่ครอบครัวของ มาร์ฆีโอ เด็กหนุ่มผู้ได้รับการยกย่องจากคนในหมู่บ้านให้เป็นพรานผู้เก่งฉกาจในการล่าหมูป่ามากที่สุด เด็กหนุ่มผู้เงียบขรึมและติดจะเขินอาย แม้จะเป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าเขาปรารถนาจะสังหารพ่อแท้ๆ ของตนเพียงใด แต่เมื่อมาร์ฆีโอ ‘ฆ่า’ จริงๆ พ่อที่เขาฆ่าด้วยการกัดกระชากเนื้อที่ลำคอจนหัวแทบหลุดขาดจากร่างกลับเป็น ‘อันวาร์ ซาดัต’ ศิลปินวาดรูปนักปลอมแปลงผู้มักมากในกาม ‘พ่อ’ ของลูกสาวผู้งดงามสามคน หากแต่ถูกนินทาในฐานะเด็กสาวที่ปล่อยปละเนื้อตัวผิดครรลองจากวิถีของมุสลิมที่ดี

27 ธันวาคม 1949 อินโดนีเซียได้รับเอกราช แต่เนเธอร์แลนด์ไม่ยินยอมให้รวมดินแดนอิเรียนตะวันตก (Irian) เข้ากับอินโดนีเซีย และทั้งสองฝ่ายเตรียมจะเปิดฉากปะทะขึ้นอีก แรงกดดันจากนานาชาติต่อพฤติกรรมของเนเธอร์แลนด์ไล่เรียงมาตั้งแต่การไม่ยอมรับในเอกราชของอินโดนีเซีย การจับกุม ซูการ์โน ผู้นำเรียกร้องอิสรภาพ ในเวลาต่อมาได้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย นำไปสู่การยินยอมของเนเธอร์แลนด์ในการมอบอำนาจการตัดสินใจให้เป็นหน้าที่ของสหประชาชาติซึ่งส่งต่อไปยังประชากรในอิเรียนตะวันตกเพื่อทำการตัดสินใจว่าจะอยู่กับเนเธอร์แลนด์หรือรวมเข้ากับหมู่เกาะอื่นๆ ของอินโดนีเซีย ผลคือประชากรในอิเรียนตะวันตกเลือกอย่างหลัง

เขาไม่สามารถหนีความเป็นจริงที่ว่า กอมาร์ บิน ซูเอิบ เป็นเสาหลักของบ้าน ไม่ว่าจะมีสภาพเสื่อมโทรมและโอนเอนจากความทรุดโทรมของเสาเอง หรือสั่นคลอนด้วยพายุที่โหมพัดเข้าทำลาย มาร์ฆีโอรู้เพียงอยากจะจัดการพ่อ

– หน้า 98

มาร์ฆีโอชอบเรียกตัวเองว่า ‘กฤษณะ’ ที่สามารถแปลงกายเป็นนรสิงห์บราฮาลา (Brahala) ร่างอวตารที่จะปรากฏออกมายามพระกฤษณะบันดาลโทสะ หากแต่มาร์ฆีโอคงไม่เคยคิดว่าจริงๆ แล้วอวตารในกายเขาไม่ใช่สิงห์ แต่คือสมิงสาวสีขาว ตามคำของปู่ผู้เต็มไปด้วยเรื่องราวอันน่าอัศจรรย์

“เสือตัวนั้นมีสีขาวราวกับหงส์”

ปู่ผู้ได้รับการสืบทอดเสือขาวมาจากปู่ของปู่ เสือขาวที่จะมาหามาร์ฆีโอ หากเสือเห็นว่าเขานั้นคู่ควร บอกกับเด็กหนุ่มก่อนเสียชีวิตในวัยชรา

ประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐอินโดนีเซียมีอีกชื่อทางศาสนาว่า ‘สุกรฺโณ’ ซึ่งเป็นคำที่หยิบยืมมาจากภาษาสันสกฤตในรูปของภาษาชวา มีความหมายว่า กรรณะผู้ประเสริฐ ในขณะที่ ‘กรรณะ’ (कर्ण) หรือ ‘ราเธยะ’ (राधेय) นั้น เป็นตัวละครในเรื่อง มหากาพย์มหาภารตะ เป็นลูกของ พระอาทิตย์ และ พระนางกุนตี ขณะที่พระนางกุนตีนั้นเป็นน้องสาวของ พระวาสุเทพ ซึ่งเป็นบิดาของ พระกฤษณะ ที่มาร์ฆีโอนำมาเรียกขานแทนตัวเอง กำเนิดของกรรณะเกิดขึ้นจากความไม่ตั้งใจของพระนางกุนตีที่ร่ายมนต์เรียกพระอาทิตย์ให้มาสมสู่กับตน

เช่นเดียวกันกับมาร์ฆีโอซึ่งเกิดขึ้นจากพ่อที่ไม่ได้รักแม่ หากแต่ปรารถนาในเรือนร่างของหญิงสาวอย่างรุนแรงและเต็มไปด้วยการกดขี่ข่มเหงไม่ต่างนางบำเรอในเรือนทาสของเจ้าอาณานิคมที่เมื่อหน่ายแล้วก็ส่งต่อให้คนพื้นถิ่นไปกระทำย่ำยีต่อ

แม้เมื่อได้รับอิสรภาพ แต่บาดแผลนั้นยังคงฝังลึกอยู่ข้างใน

เมื่อพิจารณาเช่นนี้ ความโยงใยในมิติสัมพันธ์ของตัวละคร และการถือกำเนิดของมาร์ฆีโอผู้จะกลายเป็นเสือสีขาวในภายหลังจึงอาจ – และควรถูก – พิจารณาในฐานะของปรัมปราของเรื่องราวเก่าแก่บนฉากร่วมสมัยของอินโดนีเซียภายหลังยุคอำนาจนิยม ‘ระเบียบใหม่’ เพื่อเริ่มต้นยุค ‘ปฏิรูป’ ในเดือนพฤษภาคม 1998

อรชุนแผลงศรอัญชลิกะตัดคอกรรณะ: by Ramanarayanadatta astri via wikipedia.org

จนกว่าความตายจะมาเยือน ความตายซึ่งต้องเกิดขึ้นโดยไม่อาจเลี่ยง มาร์ฆีโอเอนหลังพิงฝาผนังพลางเอามือแตะสะดือ สัมผัสถึงเสือที่นอนเอกเขนกอยู่ในนั้น แต่ถึงอย่างไรมันก็ยังไม่เชื่อง เขาพูดกึ่งขบขันกับอากุง ยูดา “ฉันไม่โสดแล้วนะ”

– หน้า 91

อันที่จริง แม้จะพิจารณา สมิงสำแดง ในฐานะวรรณกรรมร่วมสมัยที่บอกเล่าบาดแผลประวัติศาสตร์ในแง่มุมทั้งส่วนบุคคลและความเป็นรัฐชาติได้อย่างแยบคาย ผสมผสานตำนานท้องถิ่นที่มีวัฒนธรรมร่วมในฐานะหน่อเนื้อจากบิดาเดียวกัน หรืออาจจะมารดา?

ความน่าสนใจของนวนิยายเรื่องนี้จึงอยู่ตรงที่เอกาชักจูงเราให้เดินผ่านกลิ่นคาวคละคลุ้งของเลือดและความตายเพื่อกลับไปทบทวนที่มาที่ไปของเราว่าโดยแท้แล้วเราถือกำเนิดจาก ‘แม่’ หรือ ‘พ่อ’ มากกว่ากัน

ทั้งโดยนิยามส่วนบุคคล

ทั้งโดยนิยามความเป็นรัฐชาติ

ความตายของกอมาร์ บิน ซูเอิบ พ่อแท้ๆ ของมาร์ฆีโอจึงเกิดขึ้นอย่างน่าเวทนา ตายด้วยการกัดกินจากเนื้อในความชั่วร้ายของตัวเขาเอง แตกต่างจาก อันวาร์ ซาดัต ผู้มักมากในกาม ซึ่งตายด้วยการโบยบินของหงส์ขาวในรูปลักษณ์ของเสือขาวในร่างของมาร์ฆีโอสาสมกับโทษทัณฑ์ในฐานะ ‘พ่อ’ ซึ่งละทิ้งลูกให้ตายเสียตั้งแต่ยังไม่เติบโต

กระนั้น ความตายของ อันวาร์ ซาดัต ก็อาจเป็นอาการไม่สมหวังที่มาร์ฆีโอผู้ซื่อใสปรารถนาเพียงให้แม่ – นูราเอนี สมหวัง ได้พบความสุข และความรัก

แม้ว่า – หรืออาจเป็นไปได้ด้วยซ้ำ – ว่าความตายของ อันวาร์ ซาดัต บันดาลขึ้นจากโทสะที่มาร์ฆีโอมีต่อแม่ตัวเองจากการที่เขาแอบไปพบเห็นทั้งสองคนลักลอบสมสู่กัน ได้พบความสุขที่เขาไม่กล้าแม้แต่จะอาจเอื้อมสัมผัส

ทว่าเมื่อสิ่งนั้นคือความสุขประการเดียวในชีวิตระทมทุกข์ของนูราเอนี มาร์ฆีโอจึงเลือกให้อภัย

แด่ยิ้มนอกรีต ฉันให้อภัยที่เธอจะนอนกับสัตว์นรกที่ไหนก็ได้

– หน้า 249

แล้วพาร่างที่ภายในนั้นคือสมิงขาวราวกับหงส์ไปพบกับ ‘พ่อ’ ของน้องสาวร่วมแม่เดียวกันเพื่อร้องขอในสิทธิ์อันพึงมีเบื้องหน้า อันวาร์ ซาดัต พลันที่คำตอบกลับเป็นการปฏิเสธ สมิงสาวในตัวมาร์ฆีโอจึงได้สำแดง


สมิงสำแดง Lelaki Harimau
เขียน: เอกา กุรณียาวัน (Eka Kurniawan)
แปล: เพ็ญศรี พานิช
สำนักพิมพ์: ไลต์เฮาส์พับลิชชิ่ง
author

Random books

© WAY MAGAZINE. All rights reserved