WAY to READ: ‘กบฏวรรณกรรม’ ยอมเป็นขี้ตีนหงส์ดีกว่าหัวหมา

WAY to READ: ‘กบฏวรรณกรรม’ ยอมเป็นขี้ตีนหงส์ดีกว่าหัวหมา

กบฏวรรณกรรม

 

…จนถึงปัจจุบันที่มีสมญาว่ายุคโลกาภิวัตน์แล้ว คำถามที่ประชาชนยังสงสัยและใคร่ถามคือ ทำไมรัฐและชนชั้นปกครองไทยถึงได้หวาดกลัวและปิดหูปิดตาต่อแนวความคิดแหวกแนวที่ก้าวหน้าของประชาชนอย่างไม่ลืมหูลืมตา…

ด้วยชื่อหนังสือที่ทั้งอาจกระตุ้นเร้าและอาจเลิกคิ้วตั้งคำถามกับคำว่า ‘กบฏ’ ในท่วงท่ายังมีอยู่อีกหรือในยุคสมัยนี้ ‘กบฏวรรณกรรม’ ของ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ก็อาจจะนับได้ว่าเป็นหนังสือที่หากไม่ใช่ผู้สนใจในสองสิ่ง คือ ‘ประวัติศาสตร์’ และ ‘วรรณกรรม’ แล้วอาจจะไม่น่าสนใจนัก แม้ทั้งสองคำนี้จะอยู่ภายใต้บรรยากาศของคำว่า ‘การเมือง’ อีกทีหนึ่งก็ตาม

หนังสือเล่มนี้พาเราไปรู้จักปฐมบทของหนังสือต้องห้ามของรัฐไทยนับตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การสั่งริบ เผา ทำลาย นิราศหนองคาย ของ หลวงพัฒนพงศ์ภัคดี (ทิม สุขยางค์) ซึ่งไม่ได้ทำหน้าที่แค่บอกเล่าเรื่องราวเชิงสังวาสตามขนบของนิราศเท่านั้น แต่ยังตั้งคำถามต่อคำสั่งการออกรบของผู้บัญชาการในขณะนั้น มาจนถึงบรรยากาศในช่วงเรียกร้องเสรีภาพในทศวรรษ 2490 กับการเกิดขึ้นของ ปีศาจ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ ฟ้าบ่กั้น ของ ลาว คำหอม มาจนถึงการต่อสู้ที่คลี่คลายไปแล้วในวรรณกรรมไทยร่วมสมัยหลังทศวรรษ 2520 อย่าง คำพิพากษา ของ ชาติ กอบจิตติ และ โลกใบเล็กของซัลมาน ของ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เพราะ

…ไม่มีใครคิดหรืออยากเขียนงานทำนอง วรรณกรรมการเมือง และวรรณกรรมเพื่อชีวิต แบบยุคสมัยหลังการปฏิวัติ 14 ตุลาฯ ออกมาอีกต่อไป เพราะวรรณกรรมดังกล่าวนั้นได้ถูกวิพากษ์และถูกวิจารณ์อย่างหนักหน่วงว่าได้นำเอางานสร้างสรรค์และความงาม รวมถึงความเป็นวรรณศิลป์ของมันไปรับใช้งานการเมืองและการเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองเสียหมดสิ้น…

– หน้า 39

ชนชั้นกลางกับการถดถอยของการอ่าน

สิ่งที่น่าสนใจในหนังสือเล่มนี้ ในมุมส่วนตัวอาจไม่เกี่ยวกับความเป็นกบฏหรือไม่กบฏของวรรณกรรมนัก คือคำอธิบายของธเนศที่ว่า ประวัติศาสตร์ของวรรณกรรมหรือเรื่องเล่านับตั้งแต่มุขปาฐะไม่ว่าจะในยุโรป (เริ่มในศตวรรษ 19) หรือไทยเอง (เริ่มในศตวรรษ 17) กว่าจะเกิดนวนิยายขึ้นก็ต้องอาศัยฐานคนอ่านที่มาจากชนชั้นกลางเป็นหลัก ซึ่งเมื่อมองในปัจจุบัน การเติบโตของวรรณกรรมไทยถดถอยนำไปสู่คำถามในลักษณะย้อนกลับว่า นวนิยายไทยและวรรณกรรมไทยไม่อาจตอบโจทย์ของชนชั้นกลางได้อีกแล้วหรือ?

หรือโจทย์นั้นเปลี่ยนแปลง วรรณกรรมไทยในลักษณะก้าวหน้าทั้งหลายแหล่จึงลดจำนวนลงเรื่อยๆ จากหลักพัน จนเหลือเพียงแต่หลักร้อย

ในขณะเดียวกัน จากกระแสการเมืองในทศวรรษที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ทางของตัวผู้สร้างงานวรรณกรรมเอง และตัวงานวรรณกรรมเองได้กลายเป็นหนึ่งในคมหอกไว้ทิ่มแทงศัตรูทางการเมืองฝ่ายตรงข้าม มีนักเขียนที่แบ่งสีอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันก็มีนักเขียนไม่น้อยที่ประกาศไม่สวมสีใดๆ เพราะศิลปะย่อมอยู่เหนือการเมือง

จนอาจกล่าวได้อีกนัยว่าความเป็นชนชั้นกลางในการเป็นฐานรองรับวรรณกรรมไม่ได้แตกต่างในแง่ภาพรวม แต่หากเจาะลึกลงไปแล้วจะเห็นความแตกต่างที่ว่านี้ค่อนข้างชัดเจน ล่าสุดอย่างการปรากฏตัวของรางวัลวรรณกรรมที่ชื่อ ‘รางวัลปีศาจ’ ก็นับเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความไม่สยบสมยอมในกระแสธารหลักบางอย่างของวรรณกรรมไทยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน

ซึ่งน่าสนใจเมื่อหันไปพิจารณาสิ่งที่ธเนศเขียนไว้ใน กบฏวรรณกรรม ว่า

…ตรงกันข้าม บรรดาผู้คนในชนชั้นกลางทั้งหลายพอใจจะตัดช่องน้อยแต่พอตัวด้วยการหันไปรับใช้และเป็นกาฝากของชนชั้นสูงตามประเพณีเสียมากกว่า ทำนองว่าเป็นหางหงส์หรือขี้ตีนหงส์ ยังดีกว่าเป็นหัวหมา.…

– หน้า 38

 

ในขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งของวรรณกรรมที่ไม่อาจป่าวร้องได้อย่างอิสรเสรีบนแผงหนังสือ (มิพักต้องตั้งคำถามว่ายังมีแผงหนังสือหลงเหลือสักกี่แผงในปัจจุบัน) วรรณกรรมเพื่อแสดงความรู้สึกอึดอัดคับข้องต่อสภาวการณ์บ้านเมืองกลับพบเห็นได้ในห้องน้ำ ซึ่งอาจมีมาตั้งแต่ยุคสมัยเมื่อ 40 กว่าปีก่อนโน้น จวบจนปัจจุบัน เหมือนเช่นที่ธเนศเขียนไว้ว่า

…ในวินาทีแห่งการสำนึกถึงเสรีภาพนั้นเอง ที่เรามีความรู้สึกว่า เพียงเราเขียนประโยคประท้วงสังคมและรัฐบาลเพียงวรรคเดียวบนผนังเหนือโถปัสสาวะผู้ชายในห้องน้ำที่ตึกห้องสมุดกลางของมหาวิทยาลัย ก็จะทำให้เกิดการสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งในตึกและในมหาวิทยาลัยแห่งนั้น และกระทั่งถึงรัฐบาลได้…

– หน้า 78

 

น่าสนใจว่าในอีกแง่มุมแล้วนั้น วรรณกรรมขีดเขียนบนผนังห้องน้ำ (ซึ่งบางข้อความก็อาจเป็นแค่การสำเร็จความใคร่ส่วนบุคคล) นับว่าเป็นวรรกรรมด้วยหรือไม่?

author

Random books