อ่านนิยาย ‘ประพฤติการณ์’ ในประเทศกูมี

อ่านนิยาย ‘ประพฤติการณ์’ ในประเทศกูมี

ฉากทรงพลังที่สุดของนิยายเรื่อง ประพฤติการณ์  ฝีมือการประพันธ์โดย นิธิ นิธิวีรกุล เริ่มต้นหลังประโยคเหล่านี้

“พวกคุณเป็นอะไรกัน ถึงชอบหัวเราะ หรือยิ้มต่อความทุกข์ของคนอื่น เป็นนิสัยของพวกคุณ หรือพวกคุณไม่รู้จะจัดการยังไงกับความตายที่อยู่ตรงหน้า ความทารุณที่อยู่ตรงหน้าหรือไร?”

– หน้า 173

เป็นฉากเล็กๆ ที่ตัวละครเอกนาม ประพฤติ ซึ่งผู้เขียนหยดสีแห่งการรับรู้อันไม่ปะติดปะต่อและสับคละลงบนภาพวาดแห่งเรื่องราวอันคลุมเครือว่า เขาเป็นเพียงนักศึกษาชั้นปี 3 ที่ถูกกาหัวว่าเป็นภัยต่อราชอาณาจักร ผู้รอคอยให้เพื่อนมาพบตามนัดในเมืองที่ไม่รู้จัก-บนถนนที่เงียบเหงา กำลังถูกนำตัวไปยังลานประหาร

ในหัวใจอันเต้นแรง ข้าพเจ้าย้อนระลึกกลับไปกลับมา ในหัวพล่านไปด้วยความสับสน คุคั่งและอึดอัด เลือดในกายสูบฉีด

ข้าพเจ้าใช้เวลาถึงสองรอบ เพื่ออ่านนิยายเล่มไม่หนานี้ ด้วยเหตุผลสองประการ หนึ่ง… ประพฤติการณ์เป็นนิยายเชิงความคิดที่มีเส้นเรื่องซับซ้อน เรียกร้องสมาธิในการค่อยๆ แกะรอยเนื้อหาเครียดขรึมอย่างใจเย็น และสอง… ในฐานะเพื่อน, นิธิ นิธิวีรกุล เป็นคนที่ข้าพเจ้าประจักษ์แล้วว่าอุทิศชีวิตให้แก่การเขียน ‘วรรณกรรม’ ชนิดหมดหัวใจ

สำนวนที่พอเหมาะพอดี ไม่ขาดไม่เกิน ลื่นไหล อีกทั้งยังสวยงาม ทั้งหมดนี้ไม่อาจตีความเป็นอื่นได้ นอกจากการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง อันเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ข้าพเจ้านึกอิจฉา

“…คล้ายว่าลมพัดได้สลัดเปลี่ยนผ้าคลุมของท้องฟ้าปลายฝนที่อบอ้าว เป็นต้นฤดูหนาวที่แห้งและเย็น…” – หน้า 39

บนถนนเส้นเล็กๆ ย่านชานเมืองทอดผ่านหน้าบ้านของข้าพเจ้า ผ่านศาลารอรถโดยสารโกโรโกโส ผ่านสุนัขตัวผอมโซ ผ่านชาวบ้านหน้าตาอิดโรย ผ่านความเปลี่ยวว้าง ผ่านความเหลื่อมล้ำน่าเหลือเชื่อแม้เพิ่งพ้นเมืองหลวงได้นิดเดียว และแน่นอน ผ่านบ้านของนิธิซึ่งข้าพเจ้าจินตนาการถึงร่างเงาของเขายามทำงานเขียนอย่างโดดเดี่ยว-โอบล้อมด้วยผืนทุ่งนา

ทว่าทุ่งนาในมโนนึกของนิธิแตกต่างออกไป

“ยอดรวงโอนเอนไปตามสายลมหนาวที่พัดผ่านโดยตลอด และเพียงชั่วขณะ ชั่วขณะเดียวเท่านั้น ที่ประพฤติพบว่ายอดรวงพลันเปลี่ยนเป็นสีแดง เขาหยุดเดิน มองพินิจยอดรวงข้าวที่จู่ๆ ก็กลายเป็นทะเลทุ่งนาสีแดง”

– หน้า 56

อย่างช่วยไม่ได้ มันทำให้ข้าพเจ้านึกถึงบางท่อนของบทเพลงสุดเดือดดาลของคนหนุ่มในนาม Rap Against Dictatorship ที่ว่า… “ประเทศที่ใจกลางกรุงกลายเป็นทุ่งสังหาร…ประเทศกูมี ประเทศกูมี”

เส้นเรื่องหลักๆ ของนิยายเรื่องนี้แบ่งออกได้สามส่วน เกี่ยวพัน ไขว้ไปไขว้มา ก่อนหลอมละลายกลายเป็นเนื้อเดียวกันของตัวตนเด็กหนุ่มที่ชื่อประพฤติ ซึ่งผู้เขียนจัดการภาวะรับรู้ของคนอ่านตั้งแต่ต้น โยนเราไปอยู่บนท้ายรถกระบะ งัวเงียขึ้นในแสงยามโพล้เพล้ ไต่เลาะไปบนพรมแดนที่ไม่อาจแน่ใจว่าเป็นฝันหรือจริง

ภายใต้บรรยากาศเฉพาะตัวของเรื่อง ที่ผ่านการออกแบบให้รู้สึกถึงความไม่มั่นคง ไม่แน่นอน คลอนแคลน เราจะไม่มีแผนที่ใดๆ ในหัว ไม่บอกตำแหน่ง ความทรงจำของตัวละครและคนอ่านถูกจัดการให้พร่าเลือน เรารู้เพียงว่า เป็นเหตุการณ์หลังรัฐบาลเริ่มปราบปราม มันอาจเกิดขึ้นในอนาคตวันหนึ่งวันใดก็ได้-ยากคาดเดา เมืองที่อดีตและปัจจุบันไหลเวียนปะปน

“ข้าอยู่ของข้าที่นี่มาหลายปี” ชายชราบางคนในเรื่องว่า ก่อนอธิบายต่อ “ข้ามีหน้าที่เฝ้าที่ร้างนี่เท่านั้น”

อย่างไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยน ประพฤติการณ์ เป็นนิยายที่ว่าด้วย ‘การเมือง’ ผู้เขียนตั้งคำถามตั้งแต่ส่วนเศษเล็กๆ ไปจนถึงระดับโครงสร้าง เป็นความพยายามถักทอให้เห็นถึงหลายสิ่งที่ประกอบสร้างเป็นสังคมไทย ทั้งความไม่เท่าเทียมทางเพศ ทุนนิยมที่มาพร้อมการผูกขาด กรรมวิธีสร้างคำศัพท์ที่มีอิทธิพลต่อความคิด ระบบการปกครองโดยฝั่งฝ่ายที่อ้างตนเป็นดี มายาคติ ศาสนา สถาบันโรงเรียน การเวียนว่ายตายเกิด งมงายและวิทยาศาสตร์ ฯลฯ หลายครั้งที่นิธิย้ำกับข้าพเจ้าว่า นี่คือนิยายสำหรับคนหนุ่มสาวโดยเฉพาะ

“แต่คนที่เกิดมามีพร้อมทุกอย่าง และยังไม่ต้องลงทุนลงแรง ไปกับการทำงานใดๆ เพื่อสร้างสิ่งเหล่านั้นขึ้นมา เหตุใดถึงคิดว่าตนเองมีสิทธิ์เหนือชีวิตอื่นๆ มีสิทธิ์กำหนดว่าสิ่งที่ตนทำนั้นดีกว่า มากกว่า และกำหนดสิ่งที่สังคมและประเทศนั้นควรจะเดินตาม… ” – หน้า 97

เพื่อไขข้อสงสัยว่า ความประพฤติซ้ำๆ ในนามความเป็นมนุษย์ต่อสังคมนั้น เกิดด้วยเหตุปัจจัยใด ส่วนนักเขียนจะทำหน้าที่ของเขาได้ดีและรัดกุมแค่ไหน ข้าพเข้าขอยกหน้าที่และท้าทายให้ผู้อ่านเป็นคนตัดสิน สุดท้ายนี้สำหรับตัวข้าพเจ้า ขอย้อนกลับสู่ตอนต้นสักนิด เป็นเหตุการณ์ระหว่างที่ประพฤติถูกนำตัวเข้าสู่ลานประหาร

โอ้! อนิจจา เจ้าคือเด็กหนุ่มนักศึกษาชั้นปี 3 ที่ถูกกาหัวว่าเป็นภัยต่อราชอาณาจักร!

“ในความอ่อนแอของพวกเขา คุณมองเห็นการตะคอก ตวาด กำหนดกฎเกณฑ์เพื่อธำรงไว้ซึ่งความเข้มแข็งจอมปลอม ให้พวกเขาเอาไป ให้พวกเขาได้ทุกสิ่งนั้นไป ถ้าพวกเขาคิดว่าตัวเองเหมาะสมแล้ว ถ้าพวกเขาคิดว่าคนอย่างคุณ พวกคุณไม่มีสิทธิ์ อย่าได้ตั้งคำถาม อย่าได้แสดงตัว อย่าได้ท้าทาย… ” – หน้า 176

ในฐานะนักเขียน นิธิได้ระเบิดเอาความอัดอั้นที่สุมคั่งอยู่ภายในออกมาจนหมดจด และข้าพเจ้าเชื่อเหลือเกินว่า วาบเล็กจ้อยบนปลายไม้ขีดแห่งความหวังนี้ จะไปจุดปะทุฟอนฟืนให้ลุกไหวระริกกลางใจใครหลายคน

แด่อนาคต

 

ประพฤติการณ์ (The Act)
นิธิ นิธิวีรกุล เขียน
สำนักพิมพ์ สมมติ

 

author

Random books

© WAY MAGAZINE. All rights reserved