กล้าที่จะสอน: หนังสือที่ทำให้คิดถึงครูบางคน

กล้าที่จะสอน: หนังสือที่ทำให้คิดถึงครูบางคน

นอกจากจะเป็นหนังสือที่ว่าด้วยการศึกษา หนังสือเล่มนี้ยังเผยให้เห็นแง่มุมความเป็นครูและแง่งามความเป็นคน The Courage To Teach หรือชื่อฉบับภาษาไทย กล้าที่จะสอน เขียนโดย ปาร์กเกอร์ เจ. ปาล์มเมอร์

หนังสือเล่มนี้ท้าทายอคติและมายาคติ ทำให้เห็นมุมมองใหม่บนภาพใบเดิม ครูไม่ควรเป็นแม่พิมพ์แต่เป็นคนที่หลงใหลในความรู้และพร้อมที่จะสร้างชุมชนของผู้รักในการแสวงหาความรู้ไม่จบสิ้น การเรียนการสอนไม่ใช่การถ่ายทอดข้อมูลจากจุด A ไปจุด B แต่คือประสบการณ์ของการไม่แบ่งแยกและปะทะสังสรรค์ระหว่างความจริงกับผู้เรียนรู้ ทั้งครูและนักเรียนไม่ควรเป็นศูนย์กลางของการเรียน แต่เป็นวิชาความรู้ที่เป็นศูนย์กลางรายล้อมด้วยครูและนักเรียนผู้หลงใหลในวิชาความรู้นั้น ฯลฯ

กล้าที่จะสอน เผยให้เห็นว่าบุคลากรทางการศึกษาไม่ว่าจะเป็นครู นักเรียน ผู้บริหาร ล้วนแต่มีความกลัว ครูกลัวเป็นตาทึ่มหน้าชั้นเรียน นักเรียนกลัวอำนาจของครู การเข้าใจความกลัวในหัวใจลูกศิษย์เป็นแนวทางกว้างๆ ที่วิธีการไม่มีสูตรสำเร็จ แต่มันยังไม่พอ ปาล์มเมอร์บอกว่า ครูต้องเข้าใจความกลัวของตนเองด้วย

ระหว่างที่อ่านหนังสือเล่มนี้ผมคิดถึงครูคนหนึ่ง ครูคนนั้นชื่อปรีชา เขาสอนวิชาสังคมระดับประถมศึกษา สิ่งที่ทำให้ผมย้อนความทรงจำของตนกลับไปยังช่วงเวลาที่เรียนประถม 4 คือเนื้อหาที่ผู้เขียนพยายามเสนอให้เราเห็นว่า การที่ครูคนหนึ่งทำความเข้าใจตัวตนของตัวเอง ซื่อตรงต่อตัวตนทั้งด้านดีและลบจำเป็นกับการสอนเพียงใด มันทำให้ผมนึกถึงครูคนนี้

อาจารย์ปรีชาเป็นคนรักการอ่าน ในชั้นเรียนวิชาสังคมอาจารย์เลือกที่จะเสริมเนื้อหาการเรียนด้วยนิตยสารที่แกสะสมไว้ อาจารย์ปรีชาถือนิตยสารเล่มใหญ่ โชว์ตั้งแต่หน้าปก ค่อยๆ กรีดกระดาษไปทีละหน้านำเสนอต่อหน้าพวกเรา ผมจำความรู้สึกของตนได้ว่ามองอาจารย์ปรีชาเป็นคนประณีตมากเวลาเปิดหน้ากระดาษอาร์ตมันสี่สีทีละหน้า ในยุคที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตโลกในนิตยสารจึงกว้างใหญ่และลี้ลับ เรื่องราวนานาทั่วมุมโลกถูกย่อและบันทึกในหน้ากระดาษ

“ถ้าใครอยากอ่านมาขอยืมครูได้ แต่ต้องรักษาให้ดี เพื่อนคนอื่นจะได้มายืมอ่านด้วย” อาจารย์ปรีชาบอกพวกเราแบบนี้ แต่ผมก็ไม่กล้ายืมหรอก แม้จะอยากอ่านอยากสัมผัสนิตยสารเหมือนที่อาจารย์ปรีชาหยิบจับอย่างระมัดระวัง

ผมกลับไปบ้านแล้วค้นเจอนิตยสารของพ่ออยู่ 2-3 เล่ม เป็นนิตยสารแบบที่ครูปรีชามี ผมจำได้ว่าในนั้นมีสกู๊ปเกี่ยวกับวัดเส้าหลิน ผมอ่านรอบแล้วรอบเล่า ดูรูปถ่ายรอบแล้วรอบเล่า อย่างไม่รู้ตัวผมคิดว่าผมซึมซับความสนใจที่มีต่อสื่อนิตยสาร หลายสิบปีต่อมาผมเริ่มต้นอาชีพด้วยการทำงานเป็นนักเขียนประจำกองบรรณาธิการนิตยสาร WAY กระทั่งวันนี้นิตยสารกลายเป็นสิ่งไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้วสำหรับโลกและผู้คน แต่ผมก็ยังทำงานกองบรรณาธิการอยู่ เมื่อย้อนคิดกลับไปผมคิดว่าอาจารย์ปรีชาได้เพาะเมล็ดพันธุ์ลี้ลับนี้แก่ผมโดยไม่รู้ตัว

และแล้วพวกเราก็ได้ข่าวว่าอาจารย์ปรีชาประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ แกได้รับบาดเจ็บ แต่คนรักของอาจารย์ที่นั่งมาด้วยกันเสียชีวิตทันที

อาจารย์ปรีชากลับมาสอนหลังพักฟื้นร่างกายและลาสิกขาจากการบวชเพื่ออุทิศแด่คนรักผู้จากไป แกกลายเป็นคนเงียบและเศร้า ไม่ค่อยพูดจาเหมือนเดิม ยืนเหม่อ มีพลาสเตอร์แปะที่ใต้คาง ศีรษะโล้น

ผมจำได้ว่าเดินเข้าไปทำอะไรสักอย่างในห้องพักครูของอาจารย์ปรีชาผู้เงียบขรึม บนโต๊ะทำงานมีกรอบรูปขนาดเล็กตั้งอยู่ ในกรอบรูปมีภาพถ่ายของหญิงสาวคนหนึ่ง เธอคือคนรักของอาจารย์ปรีชา พวกเราต่างก็รับรู้ว่าอาจารย์ปรีชาอยู่ในภาวะโศกเศร้าและสูญเสีย แกไม่ค่อยได้หยิบนิตยสารมาสอนในชั้นเรียน แกสอนตามหนังสือวิชาสังคม

กระทั่งวันหนึ่งอาจารย์ปรีชาก็เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับชีวิตให้พวกเราฟังที่หน้าชั้นเรียน เผยเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับแก อาจารย์ปรีชาไม่ได้เล่าว่าเขารู้สึกอย่างไร แต่เล่าเพียงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น อุบัติเหตุ คนรักเสียชีวิต และเขาพยายามจะกลับมาตั้งใจสอน

เมื่อย้อนกลับไปคิดถึงเหตุการณ์นี้ ผมคิดว่าอาจารย์ปรีชาต้องอาศัยความกล้าที่จะพูดเรื่องนี้กับลูกศิษย์ ความจริงแล้วแกไม่จำเป็นต้องมาพูดหรือบอกเล่าอะไรให้พวกเราฟัง แต่อาจารย์ปรีชาอาจจะมีเหตุผลส่วนตัว มันอาจจำเป็นต่อการเป็นครูคนหนึ่งที่ต้องสอนนักเรียนต่อไป มันอาจสำคัญสำหรับคนคนหนึ่งที่จะต้องมีชีวิตต่อไป แม้ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว

 

กล้าที่จะสอน: การสำรวจโลกภายในของชีวิตครู
ปาร์กเกอร์ เจ. ปาล์มเมอร์ เขียน
เพ็ญนภา หงษ์ทอง และ ณัฐฬส วังวิญญู แปล
สำนักพิมพ์ สวนเงินมีมา

 

author

Random books

© WAY MAGAZINE. All rights reserved