ในดินแดนคนตาบอด คนตาดีอาจเป็นบุคคลทุพพลภาพ

ในดินแดนคนตาบอด คนตาดีอาจเป็นบุคคลทุพพลภาพ

มันเป็นการเล่นกับอุปมาง่ายๆ ที่เราใช้กันทั่วไปว่า การตาบอด คือความเขลา ส่วนคนตาดี คือผู้ที่มองเห็นความเป็นจริง คำกล่าวเช่นนี้เป็นรากของภาษาและสำนวนต่างๆ ที่เราใช้กันเป็นประจำ

“พี่น้อง เห็นรึยัง ว่ามันกระทำระยำต่ำช้าอะไรกับประเทศชาติบ้าง”

“เห็นรึยัง เห็นรึยัง”

การเห็น จึงมีศักดิ์เท่ากับการเข้าใจสัจจะ การเข้าถึงความจริง

แต่เรื่องราวในเรื่องสั้นๆ เรื่องนี้ยอกย้อนกว่านั้น กล่าวคือ เมื่อบุรุษตาดีคนหนึ่งกลิ้งตกเขาแล้วหลงเข้าไปในหุบที่เป็นที่อยู่อาศัยของชาวเมืองตาบอด (อาจจะเป็นโรคทางพันธุกรรม) ในความเข้าใจของชาวเมืองเขาเป็นแค่คนบ้าสติไม่ดี ที่พูดเพ้อเจ้อเรื่องการมองเห็น เกือบๆ จะเป็นสิ่งมีชีวิตที่โง่เง่าต่ำชั้นกว่ามนุษย์เสียด้วยซ้ำ เพราะทำอะไรก็ขลุกขลักไปเสียหมด

“จับมือข้า แล้วเดินตามมาดีๆ สิ” ชายตาบอดกล่าวแก่ผู้มาใหม่พลางเดินจูงมือนำหน้า เขาแกล้งยอมๆ เดินตามไปทั้งที่มองเห็นทาง แต่เนื่องจากมัวแต่ตะลึงกับทัศนียภาพ เขาจึงเดินสะดุดหัวทิ่ม “เจ้านี่มันโง่จริงๆ” ชายตาบอดหัวเราะเยาะคนตาดี

ชุมชนนี้เป็นชุมชนปิด พวกเขาตาบอดกันมา 15 ชั่วคน นานเสียจนไม่มีนิยามของคำว่า ‘เห็น’ เมื่อไม่มีนิยามของคำว่า ‘เห็น’ คำว่า ‘บอด’ จึงไร้ความหมายไปด้วย พวกเขาต่างคิดว่าตัวเองเป็นมนุษย์ปกติ

ในสายตาของ ‘พวกเรา’ – ผู้อ่าน ย่อมผูกตัวเองเข้าเป็นพวกเดียวกับชายตาดีคนนั้น แต่ก็น่าคิดว่าหากคนตาบอดอ่านนิยายเรื่องนี้ในฉบับอักษรเบรลล์ จะได้อรรถรสแบบใด

ประสาทสัมผัสด้านอื่นของ ‘พวกเขา’ จึงเฉียบคมมาก พวกเขาใช้เสียงฝีเท้านำทาง สื่ออารมณ์กันด้วยน้ำเสียงอันละเอียดอ่อน รวมทั้งแยกแยะบุคคลด้วยกลิ่น พวกเขานอนตอนกลางวันและตื่นขึ้นมาใช้ชีวิตตอนกลางคืนเนื่องจากอากาศเย็นสบายกว่า

ผู้เฒ่าประจำหมู่บ้านสั่งสอนสืบต่อมาว่า บนท้องฟ้านั้นเป็นแผ่นเรียบแบน ลื่น อ่อนนุ่ม เป็นเพดานของโลก และเป็นที่อาศัยของปัญญาเบื้องบน (ที่ส่งเสียงดังพึ่บพั่บและบางทีก็ร้องเพลง)

แม้ชายตาดีเพียงคนเดียวที่หลงเข้าไปในหมู่ชนตาบอดจะมีข้อได้เปรียบ แต่เขาก็ไม่สามารถใช้ข้อได้เปรียบนั้นทำอะไรให้สำเร็จได้เลย นอกจากสร้างความขบขันและรำคาญ

เรื่องจบลงอย่างเศร้าๆ เมื่อเขาต้องยอมรับชะตากรรมในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า เขาตกลงปลงใจจะเข้ารับการผ่าตัดปุ่มนูนประหลาดบริเวณใบหน้าทิ้งเสีย อวัยวะนี้เป็นเหตุของความเพ้อเจ้อ อวัยวะนี้ทำให้เขาไม่มีสมาธิและฟุ้งซ่านไปกับคำว่า ‘เห็น’

เขายอมสูญเสียดวงตา เพื่อจะได้เข้าเป็น ‘พวกเรา’ เนื่องจากหลงรักหญิงสาวตาบอดคนหนึ่ง

แต่ยังดีที่นิยายสั้นๆ เล่มนี้มีตอนจบอีกแบบ (ที่ผู้เขียนแก้ไขเพิ่มเติมเข้าไปภายหลัง) และยังมีบทวิเคราะห์ของ กฤตพล วิภาวีกุล และบทกล่าวตามโดย มุกหอม วงษ์เทศ

ตอนจบฉบับแก้ไขทำให้เรื่องราวนั้นกลมสมบูรณ์ทางวรรณกรรมและติดตรึงใจยิ่งขึ้น บทวิเคราะห์และบทกล่าวตามทั้งสองชิ้นยิ่งทำให้เต็มตื้นกับงานชิ้นนี้ขึ้นไปอีก จนผู้ใช้ดวงตา ‘อ่าน’ ต่างต้องดิ้นรนและพยายามหาหนทางในการใช้ข้อได้เปรียบของการ ‘เห็น’ ให้เกิดประโยชน์ขึ้นมาเสียที

มิเช่นนั้นก็ต้องแกล้งอือๆ ออๆ เป็นคนตาบอดไป ทั้งที่เห็นอะไรต่อมิอะไรก็ตามที

ดินแดนคนตาบอด (The Country of the Blind)
H. G. Wells เขียน
มโนราห์ แปล
สำนักพิมพ์ สมมติ

(เผยแพร่ครั้งแรกในบล็อก เมื่อธันวาคม 2558)

author

Random books

© WAY MAGAZINE. All rights reserved