ประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ชื่อเต็มของหนังสือคือ ประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข: บทวิเคราะห์มาตรา 7 จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 ถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (จากมุมมองทางรัฐศาสตร์) งานวิจัยของ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร ได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันพระปกเกล้า

แบ่งเค้าโครงเนื้อหาตามชื่อหนังสือ คือการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ถึงฉบับปัจจุบัน

หนึ่ง ข้อสังเกตเชิงทฤษฎีต่อรูปแบบการปกครองใหม่กับการจัดวางพระราชอำนาจ เนื้อหาบทนี้สรุปภาพสถานการณ์การขับเคี่ยวทางความคิดในบริบทการเมืองสมัยใหม่ และการจัดวางสถานะบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์

สอง เปรียบเทียบประเพณีการปกครองแบบประชาธิปไตย ในฐานะรูปแบบการปกครองแบบผสม โดยใช้ตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และประเทศกลุ่มยุโรป ข้อสังเกตต่อแนวคิดการปกครองแบบผสมในประเทศไทย

สาม บทวิเคราะห์วิกฤต ‘ก่อนวิกฤตมาตรา 7’ และการขอนายกฯ พระราชทาน ในช่วงปี 2549

สี่ แบบแผน ประเพณี และความชอบในการยุบสภาปี 2549

ห้า บทวิเคราะห์การยุบสภาปี 2549 กับ 2557

หก บทเรียนจากการยุบสภาปี 2549 ผ่านมุมมองกฎหมายรัฐธรรมนูญและประเพณีการปกครอง

.

ภาพรวมของหนังสือ (หรืองานวิจัย) เล่มนี้ก็คือ การพยายามอธิบายและทำความเข้าใจสถานะบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ถูกดึงให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับวิกฤตทางการเมืองในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา

กาดอกจันตัวใหญ่ๆ ไว้ก็ได้ว่า นี่เป็นการอธิบาย การศึกษา และความพยายามทำความเข้าใจ ผ่านจุดยืนผู้เป็นรอยัลลิสต์

เราจะเห็นความไม่ลงรอยในการให้คุณค่า ความหมาย ของกลุ่มคนที่มีจุดยืนความคิดแตกต่างตั้งแต่บทต้นๆ ว่าด้วย ‘แบบแผนผู้ปกครองโบราณ’ กับ ‘สภาพแวดล้อมทางการเมืองสมัยใหม่’

“ด้วยตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงยึดมั่นและประยุกต์ ‘แบบแผนคติคุณธรรมของผู้ปกครองโบราณ’ ภายใต้สภาพแวดล้อมทางการเมืองสมัยใหม่ จึงนับเป็นการสร้างสถานะและบทบาทของสถาบันพระมหากษัติย์ไทยให้กลายเป็นสถาบันสำคัญในระบอบการปกครองใหม่ ซึ่งยังมีปัญหาไม่ลงตัวหลายประการ การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงยึดมั่นวางพระองค์อยู่ภายใต้คติคุณธรรมตามแบบแผนการปกครองในระบอบโบราณ ซึ่งอำนาจพระมหากษัตริย์อยู่เหนือขอบเขตแห่งกฎหมาย และทรงมุ่งพากเพียรในคุณธรรมในเงื่อนไขที่รัฐเป็นประชาธิปไตยและอยู่ภายใต้กฎหมายแต่ในนามและภายใต้การแก่งแย่งอำนาจผลประโยชน์ ในทางปฏิบัติ ผู้ทรงธรรมจึงกลายเป็นผู้มีอำนาจบารมีเหนือกรอบเกณฑ์ของกฎหมาย และเมื่อถึงยามวิกฤตแห่งความขัดแย้งทางการเมืองและรัฐธรรมนูญ กฎหมายมิได้รับการเคารพ สถาบันทางการเมืองต่างๆ ไม่สามารถเป็นหลักในการแก้ไขความขัดแย้งนั้นได้ สถาบันพระมหากษัตริย์จึงเป็นทางออกสุดท้ายของทางตันทางการเมืองต่างๆ…”

(หน้า 190)

คำว่า ‘คติคุณธรรมโบราณ’ ถูกขยายความให้เห็นชัดในหน้าถัดมา ซึ่งเราอาจจับสังเกตได้ว่า หากมีใครสักคนหยิบยกประเด็นเดียวกันนี้ไปพูดในวงสนทนาของคนอีกจุดยืนหนึ่ง น้ำเสียงและทัศนคติในการวิเคราะห์ทำความเข้าใจ อาจเป็นไปในอีกรูปแบบหนึ่ง

“…คติของความเป็นผู้ปกครองที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงยึดมั่นนั้น ได้แก่แบบแผนของคติคุณธรรมของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีตโบราณ ซึ่งมีวิวัฒนาการและการประยุกต์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์มาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะจากการประยุกต์และตีความโดยพระองค์เองให้เหมาะสมกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป แบบแผนของคติคุณธรรมของความเป็นผู้ปกครองของไทยนั้นคือ การผสมผสานกลมกลืนของคติแนวคิดเกี่ยวกับผู้ปกครองของพุทธศาสนาเถรวาท พราหมณ์ และผี*”

(หน้า 191 / *อ้างอิงจาก ศุภมิตร ปิติพัฒน์, วิวัฒนาการของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยในช่วงรัฐธรรมนูญ 2475 ถึงปัจจุบัน)

อาจกล่าวได้ว่า นี่คือภาระความจำเป็นลำดับแรกๆ ที่เราพึงตระหนักและทำความเข้าใจ มองเห็นการให้คุณค่าให้ความหมาย เพื่อจัดวางท่าทีต่อกัน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่แหลมคมและซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ

 

ประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข: บทวิเคราะห์มาตรา 7 จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 ถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (จากมุมมองทางรัฐศาสตร์)
ไชยันต์ ไชยพร เขียน
สถาบันพระปกเกล้า จัดพิมพ์

 

author

Random books

© WAY MAGAZINE. All rights reserved