ผีซ่าส์ กับ ฮานาดะ

ผีซ่าส์ กับ ฮานาดะ ‘อิจิโระ’ เด็กเปรตที่ผีรักแต่คนชัง

ผีซ่าส์ กับ ฮานาดะ ‘อิจิโระ’ เด็กเปรตที่ผีรักแต่คนชัง

น่าจะมากกว่า 20 ปีแล้ว ที่ผมไม่ได้อ่านมังงะ (manga) เล่มสุดท้ายที่ได้อ่านจำชื่อแน่ชัดไม่ได้ เลาๆ ว่า ‘Tom & Jerry’ หรือ ‘Tom & Terry’ อะไรสักอย่าง แต่ไม่ใช่แอนนิเมชั่นแมวกับหนูที่คุ้นตานะ เล่มที่ผมว่ามานั้นเป็นเรื่องราวว่าด้วยเพื่อนซี้สองคนที่ฐานะต่างกัน หนึ่งจน ต้องทำงานพิเศษเพื่อหารายได้เลี้ยงตัวเอง ส่วนอีกหนึ่งรวย ไม่ต้องทำงานหนัก มีฮาร์ลีย์-เดวิดสัน ไว้ขี่เตร่ไปนั่นมานี่ให้สาวๆ กรี๊ดเล่น แม้จะต่างฐานะแต่ทั้งสองก็เป็นเพื่อนกันเพราะนิสัยใจคอที่บ้าระห่ำ มักก่อเรื่องต่อยตีราวีผู้อื่นเป็นประจำ

หนังสือเล่มนั้นแท้จริงแล้วต้องอ่านอีกกี่มากน้อยไม่แน่ใจ แต่คราวนั้นจำได้ชัดว่าผมมีเพียงเล่ม 1 ซึ่งแน่นอนว่าทำให้อ่านไม่จบ อารมณ์ค้าง ไม่รู้จะไปควานหาจากไหนมาอ่านอีก เพราะที่ได้เล่มนั้นมาก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าหล่นจากฟ้าหรือมาจากไหน ครั้นจะไปหาเล่มอื่นก็ยิ่งจนใจ เพราะที่บ้านอยู่ห่างไกลสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เดินเข้าร้านเพื่อเช่าหรือซื้อหนังสือแนวนี้มาอ่านยิ่งนัก

รู้ตัวอีกทีก็โตเป็นหนุ่ม เห็นมิตรสหายบางคนเช่าหนังสือมาเป็นตั้งๆ เพื่อทยอยอ่านก็คิดถึงความหลัง กระนั้นก็ไม่รู้สึกว่าคนหน้าตาร้ายๆ จิตใจหยาบกร้าน ทั้งยังเข้าใจไปเองว่าคนโตแล้วไม่เหมาะกับการอ่านหนังสือแนวนี้ จึงก่อกำแพงระหว่างความคิดและหนังสือแนวนี้สูงขึ้น สูงขึ้น และสูงขึ้น รู้ตัวอีกทีจึงล่วงเลยมากว่า 20 ปีตามที่บอกข้างต้น กระทั่งบ่ายวันหนึ่งขณะยืนอยู่หน้าชั้นวางหนังสือของสำนักงาน WAY สายตาก็ไปสะดุดกับมังงะที่มีชื่อเรื่องว่า ‘ผีซ่าส์ กับ ฮานาดะ’ ทั้งหมดวางซ้อนกันตั้งแต่เล่ม 1-5 ตั้งแต่เล่มแรกจนจบชุดนี้พอดี ผมตัดสินใจหยิบมันมาอ่านเพราะ หนึ่ง ไม่ได้อ่านมังงะนานเกินไปแล้ว สอง เล่มไม่ได้หนาเกินไป พกพาสำหรับเดินทางได้ และสาม สามารถอ่านตั้งแต่ต้นจนจบได้โดยที่ไม่รู้สึกอารมณ์ค้างเหมือน 20 ปีที่แล้ว

‘ฮานาดะ อิจิโระ’ ในทรรศนะของผมคือ ‘เด็กเปรต’ ขนานแท้ เพราะวีรกรรมขำขื่นของเด็ก 9 ขวบคนนี้ช่างน่าปวดหัว หากคิดว่านิสัยอันน่าเอือมระอาของ ‘โนะฮาร่า ชินโนะสุเกะ’ ใน ‘ชินจัง จอมแก่น’ นั้นหนักหนาแล้ว มาเจอกับ ฮานาดะ อิจิโระ อาจจะต้องส่ายหน้าคูณสอง

เรียกแม่ตัวเองว่า ผีเสื้อสมุทร
เรียกปู่ตัวเองว่า ตาแก่
เรียกพี่สาวตัวเองว่า ยัยหมูขึ้นอืด

เรียกใครต่อใครด้วยกิริยาไร้สัมมาคารวะ และใช้ถ้อยคำหยาบคาย ยังไม่นับนิสัยที่ชอบแกล้งสิ่งมีชีวิตทั้งคนและสัตว์อย่างไร้ความเมตตาปรานี ไม่ว่าแกล้งกบจนตาย แกล้งหมาด้วยการเอาสีเมจิกมาขีดเขียนเลอะเต็มตัว เอาปะทัดมาจุดใส่แม่จนมีแผลพองเต็มหน้า จับปู่ตัวเองเป็นตัวประกัน ต่างๆ นานาเหล่านี้เองที่ทำให้ผมเรียก อิจิโระ ได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า ‘เด็กเปรต!’ ต้องใส่อัศเจรีย์ท้ายคำเพื่อเน้นย้ำให้อารมณ์ของถ้อยคำชัดเจนขึ้น

ครั้งหนึ่ง ‘โทคุโกะ’ พี่สาวของ ‘อิจิโระ’ เคยเขียนเรียงความส่งครูด้วยการบรรยายเรื่องราวของน้องชายตัวเองว่า

“ฉันมีน้องชายชื่ออิจิโระ น้องชายคนนี้เป็นเด็กซนไม่เชื่อฟังใครเลย และชอบแกล้งคน ฉันจึงรู้สึกเกลียด แทบทนไม่ได้อยู่เสมอ ที่บ้านฉันไม่มีทีวีก็เพราะน้องคนนี้เอาไม้ตีเบสบอลเข้าไปเล่นในบ้านจนพลาดเหวี่ยงไปโดนทีวีพัง หลังจากนั้นน้องของฉันก็วิ่งออกไปนอกบ้านเพราะคิดจะหนี ทำให้ถูกรถบรรทุกชนจนเกือบตาย แต่น้องเพียงแต่เย็บแผลที่หัว 9 เข็ม แล้วก็ออกจากโรงพยาบาลได้ภายในวันเดียว ในขณะที่คนขับรถบรรทุกอาการหนักมาก ฉันคิดว่ารถบรรทุกคงถูกน้องฉันชนมากกว่า หลังจากเกิดเรื่องนี้น้องของฉันก็บอกว่า เขาเริ่มมองเห็นผี…”

ใช่ หลังจากถูกรถบรรทุกชน หรือไม่ก็ไปชนรถบรรทุกอย่างที่โทคุจังเขียนในรายงาน อิจิโระก็เริ่มมองเห็นผี และผีเหล่านั้นไม่ได้ปรากฏตัวให้เห็นเท่านั้น แต่มาพร้อมกับคำร้องขอต่างๆ นานาเพื่อให้เด็กเปรตวัย 9 ขวบช่วยเหลือ

ผีตนแรกที่อิจิโระเจอเป็นหญิงสาวที่อยากได้ของที่ระลึกจากคนรัก ผีตัวที่สองเป็นหมา ที่มาให้ช่วยพาร่างของมันไปหาหมอเพื่อเอาลูกของมันซึ่งยังมีชีวิตอยู่ในท้องออกมา หลังจากนั้นผีแต่ละตนก็พูดกันปากต่อปากถึงความใจถึงพึ่งได้ของเด็กชายอิจิโระ เรื่องราวที่เหลือหลังจากนั้นจึงเต็มไปด้วยภารกิจของเด็กหนึ่งคนที่ต้องเข้าไปเป็นธุระจัดการ เป็นตัวกลางระหว่างคนกับผี อันเนื่องมาจากความสามารถพิเศษที่ได้มาหลังจากอุบัติเหตุคราวนั้น

การอ่านเรื่องนี้ให้สนุกนั้น ประการแรก คือดูความเกรียนของเด็กชายอิจิโระ ซึ่งในภาคของการเป็นมนุษย์เขาเป็นเด็กที่พ่อแม่หลายคนไม่มีทางปรารถนาจะพบเจอ แม้จะเล่นกีฬาเก่งอยู่บ้าง แต่ครูบาอาจารย์ก็เอือมระอากับอาการหัวขี้เลื่อยของเขา กระนั้นสำหรับเหล่าผีสางแล้ว หมอนี่กลับเป็นคนที่สามารถฝากผีฝากไข้ได้เสียอย่างนั้น แม้เด็กหัวเหม่งคนนี้จะไม่เต็มใจก็เถอะ

ประการที่สอง จึงว่าด้วยภารกิจของอิจิโระที่ต้องช่วยแก้ปัญหาให้กับผีๆ ที่ไม่รู้จะใช้แรงงานเด็กเกินตัวไปไหน และประการสุดท้าย คือ เฝ้ามองการเติบโตของเด็กหนึ่งคน ว่าเขาได้เรียนรู้และเข้าใจอะไรจากการเข้าไปข้องแวะกับเรื่องราวน่าปวดหัวเหล่านั้น

แต่สำหรับผมแล้ว ‘ผีซ่าส์ กับ ฮานาดะ’ อาจสนุกด้วยความรู้สึกบางอย่างนอกเหนือจากลายเส้นและเรื่องเล่าของหนังสือ นั่นคือการพาตัวเองกลับไปเยี่ยมวัยเยาว์อีกครั้ง และทลายกำแพงความคิดที่เชื่อว่าการ์ตูนเหมาะสำหรับเด็กเท่านั้นทิ้งไปเสีย

ผีซ่าส์ กับ ฮานาดะ
สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ

 

หมายเหตุ มังงะที่อ้างถึงในย่อหน้าแรกแท้จริงแล้วชื่อว่า ‘Batsu & Teri: สองสิงห์เจ้าสำอางค์’ ตามรายละเอียดนี้ ขอบคุณผู้อ่านที่แจ้งให้ทราบครับ

tagged              
author

Random books

© WAY MAGAZINE. All rights reserved