คนชายข่าว คนชายขอบ: เมื่อเสียงบางส่วนถูกกลืนกิน

คนชายข่าว คนชายขอบ: เมื่อเสียงบางส่วนถูกกลืนกิน

เมื่อจู่ๆ เนื้อที่กว่า 600 ไร่ ที่ชาวบ้านได้รับสืบทอดมรดกจากบรรพบุรุษถูกแปลงกรรมสิทธิ์เป็นของนายทุน กลุ่มผู้ทรงอิทธิพลต่างสามารถครอบครองที่ดินได้อย่างง่ายดาย เมื่อจู่ๆ พื้นที่บนเขาที่ชุมชนท้องถิ่นเคยอยู่อาศัย เคยใช้ทำมาหากินกันมาหลายชั่วอายุคน กลับถูกประกาศให้เป็นเขตอุทยานฯ เมื่อจู่ๆ ‘คนไทย’ ที่พลัดถิ่นกลับไม่สามารถมีบัตรประชาชนเป็นของตนเอง และไร้ซึ่งสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่มนุษย์คนหนึ่งควรจะได้รับ และจะทำอย่างไร เมื่อจู่ๆ เสียงบางส่วนถูกกลืนกิน…

เอาเข้าจริงแล้ว คำว่า ‘จู่ๆ’ ก็ไม่ถูกต้องนัก เพราะมันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทับถมผู้คนตัวเล็กๆ มาอย่างยาวนาน ทับถมผ่านกาลเวลาราวกับว่าพวกเขาคือซากฟอสซิลที่มีชีวิต

 

ภูกระดึงไม่ใช่ของเรา?

หลากหลายเรื่องราวของความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไทยกว่า 20 เรื่อง ที่ ภาสกร จำลองราช นักข่าวชายขอบ รวบรวมข้อมูลไว้ในหนังสือที่ชื่อว่า คนชายข่าว คนชายขอบ ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2553 แต่ความยุติธรรมยังคงชำรุดตราบ พ.ศ. ปัจจุบัน และมันผุพังมาตั้งแต่ก่อนปีเกิดของหนังสือเล่มนี้

พวกเรามันคนบ้านนอก อยู่ในป่าในเขา ผู้ใหญ่บอกอย่างนี้เราก็ต้องเชื่อ จะเอาอะไรไปเถียง

ข้างต้นคือบทสนทนาส่วนหนึ่งจากข้อเขียนตอน ‘ภูกระดึงในวันที่ลูกหาบเดียวดาย’ บอกเล่าเรื่องราวการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ภาสกรได้สอบถามชาวบ้านแถวนั้นเกี่ยวกับกระเช้าขึ้นภูกระดึง หนึ่งในคำตอบที่ได้รับแสดงถึงความไม่แน่ใจของชาวบ้านว่าควรสร้างดีไหม ทราบเพียงเเค่ว่า ‘ผู้ใหญ่’ เขาบอกว่าดี

ความทรงจำเรื่องภูกระดึงของใครหลายคนอาจเป็นความยากลำบากและเหนื่อยล้าของการเดินเท้า ความสวยงามของธรรมชาติข้างทาง หรือแม้แต่มิตรภาพระหว่างทาง โดยมีปลายทางความสำเร็จคือการขึ้นไปดูพระอาทิตย์ขึ้น รับอากาศอันหนาวเย็น หากมีกระเช้าไฟฟ้าขึ้นมาจริงๆ มนต์เสน่ห์ของสปิริตที่จะพิชิตภูกระดึงคงจะลดลง ไม่เพียงแค่ภาพความทรงจำเหล่านั้นอาจจะหายไป แต่ภาพความอุดมสมบูรณ์ของต้นไม้ใบหญ้า ระบบนิเวศที่หลากหลาย คงจะหายไปด้วยเช่นกัน หากลองนึกภาพคนจำนวนมากแห่แหนขึ้นกระเช้าพร้อมกันเพื่อมาชมบรรยากาศบนยอดภูกระดึง เกิดกระเเสทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว แต่ท้ายที่สุดเเล้วใครเล่าจะฟันธงได้ว่าอนาคตภายภาคหน้า การสร้างกระเช้าจะส่งผลดีต่อชาวบ้านและธรรมชาติของภูกระดึงได้จริงๆ

 

ชีวิตไม่ใช่ของเรา?

ตัวลุงน่ะไม่เท่าไรหรอก อีกไม่กี่วันก็ตาย เป็นห่วงก็แต่ลูกหลานนี่ซิ มันจะอยู่กันยังไง บัตรประชาชนก็ไม่มี

เสียงของผู้เฒ่าผู้แก่จากตอน ‘พลัดถิ่นไทย ไทยพลัดถิ่น’ ที่แสดงความห่วงใยต่ออนาคตของลูกหลานตนเอง

ผลพวงจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ได้สร้างปัญหาที่ยากจะเเก้ไขในปัจจุบันให้แก่พวกเขา ‘ไทยพลัดถิ่น’ กลุ่มคนไทยที่ถูกแยกตัวออกจากประเทศบ้านเกิดของตนเอง เมื่อเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษได้เข้าครอบครองเมียนมาร์ ขณะที่ประเทศไทยในตอนนั้นต้องเสียดินแดนฝั่งตะวันตกให้อังกฤษจากการขีดเส้นแบ่งแดนระหว่างไทยกับเมียนมาร์ ทำให้คนไทยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณนั้นถูกแบ่งแยกออกจากประเทศ

เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นในเมียนมาร์ ทำให้กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นต้องอพยพกลับมายังประเทศบ้านเกิดของตนเอง ในฐานะของคนเถื่อนที่ไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีสวัสดิการ หรือแม้แต่ปัจจัยพื้นฐานที่มนุษย์คนหนึ่งควรจะได้รับ การถูกปฏิเสธความเป็นพลเมืองในบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง นับเป็นปัญหาอันเลวร้ายที่พวกเขาต้องเผชิญ สิทธิและเสรีภาพที่จะแสดงออกกลับต้องเป็นเรื่องที่ต้องหลบซ่อน แสดงให้เห็นอีกหนึ่งปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนและความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

นี่คือเสียงของคนสองกลุ่มเท่านั้น คนกลุ่มหนึ่งไม่กล้าตั้งคำถามถึงโครงการพัฒนาที่จะส่งผลกระทบต่อบ้านเกิดและอาชีพของตนเอง คนกลุ่มหนึ่งไม่มีสิทธิใดๆ ในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง สองเสียงที่ยกมาเล่าให้ฟังนี้สะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบาก ความทุกข์ใจ ความไม่เป็นธรรม และยังถูกเพิกเฉย การถูกตราหน้าว่าเป็นคนเถื่อนทั้งที่เลือดเนื้อเชื้อไขเป็นคนไทย การถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บุกรุกในพื้นที่ทำกินของตนเอง การสร้างเขื่อนขวางกั้นแม่น้ำบริเวณที่ชุมชนอาศัย และเรื่องราวปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย

คนชายข่าว คนชายขอบ คือเสียงคือเรื่องเล่าของคนบางกลุ่มที่ถูกทอดทิ้งไว้ในก้นบึ้งของสังคม และสะท้อนถึงอำนาจอันไร้น้ำยาของภาครัฐที่ไม่สามารถบริหารและจัดการแก้ไขปัญหาของคนกลุ่มนี้ได้ นี่คืองานเขียนสุดเร้าอารมณ์ที่มีเป้าหมายคือ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เรียกร้องความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม รวมทั้งการปกป้องสิทธิมนุษยชน ปกป้องสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ธรรมดาๆ คนหนึ่งควรจะได้รับ

 

คนชายข่าว คนชายขอบ
ภาสกร จำลองราช  เขียน
จัดพิมพ์โดย โครงการสื่อสารสุขภาวะของคนชายขอบฯ

 

author

Random books

© WAY MAGAZINE. All rights reserved