ปลาย่าง: จิบเบียร์แกล้มปลาย่างนินทาพระเวสสันดร

ปลาย่าง: จิบเบียร์แกล้มปลาย่างนินทาพระเวสสันดร

“พระเวสสันดรเห็นแก่ตัว” คือมุมมองของ 1 ในกองบรรณาธิการด้านวิดีโอผู้กำลังจะมีอายุเข้าวัยเบญจเพส นอกจากความสนใจส่วนตัว เขาจึงมักตั้งคำถามถึงตัวบทที่สังคมส่งต่อกันมา ชายหนุ่มกำลังจะบวช คืนนั้นเขารำพึงหลังแก้วเบียร์ทรงสูง มีกุ้งแช่น้ำปลาและเอ็นไก่ทอดคอยสดับรับฟัง

ตามประสาคนชอบขัดบ้านขวางเมือง ผมโพล่งไปว่า “ไม่จริง” แล้วพยายามอธิบายตามฤทธิ์เดชของเบียร์เหยือกที่สาม ว่า “นี่คือความหลงใหลในบางสิ่งบางอย่างของคนคนหนึ่ง หลงใหลและบ้าคลั่งและทะเยอทะยานอย่างยิ่ง กล้าที่จะแลกทุกอย่างในชีวิตเพื่อเป้าหมายที่วางไว้ เพื่ออุดมคติที่ยึดถือไว้”

หากอ่าน (หรือฟัง) วรรณกรรมเรื่องนี้ในศตวรรษที่ 21 ตัวละครอย่างพระเวสสันดรย่อม ‘เห็นแก่ตัว’ และ ‘ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง’ แต่ข้อเท็จจริงก็คือชาดกเรื่องนี้เป็นเรื่องเล่าในกรอบความคิดทางวัฒนธรรมของสังคมศาสนาชาวอารยันในชมพูทวีปเมื่อกว่าสองพันปีมาแล้ว ถ้าเราเอาคุณค่าของโลกศตวรรษที่ 21 ไปจับ เรื่องเล่าของพระเวสสันดรย่อมมีปัญหา

พระเวสสันดรมีชีวิตอยู่ในสังคมที่ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมีอำนาจ ความสัมพันธ์ทางสังคมตั้งอยู่ในระบบวรรณะ ลักษณะความสัมพันธ์ในครอบครัว สามีเป็นเจ้าของภรรยาและลูก การกำหนดสถานะเช่นนี้ทำให้มีข้อผูกพันตามมาว่า เมียและลูกมีหน้าที่ต้องทำตามความประสงค์ของสามีหรือพ่อ ผู้เล่าเรื่องนี้คือพุทธะซึ่งเป็นผู้ปฏิรูปวัฒนธรรมฮินดู ก็เลยกำหนดให้ความปรารถนาพุทธภูมิหรือการบรรลุโพธิญาณเป็นพุทธะเพื่อสอนสัจธรรมแก่ชาวโลกเป็นอุดมการณ์สูงสุดของพระเวสสันดร ผู้ซึ่งตั้งปณิธานว่า การให้ทานหรือการเสียสละคือความดี อันเป็นหน้าที่ที่ต้องทำเพื่อให้บรรลุอุดมการณ์ดังกล่าว1

แต่โลกมีคุณค่าใหม่ๆ ที่ร่วมกันยึดถือ สิทธิมนุษยชนคือคุณค่าที่เป็นเหมือนเงาของประชาธิปไตย แต่ไม่ว่าจะมีมุมมองแบบใดต่อการให้แบบไม่มีลิมิตของพระเวสสันดร สิ่งหนึ่งที่น่ากล่าวถึงก็คือนี่คือต้นแบบของวรรณกรรมยิ่งใหญ่ที่ยังทำให้เกิดการถกเถียงและตีความไม่รู้สิ้น

ผมนึกถึงนิทานอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ได้มีความเกี่ยวเนื่องอะไรกับชาดกโบราณ แต่เป็นงานวรรณกรรมชิ้นวิเศษอีกเรื่องหนึ่งเท่าที่มีประสบการณ์ทางการอ่านมา นิทานเรื่องนั้นชื่อ ปลาย่าง

ปลาย่าง บอกเล่าเรื่องราวของปลาแมคเคอเรลตัวหนึ่งที่อยากเดินทางกลับบ้าน หลังจากถูกจับขึ้นมาจากทะเล เดินทางด้วยรถไฟเข้าเมือง ย่างจนหอมน่ากิน แต่จิตใจของมันปรารถนาอยากกลับบ้านสวนทางกับบทบาทหน้าที่ที่มันถูกกำหนดให้เป็นอาหาร

ปลาแมคเคอเรลไม่สามารถเดินทางกลับบ้านด้วยตนเองได้ มันจึงเสนอเนื้อส่วนต่างๆ แก่เพื่อนผู้ผ่านทาง เช่น แมว หนู สุนัข อีกา เพื่อเป็นรางวัลตอบแทนที่สัตว์เหล่านั้นพามันเดินทางกลับบ้าน

เนื้อส่วนแก้มนั้นคือผลตอบแทนแก่แมว เมื่อแมวอิ่มแล้วกลับปล่อยมันไว้กลางทาง

เนื้อสีข้างด้านหนึ่งคือผลตอบแทนแก่หนู เมื่อหนูอิ่มก็ปล่อยปลาไว้กลางทาง

เนื้อสีข้างอีกด้านหนึ่งคือผลตอบแทนแก่สุนัขผอมโซ เมื่อสุนัขอิ่มแล้วก็ปล่อยมันไว้กลางทาง

ปลาแมคเคอเรลเหลือเพียงก้างและจิตวิญญาณที่จะกลับบ้าน แต่มันยังไปไม่ถึงบ้าน เมื่อปลาแมคเคอเรลได้พบกับอีกา มันไม่เหลือประโยชน์อะไรที่จะเสนอให้อีกาเพื่อให้อีกาคาบมันบินกลับบ้าน แต่มันยังเหลือดวงตา ปลาจึงเสนอดวงตาแก่อีกา อีกาควักลูกตาของมันกิน บินไปสักพักจึงปลอยให้ปลาแมคเคอเรลที่เหลือเพียงก้าง ร่วงลงพื้นด้านล่าง

กองทัพมดสงสารปลาแมคเคอเรลจับใจ พวกมันจึงช่วยกันแบกร่างที่มองไม่เห็นของปลาแมคเคอเรลกลับบ้าน เมื่อถึงบ้าน ปลาแมคเคอเรลว่ายน้ำที่เคยเป็นบ้านของมัน แต่อะไรๆ ก็ไม่เหมือนเดิมเสียแล้ว

“พอเริ่มออกว่าย มันก็รู้สึกตัวว่าตัวของมันหนักกว่าที่เคยเป็น จนต้องกระเสือกกระสนสุดฤทธิ์เพื่อให้รอดพ้นจากการจมน้ำ และน้ำเล่าก็หนาวเย็นจนเจ็บปวดรวดร้าวทุกครั้งที่ขยับตัวว่าย เกลือซึมเข้าไปทุกอณูของร่าง ทำให้มันเสียวแปลบครั้งแล้วครั้งเล่า”

เนื่องจากตาบอด มันจึงไม่มีจุดหมายในทะเลกว้างเหมือนคนหลงทางในบ้านของตัวเอง คลื่นลมซัดมันขึ้นมาเกยหาด แม้จะตาบอดแต่ปลาได้ยินเสียง เสียงคลื่น ทรายค่อยๆ กลบฝังตัวมัน จนมันไม่ได้ยินเสียงอะไรอีกเลย

นิทานเรื่องนี้เขียนโดย โอกูม่า ฮิเดโอ เขาเขียนก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะเกิดขึ้น ความสัมพันธ์ในระบบตลาดแบบทุนนิยมคือบริบทของ ปลาย่าง ต่างจากระบบวรรณะในสังคมชมพูทวีป อย่างน้อยที่สุดปลาแมคเคอเรลก็ไม่ได้มีมุมมองว่าตนคืออาหาร ไม่ได้พอใจที่ตนต้องสังกัดในวรรณะที่สังคมกำหนด และการให้ของปลาแมคเคอเรลคือการให้ประโยชน์ต่างตอบแทน แต่มันก็สะท้อนการสูญเสียอะไรบางอย่างในชีวิตระหว่างทาง อุดมคติของปลาแมคเคอเรลคือการกลับบ้าน ต้องการหลุดพ้นจากการเป็นปลาย่างแมคเคอเรลในจานอาหาร แม้ว่าบทสรุปใน ปลาย่าง จะเศร้าแสนเศร้า ต่างจากบทสรุปของพระเวสสันดรในชาดกโบราณ

การกลับบ้าน เป็นธีมอมตะเสมอมาในโลกวรรณกรรม การกลับบ้านคือการย้อนกลับไปในความทรงจำ เป็นการหวนคืนกลับมาเพื่อเผชิญหน้ากับตัวตนข้างในของตนเอง กลับไปสำรวจชิ้นส่วนที่ประกอบขึ้นเป็นเรา แต่ธรรมชาติของความทรงจำคือลักษณะที่ไม่หยุดนิ่ง ไม่สถิตและเสถียร คือม้าพยศ คือผี คือดวงดาวห่างโลกหลายปีแสง เมื่อปลาแมคเคอเรลกลับถึงบ้าน บ้านจึงไม่ใช่บ้านหลังเดิมอีกต่อไป เพราะปลาแมคเคอเรลตัวนี้ก็ไม่ได้เป็นปลาตัวเดิมที่เคยว่ายน้ำอยู่ในมหาสมุทรก่อนที่มันจะถูกจับมาย่างจนหอม

 

พระเวสสันดรละเมิดสิทธิมนุษยชน (?) โดย สุรพศ ทวีศักดิ์

 

ปลาย่าง
โอกูม่า ฮิเดโอ เขียน
มนตรี อุมะวิชนี
สำนักพิมพ์ เรือนปัญญา
author

Random books

© WAY MAGAZINE. All rights reserved