สายสตรีท มานุษยวิทยาข้างถนนในมะนิลา บุญเลิศ วิเศษปรีชา

สายสตรีทฯ: สบตาตัวเองผ่านตัวตนคนไร้บ้าน

สายสตรีทฯ: สบตาตัวเองผ่านตัวตนคนไร้บ้าน

กว่า 14 เดือนในการลงพื้นที่คลุกคลีกับคนไร้บ้านในกรุงมะนิลา นอกจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ‘Structural violence and homelessness: Searching for Happiness on the streets of Manila’ หลายเรื่องราวยังตกค้าง บุญเลิศ วิเศษปรีชา จึงเล่ามันออกมาด้วยท่วงท่านอกกรอบกำหนดทางวิชาการ นั่นคือหนังสือที่ชื่อ สายสตรีท: มานุษยวิทยาข้างถนนในมะนิลา

การเข้าไปเป็นคนไร้บ้านของบุญเลิศ นับเป็นวิธีการหนึ่งในการทำวิจัยเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกและข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับความเป็นไปของมนุษย์

ระยะเวลากว่า 14 เดือนที่บุญเลิศต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน ต้องเผชิญกับสายตาที่คนทั่วไปมองอย่างรังเกียจ ใช้ชีวิตด้วยการรอกินข้าวตามโบสถ์ หรือไม่ก็นั่งรอรับอาหารอยู่ข้างถนน และวิธีการของคนไร้บ้านที่ใช้บอกกับตัวเองคือ “ไม่ต้องไปแคร์คนพวกนี้ เพราะคนพวกนี้เขาไม่ได้ให้อะไรเรากิน”

การใช้ชีวิตเป็น ‘บุน’ คนไร้บ้านในมะนิลาของบุญเลิศ ต่างมีข้อจำกัดหลากหลายรูปแบบที่ไม่สามารถทำได้ หนึ่งในนั้นคือเรื่องของสุขอนามัย คนไร้บ้านไม่สามารถหาที่อาบน้ำหรือเข้าห้องน้ำได้อย่างคนทั่วไป แต่กลับต้องรอให้ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดเปิดเสียก่อนจึงจะสามารถเข้าห้องน้ำได้ ไม่เพียงข้อจำกัดในเรื่องของสุขอนามัยเท่านั้น ยังมีข้อจำกัดในการดำเนินชีวิตของคนไร้บ้านอีกมากมายที่บุญเลิศได้สะท้อนออกมาให้เห็นผ่านหนังสือเล่มนี้

และการทำความเข้าใจชีวิตอื่น บางครั้งมันคือการทำความเข้าใจตัวเอง

ทำไมเราต้องสนใจเรื่องคนไร้บ้าน

ผมคิดว่าคนไร้บ้านเป็นอีกชีวิตหนึ่งที่เวลาเราพูดถึงความเหลื่อมล้ำในสังคม กรณีของคนไร้บ้านจะเป็นกลุ่มที่เห็นชัดเจนที่สุด ถ้ามนุษย์หลงลืมคนบางคนที่มีชีวิตอยู่อย่างยากลำบากที่สุด เราจะสามารถเข้าใจเขาได้อย่างไร ตรงนี้ผมว่าอ่านเเล้วมันช่วยกระตุ้นต่อมความเห็นอกเห็นใจ ความอยากจะให้สังคมมันดีขึ้น

หนังสือ โลกของคนไร้บ้าน และหนังสือ สายสตรีท: มานุษยวิทยาข้างถนนในมะนิลา มีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

สิ่งที่ผมตั้งใจคือว่า หนังสือ โลกของคนไร้บ้าน จะเป็นงานชิ้นเเรกที่ทำให้คนไทยได้รู้จักคนไร้บ้าน โดยจะให้ความหมายหนักหน่อยว่าคนไร้บ้านมีความเป็นมาอย่างไร แล้วงานเขียนที่จูงใจให้คนอ่านก็เป็นงานทางด้านวิจัย แต่ก็ยังเขียนอยู่บนพื้นฐานทางมานุษยวิทยาไว้ เพื่อให้งานวิชาการดูมีชีวิตชีวา และในส่วนของหนังสือ สายสตรีทฯ ในฟิลิปปินส์ ผมได้ข้ามไปอีกจุดหนึ่ง ผมคิดว่าอยากจะทำให้คนไร้บ้านมีชีวิตชีวา เพราะฉะนั้นผมเลยทิ้งขนบการเขียนงานทางวิชาการทั้งหมด แต่จะเขียนอย่างไรให้เขามีชีวิตชีวามากที่สุด มีความรู้สึกอย่างไรในการใช้ชีวิตข้างถนน เขามีความผูกพันกับครอบครัวอย่างไร รวมถึงความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ พูดเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย เพื่อให้เห็นความเป็นมนุษย์ในตัวคนไร้บ้าน

จะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่คนไร้บ้านพูดคือเรื่องจริง

ต้องใช้ความลึกและความนาน ใช้ความสัมพันธ์ระหว่างผมกับเขา ตอนแรกๆ ที่ลงพื้นที่ไปคลุกคลีก็รู้สึกว่าพวกเขาพูดความจริงเพียงบางส่วน แต่ต่อมาได้รู้ความจริงมากขึ้นเมื่อตอนที่เรารู้จักกันมากขึ้น จนถึงจุดที่เขาไม่รู้ว่าจะปิดบังผมไปทำไม มีความปรารถนาเดียวคือเข้าใจกันเเละเป็นเพื่อนกัน

ตลอดระยะเวลา 14 เดือนที่อยู่ฟิลิปปินส์ อาจารย์คิดว่าตัวเองเป็นคนไร้บ้านหรือผู้ศึกษา

ผมคิดว่าตัวเองเป็นทั้งสองอย่างอยู่ตลอดเวลา ผมอยู่ร่วมกับพวกเขา ในขณะเดียวกันผมก็วิเคราะห์อยู่ตลอดเวลาว่าสิ่งที่เราเห็นเป็นอย่างไร ความเป็นวิชาการ ภูมิหลังงานศึกษาที่ได้อ่านมา ความเป็นนักวิจัยมันยังอยู่ที่ตัวผม แต่ในขณะเดียวกันผมก็มีความรู้สึกในแบบที่เป็นคนไร้บ้านเช่นกัน เข้าใจในประโยคของคนไร้บ้านที่ว่า ชีวิตไม่ได้ยากลำบากเสียทีเดียว และมันก็ไม่ได้สุขสบายเสียทีเดียว แต่พวกเขาก็ชินกับการดำรงชีวิตอยู่อย่างนี้ ผมก็เช่นกัน

ความเป็น ‘บุน’ กับ ‘บุญเลิศ’ มองโลกต่างกันไหม

บุน เป็นชื่อที่คนไร้บ้านในฟิลิปปินส์ใช้เรียกผม ผมก็ชอบนะ แต่พอเราได้เป็นบุน เราก็กลายเป็นคนที่กลมกลืนกับคนไร้บ้าน แต่ความเป็นบุญเลิศคือการที่เราอยู่ในฐานะนักวิชาการเมืองไทย ในส่วนของบุนก็เป็นคนง่ายๆ ครับ

ทำไมต้องฟิลิปปินส์

เนื่องจากผมเรียนปริญญาเอกมานุษยวิทยา อาจารย์ที่ปรึกษาผมบอกว่าลองไปศึกษาจากคนอื่นเพื่อที่เราจะได้เข้าใจสังคมได้ดีขึ้น อาจารย์บอกว่าจะไปศึกษาที่ไหนก็ได้ที่ไม่ใช่ประเทศไทย ผมเลยคิดถึงประเทศภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และผมเคยไปฟิลิปปินส์มาเเล้ว และมีเพื่อนที่เป็น NGOs อยู่ที่นั่น ก็คิดว่าพอมีช่องทางเข้าภาคสนามได้ เลยเป็นที่มาที่ผมได้ไปศึกษาเรื่องคนไร้บ้านที่มะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์

เคยขัดเเย้งกับคนไร้บ้านไหม

มีหลายรูปแบบนะ มันเป็นเรื่องทักษะในการใช้ชีวิต เราคิดว่าเราไม่ได้ขัดเเย้งกับคนไร้บ้าน เราคิดว่าเราขัดเเย้งกับเพื่อนคนหนึ่ง

เวลา 14 เดือน รู้ได้อย่างไรว่าได้ข้อมูลเพียงพอเเล้ว

ผมรู้ในเชิงทฤษฎี อาจารย์เคยบอกผมว่า ต้องถามตัวเองว่าอยู่นานขนาดไหน คุณอยู่จนกระทั่งคุณคิดว่าคุณอยู่นานไปมากกว่านี้คุณก็จะไม่ได้ข้อมูลอะไรเพิ่มมากขึ้น ตอนนั้นเราฟังเป็นหลักการ ผมอยู่จนผมแตะความรู้สึกนั้นได้ว่า ผมใช้ชีวิตอยู่กับคนไร้บ้านเป็นกิจวัตรประจำวันไปแล้ว ไม่มีอะไรที่ผมจะตื่นเต้นอีกแล้ว ซึ่งบางครั้งเราอาจจะเบื่อ เพราะมันไม่มีอะไรที่น่าค้นคว้าที่รู้สึกว่าแปลกประหลาดใจ

 

สายสตรีท: มานุษยวิทยาข้างถนนในมะนิลา หนังสือที่จะพาท่านผู้อ่านไปทำความเข้าใจความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าคุณจะสนใจเรื่องของคนไรบ้านหรือไม่ก็ตาม ผ่านทุกแง่มุมของมนุษย์ สิ่งที่ท้าทายคือ มนุษย์ที่อยู่ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบากเขายังคงรักษาความเป็นมนุษย์ไว้อยู่ ความเป็นมนุษย์ที่ว่าคือความห่วงใยเพื่อนๆ ความผูกพันกับครอบครัว มนุษย์เราไม่แตกสลาย เป็นหน่วยที่แยกไม่ได้ ต่อให้มีสถานการณ์ที่ยากลำบากมนุษย์ก็ยังมีความเป็นมนุษย์อยู่

author

Random books

© WAY MAGAZINE. All rights reserved