โอชากาเลข้างถนนมะนิลา

โอชากาเลข้างถนนมะนิลา

 

ในงาน ‘LIT Fest เทศกาลหนังสือสนุกไฟลุกพรึ่บ’ เมื่อวันเสาร์ที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา WAY of BOOK ชวนสองนักเขียนผู้เขียนหนังสือเล่มสำคัญของสำนักพิมพ์ WAY of BOOK พูดคุย 1. กฤช เหลือลมัย เจ้าของผลงาน โอชากาเล และ 2. บุญเลิศ วิเศษปรีชา ผู้เขียนหนังสือ สายสตรีท: มานุษยวิทยาข้างถนนในมะนิลา 

สำหรับ ‘โอชากาเล’ ผู้เขียนเป็นอดีตนักเรียนโบราณคดีประกอบกับมีความสนใจในเรื่องวัฒนธรรมอาหาร จึงเลือกที่จะถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อาหาร นัยประวัติ ขุดค้นความเป็นไปเป็นมาของอาหารแต่ละชนิด เครื่องปรุงรสต่างๆ หรือแม้แต่วัตถุดิบทั่วไปที่ใช้ในการทำอาหาร กฤชเล่าว่า เรื่องที่นำมาเขียนจะเริ่มต้นจากการสงสัยในสิ่งที่คนทั่วๆ ไปเขาเชื่อกัน สู่การค้นหาคำตอบแบบนักเรียนโบราณคดี โดยอาศัยหลักฐานทางประวัติศาสตร์

‘สายสตรีท: มานุษยวิทยาข้างถนนในมะนิลา’ หนังสือบอกเล่าเรื่องราวการใช้ชีวิตของคนไร้บ้านในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ผ่านประสบการณ์ตรงของผู้เขียน บุญเลิศได้เข้าไปคลุกคลีและใช้ชีวิตแบบคนไร้บ้านที่ข้างถนนมะนิลากว่า 16 เดือน เป็นหนังสือที่สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกของคนไร้บ้าน ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความเศร้า ความคิดถึงครอบครัว ความเจ้าเล่ห์ หรือแม้แต่ความมีน้ำใจในหมู่คนไร้บ้าน ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจถึงความเป็นมนุษย์มากขึ้น

บรรยากาศในวงสนทนาเป็นไปด้วยความครื้นเครง และเป็นหัวข้อพูดคุยที่สำคัญยิ่ง เพราะพวกเขาพูดคุยเรื่องอาหารการกิน

 

โอชารสข้างถนนมะนิลา

ชีวิตบนท้องถนนของอาจารย์บุญเลิศเป็นไปอย่างเรียบง่าย อาหารการกินเองก็ง่ายเช่นกัน คนไร้บ้านกินอย่างไรบุญเลิศก็จะกินอย่างนั้น แม้ท้ายที่สุดเเล้วอาหารจะไม่ได้มีรสชาติที่อร่อยถูกปาก แต่ก็ต้องกินเพื่อประทังชีวิตไปในแบบฉบับของคนไร้บ้าน

“วิธีการหากินที่ง่ายที่สุด คือไปรอรับเเจกข้าวตามโบสถ์ โดยทั่วไปโบสถ์เเต่ละโบสถ์จะมีตารางเวลาการเเจกอาทิตย์ละวัน ซึ่งมีอยู่สองที่เท่านั้นที่เเจกทุกเช้ากับเเจกทุกเย็น ที่ผมจะผูกพันและเขียนถึงบ่อยๆ คือโบสถ์ซิกข์ที่จะมีการเเจกอาหารทุกเย็น ก็จะกินอาหารแบบคนไร้บ้าน กินแบบไม่มีรสชาติเลย เรากินไปอย่างนี้ทุกวัน …ไก่ชิ้นหนึ่งคุณเห็นมันทุกวัน จะไม่ได้มีความวิเศษอะไร แต่พอคุณได้ไปอยู่ข้างถนน คุณไม่เคยได้กินเนื้อสัตว์เลย คุณได้รับของแจกที่มีแต่ผักกับถั่ว อาหารที่ผมกินเป็นแกงถั่วเขียวที่ไม่มีเนื้อสัตว์ พออยู่ไปนานๆ เข้าก็อยากกินไก่ ซึ่งจะมีอยู่โบสถ์หนึ่งแจก ต้องเดินไปไกลกว่า 5 กิโลเมตร อาทิตย์หนึ่งจะได้กินไก่ชิ้นหนึ่ง ผมก็ยอมเดินไกลเพื่อที่จะได้กินเนื้อไก่ ซึ่งถือว่าวิเศษมาก” บุญเลิศเล่า

เมื่อได้ยินเรื่องการกินของบุญเลิศ กฤช เหลือลมัย ก็ได้แลกเปลี่ยนเรื่องราวของอาหารในศาสนสถานที่บุญเลิศได้พบเจอมา

“อาหารที่แจกตามศาสนสถานมันอาจจะมีนัยยะบางอย่างที่ลึกซึ้งกว่านั้น ประมาณว่าอาหารในทางศาสนามันเป็นไปเพื่อลดกิเลส ลดความอยาก ลดความต้องการ คือเป็นอาหารที่กินเพื่อให้ร่างกายมันสามารถทำงานต่อไปได้ โดยไม่ต้องทำให้มันอร่อย”

ข้อค้นพบหนึ่งในการลงพื้นที่กว่า 16 เดือนของบุญเลิศ คือในขณะที่เราใช้ชีวิตแบบเพลนๆ ธรรมดาๆ กินอาหารทั่วไปที่ไม่ได้อร่อยถูกปาก แต่เมื่อถึงเวลาที่เราได้กินอาหารหรือของหวานที่มันอร่อย เราจะรู้สึกว่าชีวิตช่างเต็มไปด้วยความสุข หนึ่งในเรื่องที่อาจารย์ไม่ได้เขียนเล่าลงไปในหนังสือคือเรื่องการทำกะปิข้างถนน เหตุเกิดจากความอดใจไม่ไหวในรสชาติอาหารบ้านเกิด

บุญเลิศบอกว่า “ผมไปอยู่ฟิลิปปินส์ได้ 4-5 เดือน ผมก็รู้สึกไม่ไหวเเล้ว ต้องหาอะไรสักหน่อย ผมอยากกินรสเผ็ดมาก ก็เลยนึกถึงกะปิ ผมก็เลยไปทำกะปิกินที่ข้างถนน ในฟิลิปปินส์จะมีส่วนประกอบของกะปิแบบที่คล้ายๆ กับเคยบ้านเรา คือกุ้งตัวเล็กๆ แฉะๆ แล้วก็เอามาคลุกข้างถนน ซึ่งข้างถนนไม่มีครัว คนไร้บ้านก็สอนผมให้เอาพริกใส่ถุงพลาสติกแล้วก็เอาขวดแก้วมาตีๆ แทนการใช้ครก คนฟิลิปินส์กินเเล้วก็บอกว่าอร่อยมากเมื่อกินกับข้าว บางคนกินเเล้วเผ็ดมากแทบจะหาน้ำมาดื่มไม่ทัน บางคนขอแตะเพียงแค่ปลายเล็บชิมแล้วก็บอกว่าเผ็ดมากเลย”

 

‘อร่อย’ มาจากไหน

เมื่อมีอาหารวางไว้หนึ่งจานแล้วมีคนกินอยู่สองคน คนเเรกชิมดูเเล้วบอกว่าไม่เห็นจะอร่อยเลย แต่อีกคนชิมเเล้วกลับรู้สึกว่าอร่อยมาก แล้วตกลงอาหารจานนี้อร่อยหรือไม่ แล้วอาหารแบบไหนที่เรียกว่าอร่อย ความอร่อยหรือไม่อร่อยมันต้องขึ้นอยู่กับอะไร

คำถามนี้คงไม่มีใครเหมาะที่จะตอบมากไปกว่า กฤช

“ความอร่อยคงคล้ายๆ ความสุข ความสวย ความไพเราะของเพลง มนุษย์ในแต่ละพื้นที่ตอบโต้ในแต่ละวัฒนธรรมของตนเองแตกต่างกันไป เราต่างก็เป็นผลผลิตทางภูมิศาสตร์ที่เราอยู่ และวัฒนธรรมที่เเวดล้อมเราอยู่ แม่เป็นคนที่ทำกับข้าวให้เรากินตั้งเเต่เด็ก เพราะฉะนั้นความอร่อยก็จะต้องเป็นความอร่อยในแบบที่แม่เราทำให้เรา อย่าว่าแต่เป็นประเทศ จังหวัด ภูมิภาค หรือกระทั่งบ้านแต่ละบ้าน ความรู้สึกแบบนี้มันเป็นปัจเจกมากๆ เพราะฉะนั้นยิ่งต้องระวัง ความอร่อยมันเป็นสิทธิของเขาที่เเสดงออกมา ที่จะถูกใจหรือไม่ถูกใจอะไรต่างๆ เราไม่มีสิทธิที่จะไปชี้หน้าว่า มาจากไหนวะ รสชาติไม่อร่อยเลย เเล้วเรามีสิทธิอะไรที่จะไปบอกว่าอาหารฟิลิปปินส์ไม่อร่อยเลย เพราะว่ามันก็อาจจะอร่อยก็ได้”

 

ปัก ปัก ก่อนกิน

การค้นหาอาหารจากถังขยะ นับเป็นขุมทรัพย์ชั้นยอดในหมู่คนไร้บ้าน บางครั้งเมื่อเจอชิ้นเนื้อไก่จะเปรียบเสมือนสิ่งวิเศษมากสำหรับคนไร้บ้าน และสำหรับคนไร้บ้านเองเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากหากเก็บอาหารได้เเล้วจะนำมาปรุงต่อหรือเข้ากระบวนการอะไรต่างๆ เนื่องจากพวกเขาไม่มีครัวหรืออุปกรณ์ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะกินอะไรที่ได้มาจากถังขยะ พวกเขาจึงต้องทำการ ‘ปัก ปัก ก่อนกิน’ (pag pag)

บุญเลิศเล่าว่า “คำว่า ปัก ปัก เป็นคำสแลงที่ริเริ่มขึ้นในหมู่คนไร้บ้าน ปัก ปัก ตามศัพท์จริงๆ แปลว่าอะไรที่มันกระพือ ซึ่งเป็นเสียงของนกกระพือปีก แล้วทำไมถึงเรียกว่าอาหารจากถังขยะ มันมาจากการเก็บอาหารขึ้นมาจากถังขยะแล้วก่อนจะกินจะต้องเคาะๆ ปัดฝุ่นมันซะหน่อย เนี่ยจึงเป็นที่มาของอาหารที่เรียกว่า ปัก ปัก ที่คนไร้บ้านกิน”

 

ว่าด้วยเรื่องการเก็บผักข้างทาง

เป็นเรื่องธรรมดาหากมีใครคนใดคนหนึ่งทำในสิ่งที่แปลกประหลาดจากคนทั่วไปเขาปฏิบัติกัน กฤชเป็นอีกหนึ่งคนที่ชอบเก็บพืชเก็บผักตามข้างทางข้างถนน เพื่อมาประกอบอาหารในรูปแบบของตนเอง แต่ก็คงหนีไม่พ้นหลากหลายสายตาที่มองมาด้วยความกลัวหรือความสงสัยก็ตาม

“ความเชื่อที่ว่ามีใครสักคนลงไปเก็บอะไรจากข้างถนนมา เป็นสิ่งที่ดูด้อยศักดิ์ศรี มันน่าอาย ผมเคยได้ยินเรื่องเล่าจากพี่คนหนึ่ง เขาเล่าว่า มีคนอีสานมาอยู่ข้างบ้านเขาเมื่อหลายเดือน ตอนแรกสองคนผัวเมียเก็บของข้างทางมาทำกับข้าวกินใหญ่เลย และต่อมาเขาก็ไม่เก็บละ เลยถามไปว่าทำไม เขาก็บอกว่า ไม่เอา…อายเขา คนเขาหาว่ามาเก็บของเก็บอะไรข้างทาง มันก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเปลี่ยนความน่าอายตรงนี้เป็นอะไร แต่ผมใช้วิธีเปลี่ยนความน่าอายเป็นความหน้าด้าน ตอนผมทำงานอยู่ในเมือง ระหว่างรอรถเมล์ ข้างหลังป้ายก็เต็มไปด้วยกะทกรก ตำลึง ผักบุ้ง เราก็ไปซุ่มเก็บ แต่ก็เจอสายตาคนมองเรานะ เราก็ไม่อะไรครับ เพราะเราไม่ได้มีความผิด หรือคิดร้ายกับใคร”

 

วิธีวิทยาการปรุงรสแบบคนไร้บ้าน

บุญเลิศเล่าถึงการประกอบอาหารของคนไร้บ้านที่มีข้อจำกัดเรื่องเครื่องครัว เพราะชีวิตพวกเขาอยู่ข้างถนน

“มีช่วงหนึ่งที่ผมได้ไปคลุกคลีกับคนไร้บ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ดิบที่สุดในเมืองมะนิลา เป็นชายฉกรรจ์ 7-8 คน บางคนใส่เสื้อบางคนไม่ใส่เสื้อ คนที่เป็นหัวหน้ากลุ่มเดินเท้าเปล่า ในคนไร้บ้านเรียกกลุ่มนี้ว่า คาราบาว กลุ่มนี้ไม่ได้ไปรับเเจกข้าว แต่รวมกลุ่มกันเก็บของเก่า เก็บได้มาไม่ได้แยกว่าอันไหนของใคร เเต่จะเอาของที่หาได้มาเทรวมกัน ขวดพลาสติกเอาไปขาย ขวดขุ่นเอาไปขาย ขายเสร็จตอนเช้าเดินกลับก็จะไปร้านขายเป็ด เอาคอเป็ดที่เขาทิ้ง กลับมาคลุกเครื่องปรุงอยู่ข้างถนน หยิบทั้งหมดเอามาพลิกแพลง เช่น เอากระป๋องนมผงไซส์ใหญ่มาใช้เป็นหม้อ ถามว่าเอาอะไรมาเป็นมีด ก็พวกฝากระป๋องทั้งหลายเอามาหั่นเนื้อสัตว์ ต้มในหม้อ และนั่งกิน กลุ่มนี้คือกลุ่มที่ดิบสุด ตอนจะกิน เขาจะใช้ถุงเก็บขยะ ถุงพลาสติกใบใหญ่ นั่งล้อมวงลงบนฟุตบาท ฉีกถุงพลาสติกปูกับพื้น แล้วเทกับข้าวลงไปตรงกลาง นั่งล้อมวงกินกัน เวลาเอามือรวนข้าวมือจะสัมผัสกับผิวขรุขระของคอนกรีต เพราะไม่มีจาน”

 

ถ้า กฤช เหลือลมัย ต้องไปเป็นคนไร้บ้าน

ถ้าบุญเลิศมาเล่าเรื่อง ‘โอชากาเล’ ก็คงจะเป็นแบบที่เขาเล่าไปเมื่อครู่ คนไร้บ้านมีข้อจำกัดเรื่องเครื่องครัว การประกอบอาหารจึงค่อนข้างจะมีลักษณะประยุกต์ใช้สิ่งของใกล้ตัว

แล้วถ้า กฤช เหลือลมัย เป็นคนไร้บ้าน บ้างล่ะ อาหารของเขาจะเป็นอย่างไร

“ถ้าเปรียบเทียบกับฟิลิปปินส์ที่อาจารย์บุญเลิศเล่า ยังไงคนไร้บ้านก็ยังมีข้าวที่โบสถ์ทุกเช้าทุกเย็น มีตารางเวลาที่เเน่ชัด แต่ว่าถ้าเป็นคนไร้บ้านของกรุงเทพฯ ก็ต้องหาเอง อาหารเเจกก็น่าจะไม่เพียงพอ เเล้วถ้าเกิดว่าผมเป็นคนไร้บ้านที่กรุงเทพฯ เราก็จะตั้งคำถามว่า จะกินไรดีวะ หาอาหารจากกองขยะขุดคุ้ย เราก็จะสังเกตว่าของอะไรที่มันอยู่ข้างทาง พืชผักใบไม้ใบหญ้าอะไรที่สามารถกินได้บ้าง ซึ่งตอนนี้ก็พอมีอยู่บ้างในกรุงเทพฯ ในแถบชานเมือง แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าพื้นที่ในเมืองในปัจจุบันเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก ผมย้ายมาอยู่บ้านที่บางแคแค่สามปีพื้นที่มันเปลี่ยนแทบจำไม่ได้เลย พื้นที่เปลี่ยนไป แล้วความรู้เกี่ยวกับการเก็บของกินข้างทางเหมือนจะยังน้อยอยู่ เพราะฉะนั้นมันก็เลยหมือนกับว่ายาก การเป็นคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ ในเมืองใหญ่ของประเทศไทย ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการเอาอะไรมากินได้หรือกินไม่ได้ ขอดูถูกละกันว่าน่าจะมีน้อย เพราะว่าผมก็ไม่ค่อยเห็นใครเก็บอะไรมากิน สถานการณ์ก็น่าเป็นห่วงครับสำหรับคนไร้บ้าน”

author

Random books

© WAY MAGAZINE. All rights reserved