รีวิววูนเด็ดนีจากผู้อ่าน#2

รีวิววูนเด็ดนีจากผู้อ่าน#2

ภาพจำอเมริกาในหัวของใครหลายคนคงจดจำกันว่าเป็นดินแดนเสรีภาพที่ต้อนรับความแตกต่างทั้งด้านความเชื่อ อัตลักษณ์ วัฒนธรรมและอื่นๆสามารถอยู่ร่วมกันได้ กระทั่งความฝันอันแสนหวานที่จะหลีกหนีจากความยากลำบากที่บ้านเกิดเมืองนอนมาสร้างเนื้อสร้างตัวในดินแดนแห่งโอกาส  “ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี” อาจกลายเป็นการตบหน้าฉาดใหญ่จากดีบราวน์ที่ต้องการจะบอกให้ทุกคนได้รับรู้ว่า กว่าจะเป็นดินแดนที่ให้โอกาสต่อใครหลายคน อีกด้านหนึ่งก็เป็นดินแดนที่ลิดรอนโอกาสจากชนพื้นเมืองที่เคยอยู่มาก่อนเช่นเดียวกัน

เนื้อเรื่องดำเนินไปโดยเริ่มต้นจากการความเป็นมาของคนพื้นเมืองแต่ละกลุ่ม ไล่เรียงไปถึงการอพยพเข้ามาของคนผิวขาว การค้นพบเหมืองแร่ทองคำทางด้านตะวันตกของอเมริกาซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการยึดคืนพื้นที่จากบรรดาคนพื้นเมืองเพื่อสร้างเส้นทางรถไฟและที่อยู่อาศัย โดยตกลงทำสนธิสัญญาร่วมกัน ชาวพื้นเมืองจะได้รับปัจจัยในการอุปโภคและบริโภคจากรัฐ แลกกับการที่บรรดาชาวพื้นเมืองจะต้องไปอยู่ในพื้นที่เขตสงวนที่ทางรัฐจัดเอาไว้ให้ซึ่งไกลออกไปจากพื้นที่เดิมที่พวกเขาเคยอยู่  แต่สิ่งที่ชาวพื้นเมืองได้รับกลายเป็นว่าต้องไปอยู่ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะต่อการอยู่อาศัย ทั้งดินที่ไม่เหมาะต่อการเพาะปลูกและขาดแคลนน้ำ ข้อตกลงที่เกิดจากการทำสนธิสัญญาว่าจะได้รับอาหารและฝูงสัตว์ที่ตกลงไว้กับรัฐบาลกลับไม่ได้ตามที่ควรจะเป็น ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างคนพื้นเมืองและคนผิวขาวได้นำไปสู่การสังหารหมู่ภายใต้คำสั่งจากรัฐบาล ในช่วงแรกเกิดการสังหารหมู่ที่แซนด์ครีก สภาพศพของชนพื้นเมืองนั้นมีสภาพที่น่าสยดสยอง บางศพถูกถลกหนังหัว คว้านท้อง สับแขนขา แม้กระทั่งอวัยวะเพศถูกเฉือนออกไปก็มีให้เห็น

ความรุนแรงที่เกิดจากการกระทำของคนขาวทำให้เกิดการโต้ตอบจากคนพื้นเมืองในการสังหารหมู่ที่เฟตเตอร์แมน บรรดาทหารของรัฐบาลถูกกระทำไม่ต่างจากที่พวกเขาได้เคยกระทำเอาไว้กับชาวพื้นเมืองเช่นเดียวกัน แต่การตอบโต้จากบรรดาชาวพื้นเมืองนั้นไม่ได้เกิดลักษณะเช่นนี้อีก เนื่องจากข้อจำกัดในด้านเทคโนโลยีด้านอาวุธ และด้านกำลังคน พวกเขาจึงใช้ “การเต้นปีศาจ” ในการปลุกใจให้แก่พวกพ้องของตน อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่าการเต้นปีศาจนี้คืออาวุธของผู้อ่อนแอกว่าดังที่สก็อต  (James C. Scott) เคยบอกเอาไว้ว่ามันเป็นวิธีการหนึ่งที่ผู้ที่ด้อยกว่าใช้ต่อต้านกับผู้ที่เหนือกว่า

การเต้นปีศาจได้รับความสนใจและมีชาวพื้นเมืองเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ดังนั้นมันจึงกลายเป็นสิ่งที่รัฐมองว่าเป็นภัยและนำไปสู่การสังหารหมู่ที่ตำบลวูนเด็ดนี เหตุการณ์ครั้งนี้อาจจะถือได้ว่าเป็นการสิ้นสุดของชาวพื้นเมืองของอเมริกา เนื่องจากถูกสังหารเกือบทั้งหมด เด็ก สตรี คนชรา กระทั่งเด็กทารกที่ถูกค้นพบภายหลังก็ไม่ถูกละเว้น มีบางส่วนเท่านั้นที่หลบหนีไปได้ แต่ท้ายที่สุดถูกส่งให้ไปอยู่ในเขตสงวนที่รัฐบาลจัดไว้ให้

เมื่ออ่านฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนีจบอาจไม่ได้หลั่งน้ำตาให้กับการตายของบิ๊กฟุตและชาวพื้นเมืองอเมริกันที่เกิดขึ้นในวูนเด็ดนี และการสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆก่อนหน้าอีกหลายครั้ง อาจเป็นเพราะความห่างไกลในแง่ของพื้นที่และเวลา แต่อาจจะกระตุกเตือนให้ได้ระลึกถึงความรุนแรงในรูปแบบเดียวกันที่เกิดขึ้นในประเทศของตนเองหากว่าไม่ได้จงใจลืมไปเสียก่อน ที่สุดแล้วชนพื้นเมืองในอเมริกายังต้องใช้ความพยายามร่วมร้อยกว่าปีจึงได้รับการขอโทษจากรัฐบาลสหรัฐว่าเป็นผู้ที่ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ตำบลวูนเด็ดนี ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์อันด่างพร้อยอีกช่วงหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ก็อาจจะเป็นนิมิตหมายที่ดีว่าอาจจะเกิดขึ้นได้ในประเทศไทยได้เช่นเดียวกัน แม้ว่าอาจจะต้องรอเป็นระยะเวลานานกว่าร้อยปีก็ตาม

 

Nui Krajangdararat เขียนถึง ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี ในโครงการ WAY Forward
author

Random books

© WAY MAGAZINE. All rights reserved