อยู่กับบาดแผล: คำบอกเล่าของบาดแผลที่ไม่เคยหยุดไหลหลั่ง

อยู่กับบาดแผล: คำบอกเล่าของบาดแผลที่ไม่เคยหยุดไหลหลั่ง

text: ทัศ ปริญญาคณิต

 

“บำรุงเข้าร่วมชุมนุมและถูกยิงด้วยกระสุนยางที่ดวงตาจนตาข้างขวามองไม่เห็นจนถึงปัจจุบัน และไม่สามารถประกอบอาชีพขายอาหารเหมือนเดิม” ประโยคดังกล่าวถูกเล่าด้วยน้ำเสียงค่อนข้างทางการ ผู้พูดไม่ได้แสดงความเห็นใจต่อบำรุงที่ต้องสูญเสียดวงตา แต่ประโยคดังกล่าวกลับบอกเล่าเรื่องราวของบำรุงและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางการเมืองในด้านที่ไม่เคยถูกบอกเล่ามาก่อน

อยู่กับบาดแผล (2562) โดย บุญเลิศ วิเศษปรีชา ปรับปรุงมาจากผลงานวิจัยของเขาเช่นกันที่บอกเล่าผลกระทบของเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองปี 2553-2557 บุญเลิศซึ่งเป็นอาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สัมภาษณ์เหล่าผู้ได้รับผลกระทบ 25 คน เพื่อสะท้อนแง่มุมของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากทั้งสองฟากฝั่งการเมืองทั้งเหลือง-แดง บทสัมภาษณ์ครอบคลุมตั้งแต่ภูมิหลังชีวิตของผู้ให้สัมภาษณ์ บทบาทของพวกเขาในการชุมนุม ผลกระทบที่ความรุนแรงมีต่อชีวิตของพวกเขาในปัจจุบัน ตัวหนังสือเป็นงานวิชาการกึ่งสารคดี โดยรวบรวมข้อมูลแบบวิชาการแต่บอกเล่าด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย

บุญเลิศเคยฝากผลงานแนววิชาการกึ่งสารคดีตั้งแต่ โลกของคนไร้บ้าน และ สายสตรีท: มานุษยวิทยาข้างถนนในมะนิลา โดยในผลงานชิ้นหลังบุญเลิศได้ลงพื้นที่คลุกคลีชีวิตร่วมกับคนไร้บ้านในกรุงมะนิลาเป็นเวลากว่า 14 เดือน งานของเขามักสนใจเรื่องมานุษยวิทยาและคนชายขอบเสมอ

ผู้อยู่กับบาดแผลทั้ง 25 คนอยู่ในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองไทยสามเหตุการณ์คือ เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2553-2557 ฉากแรกได้แก่เหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่ม นปช. เพื่อเรียกร้องให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาในปี 2553 เหตุการณ์ดังกล่าวบานปลายส่งผลให้เกิดการปะทะหลายครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวมกว่า 100 คน และผู้บาดเจ็บกว่า 2,000 คน ฉากที่สองคือการเคลื่อนไหวชุมนุมต่อต้านรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยกลุ่ม คปท. และ กปปส. ช่วงปี 2556-2557 โดยข้อมูลของศูนย์เอราวัณระบุว่าเกิดความรุนแรงขึ้น 11 ครั้งและมีผู้เสียชีวิตรวม 27 คน ฉากที่สามคือเหตุการณ์ชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี 2553 ที่มีผู้ถูกจับกุมตัวและส่งฟ้อง 30 ราย ในจำนวนนั้นมีหลายรายถูกตำรวจหลอกมาจับกุมโดยที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

ฉากหลังทั้งสามในหนังสือเล่มนี้เรียกร้องให้สังคมปัจจุบันจดจำความรุนแรงที่เริ่มถูกลืมเลือน มันได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่มืดมัวไม่ชัดเจน ในผลงานศึกษาชิ้นนี้เราได้สัมผัสเรื่องเล่าชีวิตและเสียงของคนที่ถูกลืม (ที่ถูกทำให้ถูกจดจำเพราะผลงานชิ้นนี้) เพื่อสะท้อนปัญหาความรุนแรงทางการเมืองจากหย่อมหญ้าพร้อมกับคำถามที่ว่า ‘เราเคยรับรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์เหล่านั้นไหม?’

บุญเลิศใช้เวลาเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 ถึงมิถุนายน 2560 เขาสัมภาษณ์ เปรียบเทียบ และเสนอมุมมองทางมานุษยวิทยาของผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงทางการเมืองซึ่งประกอบไปด้วย 4 กลุ่ม กลุ่มแรกคือบุคคล 8 คนที่เข้าร่วมการชุมนุม นปช. ที่กรุงเทพฯ ปี 2553 กลุ่มที่สองมีจำนวน 8 คนเป็นผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากเหตุการณ์เพลิงไหม้ที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีปี 2553 กลุ่มที่สามคือผู้ร่วมชุมนุม กปปส. และ คปท. มีจำนวน 8 คน รายสุดท้ายเป็นทหารที่เข้าร่วมปฏิบัติการภาคสนามวันที่ 10 เมษายน 2553 ทั้ง 25 ชีวิตต่างมีเรื่องเล่าเป็นของตน ต่างมีบาดแผลที่ตนได้รับจากเหตุการณ์ความรุนแรงในอดีต

เมื่อพิจารณาชื่อเรื่องแล้วเป็นที่น่าขบคิดว่าคำว่า ‘บาดแผล’ มักทำให้เรานึกถึงแผลทางกายภาพที่มีเลือดไหล เมื่อเวลาผ่านไปเนื้อเยื่อจะสมาน รอยแผลจะหายไป ทิ้งไว้เพียงความทรงจำที่อีกไม่นานก็คงถูกลืมเลือน ถ้าหากสาหัสมากคงจะเกิดเป็นแผลเป็น แต่ ‘บาดแผล’ ของบุญเลิศนั้นท้าทายภาพจำที่เรามักมีต่อคำว่าบาดแผล มันหมายความรวมไปถึงบาดแผลทางจิตใจที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนมันก็ยังคงอยู่กับผู้ที่อยู่กับบาดแผลเสมอ

ผู้อ่านจะพบว่าบุคคลทั้ง 25 คนถูกทำให้เป็นมนุษย์ (humanized) ผ่านการรวบรวมข้อมูลปูมหลังของชีวิตและสาเหตุของการเข้าร่วมการชุมนุมของแต่ละคน เรารู้จักพวกเขามากขึ้นแทนที่พวกเขาจะเป็นเพียงรายชื่อในพาดหัวข่าวกระแสหลัก เช่น “บ้านเดิมของอุดมศิลป์เป็นคนจังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ตั้งแต่เรียนจบมัธยมต้น” อุดมศิลป์เปลี่ยนสถานะจากใครก็ไม่รู้ที่เราเคยเห็นเพียงชื่อ เป็นใครสักคน (someone) พวกเขาเคลื่อนที่จากชายขอบในความทรงจำของผู้อ่านที่ทั้งไม่รู้และไม่จำไปสู่ศูนย์กลางของความทรงจำของผู้อ่านผลงานชิ้นนี้

ความคุ้นชินทางความคิดที่แบ่งแยกกลุ่มคนตามสีเสื้อทางการเมืองถูกถอดรื้อและสร้างใหม่ บุคคลทั้ง 25 ที่อาจจะมีบทบาทในข่าวเพียงแค่ชื่อ-นามสกุล เป็นเพียงคนเสื้อเหลือง (ชื่อเหมารวมว่า ‘สลิ่ม’) คนเสื้อแดง (ชื่อเหมารวมว่า ‘ควายแดง’) กลับมีภูมิหลัง มีวัยเด็ก มีบ้าน มีลูก และเป็นมนุษย์เฉกเช่นเดียวกับเรา ไม่ว่าจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันก็บาดเจ็บเหมือนกัน

รูปแบบการเล่าเรื่องแบบวิชาการและน้ำเสียงที่เป็นกลาง ไม่เรียกน้ำตา ทำให้ผู้อ่านมีสถานะเป็นเหมือนผู้สังเกตการณ์ (witness) ซึ่งยืนอยู่ในระยะห่างพอสมควรจากอารมณ์ในเรื่องเล่าของผู้ให้สัมภาษณ์ การถอยห่างเพื่อมองทำให้เราเห็นเหตุการณ์จากจุดที่เป็นกลางไม่เอนเอียงไปทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนเกินไป

เรื่องราวของทั้ง 25 คนถือเป็นเรื่องราวของคนชายขอบของเรื่องเล่า เพราะพวกเขาไม่เคยได้มีสิทธิเสียงในการเล่าเรื่องบาดแผลของตนเลย ประวัติศาสตร์และข่าวกระแสหลักมักให้พื้นที่การเล่าเรื่องแก่ตัวผู้นำการชุมนุม แต่ในผลงานชิ้นนี้คนตัวเล็กตัวน้อยอย่างพวกเขาได้รับพื้นที่การเล่าเรื่องผ่านบทสัมภาษณ์ของบุญเลิศ เพื่อบอกเล่าบาดแผลที่รุนแรงจนทำให้ชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนไปตลอดกาลในมุมมองของพวกเขา พวกเขาเป็นเหยื่อของความรุนแรงที่พวกเขาไม่ได้ก่อด้วยตนเอง แต่เมื่อมีความรุนแรงย่อมมีเหยื่อเสมอ ดังที่ผู้เขียนเน้นย้ำตลอดทั้งเล่มว่า “ความรุนแรงทางการเมืองคือสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงอย่างที่สุด” เพราะ “การปะทะกันด้วยความรุนแรง ย่อมก่อให้เกิดการสูญเสียได้”

ในขณะที่อ่านหนังสือเล่มนี้ผมรู้สึกถึงคำพูดที่ใครหลายๆ คนชอบพูดว่า “คนไทยความจำสั้น เดี๋ยวก็ลืม” ลืมในที่นี้น่าคิดว่าจะเป็นการลืมความทรงจำอย่างหนึ่งเพื่อจำความทรงจำอีกอย่างหรือไม่ ผลงานชิ้นนี้ดึงเรากลับไปสู่ความทรงจำของความรุนแรงทางการเมืองของไทยตั้งแต่ปี 2553-2557 บางทีถึงกับเตือนให้เราเห็นว่าบางสิ่งที่เราจดจำอาจจะเป็นความทรงจำที่ถูกบิดเบือน มันเพียงถูกป้อนเข้ามาในหัวของเราเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง

ปกของหนังสือเล่มนี้มีพื้นหลังสีน้ำเงินเปลือยเปล่า สีน้ำเงินโดยปกติสร้างความรู้สึกสงบและปลอดภัยแก่ผู้พบเห็น แต่ในที่นี้ตรงกลางของปกกลับมีบาดแผลเปิดพร้อมเลือดสีแดงฉานไหลหลั่งโดยไม่มีท่าทีว่าจะแห้ง ไม่ว่าสีน้ำเงินโดยรอบจะสร้างความรู้สึกสงบเพียงใด บาดแผล ณ ใจกลางยังคงอยู่ ไม่สามารถสมาน มันตระหง่านและโดดเด่นจนผู้ที่เห็นปกหนังสือเล่มนี้ไม่สามารถมองข้ามได้ ปกหนังสือดังกล่าวฉุดรั้งผู้อ่านให้ตั้งคำถามว่าบาดแผลที่เห็นนั้นเป็นบาดแผลของใคร ใครกันแน่ที่ต้องอยู่กับบาดแผล

และท้ายที่สุดคือมันจะไหลหลั่งยาวไปสิ้นสุด ณ ที่ใดหากมันไม่ได้รับการเยียวยาเสียที

อยู่กับบาดแผล
บุญเลิศ วิเศษปรีชา
สำนักพิมพ์ papyrus
author

Random books

© WAY MAGAZINE. All rights reserved