แง่มุม 4 ประการ ชวนอ่าน ‘ราษฎรกำแหง’ บันทึก 9 คดี ต้านรัฐประหารในยุค คสช.

แง่มุม 4 ประการ ชวนอ่าน ‘ราษฎรกำแหง’ บันทึก 9 คดี ต้านรัฐประหารในยุค คสช.

“คำสั่งเรียกข้าฯ มารายงานตัว
ข้าฯ เห็นว่าไม่เป็นกฎหมาย
เป็นคำสั่งที่ออกโดยคณะกบฏ”

(ส่วนหนึ่งของคำให้การในศาลหารของ ‘รุ่งศิลา’ หรือ สิรภพ กรณ์อรุษ)

สิรภพถูกดำเนินคดีและคุมขังอย่างยาวนานในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คำให้การข้างต้นช่วยจับภาพประชาชนที่ออกมาต่อต้านการใช้กำลังอำนาจของคณะรัฐประหาร คสช. ได้อย่างคมชัด

ชีวิตและสำนึกแห่งการต่อสู้นั้น ปรากฏเป็นเรื่องราวที่ทั้งหนักหน่วงและแหลมคมในหนังสือที่ชื่อว่า ราษฎรกำแหง: บันทึก 9 คดี ต้านรัฐประหารในยุค คสช. จัดพิมพ์โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน WAY ประมวลเหตุผลที่ควรอ่านหนังสือเล่มนี้จาก 4 แง่มุม เพื่อเสนอแก่ผู้อ่าน ให้ได้ทราบ ‘ที่มา’ ของการต่อสู้อันยืดเยื้อยาวนาน และมองเห็น ‘ทางไป’ อันน่าสนใจของนักสู้เหล่านั้น

1. บันทึกการต่อสู้ของประชาชนร่วมสมัย

หนังสือเล่มนี้ริเริ่มขึ้นจากทนายความสิทธิมนุษยชนจำนวนหนึ่ง ซึ่งพวกเขาให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากผลพวงของการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยเป็นการระดมนักเขียนที่มีความสนใจติดตามสถานการณ์การต่อสู้ทางการเมืองและการละเมิดสิทธิมนุษยชนตลอดหลังรัฐประหาร 2557 ซึ่งการปกครองประเทศผ่านกฎอัยการศึก คำสั่งหัวหน้าคณะรัฐประหาร และปฏิบัติการทางทหารนั้น ก็ได้นำมาซึ่งการจับกุมดำเนินคดีประชาชนที่แสดงออกอย่างสันติเป็นจำนวนมาก

เราอาจจะสามารถแบ่งช่วงเวลาการครองอำนาจของ คสช. อย่างคร่าวๆ เป็น 3 ช่วง ดังนี้ 1.ช่วงปีแรกหลังการรัฐประหาร ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการใช้กำลังอำนาจผ่านอำนาจพิเศษในการกดปราบประชาชน 2.ช่วงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในปี 2559 อันเป็นการพยายามเปลี่ยนถ่ายอำนาจไปสู่รัฐธรรมนูญ 2560 ท่ามกลางการปิดกั้นการรณรงค์ประชามติด้วยในทางเดียวกัน และ 3.การเคลื่อนไหวของประชาชนก่อนการเลือกตั้งในปี 2562 ที่แต่ละช่วงเวลาก็ส่งผลต่อรูปแบบการต่อสู้ของประชาชนและการละเมิดสิทธิของรัฐประหารที่ต่างกันไป

แม้ว่าจะมีงานวิชาการที่อธิบายสภาพการเมืองสังคมในยุค คสช. ว่ามีความแตกต่างออกไปจากระบอบเผด็จการในอดีตไปอย่างไร เช่น ระบอบประยุทธ์-การสร้างรัฐทหารและทุนนิยมช่วงชั้น ของ ประจักษ์ ก้องกีรติ และ วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร ตีพิมพ์ในวารสาร ฟ้าเดียวกัน ฉบับที่ 2 ปี 2561 โดยวิเคราะห์ไว้ว่าในทางเศรษฐกิจไทยมีลักษณะเป็นทุนนิยมช่วงชั้นที่ผูกขาดด้วยทุนใหญ่ไม่กี่กลุ่ม ขณะที่ในทางการเมืองอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยมทางทหารที่ต่างออกไปจากระบอบเผด็จการในอดีต

อีกด้านหนึ่ง ฐานะของ ราษฎรกำแหง หรือในภาคอังกฤษมาจากคำว่า ‘Dissident Citizen’ ก็ช่วยเติมภาพของประชาชนที่อยู่ใต้รัฐทหาร+ทุนนิยมช่วงชั้นนั้น แต่เป็นบันทึกของประชาชนที่ปฏิเสธความพยายามสถาปนาระบบนั้น ซึ่งคณะรัฐประหารพยายามยัดเยียดลงมาให้เขาและเธอเหล่านั้น

ในมุมนี้แล้ว ราษฎรกำแหง จึงเป็นบันทึกด้านกลับจากนักสู้จาก 9 คดีคัดสรร แม้ว่านักสู้เหล่านั้นจะมีจำนวนหลายร้อยคน แต่สิ่งที่มีร่วมกันคือการเลือกแนวทางต่อสู้ทางคดีอย่างถึงที่สุด แม้ว่าพวกเขาจะอยู่ภายใต้สภาวะที่หลักการนิติรัฐถูกทำลายลงก็ตามที

2. ใช้วัตถุดิบที่รวบรวมอย่างพิถีพิถัน

หนังสือเล่มนี้ใช้เอกสารทางคดีความสำหรับการเดินเรื่อง อาทิ บันทึกการจับกุม เอกสารคำฟ้อง คำให้การของพยาน คำแถลงของจำเลย คำพิพากษาของศาล ฯลฯ ซึ่งถูกจัดเก็บไว้อย่างเป็นระบบ โดยทนายความสิทธิมนุษยชนเป็นผู้รวบรวมไว้อย่างพิถีพิถัน ท่ามกลางกองเอกสารคดีอีกกว่า 200 คดีซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือประชาชนในทางคดีอยู่

นอกจากนั้นวัตถุดิบอื่นๆ ที่ถูกประกอบเข้ามาก็ทำให้เห็นชีวิตและความคิดของนักสู้ที่ครอบคลุมการต่อสู้หนึ่งๆ มากขึ้น เช่น บันทึกการสังเกตการณ์ในห้องพิจารณาคดี บันทึกคำสัมภาษณ์ เป็นต้น

แน่นอนว่าด้วยความหนาของหนังสือ (355 หน้า) มิได้ตีกรอบไว้เพียงเอกสารภายในคดี หากยังลงลึกไปถึงชีวิตและการต่อสู้ในชีวิตประจำวันท่ามกลางการถูกใช้คดีในการปิดปากพวกเขา มีการใช้ภาพประกอบที่ตรงร่วมกับสถานการณ์การต่อสู้ ดังนั้นผู้อ่านจะได้เห็นทั้งบริบท มุมมองของผู้ที่เกี่ยวข้องกับนักสู้ด้วยไม่ว่าจะเป็น เพื่อน ญาติ ตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา ไปจนกระทั่งผู้คุมนักโทษ

อย่างไรก็ตามด้วยที่มาของนักเขียนที่แตกต่างกัน ก็นำมาสู่วิธีการเล่าเรื่องที่ต่างกันไปด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ในงานเรื่อง สมบัติ บุญงามอนงค์: เอ็นจีโอแหกคอก กับ ‘รัฏฐาธิปัตย์’ ที่ถูกรับรองโดยศาล ซึ่งเขียนโดยนักข่าวการเมืองที่มีความสามารถสูงและติดตามสถานการณ์การเมืองอย่างยาวนาน ทำให้สามารถเห็นภูมิหลังของนักสู้ในคดีได้อีกหลายมิติ

ขณะที่นักเขียนบางคนเลือกใช้วิธีติดตามการพิจารณาคดีความ ซึ่งสามารถสะท้อน ‘ตัวบท’ ที่ได้จากการสังเกตการณ์ในห้องพิจารณาคดีอย่างละเอียดลออและมีเสน่ห์ยิ่งขึ้น บางชั่วขณะเราอาจจะมองเห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ การต่อสู้ที่แหลมคมผ่านถ้อยคำในชั้นศาล แม้กระทั่งเล็กๆ น้อยๆ เช่น อากัปกิริยา การโต้เถียงถึงหลักกฎหมาย หลักนิติรัฐ หลักสิทธิมนุษยชน ของจำเลย พยาน อัยการ และศาลในแต่ละคดีความ

3. เป็นพยานประวัติศาสตร์การปราบปรามประชาชน

“ปฏิบัติการต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่ดำเนินการในแต่ละพื้นที่มีการจัดทำบัญชีรายชื่อของประชาชนกลุ่มที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าต้องจับตาหรือ ‘กลุ่ม ปม.’ โดยมีการจัดทำแฟ้มข้อมูลของบุคคลซึ่งจัดเก็บข้อมูลส่วนตัว อาทิ ประวัติครอบครัว ที่อยู่ ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ประวัติการเดินทางข้อความที่โพสต์ในสื่อออนไลน์ บทบาททางการเมือง การทำกิจกรรมต่างๆ ที่ผ่านมา รวมทั้งภาพถ่ายในการไปร่วมกิจกรรม เป็นต้น” (หน้า 304)

เนื้อหาบางตอนจากหนังสือเปิดโปงให้เห็นสายตาของรัฐและประชาชน เสมือนพยานทางประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ซึ่งประกอบกันขึ้นมาจนเป็นแบบแผนปฏิบัติต่อกันระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง อย่างไรก็ตามหนังสือเล่มนี้ก็ไม่ได้เดินตามขนบจารีตของนิติวิธีทางกฎหมาย แต่นำเสนอใหม่ผ่านการร้อยเรียงด้วยภาษาที่ง่ายงามจากคำให้การพยาน บันทึกซักถามระหว่างทนายความกับโจทก์ ในบางกรณีผู้อ่านจะได้เห็นจำเลยลุกขึ้นถามความพยานเอง เช่น กรณีการถามความพยานด้วยตัวเองของ ‘ไผ่ ดาวดิน’ นักโทษในคดีแชร์พระราชประวัติในหลวงรัชกาลที่ 10

ในด้านหนึ่งตัวบทในคำแถลงของนักสู้ต่างๆ ก็มีความแหลมคม ยืนยันหลักการพื้นฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หนังสือเล่มนี้ยังได้คัดสรรเอกสารทางคดีที่มีความสำคัญตีพิมพ์ประกอบเข้าไปท้ายเรื่องราวในแต่ละบทตอนด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกันความรุนแรงของการรัฐประหารเที่ยวล่าสุด ซึ่งมีนักวิชาการและนักสังเกตการณ์หลายคนอธิบายว่า ได้เคลื่อนมาสู่การใช้กฎหมายปิดปากเพื่อสร้างภาระในชีวิต ทว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ได้เสนอเช่นนั้น หากแต่ยังยืนยันให้เห็นว่าคณะรัฐประหารยุคดิจิตอลยังใช้ปฏิบัติการจิตวิทยาในยุคโบราณด้วย

4. คู่มือยุติความรุนแรงทางการเมืองในอนาคต

“ความรุนแรงโดยรัฐที่เกิดขึ้นซ้ำๆ มากเสียจนกระทั่งกลายเป็นโครงสร้างกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองในประเทศไทย การได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐกลับหมายถึงความสามารถในการกระทำความรุนแรงต่อพลเมืองโดยไม่ต้องรับผิด” Tyrell Haberkorn – In Plain Sight: Impunity and Human Rights in Thailand (2018)

หากสิ่งที่ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น นักประวัติศาสตร์ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ความรุนแรงในสังคมไทย กล่าวข้างต้นนั้นถูกต้อง หนังสือเล่มนี้ก็ทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งในการพยายามจะทลายโครงสร้างการลอยนวลพ้นผิดของผู้ปกครองที่กระทำต่อประชาชน ซึ่งลอยนวลซ้ำซากจนกลายเป็นแบบแผนหนึ่งในการปฏิบัติต่อกันของพลเมืองในประเทศนี้

ถึงที่สุดแล้วฐานะทางประวัติศาสตร์ของ ราษฎรกำแหง จึงอาจไม่ใช่หนังสือที่เล่าเรื่องราวของนักต่อสู้หลายร้อยคนจาก 9 คดีต้านรัฐประหารเท่านั้น หากแต่อาจจะเป็นคู่มือประกอบที่ทำผู้คนในรุ่นต่อไปไม่เดินซ้ำทางอัปยศนี้ด้วยการทบทวนบริบทเฉพาะทางการเมืองระหว่างปี 2557-2562 เป็นบทเรียน นับตั้งแต่การครองอำนาจที่ยาวนานของ คสช. จากพฤษภาคม 2557 จนกระทั่งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งใหม่เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 อันเป็นจุดสิ้นสุด คสช. ในฐานะองค์กร

ณ วันนี้ สิ่งที่เราอาจจะควรตระหนักไว้อยู่คือ หลายคดีความที่ ราษฎรกำแหง เผชิญอยู่ก็ยังคงดำเนินต่อไป สิ่งนี้อาจจะเตือนเราว่า การ ‘จากไป’ ในฐานะองค์กรของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ได้หมายถึง ‘จากไปเลย’ โดยไม่ทิ้งสิ่งตกค้างใด เช่นเดียวกับเรื่องราวของ ราษฎรกำแหง ก็คงไม่ได้มีหน้าที่แค่เพียงวันนี้แต่ยังสำคัญต่อไป หากว่าในอนาคตสังคมไทยจะสามารถชำระบาดแผลทางประวัติศาสตร์นี้…ได้สักวัน

ราษฎรกำแหง: บันทึก 9 คดี ต้านรัฐประหารในยุค คสช. 

จัดทำโดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

author

Random books

© WAY MAGAZINE. All rights reserved