ฝั่งฝันของ ‘แป๊ะ’: อ่าน ‘ลงเรือแป๊ะ’ ของ วิษณุ เครืองาม

ฝั่งฝันของ ‘แป๊ะ’: อ่าน ‘ลงเรือแป๊ะ’ ของ วิษณุ เครืองาม

คำให้สัมภาษณ์ของ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ทั้ง 2 ครั้ง ก่อนและหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พ้นจากตำแหน่ง สส. จากการถือหุ้นสื่อ นับเป็นการสัมภาษณ์ให้ความเห็นทางกฎหมายที่สอดคล้องกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงอีกครั้ง ภาพเหล่านี้ปรากฏให้เห็นตลอดการครองอำนาจของคณะรัฐประหาร (คสช.) กว่า 5 ปี จนกระทั่งถูกถ่ายโอนทั้งอำนาจและอิทธิพลมาสู่รัฐบาลปัจจุบัน

แต่สิ่งที่มองข้ามไม่ได้สำหรับถ้อยความจากศาสตราจารย์ทางนิติศาสตร์ไทยท่านนี้อีก 2 ประการคือ หนึ่ง วิษณุไม่เพียงเป็นมือกฎหมายให้รัฐบาลคณะรัฐประหารล่วงมาจนรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจต่อมาเท่านั้น แต่ สอง วิษณุยังเป็นผู้มีบทบาทในการคัดหางเสือทิศทางประเทศไทยร่วมกับคณะรัฐประหาร คสช.

ในแง่นี้ผลผลิตที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นประกาศ คำสั่ง ระเบียบกฎเกณฑ์การบริหารราชการแผ่นดิน ก็นับว่าวิษณุเป็นผู้ที่มีบทบาทที่สำคัญไม่น้อยในสมาชิกผู้มีอำนาจที่ตัวเขาเองเรียกรวมๆ ว่า ‘เรือแป๊ะ’

ความสำคัญดังกล่าวเห็นได้ชัดยิ่งขึ้นจาก ‘เรื่องเล่า’ ในหนังสือเล่มหนาที่ชื่อ ลงเรือแป๊ะ ซึ่งเขียนโดย วิษณุ เครืองาม การกลับไปอ่านข้อความของผู้ที่ถูกสื่อมวลชนตั้งฉายาไว้ให้ง่ายงามว่า ‘เนติบริกร’ อาจทำให้เห็นความสัมพันธ์ที่รอบด้านมากขึ้นระหว่างอำนาจปืนของคณะรัฐประหาร และ อำนาจความรู้ของนักกฎหมาย โดยนักวิชาการและนักวิเคราะห์ทั้งไทยและเทศเห็นร่วมกันว่ารัฐประหาร 2557 ได้มีการใช้ ‘นิติยุทธ์’ หรือ ‘lawfare’ ในการปกครองประเทศอย่างชัดเจน

 

ตกล่องปล่องชิ้นกับเรือแป๊ะ

เกษียร เตชะพีระ เคยสรุปความสัมพันธ์ระหว่างนักกฎหมายกับคณะรัฐประหารไว้ 2 ประการ คือ 1. เป็นช่างเทคนิคด้านอำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ โดยนักกฎหมายเหล่านี้มีความสามารถเป็นพิเศษในการจำกฎหมายจำนวนมาก 2. นักกฎหมายเหล่านี้จะเกลี่ยเชื่อมรอยต่อการเมืองการปกครองระหว่าง ประชาธิปไตยกับเผด็จการ คือไม่ว่าจะเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตยก็ล้วนมีสิ่งเดียวกัน คือมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขทั้งสิ้น

ลงเรือแป๊ะ (2562) เป็นเสมือนบันทึกภาคต่อของเรื่องราวนักกฎหมายในสมัยรัฐประหารยุคใหม่ของไทยโดยมีฉากหลังเป็นคณะรัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เด่นตระหง่านตลอด 383 หน้าของหนังสือ

ด้านหนึ่ง ลงเรือแป๊ะ อาจจะมีฐานะเป็นสมุดคู่มือการทำงานกับคณะรัฐประหาร ผ่านเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ผู้เขียนมีความเชี่ยวชาญในการบันทึกเรื่องราวและถ่ายทอดออกมาด้วยภาษาที่สละสลวย โดยเป็นการบันทึกบางแง่บางมุมในจังหวะสำคัญตั้งแต่ก่อนจะลงเรือ อีกด้านหนึ่ง คือในระหว่างที่ตกล่องปล่องชิ้นไปกับเรือ จนถึงวันที่ ‘เรือเทียบท่า’ อันหมายถึงการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลรัฐประหารสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นให้ข้อคิดแก่ประชาชนทั่วไปได้อย่างไรบ้าง

ในบท ‘ก่อนจะถึงมือแป๊ะ’ ได้กล่าวถึงข้อสังเกตและความจำเป็นจากสภาวะไร้เสถียรภาพของรัฐช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จนนำมาสู่การพบกันครั้งแรกระหว่าง วิษณุ เครืองาม และ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยไม่ได้ตั้งตัวไว้ก่อน ผู้เขียนเล่าว่าเขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับประกาศและคำสั่งของ คสช. ในช่วงแรกของการยึดอำนาจ และการที่ผู้เขียนมีโอกาสเข้ามาทำงาน (ผู้เขียนเล่าว่า ‘ก็ยังงงว่ามาได้ยังไง’) เขาจึงเริ่มเรียกกลไกของการบริหารราชการแผ่นดินหลังรัฐประหารอย่างกะทันหันว่าเป็น ‘แม่น้ำ 5 สาย’

‘แม่น้ำ 5 สาย’ เกิดขึ้นระหว่างการตอบคำถามผู้สื่อข่าวอาวุโสสายทำเนียบรัฐบาล ผู้เขียนเล่าเกร็ดว่า “รัฐธรรมนูญนี้ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 เสมือนเป็นต้นธารของสิ่งสำคัญต่างๆ 5 สิ่งหรือแม่น้ำ 5 สายที่จะแยกออกไป ประกอบไปด้วยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.), สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.), คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และ คณะรัฐมนตรี-นายกรัฐมนตรี”

จากวันนั้นถึงวันนี้ เราจึงได้เห็นว่าต้นธารของโครงสร้างสถาบันทางการเมืองในปัจจุบันล้วนมาจากการออกแบบและทำงานกันอย่างหนักของแม่น้ำทั้ง 5 สาย ผลลัพธ์ปรากฏขึ้นมาหลายอย่างทั้ง รัฐธรรมนูญ แผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ รูปแบบการได้มาซึ่ง สส. สว. องค์กรอิสระ กฎหมายจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ถูกนำมาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน ฯลฯ ซึ่งมรดกเหล่านี้ไม่แน่ว่าจะคงอยู่กับคนรุ่นต่อไปอีกเพียงใด

ในบรรดาเครื่องมือเหล่านั้น แต่ชิ้นที่สำคัญที่สุดของคณะรัฐประหาร คสช. คือ ‘มาตรา 44’ ซึ่งผู้เขียนได้เล่าถึงเกร็ดที่มา ขั้นตอน และเบื้องหลัง ไว้ในบท ‘รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว’ เผยให้เห็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ผู้อ่านเห็นว่ามันทั้งเหมือนและต่างจากมาตรา 17 ในสมัยคณะรัฐประหารจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ความต่างนี้ผู้เขียนเล่าว่าเป็นความต้องการของคณะรัฐประหารที่จะไม่แทรกแซงอำนาจตุลาการและในทางเดียวกันต้องใช้เป็นในทางสร้างสรรค์ (constructive purpose)

นี่อาจจะช่วยตอบผู้อ่านได้อย่างคร่าวๆ ว่าเหตุใดแนวทาง ‘นิติยุทธ์’ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งข้อหาดำเนินคดี การฟ้องร้องเพื่อปิดปาก การดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร ไปจนกระทั่งการตั้งคุกในค่ายทหารจึงเกิดขึ้นในการรัฐประหารเที่ยวล่าสุด

 

เนติบริกรและหัวหน้าคณะรัฐประหาร

เป็นที่ทราบกันดีว่า นอกจากผู้เขียนหนังสือเล่มนี้จะร่วมหัวจมท้ายมากับ ‘เรือแป๊ะ’ แต่ความสำคัญของเขามิได้เริ่มต้นที่คณะรัฐประหารเที่ยวล่าสุดแต่อย่างใด หากแต่ด้วยประสบการณ์การทำงานกับนายกรัฐมนตรีทั้งที่มาจากการเลือกตั้งหรือมาจากการยึดอำนาจกว่า 8 คน ก็ยืนยันให้เห็นความเชี่ยวชาญจนได้รับความไว้วางใจให้ยืนหลังบ้านผู้นำมาทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะเป็น พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ, พลเอกสุจินดา คราประยูร, นายอานันท์ ปันยารชุน, นายชวน หลีกภัย, นายบรรหาร ศิลปอาชา, พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ, พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และล่าสุด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

ข้อสังเกตในเชิงเปรียบเทียบของผู้เขียน จึงสะท้อนให้เห็นสไตล์การทำงานที่แตกต่างกันของแต่ละผู้นำ ซึ่งผู้อ่านจะได้เห็นอยู่เนืองๆ ในบทต่างๆ แต่กล่าวเฉพาะถึงผู้นำคนปัจจุบันที่ผู้เขียนทำงานมาอย่างยาวนาน จะได้เห็นความเป็นมนุษย์ที่มากขึ้น รวมไปถึงการชี้แจงถึงเบื้องหลังพฤติกรรมที่สาธารณชนอาจเห็นว่าเป็นการกระทำที่ก้าวร้าว รุนแรง หรือแม้กระทั่งโง่เขลา ว่าเป็นสิ่งที่ไม่จริงอย่างน้อยที่สุดก็จากน้ำหมึกของผู้เขียน

เรื่องราวเหล่านี้ปรากฏอย่างมากในบทที่ว่าด้วย ‘มารู้จักกับลุงตู่กันหน่อย’ รวมไปถึงลักษณะที่ผู้เขียนมองว่า “พลเอกประยุทธ์เป็นผู้นำงานด้วยข้อมูลข่าวสารทั้งในและนอกระบบมากที่สุดคนหนึ่ง” และ “พลเอกประยุทธ์เป็นคนขยันอ่านหนังสือแทบจะเรียกว่าอ่านทุกเล่มที่ผ่านเข้ามาแม้แต่ถุงกล้วยแขก” (บท: โซเชียลมีเดีย)

ไม่กี่ปีที่ผ่านมาเคยมีผู้เก็บสถิติการพูดของนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลเรือแป๊ะไว้ว่า มีจำนวนการพูดเผยแพร่ในสื่อสาธารณะมากที่สุดในประวัติศาสตร์นายกรัฐมนตรีไทย แน่นอนหนังสือเล่มนี้ก็ได้เผยให้เห็นว่าแม้ว่าผู้นำจากการรัฐประหารก็ให้ความสำคัญกับศัพท์แสงต่างๆ อย่างเอาใจใส่ด้วย (บท: ภาษาไทยวันละคำกับรัฐบาล) เรื่องเล่าในช่วงเวลานี้ก็ไม่ได้ ‘ทิ้งลาย’ นักบันทึก นั่นคือผู้เขียนใส่เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยแต่ละช่วงที่สำคัญของการเมือง เช่นการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่มี บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ด้วยเหตุผลว่า ‘เขาอยากจะอยู่ยาว’

นอกจากนั้นหนังสือเล่มนี้ทำหน้าที่เสมือน ‘พยานรู้เห็น’ ต่อการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ๆ ในบ้านเมืองยุค คสช. แม้ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ เกร็ดประวัติในการทำงานก็เผยขั้นตอนของความพยายามเปลี่ยนผ่านประเทศอย่างเป็นขั้นเป็นตอน จากการตั้งแม่น้ำห้าสายสู่การตั้งรัฐบาลสู่ร่างรัฐธรรมนูญ การเปลี่ยนรัชสมัย การแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ จนกระทั่งถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทั้งหมดผู้เขียนเลือกร้อยเรียงและโน้มนำมาปิดเล่มหนังสือด้วยการพาเรือแป๊ะไปค่อยๆ เทียบท่าในที่สุด

สำหรับผู้อ่านที่คาดหวังว่างานชิ้นนี้จะวางท่าเป็น ‘วงใน’ ที่เล่าเบื้องหลังอย่างตรงไปตรงมาอาจจะต้องเผื่อใจไว้บ้าง เพราะหนังสือเล่มนี้วางท่าทีเล่าเรื่องผ่านคนทำงานคนหนึ่งในทำเนียบจากอีกมุมห้องทำงาน ด้วยเหตุนี้จึงให้อารมณ์เห็นมุมใหม่จริง แต่ก็ไม่ได้ลึกพอสำหรับคนที่คาดหวังจะเห็นเบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารราชการแผ่นดินอย่างมโหฬาร แต่ถึงกระนั้นหน้าที่ของหนังสือก็เพียงพอที่จะทำให้เห็นบทบาทของ ‘เนติบริกร’ ดังปรากฏให้เห็นอย่างกระชับในบท ‘ผู้นำและลักษณะความเป็นผู้นำ’ ว่า

“เขาให้เรามีตำแหน่งนี้ก็เพื่อมาทำหน้าที่และเห็นว่าเราทำได้ เราจึงต้องคอยระแวดระวังเหมือนยามเฝ้าบ้านให้เขากำกับและแนะนำอย่าให้เขาพลาดไปทำผิดกฎหมาย บางครั้งก็เป็นการเตือนหรือป้องกันก่อนจะทำ บางครั้งก็เป็นการแก้ไขในสิ่งที่ทำไปแล้วและปรากฏว่าผิดระเบียบ หากอยู่ในวิสัยจะแก้ไขได้ก็ให้แก้ไขเสีย ถ้าแก้ไม่ได้ก็ต้องเลยตามเลยเอาไว้แก้ตัวในศาลก็แล้วกัน” (น. 320)

 

เทียบท่าแต่ยังไม่เห็นฝั่ง

ถึงที่สุดแล้ว ลงเรือแป๊ะ อาจจะมีความแตกต่างจากหนังสือ โลกนี้คือละคร หรือ หลังม่านการเมือง ซึ่งเป็นงานเขียนชิ้นก่อนหน้านี้ของผู้เขียน เหตุเพราะฐานะของ 2 เล่มนั้น ถือเป็นงานที่เขียนขึ้นในยุคที่ประเทศยังปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ขณะที่ ลงเรือแป๊ะ นอกจากจะเขียนขึ้นภายใต้การปกครองของระบอบเผด็จการทหารแล้ว ตัวผู้เขียนเองยังคงมีตำแหน่งสำคัญใน ‘เรือแป๊ะ’ ทำงานกับ (ภาคต่อ) ของเรือแป๊ะต่อไปด้วย

ทำให้อาจจะตั้งข้อสังเกตได้ว่ามีส่วนไม่มากก็น้อยที่ทำให้งานเขียนชิ้นนี้ไม่ได้วางท่าเป็น ‘วงใน’ ที่เผยให้เห็นสิ่งที่นักรัฐศาสตร์คนสำคัญอย่าง ศาสตราจารย์เจมส์ ซี สก็อตต์ เรียกว่า ‘hidden transcripts’ หรือ ‘เรื่องเล่าหลังม่าน’ (สำนวนแปลของ อาจารย์กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ได้ถูกคลี่คลายออกมาให้ผู้อ่านได้เห็นมากเท่าที่ควร

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียน หรือ ‘วิษณุ เครืองาม’ อาจจะเป็นภาพที่ตกตะกอนของเนติบริกร ยุคหลัง 14 ตุลาคม ที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ อุกฤษ มงคลนาวิน, มีชัย ฤชุพันธ์ุ หรือกระทั่ง บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ซึ่งแบบฉบับเช่นนี้ยังไม่ได้เปลี่ยนไปอย่างมากนักหากเทียบกับความผันผวนของระบบการเมืองไทยและสังคมมีความจำเป็นที่จะต้องการ ‘ฉันทามติใหม่’ ที่ไม่ได้มาจากแป๊ะแต่ถ่ายเดียว

ในแง่นี้ภาพของ ‘ลงเรือแป๊ะ’ จึงยังคงทำให้ผู้อ่านมองไม่เห็นฝั่งที่แท้จริงของแป๊ะขึ้นมาได้ เห็นเพียงการเทียบท่าที่อาจจะเป็นท่าเรือกลางทะเลเท่านั้น

 

ลงเรือแป๊ะ

ผู้เขียน วิษณุ เครืองาม

สำนักพิมพ์ มติชน

 

author

Random books

© WAY MAGAZINE. All rights reserved