Happy City

Happy City

หนังสือเล่มนี้ศึกษาเรื่องความสุข

ไอเดียสำคัญคือ มนุษย์เราเป็นเช่นนี้เพราะสถานที่ที่เราอาศัย เพราะฉะนั้น ถ้าเราอยากจะมีความสุขมากกว่านี้ เราอาจต้องเปลี่ยนเมืองที่เราอยู่เสียใหม่ เรื่องราวและข้อมูลแวดล้อมหลากหลายพยายามชี้ให้เห็นถึงปัญหาจากการสร้างเมืองแบบกระจายตัวและวัฒนธรรมรถยนต์ กล่าวคือเมืองกระจายตัวมีค่าใช้จ่ายแฝงอยู่ และมันได้ไม่คุ้มเสีย ที่เห็นชัดคือสาธารณูปโภค และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงในการเดินทาง เราหวังว่าจะมีความสุขเมื่อมีบ้านหลังใหญ่ชานเมือง แต่เรามีความสุขจริงๆ หรือ

บทแรกคือการฉายภาพครอบครัวอเมริกันธรรมดาๆ ที่มีบ้านชานเมืองไกลออกไปเรื่อยๆ และต้องขับรถระยะทางไกลไปทำงานทุกวันๆ จากเหตุผลเรื่องระยะทาง ไม่น่าเชื่อว่ามันส่งผลถึงพฤติกรรมมนุษย์แบบเป็นวิทยาศาสตร์ แทบทุกหลังคาเรือนในบ้านไร่สไตล์แคลิฟอร์เนียนี้ เกลียดขี้หน้าเพื่อนบ้านของตนเอง และไม่ใช่แค่พ่อแม่ เด็กๆ ที่อาศัยในย่านนี้รู้สึกเหมือนถูกโดดเดี่ยวในแดนกักกันอันแสนน่าเบื่อ เพราะถูกพรากสิทธิในการเดินเท้าไป (“พวกเราติดอยู่ที่นี่”) และแนวโน้มก็คือเมื่อพวกเขาโตขึ้น เขาจะมีรายได้ไม่พอที่จะอาศัยตรงนี้

บทถัดๆ ไปจะเริ่มซับซ้อนขึ้น เพราะทุกที่ต่างก็มีปัญหาของตัวเอง เช่นคนกรุงเทฑฯอาจเบื่อรถติด แต่ที่โคเปนเฮเก้นมีปัญหาจักรยานหนาแน่นเกินไป… หนังสือก็บอกเราด้วยว่า คนเรามีความต้องการแบบซับซ้อน นิวยอร์คอาจเป็นเมืองเปี่ยมชีวิตชีวาของคนเดินเท้า แต่มันอาจเหนื่อยเกินไปสำหรับบางคน และนั่นทำให้เครียดโดยไม่รู้ตัว เพราะมนุษย์เรานั้นทั้งอยากรวมกลุ่ม มีสังคม และต้องการความเป็นส่วนตัวด้วยไปในเวลาเดียวกัน

และนี่แหละคือเมือง เมืองคือการสนองต่อความซับซ้อน และเมืองเปลี่ยนได้ เปลี่ยนได้ด้วยเครื่องมือต่างๆ เช่น ข้อกฎหมาย (ผังเมือง) ศาสตร์ใหม่ๆ เรื่องเมือง (การออกแบบสถาปัตยกรรมและการจัดผังจราจร) ทุนนิยม (แรงจูงใจการทำกำไรของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์) อารยะขัดขืน (เด็กนักเรียนผู้ยืนยันจะขี่จักรยานไปโรงเรียน) และ คนในเมืองที่อยากจะเปลี่ยนมัน

หมดยุคของสถาปนิกสกุล modernism แล้ว ผู้ที่วางผังเมืองเป็นกริดสมบูรณ์แบบแสนเป๊ะเมื่อมองจากสายตาพระเจ้าเบื้องบน แต่เมื่อมนุษย์อาศัยอยู่จริงๆ ก็พบว่านี่มันสเกลเมืองของยักษ์ (คนเดินเท้าจึงกลายเป็นมด ที่ไม่อาจไปไหนได้ถ้าไม่ขับรถ)

อ่านแค่ครึ่งเล่มแรกก็พอ กรุงเทพและเมืองอื่นๆ ในประเทศไทยต้องการวิสัยทัศน์ใหม่ๆ และทางออก หลายตัวอย่างในหลายเมืองเริ่มที่การทดลอง ลองปิดถนนดู ลองปั่นจักรยานดู ลองทำให้ถนนสายหลักมีสิ่งกีดขวางและรถวิ่งได้ช้าๆ ดู ลองเลิกคิดว่ามันเป็นได้แบบเดียวดู ‘การทดลอง’ ที่ว่า คือการงัดข้อกันระหว่างนายกเทศมนตรีและเทศบัญญัติคร่ำครึ

นี่เป็นบทสำคัญ จะเปลี่ยนเมืองไม่ใช่แค่เปลี่ยนด้วยสถาปนิก แต่ต้องเปลี่ยนด้วยสถาปนิกที่ต่อสู้เรื่องกฎหมาย

กรณีศึกษาในหนังสือมีตั้งแต่การฟื้นฟูเมืองกระจายตัวในอเมริกาเหนือ ข้อถกเถียงว่าคนแคนาดาไม่นั่งจิบเอสเปรซโซ่ริมถนนหรอก (“ที่นี่หนาวจะตาย ไม่ใช่อิตาลีนะโว้ย”) การแก้ปัญหาจราจรในปารีส และที่โด่งดังมาก แถมยังยืนยันว่าไม่ต้องใช้เงินมหาศาลก็พัฒนาเมืองได้ และสภาพอากาศไม่ใช่ข้ออ้าง คือโบโกตา, โคลัมเบีย

กรณีเหล่านั้นสาธิตให้เห็น ว่ามีวิธีการแก้ปัญหาหลากหลายวิธี และไม่มีทางหรอก หากหวังถึงผลลัพธ์ที่เปลี่ยนไปแต่แก้ปัญหาโดยใช้วิธีเดิมๆ ความเคยชินเดิมๆ ข้ออ้างเรื่องภูมิศาสตร์และภูมิอากาศแบบเดิมๆ (“ก็เมืองไทยมันร้อน”) mindset เดิมๆ ตั้งแต่ครั้งตัดถนนเส้นแรก ที่คนเดินเท้าต้องค้อมหัวให้รถยามข้ามถนน

ส่วนบททิ้งท้ายที่กล่อมเราให้เปลี่ยนเมืองด้วยการเปลี่ยนตัวเอง คุณอ่านข้ามๆ ไปก็ได้

มันทำให้นึกถึงการรณรงค์อันเปี่ยมชีวิตชีวาแบบที่มูลนิธิโลกสีเขียวทำในช่วง 4-5 ปีก่อน ที่ปลุกกระแสจักรยานจนติด แต่แล้วกลับมอดดับไป — ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์อันแสนโหดร้าย ว่าจะเปลี่ยนกรุงเทพ เปลี่ยนแค่ซอฟท์แวร์ไม่พอ (รณรงค์ แนวคิด ทัศนคติ ความรู้ ฯลฯ) จะเปลี่ยนให้ได้ เราต้องการฮาร์ดแวร์ใหม่ (กฎหมาย ข้อบังคับ ทางเดินเท้า ทางจักรยาน ขนส่งมวลชน สวนสาธารณะ ฯลฯ) และอำนาจในการเปลี่ยนนั้น ต้องมาจากทุกผู้คน – พลเมือง

 

HAPPY CITY

ผู้เขียน: Charles Montgomery

แปลโดย: พินดา พิสิฐบุตร

author

Random books