คิมจียอง เกิดปี 82: เราแค่เห็นใจ แต่ไม่ได้คิดอย่างคุณคิมจียอง

คิมจียอง เกิดปี 82: เราแค่เห็นใจ แต่ไม่ได้คิดอย่างคุณคิมจียอง

“เพราะเราทุกคนคือคิมจียอง”

อาจเพราะสะดุดกับประโยคข้างต้น ใครบางคนถึงตัดสินใจหยิบเล่มนี้ออกมาจากร้านแล้วพากลับบ้านด้วยกัน 

“เพราะอิน” อาจเป็นเหตุผลที่ใช้ไม่ได้หรือไม่เหมาะกับนักอ่านซึ่งเกิดห่างจากคุณคิมจียองไม่น้อยกว่า 10 ปี แม้จะเพศเดียวกันก็เถอะ เพราะถ้านับตามปีเกิด ปีนี้คิมจียองอายุ 38 ปี เข้าสู่เจนเอ็กซ์เรียบร้อยแล้ว (38-53 ปี) น่าสงสัยว่ากลุ่มผู้อ่านเจนวาย (21-37 ปี) จะเข้าใจคิมจียองมากน้อยแค่ไหน

แต่สำหรับฉัน ซื้อเล่มนี้ด้วยเหตุผลนี้ …. 

“เพราะเราทุกคนไม่ใช่คิมจียองแน่ๆ” แม้อายุจะล่วงเข้าเจนเอ็กซ์เหมือนกันก็เถอะ

คุณคิมจียองเกิดปี 1982 ในครอบครัวที่พ่อรับราชการ แม่เป็นแม่บ้าน พี่สาวแก่กว่า 2 ปี มีน้องชายอ่อนกว่า 5 ปี มีย่าเป็นสมาชิกสูงอายุที่สุดของบ้าน รวมทั้งหมด 6 คน

แน่นอน ในทางนิตินัย พ่อคือผู้ชี้ขาดของบ้าน และเป็นคนแรกที่จะได้ข้าวร้อนหุงใหม่เป็นชามแรก ต่อด้วยน้องชาย ย่า แล้วถึงจะเป็นคิวของแม่ พี่สาว และคุณคิมจียอง 

คิมจียอง เกิดปี 82 เล่าเรื่องของคุณคิมจียอง ที่เกิดปี 1982 ในปีนั้น ‘คิมจียอง’ เป็นชื่อสกุลที่ถูกตั้งแก่ทารกหญิงที่เกิดปีนั้นมากที่สุด ดังนั้นชื่อของนิยายเล่มนี้จึงไม่ได้หมายความถึงแค่คิมจียองคนใดคนหนึ่ง แต่ยังต้องการกล่าวถึงชีวิตธรรมดาสามัญของผู้หญิงเกาหลีที่เกิดในปี 1982 และมีชีวิตมาจนถึงปัจจุบัน

ช่วงชีวิตของคุณคิมจียองถูกแบ่งการเล่าตามไทม์ไลน์ออกเป็น 4 ช่วงชีวิตใหญ่ เริ่มตั้งแต่ช่วง 2-3 ขวบปีแรก หลังจากให้กำเนิดคุณคิมจียอง แม่ตัดสินใจ ‘กำจัด’ น้องสาวของเธอด้วยเหตุผลว่า “เพราะได้ลูกสาว” ในยุคที่เกาหลีใต้ใช้นโยบายวางแผนครอบครัว และครอบครัวไหนๆ ต่างก็อยากได้ลูกชาย ไปจนถึงวันที่คุณคิมจียองมีลูกเป็นของตัวเอง

การถูกเลือกปฏิบัติของคุณคิมจียองและพี่สาว เป็นสิ่งที่เจ้าตัวไม่เคยตั้งคำถาม ขณะเดียวกันมันก็กระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับเธอเรื่อยมา ระหว่างทางเธอได้แต่สงสัยในใจ หรืออย่างมากที่สุดก็ตั้งคำถามว่าทำไมกับสถานการณ์เฉพาะหน้า เช่น ทำไมเวลาที่ถูกเพื่อนผู้ชายแกล้งหนักๆ ครูถึงบอกแค่ “เพราะเพื่อนผู้ชายคนนั้นเค้าชอบหนูนะ” หรือ ทำไมการแอบขโมยนมผงน้องชายกิน ถึงผิดบาปมากจนย่าต้องทำโทษด้วยการฟาดหลัง แล้วทำไม พนักงานหญิงถึงต้องคอยชงกาแฟแล้วเสิร์ฟให้ทุกคนทั้งๆ ที่ไม่ได้อยู่ใน job description ฯลฯ

คุณคิมจียองไม่เคยตั้งคำถามถึงรากความคิดที่ผลิตสังคมแบบนี้ออกมา

อาจเป็นเพราะคุ้นเคยดีกับซีรีส์เกาหลี วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ในครอบครัวคุณคิมจียองจึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ รวมถึงการใช้ความรุนแรงต่างๆ โดยเฉพาะการหยอกล้อแบบเล่นจริง เจ็บจริง อย่างการตบหัวแรงๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ ‘รับไม่ได้’ สำหรับเรามาตลอด ไม่ว่าโอปป้าคนนั้นจะหล่อรากเลือดแค่ไหนหรือทำด้วยความรักสุดสวาทขาดใจก็ตาม 

การดูซีรีส์ (ที่มีโอปป้าแสนดี) ทุกครั้ง สำหรับเรา จึงเข้าใจทุกครั้งว่าเป็นการ escape อย่างหนึ่งของผู้หญิงเกาหลี ที่รู้ดีว่าโลกของซีรีส์กับโลกแห่งความเป็นจริง ต่างกันอย่างชัดเจน

สอดคล้องกับข้อมูลของ Seoul Metropolitan Government ปี 2018 ระบุว่า ผู้หญิง 1,770 คนจากทั้งหมด 2,000 คน หรือคิดเป็น 88.5 เปอร์เซ็นต์ เคยถูกทำร้ายร่างกายจากสามีและแฟน โดย 22 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าพวกเธอถูกทารุณกรรมทางจิตใจ เช่น การข่มขู่ และอีก 10.7 เปอร์เซ็นต์ เคยถูกทำร้ายร่างกาย ที่น่าเศร้ากว่านั้น ผู้หญิงเหล่านี้กลับบอกเล่าโดยเฉลี่ยว่า การทำร้ายร่างกายเกิดขึ้นตั้งแต่คบกันในปีแรก (อ้างอิงจากบทความ พังทลาย ร่วงหล่น แตกสลาย: ในวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงจึงเจ็บปวด

และการที่ ไอรีน สมาชิกวง Red Velvet เปิดเผยว่าตัวเองก็อ่านหนังสือเล่มนี้ แล้วถูกสังคมต่อต้าน แฟนคลับบางคนออกมาเผารูปหรือตัดรูปเธอ ประกาศลั่นไม่สนับสนุนเธออีกต่อไป นั่นยิ่งย้ำให้เห็นว่า ในสังคมเกาหลี ช่วงวัยอาจไม่สำคัญเท่าวัฒนธรรมที่หยั่งรากลึก คนรุ่นใหม่ยังเห็นด้วยกับสถานภาพของคิมจียอง ถึงแม้จะรู้อยู่เต็มอกว่าผู้ชายทุกคนไม่ใช่อย่างชองแดฮยอนแน่ๆ 

ชองแดฮยอนคือสามีของคุณคิมจียอง ผู้พยายามจะทำตัวผิดแผกจากมาตรฐานผู้ชายเกาหลี ด้วยการช่วยเลี้ยงลูกเท่าที่เวลาจะอำนวย แต่ก็นั่นแหละ ภารกิจหลักของสามีก็ยังเป็นเรื่องงานและหาเงินเข้าบ้านอยู่ดี เพราะแม้ทำงานในตำแหน่งเดียวกัน พนักงานชายก็ได้เงินเดือนสูงกว่าพนักงานหญิง – เรื่องนี้คุณคิมจียองก็เข้าใจได้อีกนั่นแหละ

ที่สำคัญ การได้ กงยู ผู้เป็นลมหายใจแห่งภาคพื้นเอเชียมารับบทชองแดฮยอนในเวอร์ชันภาพยนตร์ เมื่ออ่านไปแล้วนึกหน้ากงยูตามไปด้วย ภาพรวมผู้ชายเกาหลีจึงยิ่งอบอุ่นอ่อนโยนขึ้นอีกเท่าตัว

ขณะเดียวกันคุณคิมจียองก็ไม่ใช่ภรรยาที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีอย่างหัวชนฝา เธอเป็นสุภาพสตรีเจนเอ็กซ์ที่อาจยังเก้ๆ กังๆ ระหว่างจะถอยหรือจะสู้ 

ทุกอย่างที่เก็บ เก็บ และเก็บเรื่อยมา จนถึงวันนั้น วันที่คุณคิมจียองนั่งพักที่สวนสาธารณะแล้วจิบอเมริกาโน่อย่างผ่อนคลาย น้องจีวอน-ลูกสาวก็หลับสบายอยู่ในรถเข็น

”อยากถลุงเงินผัวซื้อกาแฟกินร่อนไปร่อนมาแบบน้ันบ้างจัง”

ประโยคจากชายกลุ่มหนึ่งซึ่งเดินผ่าน อาจเป็นฟางเส้นสุดท้ายของคุณคิมจียอง หลังจากนั้น ทำนบที่เก็บกักอาการทางใจจึงแตก และแสดงออกมาเป็นอาการป่วยทางจิตจนต้องไปหาจิตแพทย์

แม้ในวิชาชีพจิตแพทย์จะรักษาและดูแลคุณคิมจียองอย่างเต็มที่ แต่การที่คิมจียอง ถูกเรียกว่า ‘คุณคิมจียอง‘ ตลอดทั้งเล่ม นั่นเพราะโซนัมจู-นักเขียน เลือกเล่าเรื่องทั้งหมดผ่านน้ำเสียงของจิตแพทย์ประจำตัวคุณคิมจียอง ชายวัยสี่สิบกว่าปี ผู้ที่ภรรยาซึ่งเป็นจักษุแพทย์ต้องลาออกจากงานเพื่อมาดูแลลูก แม้เธอจะเป็นแพทย์หญิงผู้ทะเยอทะยานในด้านอาชีพการงานก็ตาม และแก้ปัญหาผู้ช่วยหญิงที่ลาออกเพราะตั้งครรภ์ ด้วยความคิดว่า “ต่อไปต้องเลือกจ้างแต่คนโสดแล้วล่ะ”

ขนาดจิตแพทย์ยังรักษาแค่อาการภายนอกเท่านั้น…

“เพราะเราทุกคนไม่ใช่คิมจียองแน่ๆ” จึงเท่ากับประโยคอธิบายภาพกว้างของสังคมเกาหลีในปัจจุบัน ที่ยังคงมีการบุลลี่ กระแส #MeToo แพ้และฆ่าตัวตาย เพราะทนต่อความกดดันไม่ไหวอีกต่อไป

กระทั่งคนที่แสดงความเห็นอกเห็นใจ แต่ก็ไปได้สุดแค่นั้น ถึงจุดหนึ่งก็ยูเทิร์นกลับเข้าถนนเส้นเดิม เห็นความเหลื่อมล้ำเล็กลงเรื่อยๆ ผ่านกระจกมองหลัง เพียงเพราะมันเป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่ของเรา

สังคมจึงดำเนินต่อไปด้วยคนอย่างคิมจียอง และคนที่เห็นใจแต่ไม่ได้คิดอย่างคุณคิมจียอง 

ถึงจะเรียกนำหน้าด้วยคำว่า ‘คุณ‘ ทุกครั้งก็ตาม

author

Random books

© WAY MAGAZINE. All rights reserved