มทหวทม.ในทุ่งร้างตาร์ตาร์

มทหวทม.ในทุ่งร้างตาร์ตาร์

ระหว่างที่อ่าน ‘ทุ่งร้างตาร์ตาร์’ ไปได้ครึ่งเล่ม ข้าพเจ้าก็นึกถึงคำถามหนึ่งที่ดังขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทยร่วมสมัย “มีทหารไว้ทำไม” เมื่ออ่านจบและอยู่ระหว่างการเขียนข้อเขียนชิ้นนี้ ขบวนพาเหรดของนักศึกษาระหว่างงานฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ก็ส่งแรงบันดาลใจในการตั้งชื่อข้อเขียนชิ้นนี้มาให้

แรงบันดาลใจที่ว่าก็คือป้ายผ้าขบวนพาเหรดที่มีข้อความ ‘ผนงจทรตกม’

ทั้งๆ ที่ ‘ทุ่งร้างตาร์ตาร์’ เป็นนวนิยายที่เขียนโดย ดิโน บุซซาติ นักประพันธ์ชาวอิตาเลียน ทั้งๆ ที่นวนิยายเล่มนี้เผยแพร่ในปี ค.ศ.1940 ก่อนจะถูกแปลเป็นภาษาไทย โดย อัมรา ผางน้ำค้าง ในอีก 78 ปีต่อมา

นวนิยายเล่มยอดเยี่ยมนี้กลับทำให้ข้าพเจ้านึกถึงสังคมไทยในปี ค.ศ.2020 หรือนี่คือคุณสมบัติที่วรรณกรรมชั้นดีพึงมี แต่หากข้าพเจ้าเป็นประชากรในประเทศโลกที่หนึ่ง กล่าวอีกแบบก็คือ หากข้าพเจ้าเป็นพลเมืองที่สังกัดในประเทศที่พัฒนาแล้ว ความรับรู้หรือแรงกระทบจากการอ่าน ‘ทุ่งร้างตาร์ตาร์’ จะเปลี่ยนไปหรือไม่

นวนิยายเล่มนี้ตีพิมพ์เผยแพร่ในปี 1940 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังเกิดขึ้น นวนิยายจับตามองช่วงชีวิตของทหารหนุ่มนามว่า จิโอวานนิ โดรโก ตั้งแต่จบจากโรงเรียนเตรียมทหารจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต

เอาเข้าจริงๆ แล้ว นวนิยายเล่มนี้มีความลุ่มลึกในการตั้งคำถามเชิงปรัชญาต่อการดำรงอยู่ของชีวิตมากพอๆ กับการตั้งคำถามเชิงวิพากษ์วิจารณ์สังคมการเมืองโลกในบริบทที่มันถูกเขียนขึ้น นั่นคือช่วงเวลาที่กองทัพนาซีกำลังรุกรานประเทศอื่นๆ เพราะเมื่อพิจารณาบริบทที่นวนิยายถูกเขียนขึ้นก็คือปี 1938 เป็นปีที่ บุซซาติ พิมพ์เครื่องหมายฟูลสต็อปไว้ที่ประโยคสุดท้าย สงครามกำลังก่อตัวอย่างช้าๆ

แต่สิ่งที่โดดเด่นอย่างเหลือรับประทานในทัศนะของข้าพเจ้า นวนิยายเล่มนี้ลุ่มลึกอย่างยิ่งในการเสนอภาพของชีวิตมนุษย์ที่เกิดมาและดำรงอยู่บนโลกนี้

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย เพื่อนนักออกแบบบอกข้าพเจ้าว่า สำนวนการเล่าเรื่องของบุซซาติในเล่มนี้มีความเป็นนักประพันธ์โบราณสูง มันจึงอืดเนือยและชวนหลับตาพัก เพราะลักษณะการบรรยายของบุซซาติเป็นการบรรยายแบบไม่บอก แต่แสดงบางสิ่งที่อยู่ลึกในตัวละครออกมาผ่านอากัปกิริยาหรือการตัดสินใจเลือกของตัวละคร

ภายใต้ความนิ่งเนือยของเวลาที่ผ่านไปอย่างเชื่องช้าของตัวเรื่อง สิ่งที่ตราตรึงข้าพเจ้าก็คือความ ‘แอบเสิร์ด’ (Absurd) ที่ค่อนข้างจัดจ้าน มันเป็นเรื่องราวที่เหลวไหลไม่เข้าเรื่อง แต่ก็สมจริงอย่างยิ่ง พ่อทหารหนุ่มของเราถูกส่งตัวไปประจำการที่ป้อมบาสติอานิ เป็นป้อมปราการที่อยู่บริเวณชายแดนที่ตายไปแล้ว แนวพรมแดนไม่มีเหตุการณ์ใดให้กังวล ด้านหน้าเป็นทุ่งร้างขนาดใหญ่ มีแต่ก้อนหินและผืนดินที่แห้งผาก มันจึงถูกเรียกว่า ‘ทุ่งร้างตาร์ตาร์’

ชาวตาร์ตาร์ เป็นชาติพันธุ์เร่ร่อนเชื้อสายเติร์ก มีชื่อเสียงด้านการรบ แต่ในท้องเรื่อง ชาวตาร์ตาร์เหลือไว้แต่เพียงชื่อ ภูมิทัศน์โดยรอบป้อมบาสติอานิมีแต่ก้อนหิน ไม่มีที่อยู่อาศัยของชาวเมือง ไม่มีศัตรูรุกรานเข้ามา ไม่เคยมีการปะทะกัน ไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้นตรงพรมแดนนี้เลย ไม่มีกระทั่งเส้นขอบฟ้า เพราะหมอกหนาหนักบดบังทัศนียภาพ เป็นฉากในนวนิยายที่ทำให้ข้าพเจ้าขบขันแต่ก็พรั่นพรึงไปในเวลาเดียวกัน

แม้จะเป็นป้อมปราการในดินแดนไร้ศัตรู แต่ระเบียบวินัย กฎเกณฑ์ ระบบการเฝ้าเวรยามของทหารแห่งป้อมบาสติอานิกลับดำเนินไปอย่างเคร่งครัดทว่าชวนหัว เมื่อเรามองจากมุมของคนอ่านนวนิยายเรื่องนี้

นายทหารแทบทุกคนที่ประจำการอยู่ที่ป้อมแห่งนี้เคยบอกตัวเองว่า การประจำการที่ป้อมแห่งนี้จะเป็นเพียงเรื่องชั่วคราวเท่านั้น แต่หลายคนที่พูดแบบนี้ล้วนแต่ใช้เวลาอยู่ที่ป้อมแห่งนี้ 15 ปีบ้างล่ะ 20 ปีบ้างล่ะ 30 ปีบ้างล่ะ บางคนอยู่ที่ป้อมแห่งนี้กระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต

พวกเขามี (และอาจจะถูกทำให้) หวังว่า สักวันหนึ่งเหตุการณ์จะเกิดขึ้น สงครามจะเกิดขึ้น แต่ไม่เคยมีเหตุการณ์แบบที่ว่าเคยเกิดขึ้นเลย

ในช่วงเวลาที่ จิอาวานนิ โดรโก ประจำการที่ป้อม มีทหารสองนายที่ตายระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ คนหนึ่งหนาวตาย อีกคนถูกเพื่อนทหารด้วยกันยิง เพียงเพราะเขากำลังจะเดินกลับเข้าป้อมอย่างผิดกฎที่เคร่งครัดหลังจากไปลาดตระเวน เพราะคิดว่าแนวเส้นสีดำที่ขยับไหวๆ อยู่ลิบๆ นั้นคือศัตรู แต่ไม่ใช่

นี่คือเรื่องเหลวไหล ชวนหัว โง่เขลา ที่ บุซซาติ ใช้เป็นเครื่องมือในการเขย่าหัวใจของคนอ่านได้อย่างทรงพลัง เพราะเมื่อ จิโอวานนิ โดรโก ได้ทำวัยหนุ่มสูญหายไปกับความว่างเปล่าของป้อมบาสติอานิ ใช้เวลาทั้งชีวิตรอเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลยที่ป้อมบาสติอานิ เผาผลาญวัยหนุ่มไปกับความหวังว่าสักวันหนึ่งสงครามจะเกิดขึ้น สักวันหนึ่งเขาจะได้ทำงานรับใช้เกียรติยศที่ตนแบกหาม เขาหลงทางในเขาวงกตที่สร้างขึ้นมาเองและตั้งชื่อให้มันว่า ‘เกียรติยศ’ จนกระทั่งแก่เฒ่าและป่วยเป็นโรค สงครามที่ไม่เคยเกิดจึงถีบเขาออกมา

แต่เมื่อถอดเครื่องแบบที่เคยคิดว่า เป็นสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงเขากับโลก จิโอวานนิ โดรโก กลับได้เผชิญหน้ากับศัตรูที่แท้จริง และในสงครามที่เขาได้ลิ้มรสเป็นครั้งแรกในวัยชรา ข้าพเจ้าก็ได้แต่ภาวนาให้เขาเป็นฝ่ายมีชัย

จิโอวานนิ โดรโก คือตัวละครที่น่าจดจำอีกตัวหนึ่งในโลกวรรณกรรม ด้วยเหตุผลง่ายๆ เพียงข้อเดียว เราต่างมี จิโอวานนิ โดรโก อยู่ข้างในด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น เราต่างมีศัตรูร่วมกันด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด.

 

author

Random books

© WAY MAGAZINE. All rights reserved