บอดหรือใบ้ อาชญากรในภาวะโรคระบาด

บอดหรือใบ้ อาชญากรในภาวะโรคระบาด

  • นวนิยายเรื่อง บอด ของ ฌูเซ่ ซารามากู เล่าเรื่องอาการตาบอดของชายคนหนึ่งที่ลุกลามกลายเป็นโรคระบาดไปทั้งเมือง
  • รัฐพยายามควบคุมผู้ติดเชื้อและผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงภายในสถานกักกันโดยรัฐ (State Quarantine)
  • เรื่องราวส่วนใหญ่ดำเนินไปในโรงพยาบาลที่ดัดแปลงให้เป็นสถานกักกันควบคุมการติดเชื้อ คนตาบอดถูกส่งตัวเข้ามาเรื่อยๆ ผู้อ่านจะค่อยๆ รับรู้ความเป็นไปของโลกภายนอกสถานกักกันผ่านคนตาบอดที่เข้ามาใหม่
  • ระบบสาธารณสุข การแพทย์ ธนาคาร การเงิน การขนส่ง ระบบสาธารณูปโภค การเมือง ล้มเหลว รัฐกลายเป็นรัฐล้มเหลว (failed state)
  • รัฐไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ เมืองกลายเป็นภาวะอนาธิปไตย ที่แต่ละคนจะต้องเอาตัวรอดในสถานการณ์การระบาด
  • ซารามากูใช้วิธีการบรรยายเหมือนมุขปาฐะ ไม่มีเครื่องหมายอัญประกาศในบทสนทนาของตัวละคร เป็นการบรรยายยาวเป็นพรืด เมื่ออ่านแล้วให้ความรู้สึกเหมือนเราตาบอดแล้วมีคนมานั่งเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้ฟัง ทุกอย่างเหมือนการได้ยิน

 

ในการระบาด ศีลธรรม อำนาจ และระบบ ล้วนแต่เป็นเครื่องมือที่ทำให้ชีวิตฉิบหายและอยู่รอด

ในการป้องกันและช่วยเหลือประชาชนจะยึดหลัก สุขภาพนำเสรีภาพ นายกรัฐมนตรีพูดจาฉะฉานราวกับกล่าวสุนทรพจน์ก่อนนำทัพเข้าสู่สงคราม เป้าหมายสำคัญคือการจำกัดการเดินทาง การเคลื่อนย้ายบุคคล และรวมตัวของคนในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งต้องออกมาตรการให้เข้มงวดสอดคล้องในสถานการณ์และคำแนะนำทางการแพทย์ ทั้งอาจมีมาตรการที่ประชาชนรู้สึกไม่ปกติบ้าง แต่ต้องปรับตัว และรับผิดชอบต่อส่วนรวม

ท้ายคำกล่าวของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นน่าใคร่ครวญ และสอดคล้องกับข้อความของ เปาโล จอร์ดาโน ที่เขียนไว้ในหนังสือในการแพร่ระบาด1 ว่า การแพร่ระบาดหนุนนำให้คิดว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม มันบังคับให้เราใช้ความพยายามทางจินตนาการในแบบที่เราไม่ชินในสถานการณ์ปกติ บังคับให้มองเห็นตัวเราเกี่ยวพันกับคนอื่นอย่างแยกไม่ออก และคำนึงถึงพวกเขาเมื่อตัดสินใจในแต่ละเรื่อง ในช่วงแพร่ระบาดเราทั้งหมดรวมกันเป็นชีวิตเดียว ในช่วงแพร่ระบาดเราเป็นชุมชน

จอร์ดาโน เขียนบันทึกความทรงจำระหว่างกักตัวเอง (quarantine) เหมือนคนทั่วโลกในช่วงเวลาที่ COVID-19 แพร่ระบาดอย่างหนักในอิตาลี ข้อเขียนประโยคนี้ของจอร์ดาโน ก็ไปสอดคล้องกับสิ่งที่ ฌูเซ่ ซารามากู ผู้ประพันธ์นวนิยายเรื่องบอด พรรณนาห้วงความคิดของนางเอกในนวนิยายประหนึ่งสายโซ่ที่เชื่อมร้อยโลกนอกและในนวนิยายไว้ด้วยกัน นางเอกในนวนิยายเรื่องนี้เป็นคนเดียวในเมืองที่มองเห็น เป็นเหมือนราชินีแห่งเมืองตาบอด แต่ในเมืองตาบอดราชินีผู้มีดวงตามองเห็นกลับคิดว่า ฉันตาบอด ฉันตาบอดจากการที่พวกคุณตาบอด บางทีฉันอาจมองเห็นชัดขึ้นถ้ายิ่งพวกเราหลายคนมองเห็น เธอ-นางเอกในนวนิยายที่การตาบอดเป็นโรคระบาด คิดเหมือนกับ จอร์ดาโน ผู้เขียนข้อความในช่วงที่ COVID-19 กำลังระบาดไปทั่วโลก ในช่วงการระบาดเราทั้งหมดรวมกันเป็นชีวิตเดียว

 

 

ฉากหนึ่งแสนงดงามในนวนิยายเรื่อง บอด คือฉากที่นางเอกผู้มีดวงตามองเห็น วิ่งฝ่าฝูงชนและความโกลาหล สองมือถือถุงพลาสติกสกปรกที่ยัดแน่นด้วยอาหารกระป๋อง อาภรณ์ท่อนบนถูกฉีกทึ้งจนเปลือยเห็นทรวงอก เธอเพิ่งวิ่งออกมาจากซูเปอร์มาร์เก็ตที่พินาศหลังจากเมืองล่มสลาย รัฐก็ล่มสลาย ทุกคนตาบอดกันหมด ไม่มีน้ำสะอาด ไม่มีอาหาร ไม่มีระบบสาธารณูปโภค ไม่มีการเงินการธนาคาร ไม่มีพรรคการเมือง ไม่มีระบบสาธารณสุขและการแพทย์ ไม่มีอะไรเลยแม้แต่ความหวัง

ในภาวะอนาธิปไตย การจับกลุ่มกันช่วยเหลือเพื่อความอยู่รอดก็เป็นสิ่งจำเป็น ทุกคนล้วนตาบอดอย่างเท่าเทียม คลานสี่ขาควานหาอาหารเพราะมองไม่เห็นและกังวลว่าจะไปสะดุดสิ่งของหรือศพคนอื่นแล้วล้มหัวคะมำ ยกเว้นนางเอกของท้องเรื่อง อย่างที่บอก เธอเข้าไปซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อเสาะหาอาหารสำหรับกลุ่มของเธอ ซึ่งมีทั้งหมด 7 คน (ทุกคนตาบอด) เธออาสาออกมาหาเสบียงอาหารท่ามกลางความโกลาหลของคนตาบอดที่ต่างก็คิดเหมือนกันว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งนี้น่าจะมีอาหารหลงเหลืออยู่บ้าง แต่พวกเขามองไม่เห็น จึงพบแต่ความกระจัดกระจาย แตกเป็นเสี่ยง แต่เธอค้นพบโกดังสต๊อกสินค้าที่อยู่ชั้นใต้ดิน เธอลงไปกวาดเอาอาหารเท่าที่พอจะหอบกลับไหว และเพียงพอสำหรับคนอีก 6 คนที่รอเธออยู่ ใส่ลงในถุงพลาสติกที่เก็บมาจากถังขยะ

ตามประสาคนมองเห็นท่ามกลางคนตาบอด เธอจึงรู้ในสิ่งที่คนอื่นไม่รู้ เธอมีสิทธิเลือกที่จะบอกสิ่งที่เธอรู้ให้กับคนอื่นที่ไม่รู้ เธอมีสิทธิเลือก แต่เธอเลือกที่จะไม่บอก เธอเลือกที่จะเป็นใบ้ ความลับที่สามารถต่อชีวิตผู้คนหิวโหยถูกเก็บเงียบไว้ราวกับคนใบ้

โกดังอาหารจึงถูกลั่นดาลไว้ดังเดิม เธอหวังว่าเมื่อเสบียงหมด ก็อาจย่องกลับมาในโถงถ้ำแห่งความอยู่รอดนี้ได้อีก ถ้าบอกพวกนั้นว่ามีอาหารอยู่ชั้นใต้ดิน ตรงนี้นะ พวกคุณค่อยๆ คลำผนังหรือคลานกันมา หรือจับบ่าคนข้างหน้า อย่าปล่อยมือ เดินเป็นแถวด้วยความเรียบร้อย แล้วทุกคนก็จะได้กินอาหารที่มีอย่างเหลือเฟือ ระวังสะดุดล้มนะ เธอคิด ถ้าเธอบอกคนเหล่านั้นก็อาจเกิดความโกลาหลขึ้นเมื่อทุกคนหิวโหยและตาบอด เมื่อคนตาบอดคนแรกล้มลง คนตาบอดที่อยู่ข้างหลังก็จะล้มตาม เมื่อไร้ระบบระเบียบความตายก็อยู่แค่เอื้อม เธอจึงเก็บเงียบเรื่องอาหารที่ค้นพบ แล้ววิ่งฝ่าฝูงชนออกมา ซ่อนความลับสีดำในจิตใจไม่เผยบอกกับสมาชิกในกลุ่มของเธออีก 6 คนที่เหลือ เพราะมันจะเป็นการประจานตนเอง ในแง่นี้เธอจึงแกล้งตาบอดให้กับตัวเอง และเป็นใบ้ต่อหน้าคนตาบอด

ซารามากูก็แสนจะฉลาดที่บรรยายฉากนี้โดยกระหวัดถึงภาพเขียนประวัติศาสตร์ของ แฟร์ดีน็อง วิกตอร์ เออแฌน เดอลาครัวซ์ (Ferdinand-Victor-Eugène Delacroix) ภาพนั้นชื่อ La Liberté Guidant le Peuple หรือ เสรีภาพนำพาประชาชน

La Liberté Guidant le Peuple หรือ เสรีภาพนำพาประชาชน

ฝนกำลังตกหนัก เมื่อมาถึงถนน เหนื่อยหอบ ขาสั่น อย่างนี้ดีแล้ว หล่อนคิด กลิ่นจะออกน้อยกว่า ใครบางคนฉวยคว้าผ้าขี้ริ้วผืนสุดท้ายซึ่งแทบจะไม่ปกคลุมท่อนบนของหล่อน ตอนนี้หน้าอกไม่มีอะไรคลุม เปล่งประกายบริสุทธิ์ เป็นคำกล่าวสละสลวย น้ำจากฟ้าไหลรด แต่นางเอกในนวนิยายเรื่องบอดต่างจากมารีอาน (Marianne) ตัวละครในภาพเขียนดังกล่าว หล่อนไม่ใช่เสรีภาพนำประชาชน โชคดีที่ของใส่เต็มถุง หนักเกินที่จะยกมันดังธง

นี่คือภาพเปรียบที่นักประพันธ์ผู้นี้หยิบมาเล่นล้อ จิตสำนึกถูกแขวนค้างไว้ตรงกลางระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับคนหมู่มาก ระหว่างความเป็นกับความตาย ในภาวะวิกฤติ ตาชั่งแบบไหนจึงจะสมเหตุผล เมื่อมองไม่เห็นและสูญเสียความคุ้นชินทั้งหมด มนุษย์สามารถทำอะไรได้บ้าง ศีลธรรม อำนาจ และระบบ ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้ชีวิตฉิบหายและอยู่รอดได้ในเวลาเดียวกัน

การอยู่ในโลกซึ่งหมดหวังก็คือความตาบอดเช่นกัน

quarantine มาจากภาษาอิตาเลียน quarantina แปลว่า 40 คำนี้ถือกำเนิดจากยุคกาฬโรคระบาดในยุโรป ประเทศต่างๆ หามาตรการป้องกันไม่ให้โรคแพร่กระจาย เช่น จับผู้ป่วยไปปล่อยเกาะ หรือไม่ให้ผู้คนเดินทางเข้าออกพื้นที่บางแห่งบ้าง ที่เมืองเวนิส เพื่อให้มั่นใจว่าคนบนเรือที่จะมาเทียบท่าไม่ได้พกพาเชื้อโรคกาฬโรคมาด้วย ทางการจึงออกกฎให้เรือที่ต้องสงสัยลอยลำอยู่ 40 วันก่อนจะให้เทียบท่า2

ถ้าเราไม่นับว่ามีผู้คนมากมายได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากมาตรการกักกันตนเอง (Self Quarantine at Home) ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงการระบาดของไวรัส COVID-19 การกักตัวเองที่บ้านก็ได้เป็นบททดสอบความสัมพันธ์ของมนุษย์

กรณีประเทศจีนที่การระบาดได้สร่างซาลงไป แต่อัตราการหย่าร้างของประชากรจีนกลับสูงขึ้น สถิติของการแตกหักทางความสัมพันธ์นี้บอกอะไรแก่เราบ้าง มาตรการ Social Distancing หรือการเว้นระยะทางสังคม เป็นมาตรการที่จำเป็นในการควบคุมการแพร่ระบาด แต่เมื่อเว้นระยะห่างจากสังคม เราจึงมีระยะเข้าใกล้คนที่อยู่ใกล้ตัวเราที่สุด นั่นคือคนในบ้านเดียวกัน ระยะห่างที่น้อยลงในขอบเขตเวลา 24 ชั่วโมงเป็นส่วนหนึ่งของจำนวนตัวเลขคู่รักมากกว่า 300 คู่ ที่นัดหมายเจ้าหน้าที่เพื่อขอจดทะเบียนหย่านับตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2020 หัวหน้าแผนกการจดทะเบียนสมรสในเมืองต้าโจว มณฑลเสฉวน เชื่อว่าสาเหตุที่ทำให้อัตราการขอจดทะเบียนหย่าพุ่งสูงขึ้นมาก อาจเกิดจากการที่คู่รักใช้เวลาอยู่ด้วยกันมากเกินไปในช่วงของการกักตัวจากการระบาดของ COVID-19

แต่การกักกันผู้ติดเชื้อแบบ state quarantine ในนวนิยายเรื่องบอด มีความเป็นส่วนตัวน้อยกว่า จะพูดว่าเป็นส่วนตัวน้อยกว่าได้ไหม ก็อาจจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียว มันเหมือนการจองจำมากกว่า พวกเขาอยู่ร่วมกันห้องละ 20-50 คน แต่ก็อย่าลืมว่าพวกเขาตาบอด นั่นหมายความว่า ไม่ว่าเขาจะทำอะไร ก็จะไม่มีคนเห็นเขา แต่การนั่งยองๆ ลง แล้วปลดทุกข์ในห้องก็ยังเป็นสิ่งน่าละอาย แม้ไม่มีใครเห็น แต่ใครจะฝืนธรรมชาติของร่างกายได้ เมื่อการเคลื่อนไหวไปห้องน้ำเป็นอุปสรรค และทุกอย่างก็เละเทะไปด้วยอุจจาระของคนตาบอดด้วยกันเอง

ลองหลับตานึกภาพพื้นที่ที่คุณก็สามารถเหยียบขี้ได้ทันทีที่หยั่งเท้าลงจากเตียงนอน และเหมือนเวลาหิวข้าว ร่างกายก็จำเป็นต้องกิน แต่เรื่องเซ็กส์ซับซ้อนกว่านั้น พวกเขาจึงมีเซ็กส์กันท่ามกลางคนตาบอดที่นอนอยู่เตียงข้างๆ เตียงฝั่งตรงข้าม ไม่มีการตีตราว่าคนนี้คือคู่ของฉัน ในสถานการณ์เช่นนั้นพวกเขามีวิจารณญาณว่าอะไรสมควรหรือไม่สมควร

ภายนอกสถานกักกันมีทหารถือปืนควบคุมตลอด พวกเขาได้รับคำสั่งขั้นเด็ดขาดให้ยิงคนติดเชื้อที่ออกนอกพื้นที่ที่กำหนด เพราะพวกเขาไม่มีคำอธิบายถึงการระบาด พยาธิสภาพของโรค พวกเขาไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับโรคตาบอดนี้ รู้แต่ว่ามันสามารถติดต่อกันได้ในเวลาอันรวดเร็ว เพียงแค่อยู่ใกล้คนตาบอด พวกเขาเรียกมันว่าโรคปีศาจสีขาว สิ่งเดียวที่ทำได้คือหาคำมานิยามมัน สิ่งเดียวที่พอจะบอกได้คือคนติดเชื้อที่ตาบอดมองเห็นทุกอย่างเป็นสีขาว มีการส่งเสบียงอาหารให้วันละ 3 เวลา เป็นการให้อย่างระแวดระวัง พวกเขาจะวางเสบียงไว้บนพื้น คนตาบอดแต่ละหอจะคลานสี่ขาหรือไม่ก็ต่อแถวจับบ่ากันมา (ในกลุ่มที่สร้างระบบ) เพราะทหารก็กลัวติดเชื้อตาบอด

ระหว่าง self quarantine at home ข้าพเจ้าอ่านนวนิยายเรื่องบอด อยู่ที่บ้าน และติดตามข่าวสารการระบาดของ COVID-19 อย่างหดหู่ ทุกคนรอบตัวข้าพเจ้าต่างได้รับผลกระทบ มันคือช่วงเวลาที่ชวนหดหู่อย่างแท้จริง แต่การอยู่ในโลกซึ่งหมดหวังก็คือความตาบอดเช่นกัน ข้าพเจ้าจึงเบิกตามองโลกและโรคเข้าไว้

ฌูเซ่ ซารามากู ผู้ประพันธ์นวนิยายเรื่อง บอด

ไม่กี่วันก่อนรัฐบาลประกาศเคอร์ฟิว คนไทยที่อยู่ต่างประเทศกำลังเดินทางกลับเข้าประเทศ พวกเขาอยากกลับบ้าน กลับมาหาคนที่รัก พ่อแม่ญาติพี่น้อง แต่เกิดความโกลาหลที่สนามบินสุวรรณภูมิ คุณลองนึกภาพดู พวกเขาคือคนไทยที่อยากจะกลับบ้าน พวกเขามีสิทธินั้น และปฏิบัติตามมาตรการที่ออกจากภาครัฐโดยการขอใบรับรองจากสถานทูตและเงื่อนไขธรรมดาอย่างการกักตัวเองที่บ้าน 14 วัน แต่ความโกลาหลเกิดจากความไม่มีระบบ ความสับสนของการสื่อสารและการตัดสินใจของรัฐบาล

ทันทีที่ความโกลาหลในสนามบินสุวรรณภูมิแพร่ลามออกไปในโลกโซเชียลมีเดีย พวกเขากลายเป็นตัวบทที่ถูกอ่านว่าเป็นพวกแหกด่าน ไม่ยอมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการกักตัวเป็นเวลา 14 วัน การไล่ล่าเกิดขึ้นโดยสื่อมวลชน มีการเปิดเผยรายชื่อประชาชนเหล่านี้ ประชาชนด้วยกันเองก็หยาบคายกับพวกเขาราวกับการกลับบ้านคืออาชญากรรม พวกเขากลายเป็นอาชญากรเพราะการเดินทางกลับบ้าน

คุณลองนึกภาพดู มันเหมือนกับว่า พวกเรากรูกันไปที่บานประตูของประเทศ ออกแรงดันบานประตูหนาหนัก เอ้า ฮุยเลฮุย อย่าให้พวกมันเข้ามา แต่ถ้าใครที่เล็ดลอดเข้ามาได้ก็จะถูกไล่ล่า ขึ้นบัญชีดำ เหมือนพวกเราเป็นทหารยามในนวนิยายเรื่องบอด มึงอย่าเข้ามา ประชาชนส่วนหนึ่งคิดแบบนี้ กูไม่ยอมถูกกักตัวเด็ดขาด ใครบางคนพูดแบบนี้ ฉันถามเจ้าหน้าที่ว่าจะกักตัวพวกเราไว้ที่ไหน เขาก็ตอบไม่ได้ บอกแต่ว่าเดี๋ยวจะมีเจ้าหน้าที่มารับ หญิงสาวคนหนึ่งพูดในวิดีโอของเธอ

คนเหล่านี้เดินทางมาจากประเทศเสี่ยง ต้องเข้ารับการกักตัวในสถานที่ของรัฐ แต่ปัญหาคืออะไร ปัญหาคือรัฐบาลล้มเหลวในการจัดการ ล้มเหลวในการสร้างระบบ สภาพของ state quarantine ของรัฐที่ถูกเผยแพร่ตามสื่อนั้นคือมาตรฐานของอะไร ก็ไม่แปลกที่พวกเขาไม่อยากไปที่นั่น – สัตหีบ อะไรทำให้การให้ความร่วมมือกับรัฐเพื่อเป็นประโยชน์ทั้งกับตนและสังคมให้ความรู้สึกคล้ายการถูกจองจำ จุดไฟเผาผ้าปูเตียงในสถานกักกันคือสิ่งที่ตัวละครในนวนิยายเรื่องบอด ทำ ยุติความไร้ระเบียบเกินจะทนไหวด้วยความไร้ระเบียบ ไฟไหม้สถานกักกัน คนติดเชื้อหนีตายกันออกมา ไม่มีทหารแล้ว เพราะทหารก็ตาบอดกันหมด พวกเขาเป็นอิสระ แต่ไม่รู้จะไปไหน เพราะตาบอด และเมืองทั้งเมืองก็ตาบอด ผู้คนต้องเอาชีวิตรอด นางเอกของเรื่องพูดไว้ว่า ร่างกายเป็นระบบที่จัดเป็นระเบียบด้วยเช่นกัน มันดำรงชีวิตขณะที่มันคงรักษาระเบียบไว้ได้ และความตายเป็นผลจากความไร้ระเบียบ ในแง่หนึ่งการจัดระเบียบคือการมีดวงตา

 

 

กระสุนแต่ละนัดที่ยิงไปเป็นอำนาจสั่งการที่สูญหายไปเรื่อยๆ

โรคติดเชื้อ COVID-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ และยังไม่มียาที่ใช้รักษาได้โดยตรง ปัจจุบันเราอาศัยยาที่ใช้รักษาโรคอื่นที่มีอยู่มาทดลองรักษา เช่น ยาที่ใช้รักษาเอชไอวี ยาที่ใช้รักษาไข้หวัดใหญ่ ยารักษามาลาเรีย หรือแม้กระทั่งยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ที่ยังอยู่ในการวิจัยและพัฒนาเพื่อรักษาโรคอีโบลา หลายประเทศพยายามที่จะฝ่าฟันอุปสรรคนี้ เพื่อให้ประชาชนของตนเข้าถึงยาช่วยชีวิต รวมถึงการรณรงค์เรียกร้องโดยองค์กรภาคประชาสังคมระดับสากล พวกเขาพยายามปลดล็อคสิทธิบัตรยาให้ผู้ป่วยเข้าถึงยารักษาชีวิตในราคาไม่แพง โดยเฉพาะในภาวะวิกฤติ COVID-19

แต่ยาเรมเดซิเวียร์เป็นยาที่บริษัทยาข้ามชาติกิลิแอด (Gilead) กำลังพัฒนาและวิจัยอยู่ พวกเขารีบยื่นขอขึ้นทะเบียนยาเรมเดซิเวียร์กับสำนักงานอาหารและยา (อย.) ของสหรัฐ ในประเภท ‘ยากำพร้า’ และ อย. ของสหรัฐ ได้อนุมัติให้ขึ้นทะเบียนยาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2020 ก่อนที่โรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 จะระบาดหนักในอเมริกา

กฎหมายยากำพร้า (Orphan Drug Act) ของสหรัฐ มีขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาวิจัยยาสำหรับใช้รักษาโรคหายาก (rare disease) เพราะโรคเหล่านี้มีผู้ป่วยจำนวนไม่มากแต่จำเป็นต้องมียารักษา โดยยอมให้สิทธิผูกขาดเพิ่มอีก 7 ปี เพื่อขายทำกำไรได้แต่เพียงผู้เดียว เพื่อสร้างแรงจูงใจ ในระหว่าง 7 ปีนั้น อย. ของสหรัฐ จะไม่รับขึ้นทะเบียนให้กับยาเรมเดซิเวียร์ของบริษัทอื่น

ในสถานการณ์ภัยพิบัติ มนุษย์สามารถทำอะไรได้บ้าง

ผมจะติดตามด้วยตัวเอง เพื่อให้ทีมหมอและพยาบาลที่เปรียบเสมือน ‘นักรบที่อยู่แนวหน้า’ ต้องคอยต่อสู้และสกัดกั้นข้าศึกที่มองไม่เห็นด้วยความเสียสละและอดทน ผมในฐานะ ‘แม่ทัพ’ จะปล่อยให้กำลังหลักของเราต้องต่อสู้ภายใต้ความขาดแคลนไม่ได้อย่างเด็ดขาด และต้องมีขวัญกำลังใจที่เข้มแข็งอยู่เสมอเพื่อมีพลังเอาชนะวิกฤติครั้งนี้ให้ได้ นายกรัฐมนตรีกล่าวก่อนที่จะมีการประกาศเคอร์ฟิว ก่อนหน้านี้รัฐบาลออกมากล่าวโทษประชาชน ว่าไม่ยอมกักตัวอยู่ที่บ้าน จึงต้องเพิ่มมาตรการเข้ม และจะเข้มขึ้นเรื่อยๆ หากจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้น COVID-19 ถูกเปรียบว่าเป็นศัตรูที่มองไม่เห็น เพราะเราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมันเลย เรามีแนวโน้มที่จะรู้อนาคตของมันมากกว่าอดีต มันคือไวรัสที่ยังไม่ได้เขียนประวัติศาสตร์ เราจึงไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมันมาก ในแง่นี้เราก็เหมือนกับตัวละครในนวนิยายเรื่องบอด คือเรากำลังตาบอด เพราะไม่รู้

พยาธิสภาพของโรคระบาดในนวนิยายเรื่องบอด เป็นสิ่งลี้ลับ จักษุแพทย์ไม่เคยพบอาการตาบอดสีขาว และเท่าที่สั่งสมองค์ความรู้กันมา อาการตาบอดไม่ใช่โรคระบาดที่สามารถติดต่อจากคนสู่คน พวกเขาไม่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น รัฐใช้มาตรการการกักกันที่รุนแรง แต่กระนั้นก็ไม่ได้ทำให้อะไรอยู่ในขอบเขตการควบคุม

ในสถานกักกันของรัฐ มีปืนอยู่ 1 กระบอก และผู้ครอบครองจึงเป็นผู้มีอำนาจ แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้ถือปืนจำต้องตระหนักว่า แต่ละครั้งที่เขาลั่นไก กระสุนจะย้อนกลับมาหาเขาเสมอ หรืออย่างที่ซารามากู บรรยายไว้ว่า กระสุนแต่ละนัดที่ยิงไปเป็นอำนาจสั่งการที่สูญหายไปเรื่อยๆ เรามาดูกันว่าอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อกระสุนหมด เปรียบได้กับที่เครื่องแต่งกายไม่ได้ทำให้คนกลายเป็นนักบวช คทาก็ไม่ได้ทำให้ใครเป็นพระราชาเหมือนกัน

การรวมกลุ่มย่อยกันจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเอาชีวิตรอด กลุ่มที่ตั้งตนมีอำนาจเหนือผู้อื่น เป็นผู้ควบคุมการแจกจ่ายอาหาร พวกเขาเริ่มจากกติกาที่กำหนดขึ้นมาเอง อาหารแลกกับทรัพย์สินของมีค่า ลามปามไปจนกระทั่งอาหารแลกกับบรรณาการทางเพศจากมนุษย์เพศหญิง พวกเธอถูกตรงกลางระหว่างชีวิตกับความตายบีบบังคับให้สมสู่กับพวกกักตุนเสบียง ไม่ใช่ชีวิตและความตายของเธอฝ่ายเดียว แต่ของทุกคนที่อยู่ในสถานกักกันแห่งนี้ด้วย เธอต้องใช้ทรัพยากรที่มีแต่กำเนิดแลกกับอาหารที่จะนำไปแจกจ่ายสามีที่ตาบอดของเธอ ให้แก่เพศชายตาบอดคนอื่นๆ ที่เงียบใบ้ รวมถึงพวกเธอที่หัวใจแหลกสลายกันเองด้วย

อะไรคือสิ่งเลวร้ายที่มนุษย์สามารถทำได้ ระหว่างการกินเนื้อกันเองกับเงียบกับเรื่องบางเรื่อง อย่างไหนเลวร้ายกว่ากัน

 

 

เชิงอรรถ

  • ผู้เขียนกำลังอ่านต้นฉบับเรื่อง ในการแพร่ระบาด แปลจากต้นฉบับภาษาอิตาลี Nel contagio โดย นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ ซึ่งอยู่ในระหว่างการจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อ่านอิตาลี
  • โรคพิษสุนัขบ้า กับ 5 คำศัพท์ภาษาอังกฤษ โดย อธิพงษ์ อมรวงศ์ปีติ

 

บอด (Ensaio sobre a Cegueira)
ผู้เขียน: José Saramago
ผู้แปล: กอบชลี
สำนักพิมพ์: Library House

 

author

Random books

© WAY MAGAZINE. All rights reserved