ไกลกะลา: ข้ามผ่านความคิดชาตินิยมคับแคบ

ไกลกะลา: ข้ามผ่านความคิดชาตินิยมคับแคบ

ไกลกะลา (2562) เป็นหนังสืออัตชีวประวัติของ เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน (Benedict Richard O’Gorman Anderson) ศาสตราจารย์กิตติคุณแห่งมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ นักวิชาการที่มีผลงานทางวิชาการที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงในโลกสากล หนังสือเล่มนี้แปลมาจากภาษาอังกฤษที่ชื่อ A Life Beyond Boundaries ไอดา อรุณวงศ์ จากสำนักพิมพ์อ่าน เป็นผู้แปล

หากใครเคยอ่านงานชิ้นเอกของ เบน แอนเดอร์สัน เรื่องชุมชนจินตกรรม : บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม (Imagined Communities: Reflections on the Origin and Spread of Nationalism) ซึ่งโด่งดังจนได้รับการแปลไปในภาษาต่างๆ แล้วรู้สึกทึ่งกับฉากหน้าของผลึกความคิดที่สั่งสมมาจากงานวิชาการ หนังสือชีวประวัติเล่มนี้คงเหมือนกับฉากหลังที่เต็มไปด้วยสีสันของชีวิตชวนอัศจรรย์ใจ

เนื้อหาของหนังสือแบ่งเป็น หมายเหตุผู้แปล บทเกริ่นนำ เนื้อหาหลัก 6 บท บทตาม เชิงอรรถผู้แปล และดัชนี ส่วนประกอบทั้งหมดฉายให้เห็นช่วงชีวิตที่ยาวนานของ เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน ระหว่างปี 1936- 2015 ที่ผ่านเวลาของการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นการบุกยึดจีนของญี่ปุ่นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 การตัดสินใจเข้าสู่สงครามของสหรัฐ สงครามเย็นที่ยืดเยื้อหลายสิบปี วิกฤติคลองสุเอซ รวมถึงการรัฐประหารที่ตามมาด้วยการสังหารประชาชนของเผด็จการหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แต่ละห้วงเวลาที่แอนเดอร์สันดำเนินชีวิตได้เข้าไปสัมพันธ์กับคนที่เขาพานพบ และหล่อหลอมตัวตนจนเผยเป็นแง่มุมแฝงฝังอยู่ในข้อคิดและข้อเขียนต่างๆ ของเขาเอง วิธีการเล่าเรื่องที่วางบทบาทเป็นนักบันทึกและนักสังเกตก็ส่งให้ผู้อ่านรู้สึกตื่นเต้นโลดโผนตามผู้เขียนไปตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย ขณะเดียวกันส่วนต่างๆ ของหนังสือก็ดูประณีตและถูกออกแบบอย่างเอาใจใส่ สมดังที่ผู้เขียนตั้งใจให้ผู้แปลเป็นคนทำงานนี้ตั้งแต่เขายังไม่จากโลกนี้ไป (ดูความเป็นมาของการแปลสั้นๆ ใน น.8)

แน่นอนว่าประวัติศาสตร์ชีวิต ‘ครูเบน’ (คำที่ลูกศิษย์ของเขาในเมืองไทยมักใช้เรียก) ใน ‘ไกลกะลา’ ไม่ใช่หนังสือที่เล่าชีวิตดาดๆ ของนักวิชาการคนหนึ่ง หากแต่ยึดกุมกลิ่นอายที่เรียกว่า ‘ข้ามพ้นพรมแดน’ ไว้ตลอดทั้งเล่ม ตั้งแต่พรมแดนของรัฐชาติ เศรษฐกิจ การเมือง ภาษา วัฒนธรรม ฯลฯ การเดินทางจากเมืองเกิดอย่างคุนหมิงก่อนสงครามโลกจะเปิดฉากอย่างเป็นทางการ การลี้ภัยไปยังโคโลราโด จนถึงเรื่องราวในวัยเยาว์ที่ไอร์แลนด์ อันเป็นช่วงของ ‘ลิ่วล่องวัยดรุณ’ (บทที่ 1) ก็บรรยายการเติบโตท่ามกลางการเดินทางของผู้เขียนไว้อย่างละเอียด สาแหรกตระกูลที่ผู้เขียนเล่าอย่างพิสดารในบทนี้ ทำให้ทุกคนที่ถูกเล่าถึงมีชีวิตชีวาขึ้นมา บ้านของเขาที่มีหนังสือหลากประเภท รวมถึงโรงเรียนที่ทั้ง ‘หล่อหลอม’ และ ‘ปะทะ’ มา อย่างวิทยาลัยอีตัน เป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่แสนสนุกและย้อนแย้งในคราวเดียวกัน ในบทนี้ทำให้ทราบว่าความสนใจเรื่องภาษาและวรรณกรรมของผู้เขียนได้เริ่มต้นที่นี่ ซึ่งไม่ใช่แค่เป็นบานประตูเพื่อใช้สื่อสารจากคนต่างมุมโลก หากแต่ยังเป็นเครื่องมือเพื่อเข้าใจวิธีคิดจากคนอีกวัฒนธรรมและบริบทของสังคม

เมื่อผู้เขียนสอบชิงทุนเข้าเรียนในสาขาคลาสสิกที่เคมบริดจ์ ในยามที่เคมบริดจ์ยังมีลักษณะอนุรักษนิยมอยู่ หน่ออ่อนของการวิพากษ์รัฐชาติก็แง้มออกมาให้เห็น ดังจะพบว่านอกจากการเรียนแล้ว กิจกรรมดูหนังก็ได้บ่มเพาะการตื่นตัวทางการเมืองให้แก่เขาด้วย ครั้งหนึ่งเขาถึงกับต้องปะทะกับพวกชาตินิยมที่ชอบกะเกณฑ์ให้คนอื่นยืนเคารพเพลงชาติหลังจากหนังได้ฉายจบแล้ว

หลังจากจบการศึกษาด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 ผู้เขียนก็เข้าเป็นอาจารย์ผู้ช่วยสอนที่สาขาการปกครอง มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ซึ่งตัวเขาเองก็ไม่ได้คุ้นเคยสาขาวิชาการเมือง เท่ากับน้องชายของเขา ‘รอรี’ หรือ เพอร์รี แอนเดอร์สัน (Perry Anderson – นักวิชาการมาร์กซิสต์ตะวันตก) แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ผู้เขียนแสดงให้เห็นอยู่เนืองๆ ในเล่ม ว่าเป็นส่วนหนึ่งในการเดินข้ามไปพรมแดนใหม่ๆ อยู่เสมอ และในไม่กี่ปีถัดมาเขาก็ได้เป็นอาจารย์ประจำในยุคที่โซเวียตขึ้นมามีบทบาทนำบนเวทีการเมืองโลก

ที่คอร์เนลล์นี้เองทำให้เขาได้พบกับ ศาสตราจารย์จอร์จ เคฮิน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอินโดนีเซีย ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นคนสำคัญในช่วงที่เขาเริ่มทำงานสอนในมหาวิทยาลัย ด้วยครูและเพื่อนร่วมงานที่ดีเช่นนี้ก็ทำให้ในบทที่ 2 อาณาบริเวณศึกษา เราจะได้เห็นการเล่าบรรยากาศการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยในสหรัฐว่าพลิกโฉมไปจากทศวรรษก่อนหน้าสงครามโลกอย่างไร

วงวิชาการสหรัฐซึ่งโดดเด่นขึ้นมาหลังการทุ่มทรัพยากรมหาศาลเพื่อเข้าใจประเทศใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากความพ่ายแพ้ของเยอรมนีและญี่ปุ่นในสงครามโลก และที่สำคัญคือความทะเยอทะยานและอาการหวาดกลัวเกินเหตุของสหรัฐเอง (น.77) ทำให้สาขาวิชาใหม่อย่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสหรัฐพัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

เรื่องราวในบทนี้ ผู้คนมากมายจะถูกเล่าผ่านชีวิต ทัศนคติ อุปนิสัยในแง่มุมต่างๆ รวมถึงเพื่อนร่วมงานของผู้เขียนที่สร้างบรรยากาศการค้นคว้าไม่รู้จบ เวลาเดียวกับที่นักศึกษาในสหรัฐเริ่มคิดถึงตัวเองในฐานะนักสำรวจประเทศอื่นที่ใช้ภาษานอกเหนือจากอังกฤษหรือฝรั่งเศส

ในบทที่ 3 ภาคสนาม ‘อินโดนีเซียคือรักแรกของผู้เขียน’ นี่คือสาระสำคัญที่ผู้เขียนเปิดประเด็นเอาไว้ บทนี้ได้เปิดเผยเรื่องราวที่ชวนสนุกสนานและประหลาดใจเป็นช่วงๆ ระหว่างที่ผู้เขียนใช้ชีวิตกับมิตรสหายหน้าใหม่ในประเทศมุสลิมที่มีพรรคคอมมิวนิสต์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

อย่างที่ผู้เขียนบอกไว้ ว่าแม้เขาจะสื่อสารด้วยภาษาไทยและตากาล็อกได้ แต่การเรียนรู้ภาษาอินโดนีเซียก็ไม่ใช่เรื่องง่ายดาย ทำให้ในแง่วิธีการทำงานระหว่างการลงภาคสนามของเขาก็น่าตื่นตาไม่น้อย เราจะเห็นเรื่องนี้ได้ในเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ผู้อ่านเองก็คาดไม่ถึง ช่วงเวลาของการลงภาคสนามจึงกลายเป็นหน่ออ่อนให้แก่หนังสือเลื่องชื่ออย่าง Imagined Communities ในเวลาต่อมาด้วยเช่นเดียวกัน

หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น นิตยสาร พิพิธภัณฑ์ การเข้าฟังการพิจารณาคดีกบฏ และการเดินทางไปสัมภาษณ์ผู้คนจำนวนมาก ฯลฯ เหล่านี้คือแหล่งข้อมูลที่เขาเข้าไปเผชิญหน้า แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้การค้นคว้าในประเทศที่ปกครองด้วยกฎอัยการศึกตั้งแต่ปี 1957-1963 เป็นไปอย่างราบรื่น

บทสนทนาระหว่างผู้เขียนกับคนชวา กรรมการพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย นายพลของกองทัพญี่ปุ่น เจ้าหน้าที่รัฐบาล ฯลฯ ถูกตัดสลับด้วยภาษาพื้นถิ่นก็ทำให้เห็นมุมที่แสดงออกมา ว่าข้อมูลเหล่านี้ไม่สามารถพบเห็นได้ง่ายๆ หากแต่เต็มไปด้วยทัศนคติและมุมมองทางสังคมวัฒนธรรมที่ซับซ้อนปรากฏอยู่ในนั้นด้วย ด้วยวิธีการทำงานเช่นนี้จึงไม่แปลกหากว่ามันกลายเป็นส่วนสำคัญต่องานเขียนของเขาเองที่พลิกความเข้าใจการรัฐประหารครั้งสำคัญในอินโดนีเซีย (1965) ที่เสนอว่าเป็นความขัดแย้งภายในกองทัพ มิใช่ฝีมือของพรรคคอมมิวนิสต์ตามที่เผด็จการซูฮาโตกล่าวอ้าง

จนเมื่อถูกนายพลซูฮาโต เนรเทศผู้เขียนออกจากอินโดนีเซียในปี 1972 ก็ทำให้เขาได้มาพำนักอยู่อีกประเทศที่ไม่ไกลจากอินโดนีเซียมากนัก คือประเทศไทย ก่อนที่เขาจะสร้างงานวิชาการที่สำคัญไว้จำนวนมาก ทั้งการวิพากษ์องค์ความรู้ว่าด้วยไทยศึกษา งานที่เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์การเมืองไทยหลังยุค 70 แต่เหตุการณ์ที่น่าจดจำเกิดขึ้นเมื่อผู้เขียนเป็น 1 ในจำนวนนักวิชาการต่างชาติเพียง 5 คนถ้วน ที่กล้าหาญลงชื่อประณามการสังหารหมู่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 1976

นอกจากนี้ผู้เขียนได้วิจารณ์การเรียนการสอนภาษาของสหรัฐต่อภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูงอย่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้พอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่สนใจส่งเสริมให้นักศึกษาอ่านงานวรรณกรรมของประเทศต่างภูมิภาค หนังสือเล่มแรกที่ผู้เขียนเขียนเกี่ยวกับเรื่องสังคมไทยจึงเหมือนกับการยืนยันข้อวิพากษ์ดังกล่าว ปรากฏออกมาในชื่อ In the Mirror: Literature and Politics in Siam in the American Era (1985) ได้รับการแปลเป็นไทยแล้วชื่อ ในกระจก : วรรณกรรมและการเมืองสยามยุคอเมริกัน ที่ทำหน้าที่ราวกับเปิดพรมแดนใหม่สำหรับนักอาณาบริเวณศึกษา

ในบทที่ 4 กรอบของการเปรียบเทียบ ผู้เขียนนำผู้อ่านไปดูเบื้องหลังการเขียนงานสำคัญของเขาเอง เช่น เรื่อง The Idea of Power in Javanese Culture (1972) ที่เติบโตคู่ขนานมากับวงการรัฐศาสตร์ของสหรัฐ ซึ่งกำลังได้รับการครอบงำจากแนวทางแบบ ‘พฤติกรรมนิยม’ ช่วงเวลานี้เองทำให้เห็นความยากลำบากในการสร้างงานวิชาการที่เบิกเนตรวงการสังคมศาสตร์ไปในตัว ดังที่ผู้เขียนสะท้อนออกมาในวิธีการดิ้นรนเพื่อเข้าใจภาษาใหม่ ซึ่งส่งผลดีกับการฝึกตัวเองให้เป็นคนช่างเปรียบเทียบอย่างเอาจริงเอาจัง (น.159)

ขณะที่ในบทที่ 4 ‘สหสาขาวิชา’ พัฒนาการของสาขาวิชาและการพัฒนาขึ้นมาของสหสาขาวิชา ก็ได้รับความนิยมขึ้นมาหลังกำแพงเบอร์ลินถูกทำลายลง การเปิดตัวขึ้นมาเรื่อยๆ ของวารสารวิชาการอเมริกัน การเพิ่มขึ้นของอาจารย์ผู้หญิงในรั้วมหาวิทยาลัยที่เพิ่มจากร้อยละ 17.3 ในปี 1969 เป็นร้อยละ 40 ในปี 2008 และสิ่งที่สำคัญในช่วงเวลานี้คือการปราฏตัวขึ้นมาของ ‘การเมืองอัตลักษณ์’ ที่บรรดาผู้บุกเบิกก็คือนักศึกษาผิวดำสายสู้รบ (น.177) เราจึงได้เห็นสำนวนการเสียดเย้ยต่อสิ่งที่เรียกว่า ‘สาขาวิชา’ และการข้ามพ้นพรมแดนของสาขาวิชานั้นจากท่าทีตอบรับของวงวิชาการต่องานเขียนของเขาเรื่อง Imagined Communities

ในบทที่ 6 ‘การปลดระวางและการปลดปล่อย’ ผู้เขียนเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงของวงการวิชาการสหรัฐและการจัดการโครงสร้างมหาวิทยาลัยใหม่หลังยุคสงครามเย็น แน่นอนว่าส่งผลต่อชีวิตของผู้เขียนเองด้วยเช่นกัน วันที่เขาก้าวเข้าสู่วัยเกษียณ เขาก็ได้รับการยกย่องไปทั่วโลกแล้ว แต่การตั้งคำถามใหม่ๆ ของเขาก็ไม่ได้จบลงตามอายุขัยของระบบการศึกษาแต่อย่างใด

ช่วงเวลานี้เองเขาได้พบกับมิตรสหายหน้าใหม่ ทั้งในญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ หรือไทย และในประเทศหลังเขาก็ตกตะลึงว่าโลกของนักวิชาการกับคนทำหนังและศิลปินไทยแทบไม่ข้องแวะกัน อันเป็นเรื่องที่น่าฉงนสนเท่ห์ (น.203) มันจึงเป็นช่วงที่ผู้เขียนได้เขียนในเรื่องที่เขาไม่เคยได้ทดลองบ้าง รวมถึงในส่วนของบทตามที่เหมือนกับประมวลรวบยอดและทิ้งโจทย์ใหม่ๆ ให้แก่ผู้สนใจใคร่รู้ได้ไปคิดต่อ

ดังที่กล่าวไว้ว่าหนังสือเล่มนี้ได้ออกแบบไว้อย่างละเอียดลออ ในส่วนของดัชนีก็เช่นกันมันถูกออกแบบไว้ต่างจากการอ่านดัชนีทั่วไป คือมีการให้ความหมายที่ครอบคลุมทั้งความหมายและการออกเสียงจากภาษาที่ 1-2-3 ดังที่ผู้แปลในภาคไทยได้เตือนไว้แต่เนิ่นๆ ในหน้าแรกๆ ของหนังสือว่า “ดัชนีของเล่มนี้จึงดัดหลังให้เป็นดัชนีสำหรับคนเขียนและคนอ่านที่อ่านจริงๆ ไม่ใช่แค่คนที่ค้นคว้าวิจัย” (น.6)

ถึงที่สุดแล้ว มากกว่าที่ ไกลกะลา ได้พาไปรู้จักชีวิตของผู้เขียนและสิ่งที่เขาพานพบ ไกลกะลา ยังได้พาเราไปทบทวนความรู้และความผิดพลาดของการเรียนการสอนสังคมศาสตร์ในระดับสากลด้วยในเวลาเดียวกัน

อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องที่น่าเสียดายว่าผู้เขียนจากโลกไปก่อนโรคระบาดครั้งใหญ่จะมาเยือนในปี 2020 วันที่พรมแดนของชาติกลับมามีอิทธิพลอีกครั้ง น่าคิดต่อว่าหากผู้เขียนยังมีชีวิตอยู่จะอธิบายความโกลาหลนี้ในแง่มุมใดบ้าง แต่เมื่อหยุดคิดอีกทีก็พบว่า ทุกการเปลี่ยนแปลงในโลกก็ล้วนมีวิกฤติเป็นเดิมพันทั้งสิ้น และ เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน ก็ได้ฝากข้อคิดจากวิกฤติต่างๆ นั้นไว้แล้ว ใน ไกลกะลา

author

Random books

© WAY MAGAZINE. All rights reserved