หักแขน บีบขา กดหัว แล้วปิดฝา… การศึกษาของกระป๋องมีฝัน

หักแขน บีบขา กดหัว แล้วปิดฝา… การศึกษาของกระป๋องมีฝัน

text: ณัฐชานันท์ กล้าหาญ


คร่าวๆ เป็นเรื่องราวของเด็กหนึ่งคนที่เรียนหนังสือชั้นประถม มัธยม มหาวิทยาลัย ผ่านการดีไซน์หลักสูตรการศึกษาไทยแสนดีงามและห่วยแตกมาจนงงว่าตัวเองจะเป็นอะไรในอนาคตดี แต่แกนหลักของชีวิตที่ไม่เคยเปลี่ยนไป และไม่เคยหยุดทำเลย คือการเขียนการ์ตูน

“การเขียนการ์ตูน วิชาที่ผมจะคิดบ้าบอแค่ไหนก็ได้โดยไม่ต้องกลัวผิด ขยัน ฝึกฝนทำการบ้านโดยไม่ต้องมีใครมาบังคับ เป็นวิชาแรกที่ผมอยากจะเรียน อยากพัฒนาความรู้ตัวเองต่อไปเรื่อยๆ”

อ่านจบแล้วพบว่าสิ่งที่นอกเหนือจากการวิพากษ์ระบบการศึกษา อำนาจกดขี่ที่มองไม่เห็นของโครงสร้างทางวัฒนธรรมและสังคมที่เป็นประเด็นเชิงวิชาการทั้งปวง สะอาดเก่งขึ้นไปอีกในการหยิบมนุษย์มาแยกส่วน ผ่าหัว ลองเดินเข้าไปนั่งในอดีตและความคิดของคาแรคเตอร์ทั้งหลายว่าเพราะอะไรกัน ฉันถึงได้บอบช้ำจากวัยเด็ก โรงเรียน และครอบครัวมากมาย

แล้วมันเป็นการมองเพื่อน ครู ครอบครัว ในมุมของคนที่เติบโตมาแล้วย้อนกลับไปศึกษาตัวเอง ข้อจำกัดของการศึกษาในยุคนั้น บวกกับมายาคติของการเป็นครู แม่ นักเรียน ที่ยังคงติดกาวแปะจักรวาลไทยแลนด์ไว้อย่างแน่นหนาในปัจจุบัน

ความเก็บกดกัดฟันที่ต้องเก็บตัวตนแบบนี้แหละ มันคือการโดนหักอกไปเรื่อยๆ หักอกในแง่ของความคิดที่จะเป็นตัวเอง หักอกในแง่ของการเป็นมนุษย์ที่ผิดพลาดได้และไม่สมบูรณ์แบบ และหักอกที่รู้ตัวแล้วว่าชอบอะไรแต่สิ่งแวดล้อมไม่อนุญาตให้ทำแบบนั้น 

ที่สำคัญคือเราโดนหักอกด้วยคนที่รู้จักเราดีที่สุดอยู่บ่อยครั้ง เชื่อฟังพวกเขาโดยไม่มีเงื่อนไขกำกับ

“ตอนนั้นพวกเราต่างโง่เขลา โง่ เกินกว่าจะคิดว่าครูเองก็มีเรื่องที่ไม่รู้ ไร้เดียงสา เกินกว่าจะคิดว่าครูผิดได้ เป็นเพียงพวกเรา พวกเราเท่านั้นที่ผิดเอง…”

ประโยคที่ปูไปสู่การเติบโตของเด็กชายธนิส มาในจังหวะที่เป็นธรรมชาติและขุด pain point ที่ถ่วงทั้งผู้เขียนและผู้อ่านให้ลงน้ำและขึ้นมาจากน้ำในเวลาเดียวกันเสมอ ด้วยความที่เราต่างก็มีประสบการณ์ร่วมในความพิกลพิการของการศึกษาไทยไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง motion ของความล้มเหลวและการถูกบีบให้คิดเป็นกระป๋อง หักแขน บีบขา กดหัว แล้วปิดฝา จึงมาในรูปแบบ visual ที่เหมือนกับการดูหนังสักเรื่อง

โรงเรียนควรจะเป็นสถานที่ที่ผลิตเด็กกระป๋องพร้อมฝันที่อัดลมมาด้วยกันแบบนั้นหรือเปล่า แล้วเราหายใจได้ยังไงในพื้นที่แสนแคบที่กักเราด้วยกฎระเบียบไร้เหตุผลกับตำราตรรกะต่ำเหล่านั้น สิทธิของการเป็นเด็ก ซึ่งก็คือสิทธิที่ติดตัวมาในฐานะมนุษย์ตั้งแต่เราเกิด ถูกปิดระบบเสรีภาพด้วยข้อจำกัดทางวัฒนธรรม วาทกรรมคนดี และผลิตผีที่เที่ยวไปหลอนชีวิตที่อยากสนุกสนานได้ตั้งแต่เมื่อไหร่

สะอาดโยนกระป๋องอัดคำถามเหล่านั้นอัดหัวเราตลอดสายพานการผลิต เหมือนกับจะบอกว่า มา เดี๋ยวเล่าให้ฟังว่าจริงๆ แล้วปัญหาการศึกษามันคือปัญหาเชิงโครงสร้างที่สร้างโครงของการเป็นอื่นให้กับเด็กสักคนมากแค่ไหน

สิ่งยึดเหนี่ยวที่สำคัญและเป็น subplot ที่กุมใจเราไว้แน่น คือสะอาดกระซิบผ่านตัวอักษรและลายเส้นเสมอว่า เฮ้ย เราไม่ทิ้งคุณไปไหน

มันเป็นแพชชั่นของตัวเองที่โอบอุ้มความอึดอัดของคนอื่นไปด้วยโดยที่เขาเองอาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวเลย

มันมีทั้งความโกรธแค้น ดื้อด้าน กบฏแบบนุ่ม และการสะดุดล้มแบบลุ่มๆ ดอนๆ แต่ก็ยังจับดินสอไว้เขียนการ์ตูนได้อยู่

‘เราไม่ควรกลัวการเป็นตัวเอง’ เราคิดว่าเราสกัดได้สารนี้จากการอ่าน อ่านไปเรื่อยๆ อ่านจนเริ่มลดอายุ เริ่มเป็นเด็ก เริ่มเป็นเด็กหญิงคนนั้นเมื่อหลายสิบปีที่แล้วที่นั่งคอตกในชั้นเรียน ในที่เรียนพิเศษ และในมุมห้องสมุด เพราะเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยที่สุดจากครอบครัวและคุณครู พื้นที่ที่ไม่ได้คาดหวังอะไรจากการเป็นตัวเอง

ในมุมนั้นเราไม่โดดเดี่ยว เราพยายามเข้มแข็งในวัยที่ควรได้ออกไปเล่น เราพยายามหาพื้นที่ที่เราเล่นด้วยตัวคนเดียวได้ เราค่อยๆ สร้างเกราะปุกปุยของตัวเองขึ้นมาจากการค้นพบตัวละครในจินตนาการ ในหนังสือ ปิดล้อมเราไว้ด้วยความสุขและดอกไม้เล็กๆ

แต่ตอนนั้นเราไม่รู้ว่ามีความผิดปกติซ่อนอยู่ ซึ่งความผิดปกตินั้นเป็นเมฆดำพร้อมกลั่นฝนในห้องเรียน ติดตัวเราไปถึงที่บ้าน หนังสือในชีวิตจริงที่ไม่สนุก ทุกคนเป็นทุกข์กับความคาดหวังว่าใครควรจะใช้ชีวิตแบบไหนโดยไม่ปล่อยโอกาสให้พวกเขาได้อ่อนหวานบ้าง

การศึกษาก็เรื่องหนึ่ง ส่วนตัวเรารู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้ของสะอาด เค้น pain point ในการเป็นเด็กและความเข้าใจในสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ออกมาในฐานะเพื่อนร่วมชะตากรรม ทั้งการรับน้อง ออกค่าย เจออาจารย์ที่ดี ลงพื้นที่เจอความหลากหลายทางชาติพันธุ์ และการลงสนามเองโดยใช้เครื่องมือที่ถือมาตลอดตั้งแต่เด็กๆ

นั่นก็คือดินสอ

ดินสอของสะอาด สะอาดของดินสอ

วันนี้มันน่าจะได้วาดเขียนและผ่านสงคราม วาดยุทธศาสตร์และแผนการรบ วาดเลือด การต่อสู้ และความตาย วาดความสงบหลังสงครามเพื่อรู้ว่าจะมีศึกครั้งต่อไปอีกเรื่อยๆ วาดสิ่งที่มองเห็นไม่ได้อีกมากมายในหนังสือหนึ่งเล่ม

 

การศึกษาของกระป๋องมีฝัน
เรื่องและภาพ: สะอาด
สำนักพิมพ์: ด้วงคอมิกส์
author

Random books