‘โอลด์รอยัลลิสต์ดาย’ สู่ภาวะไม่ว่าคนรุ่นใดก็ยังไม่เคยประสบ

‘โอลด์รอยัลลิสต์ดาย’ สู่ภาวะไม่ว่าคนรุ่นใดก็ยังไม่เคยประสบ

หนังสือเล่มนี้เจาะลึกลงไปที่การเมืองไทยร่วมสมัย โดยมีเขาพระสุเมรุตั้งอยู่กลางใจสาส์นสำคัญ

 

โอลด์รอยัลลิสต์ดาย เป็นหนังสือเล่มล่าสุดของ ‘วาด รวี’ นักเขียนไทย ผู้เฝ้าติดตามสถานการณ์การเมืองอย่างใกล้ชิดตลอดสิบกว่าปี เขา ‘กัดไม่ปล่อย’ ต่อข้อถกเถียงสาธารณะที่เกิดขึ้นผันผวนตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา

ผู้เขียนเข้าไปสนทนากับแนวคิด ความเข้าใจต่างๆ ตั้งแต่ภาวะวิฤติทางการเมืองสีเสื้อก่อตัวขึ้น มากกว่านั้นยังใช้เวลาจำนวนมากในการแกะรอยคำอธิบายต่างๆ ด้วยการค้นคว้าอย่างอุตสาหะ และในวันที่มีการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเครื่องมือกดปราบทางการเมือง เขายังร่วมเคลื่อนไหวร่วมกับเพื่อนนักเขียน บรรณาธิการ ปัญญาชน เรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายดังกล่าว

นับตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา แนวคิดที่เคยใช้อธิบายการเมืองไทยร่วมสมัยก็เริ่มประสบกับข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเครือข่ายสถาบันกษัตริย์ (network monarchy) ที่เสนอให้มองความสัมพันธ์เชิงอำนาจของในหลวงรัชกาล 9 เข้ากับตัวแสดงชนชั้นนำอื่นในเชิงเครือข่าย เช่น กองทัพ องคมนตรี ภาคประชาสังคม พรรคประชาธิปัตย์ ฯลฯ หรือแนวคิดเรื่องรัฐเร้นลึกหรือรัฐพันลึก (deep state) ที่ซุ่มซ่อนอยู่ในโครงสร้างการเมืองไทย และเปิดเผยตัวผ่าน ‘ตุลาการภิวัฒน์’ ทันทีที่ผลประโยชน์ของชนชั้นนำถูกคุกคาม เป็นต้น

ในยุคสมัยปัจจุบัน ด้วยความที่เครือข่ายเดิมเปลี่ยนรูปไปแล้ว ผันแปรตามพระราชบารมีส่วนพระองค์ ขณะเดียวกันรัฐที่เคยลึก ก็กลับมาโชว์ให้เห็นกันแจ้งๆ เช่นนี้ ปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นจำเป็นต้องแสวงหาคำอธิบายใหม่ที่คมชัดจับความให้ได้มากกว่านั้น

เมื่อคณะรัฐประหาร 2557 ยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง การเปลี่ยน ‘กติกา’ ต่างๆ ก็เริ่มขึ้น อาทิ แบบแผนการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง ไปจนกระทั่งความพยายามเปลี่ยนสำนึก ค่านิยม ที่มีกองทัพเล่นบทบาทนำ ผลตอบสนองที่ชัดเจนที่สุดนอกเหนือจากความบิดเบี้ยวทางเศรษฐกิจการเมือง ที่ทุนผูกขาดขึ้นมาครอบครองทรัพยากรของประเทศ

ผลด้านกลับคือ เกิดการปฏิเสธความพยายามข้างต้นอย่างถึงรากของคนหนุ่มสาวในยุคสมัยปัจจุบัน ที่ไม่พอใจสภาพสังคมการเมืองไทยแบบที่เป็นอยู่ พร้อมกับวิพากษ์ลงไปถึงรากการปกครองของคณะรัฐบาลปัจจุบันที่สืบทอดอำนาจต่อเนื่องมาจากคณะรัฐประหารของ คสช.

หนังสือเล่มนี้จึงทำหน้าที่รวบรวม ‘สาเหตุ’ ความไม่พอใจระเบียบทางการเมืองแบบที่ดำรงอยู่มีความเป็นมาอย่างไร และตอบคำถามว่าเหตุไฉน ความขุ่นข้องหมองใจจึงได้รับการคาดหมายว่าจะมีตอนจบที่ต่างออกไปจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแบบในอดีต ทั้งการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 การโค่นล้มระบอบเผด็จการทหารในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 หรือการเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535

ข้อเขียนถัดจากนี้ ไม่ประสงค์เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของหนังสือ เนื่องจากผู้อ่านสามารถค้นคว้าและพิจารณาเองได้จากการอ่าน ดังนั้นจึงพยายามหลีกเลี่ยงการพูดถึงข้อมูลหลักฐาน และรายละเอียดสำคัญจากในหนังสือให้มากที่สุด หากแต่จะเป็นการเล่าถึงคุณูปการที่ชวนคิดต่อจาก ‘โอลด์รอยัลลิสต์ดาย’ จาก 3 ประเด็น ดังนี้

  1. ยืนกรานว่ามีการเปลี่ยนแปลงของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
  2. เสนอว่าโอลด์รอยัลลิสต์ดาย ‘ดายไปอย่างไร’
  3. กระตุ้นให้ผู้เอาใจใส่ต่อบ้านเมืองแสวงหาฉันทามติใหม่อย่างจริงจัง

จาก ‘ทรงราชย์ไม่ทรงรัฐ’ สู่ระบอบที่ยังไม่มีชื่อ

‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริทรงย์เป็นประมุข’ ซึ่งเป็นแบบแผนที่ชนชั้นนำจารีตเดิม เริ่มสร้างขึ้นมาหลังอำนาจของคณะราษฎร 2475 มาถึงจุดสิ้นสุดในช่วงทศวรรษที่ 2490-2500 และแบบแผนนี้มั่นคงยิ่งขึ้นหลังยุคสงครามเย็น

หลักการข้างต้นนี้ หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ เสนอไว้ว่าเป็นหัวใจของความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างพระมหากษัตริย์กับราษฎรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คือ ‘เริ่มทรงราชย์ ต่อเมื่อเลิกทรงรัฐ’ นั่นคือพระองค์มิได้ว่าราชการแผ่นดินด้วยพระองค์ แต่ทรงอยู่เหนือการเมือง

หนังสือเล่มนี้ได้แสดงให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงต่างออกไปจากยุคสมัยนั้น โดยผู้เขียนใช้วิธีการเจาะจงปัญหาปัจจุบัน ด้วยการสืบสวนลงไปในอดีต เช่น บทที่ว่าด้วย ‘เปรมในฐานะเครื่องมือผลิตสร้างวาทกรรมนักการเมืองเลว’ หรือบทที่ว่าด้วย ‘กฎหมายทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ฉบับและความเป็นมาโดยสังเขป’ ทำให้เห็นว่าความเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยปัจจุบันเป็นการกลับไปก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทที่ว่าด้วยกฎหมายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ฉบับใหม่ เป็นการอภิปรายถึงการเปลี่ยนแปลงของพระราชอำนาจบางส่วนที่เพิ่มขึ้นหลังการรัฐประหาร 2557 ผู้เขียนรวบยอดผลสำคัญที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หลายฉบับ คือ ได้ทำลายเส้นแบ่งทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นของรัฐ กับทรัพย์สินส่วนพระองค์ซึ่งเป็นของส่วนตัว

นอกจากนั้น ยังได้นำเสนอภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงพระราชอำนาจหลังการรัฐประหาร 2557 ผ่านบทที่ว่าด้วย ‘การเพิ่มพระราชอำนาจของรัชกาลที่ 10 ของรัฐบาล คสช. โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 หลังจากที่ผ่านประชามติไปแล้ว การเปลี่ยนรูปแบบ แบบแผน และโครงสร้างของข้าราชการส่วนพระองค์ การเปลี่ยนข้อกฎหมายว่าด้วยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ฯลฯ

ปรากฏการณ์ข้างต้นนับเป็นสิ่งใหม่ ที่ต่างออกไปจากรัชสมัยก่อนหน้านี้ เพราะแม้ว่าจะเกิดปรากฏการณ์ที่แม้จะวูบไหวไปตามสถานการณ์การเมืองหลายครั้ง แต่ยังตั้งอยู่ในอาณาบริเวณของหลักการประนีประนอมกันจนปัญญาชนฝ่ายรอยัลลิสต์บางคนอธิบายในเชิงแนวคิดไว้ว่า ‘ราชประชาสมาสัย’

โอลด์รอยัลลิสต์ดาย ‘ดาย’ เมื่อไหร่ และ อย่างไร

‘รอยัลลิสต์’ คือ กลุ่มนิยมเจ้า หรือกษัตริย์นิยม เป็นคำสำคัญของผู้เขียนที่ถูกนำเสนอเป็นหัวใจหลักของหนังสือ ผู้เขียนเสนอว่ารอยัลลิสต์ที่เติบโตขึ้นมาในยุคสงครามเย็น เผชิญกับความขัดแย้งอ่อนๆ ในช่วงหลังรัฐประหาร 2549 พวกเขาเริ่มถกเถียงถึงอนาคตที่ไม่แน่นอน ด้วยพระราชอำนาจนำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน ทำให้พวกเขามีความเห็นที่แตกต่างกันในยุคสมัยที่กำลังเปลี่ยนผ่าน

อาการดังกล่าวแสดงออกมาให้เห็นในการชุมนุมใหญ่ของขบวนการ กปปส. (2556-2557) มาจนถึงการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ที่เผยให้เห็นการไม่เห็นพ้องต้องกันของ คณะผู้ร่างฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตราสำคัญที่ชี้ขาดสถานการณ์การเมือง เช่น มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งในร่างฯ ฉบับ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เปลี่ยนอำนาจชี้ขาดไปยังฝ่ายตุลาการ ที่มีศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้นำ ขณะที่ร่างของมีชัย ฤชุพันธ์ุ ที่เป็นร่างจริงของความปรารถนา คสช. ก็ดึงอำนาจนั้นกลับไปสู่รูปแบบของ ‘ที่ประชุมร่วม’ อย่างไรก็ตามเมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 หลังการผ่านประชามติไปแล้ว มาตราดังกล่าวก็ถูกแก้ไขอีกครั้ง โดยถูกแก้ให้กลับไปเหมือนกับรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550

สภาวะโอลด์รอยัลลิสต์ดาย ของผู้เขียนจึงหมายถึง ‘เส้นแบ่ง’ ที่พร่าเลือนไปจากยุคสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หรือแตกต่างไปจากกระทั่งยุคสมัยที่ฝ่ายรอยัลลิสต์ขึ้นมามีอำนาจหลังการรัฐประหาร 2490

ดังนั้น หลังจากที่พระราชอำนาจเดิมหายไป การตรากฎหมายหลายฉบับของ คสช. เข้าไปเปลี่ยนแปลงทั้งโครงสร้าง แบบแผนปฏิบัติ ในกองทัพ และพระราชอำนาจ

ทำให้สายสัมพันธ์แบบ หลัง 14 ตุลาคม 2516 หรือ พฤษภาคม 2535 เปลี่ยนโฉมหน้าไปจากแบบที่ ‘คนรุ่นใดรุ่นหนึ่งอาจจะรู้จัก มาสู่ ไม่ว่าคนรุ่นใดก็ยังไม่เคยประสบ’

แสวงหาฉันทามติใหม่อย่างจริงจัง

ข้อถกเถียงเรื่องพระราชอำนาจนำของปัญญาชนร่วมสมัย 3 คน คือ ธงชัย วินิจจะกูล, เกษียร เตชะพีระ และ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เป็นประเด็นใหญ่ที่หนังสือเล่มนี้นำมาสนทนาอย่างละเอียดลออ

ในขณะที่ปัญญาชนสองคนแรกให้น้ำหนักการเกิดขึ้นของพระราชอำนาจนำในรัชสมัยก่อนหน้านี้ไปที่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ขณะที่ปัญญาชนคนหลังสุดให้น้ำหนักไปที่ทศวรรษแห่งการหายไปของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) และการปรากฏตัวขึ้นมาของ mass monarchy หรือกษัตริย์มวลชน ที่ถนนทุกสายเดินตามหรืออย่างน้อยที่สุดไม่วิพากษ์พระราชอำนาจนำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งเพิ่มขึ้นในทศวรรษที่ 2530-2540 จนกลายเป็นระเบียบทางการเมืองที่ยึดโยงการเมืองไทยหลังยุคสงครามเย็น

เหตุที่ข้อถกเถียงดังกล่าวผงาดขึ้นมามีความสำคัญอีกครั้ง ก็เนื่องมาจากส่งผลต่อความเข้าใจ การประเมินสถานการณ์ที่เป็นไปของบ้านเมืองในปัจจุบัน

เพราะการเกิดขึ้นของพระราชอำนาจนำนับตั้งแต่กลางทศวรรษ 2520 ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เสนอไว้ว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 เปลี่ยนสถานะจาก “ประมุขของกลุ่มปกครองกลายเป็นประมุขของชนชั้นปกครอง”

ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เกษียร เตชะพีระ สรุปรวบยอดไว้อย่างน่าสนใจว่า หมายถึง ‘ฉันทามติภูมิพล’ ซึ่งจุดสูงสุดของพระราชอำนาจนำคือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 เมื่อ จำลอง ศรีเมือง ตัวแทนกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตย กับ สุจินดา คราประยูร แกนนำคณะรัฐประหาร รสช. เข้าเฝ้าในหลวงรัชกาลที่ 9 ขณะเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ‘ฉันทามติภูมิพล’ ที่ดำเนินมาอย่างน้อยหลังยุคสงครามเย็น ในปัจจุบันก็ได้หายไป ทำให้โจทย์ปัญหาใหม่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ชนชั้นนำ หากแต่เมื่อการเมืองไทยเปลี่ยนมาสู่ยุคการเมืองมวลชนตลอด 10 ปีที่ผ่านมาแล้ว ‘ฉันทามติใหม่’ จึงเป็นสิ่งที่ต้องแสวงหาร่วมกันของคนทั้งสังคม

หนังสือเล่มนี้จึงกระตุ้นให้ผู้อ่านมองไปยังกติกาทางการเมืองมากกว่าผู้เล่นทางการเมือง ที่ไม่เคยถูกนำมาพูดคุยกันอย่างจริงจัง เพราะแม้แต่ในหมู่รอยัลลิสต์เอง สิ่งที่พวกเขาทำได้ดีที่สุดเป็นเพียงการเงียบเสียง

เสน่ห์ของหนังสือเล่มนี้จึงเป็นการนำเหตุการณ์สำคัญ แนวคิดการเมืองร่วมสมัย ที่อาจจะถูกมองข้ามไป มาฉายไฟส่องให้ชัดขึ้น แล้วถามผู้อ่านว่า เราจะนำกรณีต่างๆ หรือแนวคิดต่างๆ นี้มาพิจารณากันได้แบบไหน หรือหากจะเปลี่ยนแปลง เราจะเปลี่ยนแปลงกันอย่างไร เพื่อที่ว่าอย่างมากที่สุดให้สังคมไทยเกิดฉันทามติใหม่ หรืออย่างน้อยที่สุดเกิดบทสนทนาบนหลักการประชาธิปไตย ที่ระเบียบการเมืองใหม่จะไม่อนุญาตให้ใครใช้อำนาจตามอำเภอใจ และกอบโกยเอาผลประโยชน์ไปสู่คนเพียงหยิบมือ

โอลด์รอยัลลิสต์ดาย
ผู้เขียน: วาด รวี
สำนักพิมพ์: Shine Publishing House
author

Random books

© WAY MAGAZINE. All rights reserved