โง่ศาสตร์: ประยุกต์ใช้กฎพื้นฐานหาความฉลาดของผู้นำ กรณีศึกษาตู่

โง่ศาสตร์: ประยุกต์ใช้กฎพื้นฐานหาความฉลาดของผู้นำ กรณีศึกษาตู่

(\_/)     (\_/)
( •_•)  (•_• )
/ >🧠  /> </

 

ความโง่ที่ ชิโปลลา (Carlo M. Cipolla) ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้นิยาม คือ การกระทำที่ก่อผลลัพธ์ด้านลบต่อบุคคลอื่น โดยที่ไม่ก่อผลลัพธ์เชิงบวกใดๆ ต่อตนเอง รวมถึงอาจให้ผลเชิงลบแก่ตัวเองอีกด้วย

สรุปว่าไม่มีใครได้ประโยชน์เลย แล้วเขาทำอย่างนั้นไปทำไม 

ก็เขาโง่น่ะสิ ชิโปลลาตอบ

เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าคนโง่ในนิยามของชิโปลลานั้นไม่รู้ตัวว่าตนเองโง่

ชิโปลลาตั้งแกน xy เพื่อนิยามประเภทของคนคนหนึ่ง (สมมุติว่าชื่อตู่) แกน x แทนผลที่ตู่ได้รับจากการกระทำของตัวเอง แกน y แทนผลที่คนอื่นได้รับจากการกระทำของตู่

ตู่จะอยู่ในนิยามความโง่ของชิโปลลา หากเขาตกอยู่ใน quadrant ที่ 3 (ซ้ายล่าง) 

เช่น การดันทุรังอยู่ในอำนาจ และถูกตราหน้าว่าเป็นทรราช จุดในแกน x ของเขาจึงเคลื่อนมาทางแดนลบ (ไม่มีใครแฮปปี้หรอกหากโดนเรียกขานประสานเสียงเป็นสัตว์เลื้อยคลานด้วยคนเรือนหมื่น) และอาจจะเป็นแดนลบแบบคงที่ เหตุเพราะตู่มีความทนทานต่อแรงเสียดสีและปรับตัวจนเคยชินได้ ในขณะเดียวกัน แกน y ที่แทนด้วยคนอื่นที่ปฏิสัมพันธ์กับตู่ ก็มีนัยเคลื่อนต่ำลง ต่ำลง เหมือนคะแนนนิยมที่พุ่งฮวบๆ ตามภาวะวิกฤติหลายด้านรุมเร้า

ตู่จึงอยู่ในนิยามคนโง่อย่างไม่ต้องสงสัย

แต่การประเมินทั้งหมดข้างต้นนั้นคือการนิยามจากมุมมองของคนที่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากตู่

มนุษย์คนหนึ่งทำกิจกรรมที่หลากหลาย เขาอาจก่อความรำคาญสร้างผลลัพธ์เชิงลบแก่เราในบางเรื่อง และอาจสร้างประโยชน์ในบางเรื่อง นั่นแปลว่าพิกัดในแกน xy นั้นมิได้คงที่

ชิโปลลาประยุกต์ใช้ทฤษฎีนี้ โดยพิจารณาจากกิจกรรมหลายๆ ประการของมนุษย์ แล้วหาพิกัดโดยการใช้ค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก แต่ถึงอย่างไรนี่ก็เป็นแค่กราฟพื้นฐาน และสมการเชิงเส้นนั้นมีข้อจำกัด ชีวิตจริงของมนุษย์นั้นซับซ้อนกว่าการหยุดนิ่งโดยมีป้ายแปะไว้ในหมวดใดหมวดหนึ่ง หากพูดตามจริตโพสต์โมเดิร์นก็ต้องถามต่อว่า มองจากสายตาใคร

เช่น ถ้าเราลองสมมุติว่าตัวเราเองเป็นคนที่ได้รับผลเชิงบวกจากตู่ล่ะ… (สมมุติว่าชื่อ O)

กล่าวคือ ในขณะที่ตู่ทู่ซี้กระทำตนอย่างทรราชอยู่นั้น (และไม่แฮปปี้เท่าไหร่) O ได้รับผลลัพธ์เชิงบวก และมีความสุขดี พิกัดของตู่ในกราฟแสดงคุณลักษณะจะย้ายตำแหน่ง คือตกใน quardrant ที่ 2 (ซ้ายบน)

ในพิกัดใหม่นี้ ตู่จะไม่ใช่คนโง่ตามนิยามของชิโปลลา แต่อยู่ในหมวด คนกระจอก (helpless) เมื่อมองจากสายตาของ O

นั่นแปลว่า แม้หนังสือเล่มนี้จะจำแนกแบ่งมนุษย์เป็น 4 หมวดด้วยทฤษฎีพื้นฐานก็จริง แต่ถ้าหากท้าทายสมองสักนิด เชื่อได้ว่าจะต้องมีบางมุมมองที่ตู่ตกอยู่ใน quardrant ที่ 1 (ขวาบน) ในหมวด คนฉลาด แน่นอน!

ถึงตรงนี้ แม้ผู้เขียนจะออกตัวในบทนำเมื่อตีพิมพ์ครั้งแรกว่า

“หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อให้คนโง่อ่าน แต่เขียนเพื่อบรรดาคนที่ต้องเผชิญกับคนโง่เหล่านั้นเป็นครั้งคราว ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องกล่าวเสริมให้เยิ่นเย้อเกินความจำเป็นว่า ผู้ที่ถือหนังสือเล่มนี้อยู่ในมือย่อมไม่ใช่ผู้ที่มีพิกัดอยู่ในพื้นที่ s ของกราฟพื้นฐาน (ภาพ 1)”

ผู้อ่านหนังสือเล่มนี้อาจไม่ใช่คนโง่ในสายตาของชิโปลลาแต่ใช่ว่าคนอื่นจะคิดอย่างนั้นเสมอไป จะอย่างไรเราก็โง่ในสายตาใครสักคนได้เสมอแหละ

ฉะนั้นเราจึงอ่านหนังสือ cult classic เล่มบางๆ นี้ได้ด้วยความผ่อนคลาย และคงไม่มีใครหัวร้อนจริงจังกับหนังสือเสียดสีตลกร้ายเล่มนี้หรอกนะ 

(\_/)     (\_/) ?
( •_•)  ( •_• )
/ >🧠  \> <\

 

โง่ศาสตร์: กฎพื้นฐานว่าด้วยความโง่เขลา (The Basic Laws of Human Stupidity)
ผู้เขียน: Carlo M. Cipolla
ผู้แปล: สุนันทา วรรณสินธ์ เบล
สำนักพิมพ์: bookscape
author

Random books

© WAY MAGAZINE. All rights reserved