The Glass Palace: บาดแผลประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคม

The Glass Palace: บาดแผลประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคม

นวนิยายประเภทหนึ่งที่ผมนิยมชมชอบเป็นพิเศษและมักจะเสาะหามาอ่านอยู่เสมอก็คือ นวนิยายที่เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ครอบครัว (family saga) การก่อร่างสร้างตัวและล่มสลายของคนแต่ละรุ่น มหรสพแห่งชีวิตที่ทาบทับไปกับความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ สังคม และการเมืองที่กินเวลายาวนานหลายชั่วอายุคน นวนิยายประเภทนี้มักจะพาเราไปสำรวจภาพชีวิตของตัวละครทั้งในมุมกว้างและลึกเพื่อให้เห็นการคลี่คลายของชะตากรรม พร้อมๆ กับฉายให้เห็นว่ากงล้อแห่งประวัติศาสตร์นั้นทำงานอย่างไร ทั้งในยามที่มันพาชีวิตคนโลดทะยานไป และในยามที่มันกลับมาบดขยี้ชีวิตคน

The Glass Palace ของ อมิตาฟ โฆษ (Amitav Ghosh) นักเขียนร่วมสมัยชื่อดังชาวอินเดีย คือนวนิยายประเภทนั้น ผู้เขียนหยิบเอาประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคมของพม่าและอินเดียซึ่งตกอยู่ภายใต้การยึดครองของจักรวรรดิอังกฤษมาเป็นแกนหลักของนวนิยาย เนื้อเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบกินเวลายาวนานกว่าร้อยปี (1885-1996) พาดผ่านเหตุการณ์สำคัญๆ ทางประวัติศาสตร์หลายยุคสมัย หลายพื้นที่ทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม

เราจะได้เห็นทั้งตัวละครในประวัติศาสตร์ (ซึ่งกลายมาเป็นตัวละครในนวนิยาย) มีชีวิตโลดแล่นไปพร้อมๆ กับตัวละครที่ผู้เขียนสร้างขึ้น ทั้งหลากหลายเชื้อชาติและหลากหลายสถานะ ตั้งแต่ตัวละครที่เป็นอดีตกษัตริย์ อดีตราชินี ข้าทาสบริวาร ไพร่ฟ้าสามัญชนซึ่งก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาเป็นคหบดี เจ้าอาณานิคมอย่างชาวอังกฤษ (ทั้งนายทหารและนักธุรกิจ) เรื่อยไปจนถึงผู้คนใต้อาณานิคมของอังกฤษในดินแดนต่างๆ ทั้งพม่า อินเดีย สิงคโปร์ มลายู ซึ่งสำนึกใต้อาณานิคมของผู้คนในแต่ละพื้นที่ได้ก่อเกิดเป็นพลังทางประวัติศาสตร์ การปะทะกันทางอุดมการณ์ และการต่อสู้ในวิถีทางแตกต่างกันไป

จุดเริ่มต้นของนวนิยายคือปี 1885 อันเป็นปีที่ราชวงศ์คองบอง ราชวงศ์สุดท้ายของพม่า ถึงคราวต้องล่มสลายลงหลังจากการพ่ายแพ้ให้กับกองทัพของจักรวรรดิอังกฤษ หลังจากนั้นพม่าก็ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ส่งผลให้ พระเจ้าธีบอ กษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่า พระนางศุภยาลัต พระราชินี พร้อมด้วยข้าทาสบริวารส่วนหนึ่งถูกเจ้าอาณานิคมอังกฤษเนรเทศออกจากพระราชวังมัณฑะเลย์ไปอยู่ที่เมืองรัตนคีรี ประเทศอินเดีย

นวนิยายเล่าเหตุการณ์ในช่วงที่ราชวงศ์คองบองกำลังล่มสลายนี้ผ่านสายตาของ ราชกุมาร เด็กชายกำพร้าชาวอินเดียที่ระหกระเหินมาอยู่ในพม่า (พม่ากับอินเดียมีพรมแดนติดกัน) ผู้ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นตัวละครสำคัญตัวหนึ่งในเรื่อง ราชกุมารมีโอกาสได้พบเจอและหลงรัก ดอลลี่ เด็กสาวที่เป็นข้ารับใช้ส่วนตัวของพระนางศุภยาลัต แต่ความระส่ำระสายของเหตุการณ์บ้านเมืองก็ทำให้ทั้งคู่ต้องพลัดพรากกันไป ก่อนที่จะได้พบกันอีกครั้งในอีกหลายปีต่อมาเมื่อแต่ละคนต่างเติบโตขึ้น

ชีวิตในรัตนคีรีของพระเจ้าธีบอและพระนางศุภยาลัตเป็นไปอย่างอัตคัดขัดสน ทั้งสองพระองค์ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของอังกฤษอย่างเข้มงวดในคฤหาสน์หลังเล็กริมทะเล พระราชทรัพย์ที่หลงเหลืออยู่เพียงน้อยนิดก็เริ่มร่อยหรอลงเรื่อยๆ ข้าทาสบริวารที่ติดตามมาจำนวนหนึ่งก็กระจัดพลัดพรายกันไป เหลือแต่เพียงดอลลี่และข้ารับใช้อีกไม่กี่คนที่ยังจงรักภักดีอยู่

นวนิยายฉายให้เห็นภาวะอันน่าขันขื่นระหว่างการ ‘จมไม่ลง’ กับความจำเป็นต้องคงธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ ไว้อย่างเดิมเพื่อ ‘รักษาพระเกียรติ’ ของอดีตกษัตริย์เอาไว้ ภาพอันน่าขันขื่นนี้ไม่เพียงปรากฏอยู่ในการหมอบคลานภายในบ้านเท่านั้น แต่ผู้เขียนได้ใช้สถานะอดีตกษัตริย์ของพระเจ้าธีบอยั่วล้อไปกับบทบาท ‘มหาชนสมมุติ’ ทำให้เกิดเป็นภาพตัดกันระหว่างอดีตกษัตริย์จากต่างแดนได้กลายเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเมืองรัตนคีรีซึ่งไม่ใช่ราษฎรของตน

เมื่อดอลลี่เติบโตขึ้น เธอได้รู้จักและผูกมิตรกับ อุมา หญิงหัวก้าวหน้าชาวอินเดียซึ่งเป็นภรรยาของข้าราชการระดับสูงชาวอินเดียคนหนึ่ง ทั้งคู่อยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกันและมักจะแลกเปลี่ยนเรื่องราวต่างๆ ระหว่างกันอยู่เสมอ การได้รู้จักกับอุมาทำให้ความคิดหลายอย่างของดอลลี่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการตั้งคำถามต่อชีวิตที่ฝากไว้กับอดีตกษัตริย์และราชินีที่นับวันก็ยิ่งแก่ชราและเสื่อมบุญญาบารมี ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตนั้นเองที่ดอลลี่ได้พบกับราชกุมารอีกครั้ง

ช่วงเวลาที่ดอลลี่อยู่ในรัตนคีรี ราชกุมารก็เติบโตและร่ำรวยจากการทำธุรกิจปางไม้สักด้วยการอุปถัมภ์จาก สะหย่าจอห์น นักธุรกิจวัยกลางคนผู้ชุบเลี้ยงราชกุมารมาตั้งแต่ยังเด็ก ธุรกิจปางไม้สักนี้เองคือชนวนเหตุสำคัญของข้อพิพาทระหว่างพม่ากับจักรวรรดิอังกฤษ ผู้เขียนบรรยายถึงความสำคัญของไม้สักเอาไว้ว่า “…ต้นไม้ที่สามารถล้มราชวงศ์ ก่อเหตุรุกราน สร้างขุมความมั่งคั่ง กระทั่งเปลี่ยนชีวิตคน…” (หน้า 85)

ในเส้นเรื่องที่เป็นการก่อร่างสร้างตัวของราชกุมาร นวนิยายได้เปิดทางให้กับการเล่าถึงธุรกิจปางไม้สักในพม่า (ยุคอาณานิคม) อย่างละเอียดลออและน่าทึ่ง เริ่มตั้งแต่การปลูก การตัด ความยากเย็นทรหดในเส้นทางการลำเลียงไม้สักโดยใช้ช้างลากซุง การลำเลียงท่อนซุงผ่านแพในฤดูน้ำหลาก ชะตากรรมของช้างและคนเลี้ยงช้างชาวพม่าในปางไม้สักที่เจ้านายชาวอังกฤษเป็นเจ้าของ ผู้เขียนใช้เรื่องราวส่วนนี้สำรวจและแสดงภาพการปะทะกันระหว่างสำนึกใต้อาณานิคมของคนพม่า (คนเลี้ยงช้าง) กับนักธุรกิจหนุ่มชาวอังกฤษ (ในฐานะเจ้าอาณานิคม) ที่แม้จะอยู่ต่างสถานะกัน แต่ก็ตกเป็นเหยื่อของลัทธิจักรวรรดินิยมด้วยเงื่อนไขที่ต่างกันไป

นอกจากนี้นวนิยายยังชี้ให้เห็นถึงเงื่อนไขความสำเร็จทางธุรกิจของราชกุมารซึ่งเป็นผลมาจากการที่อังกฤษถูกพม่ายึดครอง เมื่อดุลอำนาจเปลี่ยน ระเบียบทางเศรษฐกิจการเมืองเปลี่ยน ก็เปิดโอกาสให้คนอินเดียในพม่าสามารถทลายข้อจำกัดตัวเองจากสถานะเดิมจนกระทั่งลืมตาอ้าปากและร่ำรวยขึ้นมาได้โดยไม่ถูกกีดกันอย่างในอดีต

เมื่อราชกุมารได้พบกับดอลลี่ที่อินเดีย ทั้งคู่ตัดสินใจแต่งงานกัน ราชกุมารพาดอลลี่กลับมาอยู่ที่ย่างกุ้ง และดอลลี่ก็ให้กำเนิดลูกชายสองคนคือ นีล และ ดินู เรื่องราวนับจากส่วนนี้ไปจะถูกถ่ายเทน้ำหนักไปที่ตัวละครรุ่นลูกเป็นหลัก ต่อมานีลได้แต่งงานกับ มันจู หลานสาวของอุมา ทำให้ครอบครัวของอุมากับครอบครัวของดอลลี่ได้เกี่ยวดองกัน ส่วนสะหย่าจอห์นได้เดินทางจากพม่าไปบุกเบิกธุรกิจสวนยางที่มลายู เขาร่ำรวยขึ้นจากอาณาจักรธุรกิจสวนยางและสร้าง บ้านมอร์นิ่งไซด์ อันจะกลายเป็นจุดเชื่อมโยงที่ทำให้ทั้งครอบครัวของดอลลี่ ครอบครัวของอุมา และครอบครัวของสะหย่าจอห์นได้มาพบกันและเกี่ยวร้อยชะตากรรมไปสู่จุดพลิกผันต่างๆ ในชีวิต

ในงานแต่งงานของนีลกับมันจู นวนิยายใช้เหตุการณ์นี้เปิดตัวให้ผู้อ่านได้รู้จักกับตัวละครที่สำคัญอีกตัวหนึ่งนั่นคือ อรชุน อรชุนเป็นหลานชายอีกคนหนึ่งของอุมา (เขาเป็นพี่น้องฝาแฝดของมันจู) ความน่าสนใจของตัวละครนี้ก็คือ เขาเป็นนายทหารในกองทัพบริติชอินเดียของจักรวรรดิอังกฤษ เดินทางมาร่วมงานแต่งงานน้องสาวพร้อมกับ กิชัน ซิงห์ ทหารรับใช้ส่วนตัวของอรชุน

นวนิยายพาเราเข้าไปสำรวจโลกของทหารอินเดียในกองทัพบริติชอินเดียผ่านประสบการณ์และสายตาของอรชุน (ซึ่งผมถือว่าเป็นเนื้อหาส่วนที่ทรงพลังที่สุดของนวนิยายเรื่องนี้) วิธีที่ทหารหนุ่มชาวอินเดียประกอบสร้างสำนึกและตัวตนผ่านกระบวนการหล่อหลอมของกองทัพซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมของตัวเอง เส้นทางการไต่บันไดทางชนชั้นในกองทัพซึ่งช่วยยกระดับชีวิตและปลดปล่อยพวกเขาออกจากระบบโครงสร้างเดิมของสังคมอินเดีย (เช่น ระบบวรรณะ) ผู้เขียนถอดรื้อให้เราเห็นถึงสำนึกใต้อาณานิคมของตัวละครผ่านประวัติศาสตร์ด้านการทหาร โลกทัศน์และอุดมการณ์แบบนักการทหารที่ค่อยๆ ประกอบสร้างสำนึกและตัวตนของทหารหนุ่มชาวอินเดียให้โอบรับและสยบยอม จนกระทั่งพร้อมสละชีวิตสู้รบเพื่อกองทัพของเจ้าอาณานิคม

นวนิยายพาเราชำแหละลึกลงไปอีกถึงความสัมพันธ์ระหว่างทหารผู้เป็นนายอย่างอรชุน กับ กิชัน ซิงห์ ทหารรับใช้ผู้มอบกายถวายชีวิตให้กับอรชุน ผู้เขียนถ่ายทอดภาพการปะทะกันระหว่างสำนึกและตัวตนของตัวละครสองตัวนี้ได้อย่างลุ่มลึกและทรงพลัง เมื่อตัวละครได้ค้นพบว่าตัวเอง ‘เป็นใคร’ ผ่านการตั้งคำถามต่อความศรัทธาในอุดมการณ์และตัวตนที่กำลังแตกสลายลง การเผชิญหน้ากับความจริงอันทิ่มแทงใจว่าตนเองเป็นเพียงทหารรับจ้างที่ไม่ได้เสียสละเพื่ออุดมคติอันยิ่งใหญ่อะไรอย่างที่ถูกปลูกฝังมา มีเพียงความจริงที่ฟาดเปรี้ยงลงไปในแก่นกลางของจิตใต้สำนึกในโมงยามคับขันว่า เจ้าอาณานิคมอย่างจักรวรรดิอังกฤษส่งพวกเขาไปตายแทนเท่านั้น

ภาพการปะทะกันระหว่างตัวตนและสำนึกที่แตกต่างกันของสองตัวละครนี้ ผู้เขียนบรรยายไว้อย่างงดงามผ่านโมงยาม ‘ตาสว่าง’ ของอรชุนว่า

“…พวกเขาเป็นก้อนดินเหนียวสองก้อนที่หมุนอยู่บนแกนปั้นหม้อ ตัวเขา อรชุนนั้นถูกช่างปั้นหม้อที่ไม่เห็นหน้าจับมาขึ้นรูปก่อน มือข้างหนึ่งเอื้อมลงมาแตะเขา มืออีกข้างค่อยรับช่วงต่อ เขาถูกปั้นขึ้นรูป มีรูปพรรณสัณฐาน กลายเป็นวัตถุชิ้นหนึ่งในตัวเอง ไม่ได้ตระหนักถึงแรงปั้นแต่งจากมือของช่างปั้นอีกต่อไป ไม่ได้รับรู้กระทั่งว่ามันเคยผ่านเข้ามาในชีวิต ในขณะที่ กิชัน ซิงห์ ยังคงหมุนอยู่บนแป้น เป็นกองดินเหนียวชื้นๆ เหลวๆ ที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป สภาวะก้อนไร้รูปทรงนี่แหละที่เป็นแก่นแกนของความคิดต่อต้านช่างปั้นกับวิธีที่ใช้ปั้นมาโดยตลอด” (หน้า 489-490)

อมิตาฟ โฆษ เล่าว่า เขาใช้เวลาเขียนนวนิยายเรื่องนี้นานถึง 5 ปี อ่านหนังสือ บทความ และเอกสารทางประวัติศาสตร์นับร้อยนับพันเล่ม เขาเดินทางไปเยือนสถานที่ทุกแห่งที่ปรากฏเป็นฉากในนวนิยายเรื่องนี้ รวมถึงเดินทางไปพบผู้คนอีกมากมายทั้งในอินเดีย พม่า ไทย และมาเลเซีย เพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับการเขียน จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมนวนิยายเรื่องนี้ถึงได้ยิ่งใหญ่และทรงพลังมากที่สุดเรื่องหนึ่งในชีวิตการอ่านของผม

 

The Glass Palace (ร้าวรานในวารวัน)
ผู้เขียน: Amitav Ghosh
ผู้แปล: ธีรศักดิ์ จิรรัตนไพโรจน์
สำนักพิมพ์: มติชน

 

author

Random books

© WAY MAGAZINE. All rights reserved