The Curious Case of Benjamin Button: ความเยาว์อันแก่เฒ่า

The Curious Case of Benjamin Button: ความเยาว์อันแก่เฒ่า

นับตั้งแต่ปี 2008 โลกก็ได้รู้จักกับ เบนจามิน บัตตัน (Benjamin Button) ชายผู้มีชีวิตแบบทวนเข็มนาฬิกา จากแก่ไปหนุ่ม ผ่านภาพยนตร์เรื่อง The Curious Case of Benjamin Button (ชื่อไทย: เบนจามิน บัตตัน อัศจรรย์ฅนโลกไม่เคยรู้) ที่มีแผนการสร้างมายาวนานตั้งแต่กลางทศวรรษ 1980 แต่ก็มีเหตุให้ต้องเปลี่ยนย้ายค่าย คนเขียนบท นักแสดง และผู้กำกับไปหลายครา จนสุดท้ายตกมาอยู่ในมือของ เดวิด ฟินเชอร์ (David Fincher) และด้วยเหตุอำนวยนานัปการ เช่น ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี CGI และ visual effects ที่ทำให้สามารถตัดต่อหน้าของ แบรด พิตต์ ให้ ‘แก่’ ได้

แต่หากจะกล่าวล้อไปกับชื่อไทยของภาพยนตร์เรื่องนี้ สิ่งหนึ่งที่ผู้คนไม่ค่อยรู้ (แต่การไม่รู้นี้ก็ไม่ใช่เรื่องน่าอัศจรรย์อะไร) คือเดิมที เบนจามิน บัตตัน เป็นตัวละครที่อยู่ในเรื่องสั้น The Curious Case of Benjamin Button ของ เอฟ. สกอตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ (F. Scott Fitzgerald: 1896-1940) นักเขียนชื่อดังชาวอเมริกัน นวนิยายของเขาอย่าง The Great Gatsby ก็ถูกนำไปสร้างหนังด้วยเช่นกัน

เรื่องสั้นเรื่องนี้เป็นผลพวงจากคำกล่าวของ มาร์ค ทเวน (Mark Twain) ที่มองว่า สิ่งน่าเสียดายในชีวิตคือการที่มันมักจะเริ่มต้นด้วยสิ่งที่ดีที่สุด แต่กลับลงท้ายด้วยสิ่งที่แย่ที่สุดในตอนท้าย ประกอบกับการที่ฟิตซ์เจอรัลด์ได้ไปอ่านโน้ตบุ๊คของ ซามูเอล บัตเลอร์ (Samuel Butler) นักเขียนชาวอังกฤษ ซึ่งมีเรื่องราวในลักษณะเดียวกันนี้

The Curious Case of Benjamin Button ของฟิตซ์เจอรัลด์ ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรก ลงในแมกาซีนสุดสัปดาห์ Collier’s: The National Weekly ในปี 1922 จากนั้นจึงได้นำไปรวมเล่มเข้ากับเรื่องสั้นเรื่องอื่นๆ ในหนังสือชื่อ Tales of the Jazz Age

 

การประพันธ์ให้คนคนหนึ่งเริ่มต้นชีวิตด้วยการแก่ชรา เคลื่อนเข้าหาวัยฉกรรจ์ และจบลงด้วยการเป็นทารก ของฟิตซ์เจอรัลด์ สามารถเป็นไปได้ด้วยการเขียน ที่สามารถเดินเรื่องได้ด้วยตัวอักษร อาศัยจินตนาการผู้อ่านเป็นนักตัดต่อ ให้เกิดภาพในหัวขึ้นมาได้ ต่างจากการอาศัย ‘ภาพ’ จากเครื่องจักรหรือเครื่อง ‘ยนต์’ เป็นตัวดำเนินเรื่อง อย่างในกรณีของภาพยนตร์

แต่ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือหรือการชมภาพยนตร์ ล้วนแต่ต้องใช้ ‘การมอง’ จากสายตาทั้งสิ้น จึงไม่แปลกอะไรที่ผู้คนจะบอกว่าโลกสมัยใหม่เป็นโลกวัฒนธรรมแห่งการมอง (visual culture) จนนำไปสู่การเกิดขึ้นของ ‘ทัศนาธิปไตย’ (Ocularcentrism)

การมองเป็นผัสสะสำคัญในการเข้าถึงอะไรบางอย่าง มันสามารถทำให้เกิดการเข้าถึงสรรพสิ่งได้ อธิบายได้ แสดงให้เห็นได้ และการมองไม่จำเป็นต้องหมายถึงเฉพาะแต่สิ่งที่มีอยู่จริงในโลกแต่อย่างใด เช่น การมองเห็นภูตผีปีศาจ แต่การมองเห็นภูตผีปีศาจก็เป็นความจริงของคนจำนวนมาก ทั้งนี้ การมองเห็นผีหรือดวงวิญญาณก็ดูจะเกิด (และมองเห็นเป็นความจริง) แต่เฉพาะผู้ที่เกิดมาพร้อมผัสสะพิเศษ ในทำนองเดียวกับหมอดูที่สามารถมองเห็นอนาคตได้

การมองเห็นอนาคตย่อมเป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นกับคนธรรมดาทั่วไป อนาคตจึงเป็นสิ่งที่ไม่อนุญาตให้คนธรรมดาทั่วไปได้รับรู้ คนธรรมดาทั่วไปจะทำได้ก็เพียงมองเห็นสิ่งที่อยู่ตรงหน้า และอย่างดีที่สุด (โดยเฉพาะสำหรับคนใกล้ตาย เช่น คนป่วยและคนแก่) ก็คือการมองไปข้างหลังผ่าน ‘ภาพความทรงจำ’

มนุษย์ในฐานะที่เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความทรงจำ (memorial being) การดำรงอยู่ย่อมผูกมัดกับความทรงจำในทุกชั่วขณะ ความทรงจำจะอยู่ในฐานะที่เป็นภาษาหรือสะพานเชื่อมต่อกับอดีต การเคลื่อนที่ไปมาของห้วงความคิดจึงเป็นสิ่งที่ดำเนินอยู่ตลอดเวลา กระนั้น ห้วงความคิดก็ไม่ใช่สิ่งที่ดำรงอยู่อย่างเงียบสงบและตายตัว หากแต่เป็นสิ่งที่ยังคงดิ้นพล่านอยู่ทุกชั่วขณะจิต มันเป็นสิ่งซึ่งมีพลวัต อันจะทำให้เป็นไปไม่ได้ที่จะจดจำได้ถึงทุกๆ รายละเอียด เพราะในทุกๆ รายละเอียดมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา การคำนึงถึงมันดูจะเป็นสิ่งเดียวที่ทำได้เท่านั้น

ความทรงจำซึ่งดำรงอยู่ในฐานะของความคิดที่เคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา เปรียบได้กับเงาของสรรพสิ่งที่สะท้อนลงบนผิวน้ำ ที่แม้จะเป็นเงาซึ่งสะท้อนจากความจริง แต่มันก็ไม่ใช่ความจริง ตรงกันข้าม มันกลับดำรงอยู่ในสภาวะของภาพลวงตา (illusion) ซึ่งพร้อมเสมอที่จะถูกบิดเบือนจากสิ่งต่างๆ เช่น แสงและลม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ความจริงสัมบูรณ์ (absolute truth) ก็ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้มนุษย์ดำเนินชีวิตอยู่ต่อไปได้ เพราะความสัมบูรณ์ที่สุดในชีวิตมนุษย์นั้นก็คือ ‘ความตาย’ ในสภาวะเช่นนี้ภาพลวงตาจึงเป็นสิ่งที่มนุษย์นำมาใช้เพื่อลวงตนเอง (delusion) ให้พ้นจากความจริงอันแสนเจ็บปวด โดยการลวงตัวเองเพื่อหนีจากความเจ็บปวดนี้ อาจทำได้หลายวิถีทางด้วยกัน เช่น การให้ความหมายกับชีวิต การแสวงหาความสุข ตลอดไปจนถึงการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับความจริง ด้วยการหนีเข้าไปอยู่ในห้วงของความทรงจำหรือประสบการณ์อันหอมหวาน (nostalgia)

เมื่อกล่าวถึงประสบการณ์อันหอมหวานแล้ว ช่วงชีวิตวัยเด็ก ดูจะเป็นช่วงวัยที่หวานหอมสำหรับใครหลายคน เพราะอย่างน้อยที่สุดช่วงชีวิตในวัยเด็กนั้น ก็ไม่ต้องกังวลถึงสถานะทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม และที่สำคัญที่สุดคือ มันเป็นวัยที่เรายังไม่ตระหนักหรือรับรู้ถึงความจริง นัยยะของการไม่รับรู้ถึงความจริงหรือการไม่อยู่กับความเป็นจริง ก็คือการที่อยู่ในโลกของความฝัน

การกลับไปเป็นเด็กหรือการที่จะไม่ต้องแก่นั้น จึงเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา เหมือนกับ ‘เบนจามิน บัตตัน’ ที่มีชีวิตแบบกลับตาลปัตร จากการแก่ตัวด้วยความเยาว์ขึ้น (growing younger) อันเป็นการมีชีวิตแบบกลับหลังหัน ที่ทำให้เขามีพ่อเป็นพี่น้อง มีเมียเป็นสาวชราภาพ มีลูกเป็นพ่อ มีหลานเป็นเพื่อน และท้ายที่สุดก็ตายด้วยการเป็นทารก ที่สมองไม่สามารถแยกแยะและแจกแจงความแตกต่างระหว่างสรรพสิ่งทั้งหลายออกจากกันได้ เมื่อไม่มีความสามารถในการแยกแยะสรรพสิ่งได้ ดังที่เขาแยกไม่ออกระหว่างแสงสว่างและความมืด ทำให้ชีวิตและความตายย่อมดำรงอยู่ในสภาวะเป็นหนึ่งเดียวกัน เส้นแบ่งระหว่างอดีตและอนาคตจึงเลือนรางตามกันไป ตัวตนของเขาและคนอื่นก็อันตรธานไปราวกับไม่เคยมีอยู่

และในตอนนี้เองที่เบนจามินได้หลุดออกจากการกักขังของชีวิต ปลดเปลื้องพันธนาการจากความทรงจำ หลอมรวมเข้ากับความเงียบที่ราวกับเสียงอันเป็นนิรันดร์

author

Random books