เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ความฝันใต้ฝ่าเท้า

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ความฝันใต้ฝ่าเท้า

บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของนวนิยาย


“ดูสิ ความฝันในหัวไปอยู่ใต้ฝ่าเท้า”

(เพื่อนคนเก่ง, หน้า 292)

ลิลากล่าวกับเลนูในฉากที่ลิลาลองสวมรองเท้าคู่ที่เธอเป็นคนออกแบบเอง

 

1

เพื่อนคนเก่ง (My Brilliant Friend) จบลงด้วยฉากที่เรียกได้ว่าตบหน้าทั้งตัวละครและผู้อ่านอย่างรุนแรง เมื่อ มาร์แชลโล โซลารา มาเฟียและนายทุนหน้าเลือดที่ลิลาเกลียดเข้ากระดูกดำ เดินเข้ามาในงานแต่งงานของลิลากับสเตฟาโน พร้อมกับสวมรองเท้าคู่ที่เธอเป็นคนออกแบบ มันคือข้อตกลงทางธุรกิจที่สเตฟาโนแอบทำลับหลังเธอแบบมัดมือชก ลิลาจึงได้รู้ในตอนนั้นเองว่าว่าที่สามีของเธออาจไม่ใช่ชายในฝันอย่างที่คิด เขาเหยียบย่ำความฝันและศักดิ์ศรีของเธออย่างเลือดเย็นเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ ชีวิตที่กำลังจะโรยด้วยกลีบกุหลาบกลับปรากฏเงาทะมึนของความร้าวฉานรอคอยอยู่เบื้องหน้า

เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเสมือนบทโหมโรงอันเข้มข้นสำหรับ เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่ (The Story of a New Name) เรื่องราวในภาคต่อมา ซึ่งยังคงมุ่งสำรวจตัวตนและความสัมพันธ์ของตัวละครอย่างละเอียดลออ ตัวละครชุดเดิมต่างเติบโตขึ้นพร้อมเงื่อนไขชีวิตที่เปลี่ยนไป ความสัมพันธ์ฉันมิตรแบบวัยเด็กถูกครอบทับด้วยความสัมพันธ์แบบครอบครัวเมื่อตัวละครเติบโตขึ้นและแต่งงานกัน ความสัมพันธ์ของสองครอบครัวที่เกี่ยวดองกันผ่านการแต่งงานกลายเป็นความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์และความสัมพันธ์ทางธุรกิจ

ชีวิตของลิลาในฐานะซินญอราคาร์รัชชี อยู่ท่ามกลางการปะทะกันของความสัมพันธ์เหล่านี้ ทั้งในฐานะลูกสาว น้องสาว ลูกสะใภ้ ความเป็นแม่ ความเป็นเมีย หรือแม้กระทั่งในฐานะเครื่องบรรณาการทางธุรกิจ ในขณะที่เลนู เพื่อนรักของลิลา ซึ่งเลือกใช้การศึกษาเป็นใบเบิกทางให้ชีวิต ก็ต้องดิ้นรนเคี่ยวกรำตัวเองในสังคมของนักศึกษา/ปัญญาชน การศึกษาที่สูงขึ้นทำให้เห็นโลกกว้างขึ้น ตัวตนแบบใหม่นำไปสู่สำนึกทางชนชั้นแบบใหม่ ยิ่งทำให้เธออยากสลัดตัวเองให้พ้นไปจากกำพืดเดิมและสังคมเดิม

นวนิยายยังคงฉายภาพการปะทะกันระหว่างตัวตนของลิลากับเลนูในความสัมพันธ์แบบคู่แฝดทางจิตวิญญาณ ต่างฝ่ายต่างเป็นเงาสะท้อนและไล่คว้าเงาของกันและกัน การค้นหาที่ทางของตนในมิตรภาพอันลึกล้ำและยืนยาว ที่ทั้งไล่ตาม สวมรอย ต่อต้าน และพยายามสลัดตัวเองให้พ้นไปจากร่มเงาของอีกฝ่าย

เรื่องราวทั้งหมดยังคงถูกถ่ายทอดผ่านสายตาของเลนู แต่ในภาคนี้ภาพชีวิตของลิลาที่ถูกเล่าออกมา ไม่ใช่แค่เพียงคำบอกเล่าจากประสบการณ์ตรงที่ทั้งคู่มีร่วมกันดังเช่นในภาคแรก (เพราะมีอยู่หลายช่วงที่ทั้งคู่ไม่ลงรอยกันและเหินห่างกันไป และอีกหลายขวบปีที่เลนูจากบ้านที่เนเปิลส์ไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่เมืองปิซา) แต่มาจากสมุดไดอารี่ของลิลาที่เลนูแอบอ่าน และส่วนหนึ่งก็ปะติดปะต่อขึ้นจากคำบอกเล่าของตัวละครอื่นๆ จึงอาจกล่าวได้ว่าภาพชีวิตของลิลาในภาคนี้คือภาพคอลลาจของความทรงจำที่ถูกร้อยเรียงขึ้นผ่านการตีความของเลนู เลนูผู้เป็นเสมือนภัณฑารักษ์ส่วนตัวของลิลาในพิพิธภัณฑ์แห่งความทรงจำที่ทั้งคู่มีร่วมกัน

 

2

“…พวกเธอถูกกัดกร่อนโดยร่างกายของสามี พ่อ พี่ชาย น้องชาย ซึ่งในท้ายที่สุดก็เหมือนพวกเขามากขึ้นเรื่อยๆ หรือไม่ก็เพราะงานหนัก ความชรา และโรคภัยไข้เจ็บ เมื่อไรหรือที่รูปร่างเริ่มเปลี่ยนไปแบบนั้น เมื่อทำงานบ้าน? เมื่อตั้งครรภ์? เมื่อถูกตบตี?…”

(เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่, หน้า 105)

หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวในงานแต่งงาน ความร้ายกาจของสเตฟาโนก็เผยออกมาอีกครั้งในคืนแรกที่ทั้งคู่ไปฮันนีมูนกัน เขาทั้งตบตีและใช้กำลังบังคับขืนใจให้ลิลาร่วมหลับนอนด้วย

นวนิยายใช้มโนทัศน์ ‘เหตุการณ์สลายขอบ’ (ดังที่เคยใช้บรรยายความเปลี่ยนแปลงของตัวละครมาแล้วในภาคแรก) ในการบรรยายถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของสเตฟาโนในสายตาของลิลา การสลายขอบคือสภาวะไหลเลื่อนเกลื่อนกลืนกันระหว่างโลกภายนอกกับโลกภายใน เสมือนว่าริมขอบที่เคยเย็บกั้นระหว่างตัวตนในโลกภายในกับโลกภายนอกเอาไว้ จู่ๆ ก็ปริแตกออก

การสลายขอบคือสภาวะที่ตัวตนสูญเสียรูปทรงจนกระทั่งความอัปลักษณ์ที่ซุกซ่อนไว้ภายในเผยตัวออกมา การสลายขอบของสเตฟาโนถูกซ้อนทับด้วยภาพของดอนอาคิลเล (พ่อของสเตฟาโน) ผู้โหดร้ายที่ย้อนกลับมาหลอกหลอน ว่าชายหนุ่มก็โหดร้ายและเลือดเย็นไม่ต่างจากพ่อของเขา เหตุการณ์นี้ส่งผลสะเทือนต่อลิลาอย่างรุนแรง เป็นชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้ชีวิตแต่งงานค่อยๆ พังทลายลงในเวลาต่อมา

ในขณะที่ลิลากลายเป็นซินญอราคาร์รัชชี เลนูก็เริ่มคบหากับอันตอนีโอ เด็กหนุ่มซื่อๆ ในชุมชนเดียวกันที่ไม่มีอะไรจะเทียบชั้นได้กับสามีของลิลา เราได้รู้ว่าเขารักเลนูอย่างสุดหัวใจ แต่ทว่าสำหรับเลนู อันตอนีโอเป็นเพียงหมากตัวหนึ่งในเกมชิงดีชิงเด่นกันระหว่างเธอกับลิลา คนที่เลนูหลงรักจริงๆ คือนีโน เด็กหนุ่มหัวกะทิของโรงเรียน เป็นรักข้างเดียวที่เธอรู้ว่าไม่มีวันจะได้มาครอบครอง แต่นีโนเองก็กลับเข้ามาตีสนิทกับเลนูทั้งที่เขาเองมีแฟนอยู่แล้ว

ชีวิตการเรียนและเรื่องราวรักๆ ใคร่ๆ แบบวัยรุ่นของเลนู กลายเป็นภาพที่ตัดกันอย่างสิ้นเชิงกับชีวิตที่ถูกตรึงติดอยู่กับการสมรสและภาระของลิลา ความมั่นคงในชีวิตค่อยๆ กลายเป็นแอกคอยถ่วงรั้งชีวิต ถึงเลนูจะไม่ได้มีชีวิตที่หรูหราร่ำรวยแบบลิลา แต่เธอก็มีอิสระกว่าอย่างเห็นได้ชัด ต่างฝ่ายจึงต่างรู้สึกว่าชีวิตของอีกฝ่ายน่าอิจฉากว่า ต่างฝ่ายต่างเป็นในสิ่งที่อีกฝ่ายปรารถนาจะเป็นแต่เป็นไม่ได้

ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดระหว่างลิลากับเลนูก็คือ ถ้าเลนูเห็นแล้วว่าในเกมชิงดีชิงเด่นกันนั้นเธอไม่สามารถจะเอาชนะลิลาได้ เธอจะเลือกหลบไปอยู่ใต้ร่มเงาของลิลาแทน แต่สำหรับลิลา ถ้าเธอเห็นว่าไม่สามารถวัดรอยเท้าของเลนูได้ เธอก็มักเลือกตอบโต้ด้วยวิธีแบบ ‘องุ่นเปรี้ยว’ แทน หรือหากพบว่าเลนูไล่กวดมาทันสิ่งที่เธอมีอยู่เหนือกว่า เธอก็จะผละจากสิ่งนั้นไป แล้วไปสำรวจพรมแดนใหม่ๆ แทน ความสัมพันธ์ของทั้งคู่จึงเป็นการผลัดกันวัดรอยเท้ากันอยู่ตลอดเวลา แม้จะดูเหมือนเดินอยู่เคียงข้างกัน แต่ก็มักจะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำหน้าอยู่หนึ่งก้าวเสมอ

หลายครั้งระหว่างที่อ่านเราจะรู้สึกว่ามีสมรภูมิในจินตนาการที่ทั้งคู่ต่างทำสงครามขับเคี่ยวกันอยู่ลับๆ สงครามส่วนตัวที่ซ่อนอยู่ในความหมายระหว่างบรรทัด อยู่ในการอวดผลการเรียนทั้งที่รู้ว่าอีกฝ่ายไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ อยู่ในการเจียดเงินซื้อหนังสือเรียนให้อีกฝ่ายเมื่อรู้ว่าอีกฝ่ายไม่มีปัญญาซื้อ ฯลฯ เป็นสงครามทางจิตวิทยาที่ดำเนินไปอย่างเงียบๆ โดยที่ไม่มีใครยอมประกาศสงครามออกมาตรงๆ

 

3

อาจนับได้ว่ามีอยู่ 2 เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ลิลาตระหนักถึง ‘แอก’ ในชีวิตของเธอขึ้นมาอย่างชัดเจน เหตุการณ์แรกคืองานเลี้ยงที่บ้านอาจารย์กาเลียนีที่เลนูได้รับเชิญไป เธอจึงตัดสินใจชวนลิลาไปด้วย เพื่อที่ต่อมาลิลาจะได้พบว่าคนที่เป็นนางเอกของงานเลี้ยงครั้งนี้คือเลนู หาใช่เธอ หาใช่ซินญอราคาร์รัชชีผู้เลอโฉมที่ใครๆ ในชุมชนของเธอต่างก็อิจฉา เสน่ห์ของเธอที่มักจะเปล่งประกายดึงดูดผู้คนกลับถูกกลืนหายไปอย่างง่ายดายท่ามกลางบทสนทนาของแวดวงปัญญาชนที่ทำให้เธอรู้สึกแปลกแยกและน้อยเนื้อต่ำใจ มิหนำซ้ำเมื่อคนในงานเลี้ยงรู้ว่าเธอแต่งงานแล้ว ก็ถูกปฏิบัติอย่างไม่ไยดี ต่างจากเลนูที่สามารถร่วมวงสนทนาและวางตัวได้อย่างกลมกลืน แถมยังเป็นดาวเด่นของงานเลี้ยงในฐานะลูกศิษย์รักของอาจารย์กาเลียนี ตอนนั้นเองที่ลิลาได้ตระหนักว่าการแต่งงานและการไม่ได้เรียนต่อทำให้ชีวิตของเธอสูญเสียสิ่งใดไปบ้าง

เหตุการณ์ที่สอง คือการเดินทางไปพักร้อนที่เกาะอิสเกียพร้อมกับเลนู และเป็นครั้งแรกที่ลิลาได้รู้จักกับนีโน เด็กหนุ่มหัวกะทิอนาคตไกลที่เลนูแอบชอบ การได้ใช้เวลาร่วมกันตามลำพังสามคน ชีวิตแต่งงานอันไร้ความสุข และการอยู่ไกลหูไกลตาจากสามี ก่อเกิดเป็นความสัมพันธ์ต้องห้ามและรักสามเส้าขึ้นอย่างไม่มีใครคาดคิด ลิลาพบว่าเธอสามารถแบ่งปันตัวตนกับนีโนได้อย่างลึกซึ้ง บทสนทนาแบบปัญญาชน การถกกันเรื่องการเมือง สังคม และวรรณกรรม สิ่งเหล่านี้เติมเต็มความขาดหายในชีวิตของลิลา แม้แต่เลนูผู้รู้สึกแตกสลายอยู่เงียบๆ ก็ยังเห็นดีเห็นงามกับความรักของทั้งคู่ ช่วงเวลาบนเกาะอิสเกียกลายเป็นจุดพลิกผันสำคัญของเรื่อง ทั้งยังเป็นบททดสอบความสัมพันธ์ครั้งรุนแรงที่สุด บ้าคลั่งที่สุด และจาระไนให้เห็นถึงความซับซ้อนยอกย้อนในมิตรภาพระหว่างลิลากับเลนูได้ลึกซึ้งละเอียดลออที่สุด

 

4

ในขณะที่เลนูหมกมุ่นอยู่กับการประกอบสร้างตัวตนเพื่อให้ก้าวทันลิลา ลิลากลับถอดรื้อและลบล้างตัวตนของตัวเองอยู่ตลอดเวลา ฉากหนึ่งที่น่าจดจำคือ ลิลาเอารูปถ่ายของเธอในชุดเจ้าสาวมาตัดแปะจนกลายเป็นงานศิลปะแนวคอลลาจพิลึกแปลกตา เธอค่อยๆ บ่อนเซาะตัวตนของเธอในฐานะซินญอราคาร์รัชชีให้เสียโฉม สเตฟาโนที่พยายามจะปราบพยศเมียตัวเองก็ต้องเจอกับสงครามประสาททุกวิถีทาง ลิลาต่อต้านการถูกครอบครอง ปฏิเสธทั้งความเป็นเมีย ความเป็นแม่ และความเป็นลูกสะใภ้ เธอทำให้ชีวิตตัวเองกลายเป็นของแสลง กลายเป็นสิ่งเหลือทนสำหรับทุกคน ในที่สุด ‘ซินญอราคาร์รัชชี’ ที่ใครๆ ต่างอิจฉา ก็ถูก ‘ลิลา’ บดขยี้จนพังพินาศไป

 

ภาพจากซีรีส์ My Brilliant Friend ฉายทาง HBO

 

อาจกล่าวได้ว่าสำหรับลิลา สิ่งที่น่ากลัวไม่ใช่ความยากจน แต่คือการไม่มีอิสระในชีวิต เช่นนั้นแล้ว เหตุผลที่เธอเลือกแต่งงาน จึงไม่ใช่การแต่งกับความร่ำรวยโดยตัวมันเอง แต่คือความคาดหวังว่าจะได้แต่งกับอิสระในการใช้ชีวิต แต่หลังจากนั้นเมื่อพบว่าความร่ำรวยกลายเป็นแอก (การอยู่แบบคนรวยก็โดนกดขี่แบบคนรวย) มิหนำซ้ำการแต่งงานก็ยังพรากความมั่นคงในชีวิตและอิสระไปจากเธอ เธอจึงพร้อมจะเหวี่ยงมันทิ้งอย่างไม่ไยดี

ภาพชีวิตที่แตกต่างกันของลิลากับเลนู คือความพยายามดิ้นรนปลดปล่อยตัวเองให้พ้นจากครอบครัวและโครงสร้างสังคมที่คอยกดทับกันคนละแบบ ลิลาคือคนที่จำต้องอยู่ในกฎ (เพราะเธอเลือกการแต่งงาน) แต่เธอก็พร้อมจะแหกกฎทุกอย่าง จับเอากฎมาเหยียบย่ำ ถ่มถุยและหัวเราะเยาะมัน ดังนั้นทุกคนจึงเกลียดเธอ เพราะเธอไม่เล่นตามกฎ

ส่วนเลนูคือคนที่เลือกจะโบยบินออกไปข้างนอก เธอเลือกการศึกษา ไม่ต่อรองอะไรกับกฎเหล่านี้ เธอไปสร้างโลกใหม่ของเธอ ไม่เอาตัวเองเข้าไปคลุกคลีแปดเปื้อนกับโลกใบเก่า เธออาจเป็นในสิ่งที่ทุกคนอิจฉา แต่ไม่มีใครมีสิทธิจะอิจฉาเธอ ไม่มีใครกล้าเกลียดเธอ เพราะเธอเลือกทางเดินอีกแบบและต่อสู้อีกทาง เพราะเธอไม่ได้ไปเขย่าโครงสร้างเดิมที่ยึดโยงคนอื่นๆ เอาไว้ เพราะเธอได้ในสิ่งที่ควรได้จากการพากเพียรลงแรงของเธอ

ถ้าสิ่งที่สเตฟาโนทำกับลิลาคือการเอาความฝันของเธอไปอยู่ใต้เท้าของพวกโซลารา สิ่งที่ลิลาทำก็คือการกลับหัวกลับหางสิ่งที่สเตฟาโนเคยทำกับเธอ นั่นคือ เอา ‘ความฝัน’ (ของครอบครัว ชุมชน และสังคม) มาอยู่ใต้เท้าเธอแทน

 

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่ (The Story of a New Name)

เอเลนา แฟร์รานเต (Elena Ferrante) เขียน
นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ แปลจากภาษาอิตาลี
สำนักพิมพ์อ่านอิตาลี

 

author

Random books