กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วคุณครูเคยถามฉันและเพื่อนๆ ว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร?” ฉันยกมือตอบด้วยความใสซื่อว่า อยากเป็นคุณหมอ เพราะคุณพ่อกับคุณแม่บอกว่าถ้าเป็นหมอ ฉันจะสามารถรักษาพ่อกับแม่ยามไม่สบาย และยังรักษาชีวิตของคนที่ฉันรักได้ ในวันนั้นคุณครูปรบมือและชื่นชมฉันเป็นอย่างมากพร้อมทั้งบอกเพื่อนๆ ในห้องว่า “เราทุกคนต้องมีความฝันและตั้งใจเรียนเพื่อที่จะได้ประสบความสำเร็จในชีวิต พ่อแม่จะได้ภูมิใจ”
เวลาล่วงผ่านเลยไปจนอายุย่าง 15 เป็นวันที่รับรู้ว่าการที่จะเป็นหมอนั้นไม่ง่าย ฉันต้องเรียนพิเศษอย่างหนัก เรียนเสริมในสิ่งที่โรงเรียนไม่สามารถเติมเต็มให้ได้ ด้วยเงื่อนไขในชีวิตบางอย่าง ความฝันในการเป็นหมอค่อยๆ เลือนหาย จากฝันอันยิ่งใหญ่เหลือเพียงความฝันเดียวคือเรียนให้จบเพื่อที่จะได้มีงานทำ
จนในวันที่ฉันอายุ 22 ย่าง 23 ฉันกลับไม่ฝันอยากเป็นอะไร ฉันรู้สึกเหนื่อย ฉันไม่อยากเป็นคนเก่ง ฉันแค่อยากเป็นคนโชคดีที่ถูกหวย สิ่งนี้มันทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าชีวิตมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ฉันเติบโตมาในสังคมแบบไหน? ชีวิตที่เต็มไปด้วยความฝันความหวังมันถูกพรากไปตอนไหน? เกิดคำถามมากมายในหัวฉัน
แต่เมื่อไม่นานมานี้ได้มีโอกาสหยิบหนังสือนิทาน เดินไปดวงดาว ที่เขียนและวาดภาพประกอบโดย อาจารย์รับขวัญ ธรรมบุษดี ซึ่งเป็นนิทานที่ฉีกกฎของรูปแบบหนังสือนิทานเด็กทั่วไป เพราะนิทานเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากงานเขียนของ อาจารย์ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี เรื่อง เดินไปดวงดาว: ทุนนิยมไทยในกระแสเสรีนิยมใหม่กับความฝันที่ไม่มีวันไปถึง
ใครจะคาดคิดว่าฉันในวัย 22 ปี จะรู้สึกอินกับนิทานเด็กที่เนื้อหาไม่เด็กเลยเพราะนิทานเรื่องนี้ได้หยิบยกประเด็นความเหลื่อมล้ำที่อยู่ในสังคม อธิบายผ่านตัวละคร สัญญะต่างๆ ที่แฝงอยู่ในนิทาน อ่านแล้วรู้สึกเหมือนกำลังอ่านเรื่องราวของตัวเอง แต่คิดไปคิดมาคงไม่ใช่เรื่องราวของตัวเองเพียงคนเดียว คงเป็นเรื่องราวของใครอีกหลายคนที่ใช้ชีวิตภายใต้โครงสร้างสังคมที่บิดเบี้ยว โครงสร้างของสังคมที่บีบให้เด็กๆ คนหนุ่มสาว เผชิญกับความสิ้นหวังภายใต้โลกทุนนิยมที่พยายามบอกให้เราอดทน ขยัน แล้วเราจะเดินไปถึงดวงดาว
นิทาน เดินไปดวงดาว เป็นนิทานตีแผ่ความเหลื่อมล้ำในสังคมผ่านเรื่องราวของเด็กหญิงคนหนึ่งที่เกิดในเมืองสีฝุ่น และเมื่อโตขึ้นคุณแม่เอาเป้แบกฝันมาให้สะพายพร้อมทั้งนำรองเท้าพื้นหนามาให้สวมใส่ และพร่ำบอกว่าถ้าฝันอยากเป็นอะไรจงเขียนฝันลงไปแล้วตั้งใจเดินไปให้ถึงดวงดาว
เด็กหญิงมีคำถามสงสัยมากมาย ทำไมกระเป๋าของแม่มันดูหนักและมีแต่ตัวเลขติดลบอะไรก็ไม่รู้เต็มไปหมด แถมรองเท้าที่แม่สวมใส่มันดูเก่าและสกปรก ความฝันของแม่คืออะไรกันนะ? แล้วแม่เดินมานานขนาดนี้แม่ไปถึงดวงดาวรึยังนะ? ทำไมรอยยิ้มของคุณตาไม้ถูพื้นที่ยิ้มให้เธอถึงเป็นรอยยิ้มที่เศร้ากันนะ? ทำไมเด็กในหมู่บ้านคนขี้เกียจถึงดูไร้เรี่ยวแรง? คำถามเหล่านี้ยังเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบสำหรับเธอ
จนกระทั่งมีเด็กจากบนดวงดาวมาทัศนศึกษาที่เมืองสีฝุ่น เด็กหญิงสังเกตเห็นว่าเด็กที่มาจากดวงดาวไม่มีใครต้องแบกเป้ ไม่มีใครต้องใส่รองเท้าพื้นหนา พวกเขาไม่ต้องแบกฝันเหมือนพวกเด็กเมืองสีฝุ่นและคนเมืองขี้เกียจ เด็กบนดวงดาวฝันอยากทำอะไรก็ทำได้เลย พวกเขามีพร้อมทุกอย่าง ท้องฟ้าของพวกเขาเป็นสีฟ้า พวกเขามีสนามเด็กเล่น มีเตียงขนมปังนุ่ม เด็กหญิงจึงเกิดความมุ่งมั่นกับตัวเองว่า “เอาล่ะ ฉันจะตั้งใจเดิน” สักวันจะต้องวางเป้และถอดรองเท้านี้ออกแล้วนอนเล่นบนเตียงขนมปังนุ่มๆ
ในวันสอบเดินครั้งแรก เด็กหญิงตั้งใจเดินดีกว่าใคร ผ่านอุปสรรคผ่านโคลนหลุม ฝุ่นควันมากมาย แต่ทว่าเด็กหญิงเห็นเพื่อนล้มลงจึงเดินเข้าไปช่วยดึงเพื่อนให้ลุกขึ้นและเดินเข้าเส้นชัยเป็นคนสุดท้าย ทำให้เด็กหญิงสอบตกและโดนคุณครูดุว่า “ถ้ามัวแต่ห่วงคนอื่นจะไม่มีวันไปถึงดวงดาว”
เด็กหญิงกลับบ้านมาบ่นด้วยความโกรธและสงสัยว่า
“แม่ไม่สงสัยเหรอ เด็กๆ ในหมู่บ้านคนขี้เกียจจะเดินได้ยังไง พวกเค้าไม่มีข้าวกินด้วยซ้ำ แถมเป้ยังหนักกว่าเราอีก”
“คุณตาไม้ถูพื้นก็เดินมาจนแก่ แต่เป้ก็ยังหนัก รองเท้าก็ใกล้พัง ถ้าให้หนูไปอยู่บนดวงดาวตอนแก่ๆ แบบนั้นหนูจะทำอะไรได้”
“เด็กๆ ที่เกิดบนดวงดาวก็ไม่ต้องแบกเป้หนักๆ แถมพื้นรองเท้าก็บางเฉียบ ทำไมถึงมีเด็กที่เกิดมาแล้วได้นั่งยานอวกาศ แต่หนูต้องเดิน?”
เด็กหญิงพรั่งพรูความโกรธและความสงสัยที่เก็บงำไว้มากมายออกมา จนสุดท้ายเธอก็ค้นพบว่าเธอไม่มีวันเดินไปดวงดาวได้ ทุกอย่างเป็นเรื่องโกหก รองเท้ากับเป้ไม่ได้มีไว้แบกฝันแต่มันมีไว้หยุดฝันต่างหาก ในขณะเดียวกันก็มีเด็กกลุ่มหนึ่งที่เกิดบนดวงดาว มีอภิสิทธิ์ล้นเหลือไม่ต้องแบกเป้ใส่รองเท้าพื้นหนา พวกเขาเกิดมาพร้อมทุกอย่างในชีวิต
เด็กหญิงในเมืองสีฝุ่นตีแผ่ชีวิตของคนหนุ่มสาวชนชั้นกลางไปจนถึงกลุ่มชนชั้นแรงงานในช่วงเวลานี้เป็นอย่างดี คนหนุ่มสาวเหล่านี้เติบโตมาในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมหาศาล คนรวยก็รวยล้นฟ้า คนจนก็จนอยู่อย่างนั้น พวกเขาแบกโลกทั้งใบไว้บนบ่าและวิ่งตามหาความฝันที่ว่างเปล่า
นิทานเรื่องนี้ทำให้เรากลับมานึกถึงคำถามที่เรามักจะถูกถามตั้งแต่เด็กจนโตว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร?” แล้วเราก็มักจะตอบอย่างเพ้อฝันไปว่าอยากเป็นนักบินอวกาศ เป็นนักวาดรูป เป็นนักบัลเลต์ แต่ทว่าเมื่อโตขึ้นแล้วจะมีใครสักกี่คนที่ความฝันในตอนเด็กกลายเป็นความจริงได้ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำอันอัปลักษณ์ของระบบทุนนิยม และสังคมที่ไร้รัฐสวัสดิการเช่นนี้
นิทานเรื่องนี้เป็นนิทานที่สามารถอ่านได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เพราะมันถึงเวลาที่เราต้องหันกลับมาตั้งคำถามต่อความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยและต่อสู้เพื่อสังคมที่ทุกคนสามารถมีชีวิตที่ดีร่วมกันได้ ทุกคนสามารถเข้าไปอ่านหนังสือนิทานเล่มนี้ได้ที่ลิงค์ด้านล่าง และส่งต่อหนังสือเล่มนี้ไปถึงใครที่กำลังเดินทางไปดวงดาวว่าเราจะไม่มีทางเดินไปถึงดวงดาวได้ หากสังคมยังมีกติกาที่ไม่ยุติธรรมที่ควบคุมชีวิตเราตั้งแต่เด็กจนแก่ชรา
คลิกอ่านนิทาน>> เดินไปดวงดาว