เราจะต่อต้านเผด็จการอย่างไร: บทเรียนจากหน้าร้อนปี 2517 ถึงหน้าร้อนปี 2564 “กำหนดตัวศัตรูให้น้อย หาเพื่อนให้ได้มาก”

เราจะต่อต้านเผด็จการอย่างไร: บทเรียนจากหน้าร้อนปี 2517 ถึงหน้าร้อนปี 2564 “กำหนดตัวศัตรูให้น้อย หาเพื่อนให้ได้มาก”

หนึ่งในคำอธิบายที่ครอบงำความเข้าใจการเมืองไทยคือแนวคิด ‘วงจรอุบาทว์’ (vicious circle) หากคิดตามอย่างไม่วิพากษ์อาจชวนให้เข้าใจว่าเหตุที่สังคมไทยติดอยู่ในวงจรที่หมุนวนตั้งแต่ การรัฐประหาร – การร่างรัฐธรรมนูญ – การเลือกตั้ง – การทุจริตคอร์รัปชัน – วิกฤติการเมือง – กลับมาที่การรัฐประหาร ไม่จบสิ้นก็เพราะแต่ละตัวแสดงของการเมืองไทยไม่ทำหน้าที่ตามบทบาทของตัวเองให้ดีพอจนเป็นเงื่อนไขของวงจรอุบาทว์

กรอบคิดเช่นนี้ไม่ได้ผิดในตัวเอง แต่ก็ไม่ช่วยให้เข้าใจธรรมชาติของการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตย นั่นเพราะอาจจะทำให้เราละเลยปัจจัยที่สำคัญอีกชนิดที่เกาะแน่นกับพัฒนาการการเมืองไทยมาโดยตลอดนั่นคือ ‘ฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตย’ หรือ ‘เผด็จการ’

ในแง่นี้ วงจรกระบวนการประชาธิปไตยไทยที่หมุนวนอาจจะไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ มากเท่ากับเป็นกระบวนการต่อสู้ของระบอบเก่าและระบอบใหม่ ที่ยังไม่ถึงตอนจบ และยังเป็นเช่นนั้นในทุกๆ ประวัติศาสตร์การปฏิวัติสังคม คำถามที่น่าสนใจกว่าคือ ‘โฉมหน้าเผด็จการ’ เป็นอย่างไร

เราจะต่อต้านเผด็จการอย่างไร เป็นหนังสือที่จัดพิมพ์จากปาฐกถาของ ปรีดี พนมยงค์ ในงานชุมนุมสมาคมนักเรียนไทยในฝรั่งเศส เมื่อหน้าร้อนปี 2517 พิมพ์ครั้งแรกโดยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพิมพ์ซ้ำอีกครั้งโดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บทปาฐกถานี้สาธิตให้เห็นการวิเคราะห์สังคมที่ข้ามพ้นกรอบที่ต้องเลือกเพียงว่า ‘ถ้าไม่เอาอย่างนั้นก็ต้องเป็นอย่างนี้’ ประหนึ่งทางเลือกแบบ Zero Sum Game หากแต่ได้คลี่คลายอย่างละเอียดลออให้เห็นถึงลักษณะของเผด็จการและวิธีการต่อสู้กับระบอบที่เกิดขึ้นมาควบคู่กับประวัติศาสตร์การกดขี่มนุษยชาติ

 

บริบทของถ้อยแถลง

หากพิจารณาบริบทของปาฐกถาจะพบว่า ผลึกความคิดนั้นเกิดขึ้นในช่วงจังหวะที่ปรีดีจับเค้าสัญญาณได้ว่ามีความพยายามหยุดยั้งกระบวนการประชาธิปไตย ที่เริ่มต้นขึ้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 บรรยากาศแวดล้อมการปาฐกถาเป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยไทยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ท่ามกลางความพยายามสถาปนาหลักการเสรีภาพและความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ

ในเวลาเดียวกันนั้น เริ่มเกิดขบวนการปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ที่ต้องการดึงประเทศกลับไปสู่ระบอบเผด็จการอย่างที่เป็นมาก่อนหน้าวันที่ 14 ตุลาคม 2516 นับสิบปี ถึงที่สุดระบอบเผด็จการนั้นก็เกิดขึ้นจริงหลังปาฐกถาของปรีดีผ่านไปเพียง 2 ปี ในเหตุการณ์สังหารหมู่เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519

การกลับมาอ่านปาฐกถาชิ้นนี้ของ ปรีดี พนมยงค์ จึงเหมาะสมแก่กาละและเทศะ ในยุคสมัยที่คนหนุ่มสาวตื่นตัวทางการเมืองอีกครั้งนับตั้งแต่ ‘14 ตุลาฯ’ เป็นต้นมา

ในบรรดาความรอบรู้ในสาขาวิชาต่างๆ ของ ปรีดี พนมยงค์ วิธีวิทยาหนึ่งที่ปรีดีเลือกใช้ในการปาฐกถา คือนิรุกติศาสตร์ เพื่อตรวจสอบแนวคิดต่างๆ ที่ช่วยก่อรูปการเมืองการปกครองขึ้นมาบนโลก ไม่ว่าจะเป็นปรัชญาความคิดตะวันตก เช่น กรีก โรมัน ฝรั่งเศส เยอรมนี ไปจนถึงปรัชญาตะวันออก เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ผสมผสานกับรูปการณ์ที่เกิดขึ้นจริงจากหน้าประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงของสังคม

หนังสือเล่มนี้จึงทำหน้าที่มากกว่า how to หากแต่ยังสืบสาวไปยังรากความคิดของแต่ละกลุ่มก้อนในสังคม จนสามารถแบ่งโครงสร้างปาฐกถาออกอย่างเรียบง่ายเป็น 4 ส่วน คือ

1. ปรัชญาทางยุทธศาสตร์

2. ฝ่ายเผด็จการ

3. ฝ่ายต่อต้านเผด็จการ  

และ

4. วิธีต่อสู้เผด็จการ

หลายช่วงตอนของปาฐกถา นอกจากจะเป็นความคิดของปรีดีเองที่ผ่านการครุ่นคิดจากหลักวิชาและประสบการณ์ส่วนตัวแล้ว ด้านหนึ่งยังเป็นผลผลิตของช่วงเวลาที่เขาต้องพ้นจากอำนาจทางการเมืองไปแล้ว

หมายความว่า ท่วงทำนองของการบรรยายได้ถูกออกแบบอย่างเป็นระบบระเบียบ พร้อมกับสอดแทรกคำโต้แย้งต่อความเข้าใจผิดๆ เพื่อให้ผู้อ่านและผู้ฟังประจักษ์อยู่เป็นระยะ เช่น กรณีที่บางคนเอาคำกลอนของสุนทรภู่ตอนหนึ่งว่า “รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี” มาเป็นหลักในการปฏิบัติ

ปรีดีได้ชี้ให้เห็นว่า แท้ที่จริงเป็นคำรำพึงของสุนทรภู่ซึ่งเป็นปราชญ์ที่มีปัญญาสูง รับราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตในรัชกาลที่ 2 แต่ในสมัยรัชกาลที่ 3 สุนทรภู่ต้องระเหเร่ร่อน ส่วนพวกประจบสอพลอแม้ไม่มีความรู้ ก็สามารถรับราชการมีตำแหน่งสูง สุนทรภู่ไม่ได้มีความประสงค์ให้ชนรุ่นหลังคิดเอาตัวรอดเฉพาะคน

ความเข้าใจที่ผิดๆ ข้างต้น มีส่วนทำให้สำนึกแห่งการต่อสู้ของเสรีชนถูกลดทอนด้วยทัศนะทาสศักดินาที่ซุ่มซ่อนอยู่ในจักรวาลความรู้ของคนในสังคมนั้นๆ

ธรรมชาติของเผด็จการ

ปรีดีเสนอความเป็นมาของเผด็จการไว้ว่า ระบบเผด็จการนั้นเริ่มขึ้นเมื่อระบบทาสเข้ามาแทนที่ระบบประชาธิปไตยปฐมกาล แล้วผู้เป็นหัวหน้าสังคมถือว่าคนในสังคมเป็นทรัพย์สินของตนประดุจสัตว์พาหนะ เช่น วัว ควาย ช้าง ม้า ซึ่งหัวหน้าสังคมมีอำนาจบังคับให้ทำงานเพื่อตน

ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าการพัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี สังคม จะคืบหน้าไปมากเท่าไร แต่โฉมหน้าของเผด็จการย่อมเป็นสิ่งที่ยากจะปกปิดนั่นคือการพยายามฉุดยั้งความสัมพันธ์ของคนในสังคมในลักษณะ นาย – ทาส เอาไว้ดังเดิม

แต่ก็เป็นความจริงอีกเช่นกันว่า ในทุกๆ การกดขี่ย่อมมีคนที่ไม่เชื่องต่ออำนาจนั้นเสมอ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการพยายามเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางอำนาจมาตลอดหน้าประวัติศาสตร์โลก ทั้งในกรีก โรมัน ฝรั่งเศส จีน รัสเซีย จนถึงไทย

กรณีเช่นนี้ปรีดียกตัวอย่างให้เห็นว่า แม้เผด็จการและศักดินาจะใช้วิธีหลอกลวงให้คนส่วนใหญ่ในสังคมเชื่อว่า หัวหน้าสังคมเป็นผู้ที่พระเจ้าบนสวรรค์ให้จุติมายังโลก แต่ก็มีข้าทาสและไพร่ที่ถูกกดขี่อย่างหนักในสังคมต่างๆ เกิดจิตสำนึกที่รู้ว่าตนถูกกดขี่ แล้วรวมกำลังต่อสู้ด้วยสันติวิธีบ้าง ด้วยกำลังอาวุธบ้าง เช่น ขบวนการทาสนำโดย สปาตากุส (Spatacus) ที่ต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธกับเผด็จการโรมัน ก่อนที่พระเยซูจะปรากฏบนโลกประมาณ 74 ปี

ทำนองเดียวกันในทุกสังคม ก็ย่อมจะมีทาสและข้าไพร่ที่เชื่องและมีทัศนะทาสศักดินาเกาะอยู่แน่น คนกลุ่มนี้จะกลายเป็นสมุนที่ดีของเจ้าทาสและเจ้าศักดินา ที่สามารถใช้ทาสและข้าไพร่เหล่านี้เป็นลูกมือต่อสู้กับข้าไพร่ที่ต้องการอิสรภาพ

เมื่ออ่านถึงตรงนี้แล้วอาจจะทำให้หลายคนคิดถึงตัวละครอย่าง สตีเฟน วอร์เรน ในภาพยนตร์เรื่อง Django Unchained (2012) กำกับโดย เควนติน ทารันติโน แม้วอร์เรนจะเป็นทาสผิวดำ แต่ก็รับใช้นายทาสอย่างซื่อสัตย์ แม้กระทั่งการเข่นฆ่าเพื่อนที่มีเชื้อชาติและผิวพันธุ์เดียวกัน

และตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์สหรัฐ พบว่าในกลางศตวรรษที่ 19 มีทาสผิวดำในรัฐทางใต้จำนวนหนึ่ง ได้ร่วมกับนายทาสทำสงครามกับรัฐทางเหนือที่ต้องการปลดแอกอิสรภาพของทาส ในทัศนะของปรีดีเห็นว่าความรู้สึกพื้นฐานเช่นนี้เป็นบ่อเกิดทัศนะคลั่งเชื้อชาติ (Racism) และคลั่งชาติ (Chauvinism) ในเวลาต่อมา ดังปรากฏในกรณีของรัฐบาลนาซี และอีกหลายแห่งทั่วโลก

กายวิภาคของระบอบเผด็จการ

การจำแนกกลุ่มคนเป็นจำพวกของปรีดี ถือเป็นอีกจุดเด่นของปาฐกถานี้ สำหรับคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สิ่งที่ดีกว่า จำเป็นจะต้องมองเห็นอุดมการณ์ที่กำหนดกรอบการปฏิบัติการของแต่ละพลังการเปลี่ยนแปลง การวิเคราะห์การต่อสู้จึงจะได้ผลดี

เนื้อหาส่วนหนึ่งในบทปาฐกถาของปรีดีได้แสดงให้เห็นถึง การรู้จักศัตรูและมิตร อันเป็นส่วนสำคัญของการต่อสู้กับระบอบเผด็จการ

ปรีดีเสนอว่า การทึกทักไปว่าใครเป็นใคร และกล่าวหากันอย่างฉาบฉวย ย่อมทำให้การต่อสู้เพื่ออิสรภาพล้มเหลว ดังที่เกิดขึ้นให้เห็นในหลายประเทศทั่วโลก จากปารีสถึงปักกิ่ง เม็กซิโกซิตี้ ถึง มอสโก หรือจากกรุงเทพฯ ถึงวอชิงตัน

ข้อคิดของปรีดีในเรื่องนี้ เห็นได้จากการอธิบายการเปลี่ยนแปลงระบบศักดินามาสู่ระบบประชาธิปไตยว่า ไม่อาจอาศัยพลังฝ่ายก้าวหน้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดโดยลำพัง เพราะนอกจากข้าไพร่ที่มีสำนึกทางชนชั้นแล้ว จำต้องมองเห็น ‘ชนชั้นเจ้าสมบัติ’ (ปรีดีแปลมาจากคำว่า bourgeoisie) เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของฝรั่งเศสซึ่งคนกลุ่มนี้กลายมาเป็นกองหน้าในการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789

วิธีการที่ปรีดีใช้ในการออกแบบโครงสร้างปาฐกถา จึงเป็นวิธีการเดียวกับที่ใช้วิเคราะห์ขบวนการอภิวัฒน์ดังที่กล่าวมา ปรีดีเห็นว่าควรพิจารณาจำแนกส่วนต่างๆ ที่ประกอบขบวนการนั้นๆ ประดุจการศึกษา ‘กายวิภาค’ การวิเคราะห์ในแนวทางนี้หลีกเลี่ยงคติแบบอุปาทาน (preconceived idea) เพราะหากเริ่มคิดจากคติแบบอุปาทานแล้ว มนุษย์มีแนวโน้มจะมองเห็นคนอื่นที่เป็นมิตรเป็นศัตรูไปทั้งหมด และคนผู้นั้นก็จะไม่รู้ว่าใครเป็นศัตรูใครเป็นมิตร

บทเรียนจากอดีตที่แสนร่วมสมัย

บทเรียนที่ขัดเกลาจนแจ่มชัด จากหน้าร้อนปี 2517 ได้ส่งผลถึงหน้าร้อนปี 2564 ด้วยเช่นกัน เพราะปาฐกถานี้ให้แง่มุมที่กว้างไกลกว่าการเป็นคัมภีร์ที่กำหนดอย่างตายตัวว่าใครคือคนผลักดันหรือเหนี่ยวรั้งความเปลี่ยนแปลง

ในเวลานั้น ปรีดีเองมองว่าขุมพลังต่อต้านเผด็จการของไทย คือคนจน คนงาน ชาวนา ข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ได้รับความอัตคัดฝืดเคืองอย่างแสนสาหัส คนมีทุนน้อยที่พอทำมาหากิน และคนมีทุนขนาดกลาง ซึ่งถูกเบียดเบียนเดือดร้อนเพราะการปกครองและระบอบเผด็จการ รวมทั้งนายทุนเจ้าสมบัติจำนวนหนึ่ง ที่แม้มีความกินดีอยู่ดีในทางเศรษฐกิจ แต่มีความรักชาติรักประชาธิปไตย มองเห็นความทุกข์ยากของผู้อื่น คนเหล่านี้เป็นคนส่วนมากของประเทศ ซึ่งในเวลานั้นมีมากถึง 40 ล้านคน

หากเราคิดจากยุคสมัยปัจจุบัน ที่ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกแล้ว (2560-2564) การมองเห็นกลุ่มพลังทางสังคมเช่นนี้ สามารถช่วยให้เห็นโอกาสของการเปลี่ยนแปลงสังคมด้วย

ที่สุดในช่วงท้ายของปาฐกถา ปรีดีได้เตือนให้ผู้อ่านเกิดความตระหนักว่า แม้ว่าฝ่ายเผด็จการจะเป็นคนส่วนข้างน้อยของสังคม แต่ก็มีพลังทางเศรษฐกิจ การเมือง ฉะนั้นฝ่ายต่อต้านจะต้องจัด ‘กองกำลังพันธมิตร’ โดยคำนึงถึงคติ ‘กำหนดตัวศัตรูให้น้อย หาเพื่อนให้ได้มาก’

ในทางประวัติศาสตร์มีคนจำนวนหนึ่งที่ชี้ให้เห็นความจริงข้อนี้ เช่น ชาร์ลส เดอ มองเตสกิเออ (Charles de Montesquieu) ซึ่งเป็นขุนนางของระบบศักดินา แต่เขาก็เป็นผู้เขียนหนังสืออันเป็นรากฐานประชาธิปไตยสมัยใหม่ด้วย เช่นงานเขียนที่สำคัญอย่าง เจตนารมณ์ของกฎหมาย (The Spirit of Law 1748) ซึ่งเสนอหลักการแบ่งแยกองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตย เพื่อป้องกันทรราชอันเป็นหนึ่งในรูปแบบหนึ่งของเผด็จการ

ในเวลานี้ ตลอด 1-2 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยคงได้เห็นกองหน้าของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมแล้ว แต่สิ่งที่ยังเป็นปริศนาอยู่คือคำถามว่า ใครคือพันธมิตรของการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ประชาธิปไตย ความเป็นธรรม และอิสรภาพ

ปัญหานี้คงต้องให้ผู้อ่าน เราจะต่อต้านเผด็จการอย่างไร ให้คำตอบร่วมกัน

 

เราจะต่อต้านเผด็จการอย่างไร

บทปาฐกถา ปรีดี พนมยงค์

สำนักพิมพ์ WAY of BOOK

 

author

Random books