โซฟี โชล กุหลาบขาวและนาซี: ทวงคืนสิ่งที่ถูกพรากไปจากเสรีชน

โซฟี โชล กุหลาบขาวและนาซี: ทวงคืนสิ่งที่ถูกพรากไปจากเสรีชน

หลังจากขึ้นมามีอำนาจ ปฏิบัติการกำจัดศัตรูทางการเมืองก็เริ่มต้นขึ้น มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญและรวบอำนาจเข้าสู่พรรคอย่างเบ็ดเสร็จ มีการยุบพรรคการเมืองเพื่อเขี่ยคู่แข่งออกจากกระดาน ตลอดจนมีการระงับกฎหมายที่ข้องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน (น. 33-34)

ศาลพิเศษถูกตั้งขึ้นในนามของประชาชน เพื่อประศาสน์ความยุติธรรมไปยังผู้กระด้างกระเดื่องและผู้เห็นต่างทางการเมือง (น. 64 และ 97) ความยุติธรรมถูกนิยามให้มีความหมายเดียวกันกับพรรคและท่านผู้นำ เมื่อพรรคและท่านผู้นำเป็น ‘ธรรมะ’ หรือคุณความดีที่ต้องรักษาไว้ บรรดาผู้ไม่ลงรอยคล้อยตามกับธรรมะนี้จึงแปรสภาพกลายเป็น ‘อธรรม’ หรือความชั่วร้าย ที่จำเป็นต้องได้รับการกำจัดให้เป็นที่ยุติไปโดยปริยาย

ไพรัช แสนสวัสดิ์ ผู้เขียน แสดงให้เห็นว่า การขึ้นมาโต้คลื่นอำนาจของพรรคนาซีและฮิตเลอร์มิใช่อุบัติเหตุ หากแต่มีกลุ่มผู้เพิกเฉยไม่รู้ร้อนรู้หนาวและมวลชนที่เห็นดีเห็นงามด้วยเป็นแรงขับเคลื่อนหนุนอยู่ข้างใต้

โซฟี โชล (Sophie Scholl) เกิดปี 1921 ท่ามกลางวิกฤติทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศเยอรมนี เธอเป็นลูกคนที่ 4 จากพี่น้องทั้งหมด 6 คน โรเบิร์ต โชล (Robert Scholl) พ่อของเธอมีจุดยืนต่อต้านนาซีและฮิตเลอร์อย่างแข็งขัน แต่กระนั้นก็ไม่เคยบังคับให้ลูกๆ ต้องคิดและเชื่อตามตน ในช่วงเวลาดังกล่าว เด็กตระกูลโชลก็ไม่ต่างจากเด็กร่วมสมัยคนอื่นๆ ที่ต่างพากันเข้าเป็นส่วนหนึ่งในองค์กรเยาวชนนาซี ไม่ว่าจะเป็น ยุวชนฮิตเลอร์ (Hitlerjugend: HJ) หรือ สันนิบาตสตรีเยอรมัน (Bund Deutscher Mädel: BDM) เป็นต้น

“พี่น้องโชลทั้งหมด คือ อิงเงอร์, ฮันส์, โซฟี, เอลิสะเบธ กับแวเนอร์ พากันตบเท้าเข้าสู่หน่วยย่อยขององค์กรเยาวชนเหล่านี้โดยสมัครใจก่อนเกิดสภาพบังคับ” (น. 71)

ยุวชนนาซี

องค์กรเยาวชนนาซีต่างๆ เหล่านี้ เป็นส่วนประกอบหนึ่งที่สามารถใช้อุปนัยไปยังส่วนอื่นๆ ของสังคม ภายใต้ระบอบฟาสซิสต์ได้ ดังที่ไพรัชว่าไว้ในส่วนอารัมภบทว่า

“ความคิดแบบฟาสซิสต์ไม่ได้เป็นเพียงอุดมการณ์แนวชาตินิยมเข้าข้างตนเอง หมิ่นหยามคนชาติพันธุ์อื่น ใช้อำนาจเถื่อนเข้าครอบงำชีวิตผู้คนในทุกมิติ หรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพสมาชิกในสังคมเท่านั้น แต่ยังตั้งข้อเรียกร้องเอาจากผู้ตกอยู่ในอำนาจให้แสดงความจงรักภักดีสุดจิตสุดใจ ห้ามต่อต้านคัดค้าน ทำลายล้างศักดิ์ศรีและความเป็นตัวตนของปัจเจกบุคคลในสังคมให้มากสุด เพื่อให้เกิดบรรยากาศแห่ง ‘ความสงบ’ ดังเช่นที่พวกตนต้องการสร้างภาพ” (น. 5)

สำหรับฟาสซิสต์แล้วประชาชนทุกคนจะถูกเปลี่ยนให้เป็นทหาร การเข้าฝึกอบรมในองค์กรเยาวชนจึงเป็นการฝึกให้เด็กพร้อมที่จะรับคำสั่งและจงรักภักดีต่อผู้นำซึ่งดำรงอยู่ในฐานะผู้บังคับบัญชา

“หลักปฏิบัติของหน่วยคือการบังคับบัญชาจากบนลงล่าง มีขีดขั้นลำดับ เข้มวินัย ยึดเอาตัวบทและข้อชี้นำจากองค์กรกลาง ทุกคนทำทุกสิ่งไปตามแบบแผนที่กำหนดไว้ ตามแต่หัวหน้าหน่วยออกคำสั่ง สมาชิกสาบานว่าจะจงรักภักดีต่อท่านผู้นำเช่นเดียวกับพวกทหาร” (น. 75)

การเปลี่ยนให้ทุกคนในสังคมกลายเป็นทหาร จึงเป็นการทำให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศ (citizen) กลายเป็น ‘พลเมือง’ ในความหมายตรงตามตัวอักษร คือ กลายเป็นพละกำลังหรือกองพลให้แก่บ้านเมือง ทุกคนกลายเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งจากเบื้องบนอย่างไม่อาจฝ่าฝืน ท่านผู้นำกลายเป็นพ่อที่ทุกคนต้องรักโดยปราศจากเงื่อนไข กล่าวได้ว่า ในระบอบฟาสซิสต์ ‘คำสั่ง ความรัก และท่านผู้นำ’ เป็นสิ่งซึ่งหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกันอย่างกลมกลืน ในแง่นี้ การฝ่าฝืนคำสั่งย่อมหมายถึงการไม่รักท่านผู้นำ และในทำนองเดียวกัน หากไม่รักท่านผู้นำก็เท่ากับเป็นการฝ่าฝืนคำสั่ง

เมื่อเป็นดังนั้นแล้ว ผู้ที่ไม่รักหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของท่านผู้นำจึงจำต้องได้รับโทษ ในลักษณะเดียวกันกับผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย (คำสั่งและความรักจึงกลายเป็นกฎหมายไปในตัว) ดังที่ ครูของโซฟีต้องถูกปลดออกจากโรงเรียนเพราะไม่นิยมนาซี (น. 82) หรือการที่นักเรียนถูกลงโทษด้วยการปฏิเสธไม่ให้ได้รับการสอบเลื่อนชั้น (สอบ Abitur) จากการไม่ยอมเข้าร่วมกิจกรรมกับองค์กรที่นิยมนาซี (น. 84) หรือขั้นร้ายแรงกว่านั้น บุคคลดังกล่าวก็ต้องถูกถอดถอนสภาพความเป็นพลเมือง (น. 276)

แต่การบังคับให้รักใครสักคนหรืออะไรสักอย่างก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแม้จะทำได้ แต่การทำให้ความรักนั้นคงอยู่ชั่วกัปชั่วกัลป์ก็เป็นเรื่องยาก อีกทั้งเมื่อความรักในระบอบฟาสซิสต์เป็นสิ่งที่ถูกประดิษฐ์สร้างขึ้นมา การเสื่อมสภาพของมันก็ดูจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อีกเช่นกัน

หากความรักโดยธรรมชาติเป็นสิ่งที่บังคับกันไม่ได้ หรือเป็นเรื่องของอุบัติเหตุที่ไม่อาจทราบว่าจะเกิดขึ้นที่ไหนเวลาใด ความรักของฟาสซิสต์ก็เป็นเพียงความรักหลอกๆ และเป็นสิ่งซึ่งฝืนธรรมชาติ

เมื่อธรรมชาติคือสิ่งที่โซฟีหลงใหลมากที่สุด (น. 59) จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่โซฟีจะเติบโตขึ้นมาเป็นหัวหอกสำคัญของกลุ่มต่อต้านนาซีอย่าง ‘ขบวนการกุหลาบขาว’ (The White Rose) ร่วมกับฮันส์ พี่ชายของเธอ

หากการซื่อสัตย์ต่อจิตสำนึกของตนเองคือการปฏิบัติตามกลไกธรรมชาติ การไม่ฝืนรักคนที่ไม่ได้รัก หรือการไม่โกหกต่อความคิดความอ่านของตนเอง ก็คือการกระทำที่เป็นไปโดยธรรมชาติ และหากใช้กรอบคิดของคริสต์ศาสนาอันเป็นศาสนาที่โซฟีนับถือเป็นตัวตั้ง การยึดมั่นในความจริงก็เป็นคุณสมบัติสำคัญ

เมื่อธรรมชาติดำเนินไปพร้อมกับความจริงและความซื่อสัตย์ต่อตนเอง การโกหกหลอกลวงจึงเป็นการสวนทางกับธรรมชาติ เหตุการณ์ที่ฮันส์ถูกใส่ความว่ามีสัมพันธภาพใกล้ชิดกับวัยรุ่นเพศเดียวกัน จนนำไปสู่การพิจารณาคดีในชั้นศาลและก่อความตึงเครียดให้ครอบครัวเป็นอย่างมากนั้น ได้กลายเป็น “มูลเหตุพื้นฐานสำคัญมาก ที่ได้บันดาลแรงจูงใจอันสลับซับซ้อนส่วนบุคคลซึ่งต่อมาผลักดันให้สองพี่น้อง ฮันส์ กับ โซฟี โชล หันมาต่อต้านฮิตเลอร์โดยตรง [โดย] โซฟีให้การในภายหลังว่า… ‘เป็นเหตุผลสำคัญที่สุด’ ทำให้ต่อมาเธอลงมือต่อต้านระบอบเผด็จการนาซีอย่างแข็งขันจริงจัง” (น. 101)

ด้วยการโตมาในครอบครัวที่นับถือลูเธอร์แรน (Lutheranism) ประกอบกับการที่ฮันส์มีนักบุญออกุสติน (St. Augustine) เป็นแรงบันดาลใจและผู้ส่งเสริมพลังชีวิต (น. 109) อีกทั้งเมื่อมองไปที่เนื้อหาบนใบปลิวของขบวนการกุหลาบขาว อันเป็นการป่าวประกาศความเป็นผีห่าซาตานของฮิตเลอร์และพรรคนาซี ก็ดูจะละม้ายคล้ายคลึงกับ มาร์ติน ลูเธอร์ (Martin Luther) สงฆ์ในคณะออกุสติน (Augustinian monk) ผู้ลุกขึ้นประณามโบสถ์คาทอลิกและพระสันตะปาปาที่หากินผ่านการขายใบไถ่บาป/ใบพระคุณการุณย์ (Indulgence) ด้วยการเขียนข้อประท้วง 95 ประการ (Ninety-five Theses) ในปี 1517 จนนำไปสู่เหตุการณ์ในการประชุมสภาเมืองวอร์มส์ (Diet of Worms) ปี 1521 ที่ศาสนจักรบังคับให้ลูเธอร์ขอโทษพระสันตะปาปาและถอดถอนคำประท้วง

Luther at the Diet of Worms, by Anton von Werner, 1877

ในการประชุมสภานี้ ลูเธอร์ถูกสอบสวนอย่างหนัก คำตอบ ‘ใช่’ หรือ ‘ไม่ใช่’ เป็นเพียงตัวเลือกบังคับสองอันที่ลูเธอร์จะพูดได้ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับกระบวนการพิจารณาในคดีของ ฮันส์ และ โซฟี โชล

ภายใต้การทำหน้าที่ของ โรลันด์ ไฟรสเลอร์ (Roland Freisler) ประธานองค์คณะผู้พิพากษาในคดี เขาจะ “จงใจตั้งคำถามให้ตอบเพียงทางใดทางหนึ่ง ‘ใช่’ หรือ ‘ไม่’ เท่านั้น” (น. 272) โดยไม่ตั้งคำถามว่าทำไมถึง ใช่/ไม่ใช่ รัก/ไม่รัก หรือด้วยเหตุผลอะไรที่นำมาสู่คำตอบเช่นนั้น ในกระบวนการพิจารณาเช่นนี้ทุกอย่างดูจะวิ่งเข้าหาเพียงคำตอบว่า ผิด หรือ ไม่ผิด ตามกฎหมาย และเมื่อพิจารณาประกอบกับการที่ไฟรสเลอร์ เป็นผู้พิพากษาซึ่งนิยมนาซีเต็มข้อ หนำซ้ำยังถูกวางบทบาทให้เป็นตัวจัดการพวกทรยศต่อชาติและพวกต่อต้านพรรค (น. 270-271) “ไฮล์ ฮิตเลอร์!” คือคำประกาศที่เขาพูดก่อนเริ่มพิจารณาคดี อาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่แน่นอนที่สุดในการพิจารณาคดีลักษณะนี้ ไม่ใช่กระบวนการพิจารณา แต่คือ ‘คำตัดสิน’ เพราะมันได้ถูกกำหนดไว้ก่อนแล้ว (น. 273)

คำตัดสินของทั้งสองกรณี คือ มาร์ติน ลูเธอร์ และพี่น้องตระกูลโชล ถูกประกาศออกมาในลักษณะเดียวกัน นั่นคือ ‘มีความผิด’

ลูเธอร์ถูกลงโทษให้ต้องกลายเป็นพวกนอกรีต (heretic) ส่วนพี่น้องตระกูลโชลแห่งขบวนการกุหลาบขาวถูกตัดสินให้เป็น ‘ศัตรูของประชาชน’ และรับโทษประหารชีวิต

การแถลงของลูเธอร์ มีประโยคอันโด่งดังซึ่งแสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญที่จะยืนอยู่บนความสัตย์จริงของพระผู้เป็นเจ้า แม้จะมีภยันตรายอยู่เบื้องหน้าก็ตาม

“ข้าพเจ้าไม่สามารถ และไม่อาจถอดถอนสิ่งใด เมื่อมันทั้งไม่ปลอดภัยและไม่ถูกต้องที่ต้องกระทำโดยฝ่าฝืนจิตสำนึก [ข้าพเจ้าขอยืนกราน โดยมิอาจเปลี่ยนเป็นอื่นได้] ขอพระเจ้าอวยพรข้าพเจ้า อาเมน (I cannot and will not recant anything, since it is neither safe nor right to go against conscience. [Here I stand, I can do no other,] May God help me. Amen.)”[1]

ในขณะที่โซฟีแถลงถ้อยคำสุดท้ายก่อนปิดคดีว่า

“สิ่งที่เราได้เขียนและพูดคือสิ่งที่หลายคนเชื่อเช่นนั้นอยู่แล้ว ทำไมท่านจึงไม่กล้าเผชิญกับมันเล่า” (น. 275)

ส่วนในกรณีของฮันส์ (ตามคำบอกเล่าของ โรเบิร์ต มอห์ร) ได้กล่าวว่า “วันนี้ท่านอาจแขวนคอเรา แต่ในอีกไม่นานท่านก็จะต้องมายืนอยู่ตรงที่ผมยืนขณะนี้”

อย่างไรก็ดี ข้อแตกต่างระหว่างพี่น้องตระกูลโชล และ มาร์ติน ลูเธอร์ ดูจะมีอยู่อย่างน้อย 2 ประการ

ประการแรก มาร์ติน ลูเธอร์ เป็นพวกเกลียดยิว (Antisemitism) ซึ่งชัดเจนมากผ่านการเขียนหนังสือ On the Jews and Their Lies ปี 1543 ที่กลายเป็นรากฐานสำคัญของเหตุการณ์ฮอโลคอสต์ (Holocaust) โดยพวกนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งกล่าวได้ว่า พรรคนาซีและฮิตเลอร์เป็นเพียงแค่ส่วนยอดของปรากฏการณ์เท่านั้น เพราะการเกลียดยิวในเยอรมนีมีมาก่อนการเถลิงอำนาจของพรรคนาซีและฮิตเลอร์อยู่ก่อนแล้ว (น. 153-154)

ตรงกันข้าม สำหรับพี่น้องตระกูลโชลและขบวนการกุหลาบขาวนั้น ความพยายามในการปลุกสำนึกคนเยอรมันให้มองเห็นความชั่วร้ายที่ได้กระทำต่อชาวยิว เป็นสิ่งที่ปรากฏอย่างเด่นชัดในบรรดาใบปลิวที่พวกเขาแจกจ่าย (ดูเนื้อหาบางส่วนของใบปลิวได้ในภาคผนวก น. 353-357)

ประการต่อมา แม้ มาร์ติน ลูเธอร์ จะจาบจ้วงศาสนจักรอย่างรุนแรง แต่ด้วยการมีแรงสนับสนุนจากฝ่ายอาณาจักรทั้งจาก Frederick III (หรือที่มักรู้จักในนาม Frederick the Wise)  และ Philip I, Landgrave of Hesse ก็ได้ทำหน้าที่เป็นผู้คุ้มกะลาหัวให้ลูเธอร์ ส่งผลให้เขารอดตายมาได้

ในขณะที่พี่น้องตระกูลโชลถูกละทิ้งจากทั่วทุกสารทิศ เมื่อมหาวิทยาลัยต้นสังกัดของทั้งสองอย่าง LMU (Ludwig Maximilian University of Munich หรือ University of Munich) ทราบข่าวการดำเนินคดีของทั้งคู่ ฝ่ายบริหารและบรรดาอาจารย์ผู้นิยมและรับใช้นาซี ก็รีบจัดการประชุมเพื่อลงมติถอดถอนสถานภาพนักศึกษาของทั้งสอง (น. 272) และปล่อยให้พวกเขาต้องรับโทษถึงตายในที่สุด นี่คือสิ่งที่ เคิร์ต ฮูเบอร์ (Kurt Huber) อาจารย์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการกุหลาบขาว ทนไม่ได้กับการที่พรรคนาซีแทรกแซงเสรีภาพทางวิชาการ หนำซ้ำอาจารย์หลายคนยังเข้าไปประจบประแจงพรรค แล้ววางตัวเป็นศัตรูกับนักศึกษา (น. 300-301)

เป็นเรื่องน่าพิจารณาว่า ความโสมมภายใต้การปกครองของนาซี ที่ไพรัชได้นำเสนอไว้ในหนังสือ เป็นเพียงแค่สิ่งที่เกิดขึ้นในยุคสมัยของนาซีเพียงเท่านั้นหรือไม่? เพราะสิ่งที่ปรากฏในหนังสือจำนวนมาก ก็ราวกับเป็นการเขียนถึงปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดอยู่ในขณะปัจจุบัน ในหลายๆ ประเทศ

จะกล่าวได้หรือไม่ว่า นาซีเป็นเพียงแค่ชื่อและตัวอย่างหนึ่งของพวกฟาสซิสต์ มันเป็นเพียงแค่หีบห่อของความบ้าอำนาจและความวิตถาร ส่วนประกอบของความเป็นฟาสซิสต์อาจเกิดขึ้นในระบอบใดก็ได้ ไม่ว่ามันจะประกาศอย่างเปิดเผยว่าเป็นระบอบฟาสซิสต์ หรือเป็นอีแอบอยู่ใต้คำว่าประชาธิปไตย

สำหรับคนหนุ่มสาวอย่างฮันส์และโซฟี หรือกล่าวให้ถูกต้องคือเหล่าบรรดา ‘เสรีชน’ ทั้งหลาย ระบอบฟาสซิสต์ได้ขโมยสิ่งที่ฝังอยู่ในตัวพวกเขาตั้งแต่แรกไป การต่อต้านของพวกเขาเป็นเพียงแค่การทวงคืนสิ่งของง่ายๆ อย่าง อนาคต ความสุข บทกวี ศิลปะ วรรณกรรม ความรัก เสรีภาพ หรือแม้กระทั่งชีวิต เพียงเท่านั้นเอง

 

เชิงอรรถ

[1] ที่ไม่ปลอดภัย เพราะการโกหกหรือการฝ่าฝืนเสียงแห่งจิตสำนึก จะนำไปสู่การลงโทษโดยพระเจ้า
 

โซฟี โชล กุหลาบขาวและนาซี

ไพรัช แสนสวัสดิ์ เขียน

สำนักพิมพ์ WAY of BOOK

 

author

Random books

© WAY MAGAZINE. All rights reserved