ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี: มลทินของการสร้างชาติ ในประวัติศาสตร์ของผู้แพ้

ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี: มลทินของการสร้างชาติ ในประวัติศาสตร์ของผู้แพ้

เมื่อกลางปี 2020 ด้วยกระแส #Blacklivesmatter ที่ถูกจุดติดไปทั่วแผ่นดินอเมริกา หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่ถูกตีข่าวไปทั่วโลก คือการล้มอนุสาวรีย์คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus)

โคลัมบัสเป็นจุดเริ่มต้นของมหากาพย์ชาติอเมริกาอันยิ่งใหญ่ ในขณะเดียวกัน แม้ใครต่อใครมักยกให้อเมริกันเป็นข้อยกเว้น (American exceptionalism) แต่อเมริกาก็ไม่ต่างไปจากชาติอื่นๆ ที่สถาปนาความยิ่งใหญ่ขึ้นมาบนซากศพและหยดเลือดของผู้คนจำนวนมาก อเมริกาในฐานะดินแดนแห่งการไล่ล่าความฝันและเสรีภาพ ก็ไม่ต่างไปจากชาติอื่นๆ ที่หมกเม็ดความผิดสารพัดอย่างให้พ้นจากสายตาสาธารณะ

Executive Order 9066 ที่ถูกใช้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในสมัยของประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลท์ (Franklin D. Roosevelt) เป็นหนึ่งในความโหดเหี้ยมของอเมริกันที่ทำกับคนเชื้อสายญี่ปุ่นในอเมริกา ด้วยการจับพวกเขาเข้าค่ายกักกัน เป็นจำนวนกว่าหนึ่งแสนชีวิต โดยไม่สนเพศสนวัย การกระทำลักษณะนี้ต่างอะไรกับที่พวกนาซีทำกับคนยิว?

การเกิดเป็นยิว หรือมีเชื้อสายญี่ปุ่น กลายเป็นบาปมหันต์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งหมดนี้ไม่ต่างอะไรกับการเกิดเป็นคนอินเดียนบนทวีปอเมริกาเหนือแต่อย่างใด

เรื่องราวการสังหารหมู่คนอินเดียนในแผ่นดินอเมริกาเป็นอีกหนึ่งความสามานย์ของพวกคนผิวขาว

ด้วย Manifest Destiny หรือที่ ไพรัช แสนสวัสดิ์ แปลว่า ‘ลิขิตอันประจักษ์ชัด’ แนวคิดที่ถูกนำมาใช้สร้างความชอบธรรมการขยายดินแดนและอำนาจของพวกผิวขาว เพื่อครอบงำชาวเผ่าอินเดียน ลิขิตอันประจักษ์ชัดนี้เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ดังประกาศิตของพระผู้เป็นเจ้า

พวกคนขาวเข้าช่วงชิงพื้นที่ของคนอินเดียน ขับไล่พวกเขาไปยังพื้นที่ซึ่งสภาพแวดล้อมไม่อำนวยต่อการดำรงชีวิตอย่างเขตสงวน อันเป็นสถานที่ซึ่งห่างไกลบ้านเกิดของพวกเขา ที่ได้ถูกแปลงเป็นเขตสงวนไปแล้วอีกเช่นกัน จะต่างไปตรงที่มันเป็นเขตซึ่งสงวนไว้ให้เฉพาะคนขาวได้หาประโยชน์เพียงเท่านั้น ความเจริญก้าวหน้าของอเมริกันจึงมีร่างกายและหยดเลือดของคนอินเดียนรองรับอยู่ในระดับรากฐาน

“พระเจ้าของข้าและแม่ของข้าอยู่ในภาคตะวันตก และข้าจะไม่ทอดทิ้งท่านทั้งสองไป คนของข้ามีประเพณีอยู่ว่าเราจะไม่ข้ามแม่น้ำทั้งสามสาย นั่นคือแม่น้ำริโอแกรนด์ แม่น้ำซานฮวน และแม่น้ำโคโลราโด และข้าไม่อาจทิ้งถิ่นเทือกเขาซุสคาไปได้ ข้าเกิดที่นี่ ข้าจะต้องอยู่ที่นี่ ข้าไม่มีอะไรที่จะต้องเสียอีกแล้วนอกจากชีวิตของข้า” มานูเอลิโต หัวหน้าเผ่านาวาโฮกล่าว

แม้คนขาวจะได้ทำสนธิสัญญากับชาวอินเดียนไว้มากมาย แต่คนขาวก็เป็นฝ่ายละเมิดข้อตกลงอยู่เสมอๆ ส่วนฝ่ายอินเดียน แม้จะถูกคนขาวกระทำเช่นนั้น ก็ยังเข้าตกลงกับพวกคนขาวอยู่เป็นประจำ ราวกับการโกหกหลอกลวงเป็นสารัตถะของคนขาว ส่วนการถือสัตย์วาจาเป็นสิ่งที่ชาวอินเดียนยึดถือ

คนขาวเข้ามาบนดินแดนอเมริกาเหนือด้วยแนวคิดกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล การตีตราและปักรั้วแสดงความเป็นเจ้าของเป็นวิถีที่ถูกนำมาใช้กระชับพื้นที่ของชาวอินเดียน เผ่าพันธุ์ซึ่งไม่มีวิธีคิดเกี่ยวกับความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของแบบคนผิวขาว เพราะอย่างน้อยที่สุด ในสายตาของชาวอินเดียน แผ่นดินและสายน้ำ ตลอดจนถึงทรัพยากรทุกอย่างก็เป็นของทุกคน (หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ)

พื้นที่ทำกินของพวกเขาถูกแย่ง ชาวอินเดียนถูกปล่อยให้เผชิญกับความอดอยาก “ถ้าพวกมันหิวก็ให้มันกินหญ้า หรือกินขี้ของมันเองเข้าไปสิ” แอนดรูว์ ไมริค พ่อค้าผิวขาวกล่าว

‘วูนเด็ดนี’ คือชื่อตำบลที่เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ชาวอินเดียนในปี 1890 ซึ่งถูกนับให้เป็นจุดจบอย่างเป็นทางการของสงครามอินเดียน หรือหากจะกล่าวให้ถูกต้อง มันเป็นจุดจบของ ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อินเดียน’ มากกว่า

หนังสือ ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี (Bury My Heart at Wounded Knee) เขียนโดย ดี บราวน์ (Dee Brown) และแปลโดย ไพรัช แสนสวัสดิ์ ถูกเริ่มต้นเขียนและแปลด้วยเหตุผลคล้ายๆ กัน คือการนำเสนอเรื่องราวของ ‘อินเดียนที่แท้จริง’

ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี เป็นหนังสือขนาดยักษ์ที่บอกเล่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างเป็นระบบของคนขาว มันมีการบันทึกชื่อเสียงเรียงนามของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไว้ตลอดทั้งเล่ม จึงไม่แปลกที่จะมีคนเรียกหนังสือเล่มนี้ว่า ‘แฟ้มอาชญากรรม’

นี่ไม่ใช่หนังสือที่เขียนเพื่อสรรเสริญหรือยกยอชาวอินเดียนอยู่ถ่ายเดียว เราจะเห็นได้ว่าอินเดียนที่อยากเป็นคนขาวก็มีอยู่ ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนอินเดียนด้วยกันก็ปรากฏให้เห็นอยู่เกือบทั้งเล่ม หรือกระทั่งความเป็นคนดีของคนขาวก็มีให้เห็นประปราย

แต่ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า นี่เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างเป็นระบบ เมื่อมันเป็นระบบ (หรือหากจะใช้ภาษาตามที่นิยมใช้กันอยู่ทุกวันนี้ก็คือ ‘โครงสร้าง’) ดังนั้น การเห็นอกเห็นใจของบรรดาคนขาวจึงไม่ได้ช่วยอะไรนัก เพราะความโหดเหี้ยมนี้เป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าปัจเจกชนคนหนึ่ง มันเป็นสิ่งที่ถูกก่อรูปจากทั้งรัฐบาล ทหาร สาธารณชน หรือแม้กระทั่งสื่อมวลชน

แม้ดูเผินๆ ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี จะเป็นหลักจารึกความพ่ายแพ้ของเหล่าอินเดียน แต่ด้วยการปรากฏให้เห็นซึ่งการต่อสู้อย่างกล้าหาญ การยอมแพ้อย่างหมดสภาพ การท้อถอย และการบุกทะลวง ของชาวอินเดียนตลอดทั้งเล่ม ส่งผลให้หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของผู้แพ้ไปเสียทีเดียว เพราะมันยังมีจิตวิญญาณของนักรบผู้ไม่ยอมแพ้ (ง่ายๆ) เป็นส่วนประกอบอยู่ด้วยกลายๆ เห็นได้จากการที่ผู้นำหรือสมาชิกชาวอินเดียนจำนวนมาก ที่แม้จะมีร่างกายที่เสื่อมถอย ทั้งจากอายุขัยและอาการบาดเจ็บ แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่จะมาหยุดยั้งพวกเขาไม่ให้ทัดทานการรุกรานของพวกคนขาวได้ และแม้ร่างกายของพวกเขาจะสูญสิ้นมลายหายไป แต่หัวใจของพวกเขายังคงฝังไว้ที่วูนเด็ดนี

 

ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี

ดี บราวน์ เขียน

ไพรัช แสนสวัสดิ์ แปล

สำนักพิมพ์ WAY of BOOK

author

Random books

© WAY MAGAZINE. All rights reserved