อาณาจักรที่ปราศจาก…นาย: ‘ซ้ายขวาหลีกไป อนาธิปไตยมาแล้ว’

อาณาจักรที่ปราศจาก…นาย: ‘ซ้ายขวาหลีกไป อนาธิปไตยมาแล้ว’

“การบุกรุกของกองทัพนั้น…อาจต้านทานได้ แต่การบุกรุกของความคิดเมื่อมาถึง ย่อมไม่มีใครสามารถต้านทานได้โดยเด็ดขาด”

วิเตอร์ อูโก อ้างจาก ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ (2556, น. 214)

 

Return to Anarchism

หลายปีมานี้ ผู้คนคงได้เห็นกระแสความร้อนแรงของอนาร์คิสต์ไม่น้อย นับแต่วิกฤติซับไพรม์ในสหรัฐ (2007-2008) ที่ก่อให้เกิดความไม่พอใจต่อระบอบเสรีนิยมใหม่ ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้แก่ทุนยักษ์ใหญ่ บรรษัทข้ามชาติ และชนชั้นนำเพียงหยิบมือ

ผู้คนจำนวนไม่น้อยสั่งสมความไม่พอใจนั้นก่อนจะปะทุเป็นการประท้วงที่สำคัญหลายระลอกทั่วโลก

ท่ามกลางการเคลื่อนไหวที่ปรากฏให้เห็นตรงหน้า แคมเปญต่างๆ ของผู้ประท้วงได้ชวนให้คิดถึงรูปแบบทางการเมืองที่ต่างไปจากเดิม จนแนวคิดที่เคยเป็น ‘ทางเลือก’ ก็กลายเป็น ‘ทางหลัก’ ที่เผยโฉมทุกครั้งเมื่อระบอบเสรีประชาธิปไตยเข้าสู่ภาวะโกลาหล

ซ้ายขวาหลีกไป อนาธิปไตยมาแล้ว เขียนโดย ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ เป็นหนังสือที่พาไปรู้จักแนวคิดที่ร้อนแรงแห่งยุคสมัย แต่เพื่อให้เป็นธรรมกับผู้อ่าน นอกจากผู้เขียนจะเป็นนักหนังสือพิมพ์อาวุโส มีประสบการณ์และฝีมือช่ำชองมายาวนาน ทั้งในบทบาทบรรณาธิการนิตยสารการเมืองตั้งแต่อายุเพียง 20 ปี และในฐานะอดีตจำเลยที่ถูกขังด้วยข้อหาการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ หนังสือเล่มนี้ ยังถูกเขียนขึ้นหลังเหตุการณ์ล้อมปราบคนเสื้อแดงในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ซึ่งอาจจะทำให้นักเขียนซึ่งมีจุดยืนตรงข้ามคนเสื้อแดงท่านนี้ได้แถมคำพ่วง คำสร้อย ไว้ให้ผู้อ่านฟรีๆ ตลอด 380 หน้าของหนังสือเล่มนี้มาด้วย

เมื่อรับรู้รับทราบเช่นนี้ ผู้อ่านไม่ว่าจะยืนอยู่ข้างขวาหรือข้างซ้าย เทใจให้สีเหลืองหรือสีแดง ก็สามารถอ่านหนังสือไป ยกนิ้วให้ผู้เขียนไปด้วยได้ ตามสะดวกใจว่าจะเป็นนิ้วไหน

กระนั้น เมื่อพ้นไปจากข้อมูลข้างต้น ต้องยอมรับว่าเนื้อหาและลีลาการเขียนของชัชรินทร์ ย่อมการันตีความหนักแน่นและความบันเทิงไว้เต็มสต็อก รูปแบบหนังสือก็ถูกออกแบบให้อ่านง่าย มีเชิงอรรถ อธิบายศัพท์เฉพาะพอประมาณแต่ครบถ้วนกระบวนความ การลำดับเรื่องก็สวยงามอ่านเพลิดเพลิน

สำหรับเนื้อหา สามารถแบ่งเป็น 2 ลักษณะที่ประกอบขึ้นมา

หนึ่ง – เป็นการนำเสนอแนวคิดอนาร์คิสต์อย่างคล้องจองไปกับบริบท ประสบการณ์ของนักคิด นักปฏิวัติต่างๆ ทำให้เห็นโอกาสและข้อจำกัดของชีวิตและนักคิดหนึ่ง ในแต่ละยุคละสมัย ช่วยให้ผู้อ่านไม่เห็นตัวละครที่มีหลักคิดอะไรขึ้นมาลอยๆ ราวกับนักปฏิวัติไปนั่งตรัสรู้เอาเองใต้ร่มโพธิ์

และ

สอง – คือการเชื่อมร้อยเหตุการณ์สำคัญๆ ในประวัติศาสตร์โลก วิธีการเขียนเช่นนี้ช่วยให้ผู้อ่านไม่พลาดฉากตอนสำคัญอันเป็นจุดหักเหของการต่อสู้ทางความคิดทางการเมือง

ไดโอจีนัสถึงปรูดอง

ความบันเทิงเปิดฉากตั้งแต่บทแรกของหนังสือ เมื่อผู้เขียนเปิดเรื่องด้วยเหตุการณ์เมื่อ 3,000 ปีก่อน อันเป็นการพานพบกันระหว่างกษัตริย์นักรบอย่างอเล็กซานเดอร์มหาราช กับไดโอจีนัส เสรีชนผู้ไม่สนใจไยดีต่อการมาเยือนของกษัตริย์ที่ยึดครองพื้นที่เกือบครึ่งโลก และไดโอจีนัสเองก็ถูกยอมรับว่าเป็นต้นตำรับของชาวอนาร์คิสต์จนถึงปัจจุบัน

ถึงกระนั้น จุดเปลี่ยนที่ทำให้อนาร์คิสต์กลายเป็นที่รับรู้ในประวัติศาสตร์โลกยุคใหม่นั้น มาเกิดเอาในการต่อสู้ระหว่างชาวฝรั่งเศสกับชนชั้นนำจารีต ซึ่งเป็นการปฏิวัติที่กินเวลาเกือบ 100 ปี การประกาศตัวเป็น ‘อนาร์คิสต์รายแรก’ ของลูกเจ้าของโรงเหล้าที่เติบโตขึ้นมานักปฏิวัติชาวฝรั่งเศสนาม ปิแอร์ โจเซฟ ปรูดอง ได้ฝากวาทะคลาสสิกว่า “ใครก็ตามที่คิดจะปกครองหรือควบคุมตัวฉัน บุคคลผู้นั้นถ้าหากไม่ใช่ผู้กดขี่ ก็คือทรราชย์นั่นเอง” ก็ย่อมทำให้เห็นสายป่านการปฏิวัตินับแต่นั้น

เหล่าอนาร์คิสต์ยุคนั้นเริ่มต้นการเผยแพร่แนวทางอนาธิปไตยจากปรูดอง เมื่อเผยแพร่แนวคิดออกไปอย่างกว้างขวางในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศสหลังโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของหลุยส์ที่ 16 ก็ใช่ว่าจะได้รับการยอมรับโดยง่าย ตรงกันข้าม ถัดจากนั้นแนวคิดจำนวนมากยังคงขับเคี่ยวกันเพื่อแย่งธงนำในการปฏิวัติ

การปฏิวัติไม่เคยจบลงในวันเดียว เรื่องนี้พอทราบกัน ฝรั่งเศสชนจึงใช้เวลาอีกหลายสิบปีในการห้ำหั่น ย้อนหลังไปสู่ระบอบเดิมก็มี ระหว่างทางนั้นเกิดการนองเลือดก็มี เรียกในภาษาของชัชรินทร์คือ ‘เลือดนองท้องช้าง’

จนแล้วจนเล่า การลุกฮือก่อการปฏิวัติของชนชั้นแรงงานในกรุงปารีสและเมืองลียงอันมีอนาร์คิสต์เป็นคัมภีร์นำทางก็เกิดขึ้นในปี 1848 หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘July Revolution’ ซึ่งชัชรินทร์เรียกว่า เป็นการจองกฐินร่วมกันของชาวอนาร์คิสต์และคอมมิวนิสต์เพื่อโค่นล้มพระเจ้าหลุยส์ฟิลลิปที่ 1 ในช่วงเวลาเช่นนี้แนวคิดของปรูดองขจรขจายเป็นเชื้อไฟให้แก่พื้นที่อื่นๆ ด้วย

ฝ่ายซ้ายสปริง

ความคิดว่าด้วยการปฏิวัติตามแนวทางอนาร์คิสต์ เดินทางต่อไปนอกอาณาจักรฝรั่งเศส เกิดดอกออกผลในหลายพื้นที่ของยุโรป พอๆ กับแนวคิดสาธารณรัฐ ชาตินิยม สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ ฯลฯ และเมื่อพูดถึงการปฏิวัติก็ย่อมเป็นเรื่องสากล ที่ไม่ว่าคนจากผืนแผ่นดินใดก็สามารถสวมหัวใจนั้นได้

ที่รัสเซียเอง มิคาอิล บาคูนิน ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น ‘บิดาแห่งอนาร์คิสต์’ เขาเดินสายปฏิวัติไปหลายแห่ง ภายใต้เรื่องที่ขอไม่มากไม่มายคือ “ขอเพียงนักปฏิวัติสักสิบคน ข้าจะพลิกแผ่นดินยุโรป”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ที่คลื่นการปฏิวัติแผ่ไปทั่วทั้งยุโรป จนมีการเรียกขานกันว่าเป็น ‘ฤดูใบไม้ผลิแห่งปวงชน’ ทำให้คำว่า ‘spring’ ฮอตฮิตกันมาจนถึงการปฏิวัติอาหรับในปี 2010-2011 และที่อื่นๆ อย่างไรก็ตาม มีความแตกต่างและความขัดแย้งของ ‘ปีกซ้าย’ ของความคิดทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติธรรมดา นับตั้งแต่สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ มาจนถึงอนาธิปไตย แนวคิดต่างๆ ล้วนมีรายละเอียดปลีกย่อยซึ่งหนังสือเล่มนี้แจกแจงไว้พอสมควร

อีกตัวอย่างที่อาจจะเห็นได้จากชีวิตของ ปีเตอร์ โครพอทกิน เมื่อเขาทิ้งชีวิตเจ้าชาย เพื่อมาอุทิศให้แก่การปฏิวัติ ผู้เขียนได้พาไปทำความรู้จักหลักคิดของโครพอทกิน ในหนังสือชื่อ The Conquest of Bread ที่เสนอว่ากรรมวิธีในการสร้างความเสมอภาค หรือความเท่าเทียมในทางเศรษฐกิจ ด้วยการแย่งชิงทุนทั้งหมดจากพวกศักดินา นายทุน แล้วเอามารวมศูนย์ไว้ในมือของรัฐแห่งชนชั้นกรรมาชีพ ตามแบบฉบับของพวกคอมมิวนิสต์นั้นเป็นสิ่งที่จะนำมาซึ่งหายนะในบั้นปลาย (น. 151-152)

แน่นอนว่าบันทึกของประวัติศาสตร์ชี้ผลให้เห็นตรงกันข้ามกับเจตนารมณ์ของโครพอทกิน เนื่องจาก วลาดิเมียร์ เลนิน ลีออน ทรอสกี และ โจเซฟ สตาลิน กลับเป็นฝ่ายที่สามารถนำพากองทัพของชนชั้นกรรมาชีพไล่ทุบทำลายชนชั้นต่างๆ ในรัสเซีย เพื่อสร้างรัฐของชนชั้นกรรมาชีพแทน

กรณีเช่นนี้ยังเกิดขึ้นกับชีวิตของนักปฏิวัติอนาร์คิสต์ชาวยูเครนอย่าง เนสเตอร์ มัคโน เขาถูกนับเป็นกระดูกชิ้นโตที่พวกคอมมิวนิสต์ยากที่จะทำลายลงได้ แต่ท้ายที่สุดความพังพินาศของอนาร์คิสต์รุ่นสุดท้ายรัสเซียก็มาถึง พร้อมๆ กับที่โครพอทกินอายุ 80 ปีแล้ว แต่ก่อนจะเสียชีวิตอย่างเงียบๆ เจ้าชายอนาร์คิสต์ก็ได้ทำนายอนาคตของรัสเซียภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์ไว้ว่า “ไม่ว่าวันใดก็วันหนึ่ง ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องพังครืนลงมา” (น. 203)

สัจธรรมนี้เกิดขึ้น หลังการประกาศนโยบายเปิดกว้าง หรือ ‘Glasnost’ โดย มิคาอิล กอร์บาชอฟ ผ่านไปไม่กี่ปี ท่ามกลางการแตกสลายของโซเวียต เหล่าอนาร์คิสต์รุ่นใหม่ที่ไฟไม่มอด ก็เริ่มปรากฏตัวให้เห็น กิจกรรมแรกๆ ที่พวกเขาทำคือเดินขบวนไปคารวะหลุมศพของเจ้าชายนักปฏิวัติ ปีเตอร์ โครพอทกิน ในกรุงมอสโคว์

นอกจากรัสเซียแล้ว กรณีความแตกแยกของแนวคิดปีกซ้ายต่างๆ อาจจะเห็นได้ชัดยิ่งขึ้นในการปฏิวัติสเปน อีกหนึ่งพื้นที่ที่แนวคิดอนาร์คิสต์ได้รับการต้อนรับอย่างคึกคัก ไม่น้อยไปกว่าฝรั่งเศสหรือรัสเซีย เรื่องที่ต่างออกไปจากที่อื่นๆ คือ สเปนไม่ได้มีนักคิดอย่างปรูดอง หรือนักทฤษฎีอย่างบาคูนิน หรือเจ้าชายนักปฏิวัติอย่างโครพอทกิน

ทว่าสิ่งที่น่าตื่นเต้นคือตรงนี้แหละ เพราะอนาร์คิสต์ในสเปนกลับเบ่งบานทายท้าเผด็จการได้อย่างยาวนาน นานกว่าที่คอมมูนปารีส หรือขบวนการมัคโนในรัสเซียเสียอีก ที่สเปนมีการก่อตั้งองค์กรปฏิวัติตามแนวทางอนาร์คิสต์จำนวนมาก ไล่ตั้งแต่ บาร์เซโลนา คอร์โดบา เซบียา อัลเมเรีย มาลากา ฯลฯ แต่ก็เช่นเดียวกับการปฏิวัติในหลายที่ ความคิดของฝ่ายซ้ายมีความขัดแย้งต่อสู้ต่อรองจากฝ่ายต่างๆ อย่างรุนแรง จนถึงขั้นรัฐบาลประกาศกฎอัยการศึกก็มี บางครั้งก็รวมตัวกันต่อต้านรัฐบาลฝ่ายขวาก็มี เช่น ในปี 1934

โลกแห่งการปฏิวัติอันน่าตะลึงนั้น ยังไปปรากฏในงานของนักเขียนชื่อดังชาวอังกฤษอย่าง จอร์จ ออร์เวลล์ เรื่อง Homage to Catalan บางช่วงบางตอนว่า

“…นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้มีโอกาสพบเห็นชุมชนซึ่งไม่มีที่แห่งใดในยุโรปตะวันตกจะเสมอเหมือน เมืองทั้งเมืองที่ถูกควบคุมด้วยชนชั้นแรงงาน ทุกๆ อาคาร สถานที่ถูกยึดครองโดยคนงาน และถูกประดับเอาไว้ด้วยธงสีแดงหรือดำอันเป็นสัญลักษณ์ของพวกอนาร์คิสต์… ”

เรียกได้ว่าตลอดปี 1936-1939 ที่สงครามกลางเมืองสเปนยังไม่ถึงบทสรุปชี้ขาด อาณาเขตพื้นที่ใดๆ ก็ตามที่ไม่ได้ถูกกองทัพของนายพลฟรังโกเข้ายึดครอง ต่างมีสีสันบรรยากาศไม่ต่างไปจากฉากเหตุการณ์ที่ จอร์จ ออร์เวลล์ ได้บรรยายไว้ (น. 245)

โฉมหน้าอนาร์คิสต์ในสมัยปัจจุบัน

จนถึงปัจจุบัน อนาร์คิสต์ไม่ได้พรั่งพรูแค่ในยุโรป แม้แต่ในประเทศที่เป็นหัวขบวนนโยบายเสรีนิยมใหม่อย่างสหรัฐ ก็มีบรรดาชาวอนาร์คิสต์ที่มีชื่อเสียงอยู่ไม่น้อย คนสำคัญที่ถางทางอนาร์คิสต์ในผืนดินนี้ มาจากผู้หญิงที่ชื่อ เอ็มมาร์ โกลด์แมน เธอเป็นชาวยิวจากรัสเซียที่อพยพมาตั้งแต่ปี 1885 และก็ไม่ได้เอาแต่นั่งคิดอย่างเดียว แต่ยังออกเดินสายไปทั่วโลกพร้อมสามี ไม่ว่าจะเป็นเม็กซิโก บราซิล เปรู ชิลี อาร์เจนตินา ฯลฯ จนมีส่วนช่วยสร้างความเข้มข้นให้แก่ขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีหรือขบวนการเฟมินิสต์ในหลายประเทศอีกด้วย

สายธารความคิดดังกล่าวได้ส่งผลถึงอนาร์คิสต์อเมริกันรุ่นล่าสุดอย่าง จอห์น เซอร์ซาน ที่ตอกย้ำหลักคิดของอนาร์คิสต์ใหม่ซึ่งเชื่อว่ารัฐไม่ใช่ระบบสังคมที่แท้จริง โดยชี้ว่า “บรรดาความศิวิไลซ์ซึ่งปรากฏอยู่ในอารยธรรมต่างๆ มาโดยตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาตินั้นไม่ได้เป็นอารยธรรมที่ก่อกำเนิดขึ้นมาจากรัฐ หรือไม่ได้หมายถึงความเป็นอารยธรรมของรัฐ ตรงกันข้าม…รัฐนั่นเองกลับเป็นผู้ทำลายเสรีภาพและความยุติธรรมหรือทำลายอารยธรรมต่างๆ ในสังคม” (น. 270)

ในยุคโลกาภิวัตน์ ยุคที่ผู้นำในประเทศต่างๆ ของโลกเชื่อว่า โลกได้เชื่อมกันแบบข้ามพรมแดนไปแล้ว บางคนถึงกับประกาศว่าโลกมาถึงจุดจบทางประวัติศาสตร์ ซึ่งมีความหมายถึงความขัดแย้งทางอุดมการณ์สิ้นสุดลงแล้ว แต่ใครเล่าจะเชื่อว่า ในปี 1999 ระหว่างงานเลี้ยงฉลองชัยชนะของทุนนิยมโลก ที่ซีแอตเติล เกิดการต่อต้านพังงานเลี้ยงโลกาภิวัตน์ที่สำคัญครั้งหนึ่งในแง่สัญลักษณ์ กลุ่มอนาร์คิสต์น้อยใหญ่ทั้งในสหรัฐและแคนาดา หรือกลุ่ม DAN (Direct Action Network) ที่เชื่อในโลกาภิวัตน์จากด้านล่าง อันหมายถึงปุถุชนคนชั้นล่างทั้งหลายจะรวมตัวกันประท้วงความไม่เป็นธรรมของพวกนายทุนระดับโลก

การต่อสู้ที่ดำเนินในเวลานั้นกลายเป็นเชื้อไฟตั้งต้นให้แก่การประท้วงของคนที่นิยามตัวเองเป็น ‘ประชาชน 99 เปอร์เซ็นต์’ ของขบวนการ Occupy Wall Street ที่ตามมาหลังจากเหตุการณ์ที่ซีแอตเติลราวๆ 10 ปี โดยกำลังหลักคือกลุ่มอินดิกนาดอส อันมีข้อเรียกร้องปฏิเสธประชาธิปไตยแบบตัวแทน ที่พวกเขาเห็นว่าทำหน้าที่เป็นเพียงนายหน้าของชนชั้นนำนายทุน ‘1 เปอร์เซ็นต์’ แต่กลับครอบครองปัจจัยการผลิตส่วนใหญ่ไว้ในกำมือ

การปรากฏตัวของแนวคิดอนาร์คิสต์ ไม่เพียงเกิดขึ้นใน Occupy Wall Street (2011) ซึ่งเราคงได้เห็นกับตาแล้วในการประท้วงใหญ่ของขบวนการ Black Lives Matter (BLM) เมื่อปี 2020 เรียกได้ว่าชาวอนาร์คิสต์ต่างออกมาร่วมเคลื่อนไหวร่วมกับขบวนการอื่นๆ อย่างมีสีสัน

และในปีเดียวกันกับเหตุการณ์ Occupy ของสหรัฐ ที่สเปนเองท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะงักหนักหนาสาหัส สถิติการว่างงานพุ่งถึง 21.3 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ว่างงานในเขตยูโรโซนที่มีจำนวนถึง 4,910,200 คน โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวนั้นคิดเป็นถึง 43.5 เปอร์เซ็นต์ พวกเขารวบรวมความไม่พอใจผ่านสื่อออนไลน์ที่เติบโตขึ้นอย่างมากหลังศตวรรษที่ 21 จนกลายเป็นที่รับรู้กันในชื่อ ‘¡Democracia Real YA!’ (Real Democracy NOW Platform!)

พวกเขาเสนอประชาธิปไตยทางตรงที่เปลี่ยนให้ประชาชนเป็นผู้โหวตหรือลงมตินโยบายแต่ละนโยบาย หรือกฎหมายแต่ละฉบับแทน ซึ่งไม่ใช่เป็นการโหวตให้กับตัวแทนหรือนักการเมืองที่สามารถทรยศประชาชนได้ทุกเมื่อ ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เองเราจึงได้เห็นบทบาทของ เดวิด เกรเบอร์ นักมานุษยวิทยาและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีอิทธิพลต่อชาวอนาร์คิสต์รุ่นออนไลน์ออกมาร่วมเคลื่อนไหวกับคนหนุ่มสาวอย่างแข็งขัน

ซ้ายขวาหลีกไป อนาธิปไตยมาแล้ว จึงไม่ใช่บทสวดคำสอน หากแต่เป็นเข็มทิศบอกทางที่ช่วยชี้ให้เห็นถึงปัจจุบันสมัย ว่ามีแนวคิดที่แตกหน่อจากอนาร์คิสต์อีกจำนวนไม่น้อยทั้งที่สนับสนุนและหักล้างกับอนาร์คิสต์โดยตรง แม้ผู้เขียนไม่ได้ลงลึกในรายละเอียด แต่ก็ทำให้เห็นทิศทางของข้อถกเถียงที่ยังดำเนินต่อไป เช่น กลุ่มโพสต์-อนาร์คิสต์ (Post Anarchist) กลุ่มสิทธิสตรีอนาร์คิสต์ ที่ผนวกการต่อสู้กับระบอบชายเป็นใหญ่เข้ากับการปฏิเสธรัฐ เป็นต้น

อีกหนึ่งข้อคิดที่หนังสือเล่มนี้ฝากไว้คือ ทุกครั้งที่บ้านเมืองเกิดวิกฤติและรัฐไม่สามารถรักษาเสถียรภาพของสังคม ตามความประสงค์เริ่มแรกได้ สภาวะเพรียกหาอนาร์คิสต์ ก็จะกลับมาครึกครื้นเสมอ

หนังสือเล่มนี้จึงเปรียบเสมือน ‘คู่มือแนะนำแนวคิดอนาธิปไตย โดยใช้ชีวประวัตินำเรื่อง’ จูงมือผู้อ่านไปมองสายธารทางประวัติศาสตร์ของแนวคิดการปฏิเสธผู้ปกครองที่ถึงรากที่สุด อย่างที่เรียกว่า ‘อนาธิปไตย’

 

ซ้ายขวาหลีกไป อนาธิปไตยมาแล้ว

ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ เขียน

สำนักพิมพ์ WAY of BOOK

author

Random books

© WAY MAGAZINE. All rights reserved