คืนความสุขคือเรื่องจอมปลอม ‘ราษฎรกำแหง’ บันทึกของ ‘มนุษย์’ ผู้ไม่สยบยอมต่อรัฐเผด็จการ

คืนความสุขคือเรื่องจอมปลอม ‘ราษฎรกำแหง’ บันทึกของ ‘มนุษย์’ ผู้ไม่สยบยอมต่อรัฐเผด็จการ

จากวันที่ประเทศถูกรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นแท่นตำแหน่งเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อนก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีท่ามกลางข้อครหาสืบทอดอำนาจ นับจากนั้นจนถึงวันนี้ หากไล่เลียงตั้งแต่การเข้ายึดอำนาจ เราอยู่กับหัวหน้าคณะรัฐประหารผู้นี้มาเป็นเวลายาวนานถึง 7 ปีเต็ม

เวลายาวนานเช่นนี้ เราอยากชวนคุณหยุดคิดเพื่อตั้งสติ และทบทวนดูว่าระยะเวลาเกือบทศวรรษที่ผ่านมานั้น ชีวิตของคุณเป็นอย่างไรบ้าง

เพราะนั่นอาจเป็นคำตอบที่พิสูจน์คำพูดของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เคยกล่าวไว้กับประชาชนว่า การรัฐประหารที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เขาต้องการสร้างความสงบและคืนความสุขให้กับประเทศอย่างแท้จริง

รัฐประหารคืออำนาจเถื่อน

ในโลกที่การทำรัฐประหารเพื่อเข้ายึดอำนาจการปกครองโดยกองทัพกลายเป็นสิ่งล้าสมัยและน่ารังเกียจ ทว่าการรัฐประหารโดย คสช. กลับสามารถต่ออายุมาได้ยาวนานจนถึงวันนี้ โดยใช้อำนาจดิบเถื่อนและการปกครองมนุษย์ที่เห็นต่างด้วยปากกระบอกปืน ไม่เพียงเท่านั้นคณะรัฐประหารยังอาศัยการสร้างความชอบธรรมจากเครื่องมือหลากหลาย โดยเฉพาะการใช้ ‘กฎหมาย’ และ ‘กระบวนการยุติธรรม’ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือในการปราบปรามและหยุดยั้งการแสดงออกทางการเมืองอย่างกว้างขวางที่สุดครั้งหนึ่ง หลายๆ เหตุการณ์ระหว่างทางเราจึงเห็นการใช้อำนาจละเมิดสิทธิมนุษยชนหลากหลายรูปแบบ

ครั้นช่วงเวลาแรกๆ ที่การรัฐประหารโดยพลเอกประยุทธ์เกิดขึ้น เราเห็นความพยายามต่างๆ ของประชาชนผู้ไม่สยบยอมต่ออำนาจอันไม่ชอบธรรม ลุกขึ้นมาชุมนุมต่อต้านกระจายตัวไปในหลายพื้นที่ของประเทศ

เราเห็นการชูป้ายประท้วงคัดค้านการยึดอำนาจ เราเห็นการจับกุมผู้แสดงออกต่อต้านการรัฐประหารไปยังค่ายทหารในจังหวัดต่างๆ เราเห็นการเรียกตัว การควบคุมตัวแกนนำหรือบุคคลที่มีประวัติเคลื่อนไหวทางการเมืองจำนวนมากเข้าไป ‘ปรับทัศนคติ’ และบังคับให้เซ็นข้อตกลงไม่เคลื่อนไหวภายในค่ายทหารแทบจะทุกจังหวัด เราเห็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ อาทิ การอ่านหนังสือ 1984 กินแซนด์วิช กินแมคโดนัลด์ การชูสามนิ้ว การดูนาฬิกา เป็นต้น เราเห็นการเขียนข้อความ การเพนท์รูปภาพ จารึกข้อความแห่งการต่อต้านบนพื้นถนนและฝาผนัง

เราเห็นงานศิลปะ บทกวี วรรณกรรม บทเพลง ที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การรัฐประหาร เห็นการรณรงค์ปัญหาของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของ คสช. อาทิ การทวงคืนผืนป่า เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือนโยบายพลังงาน เราเห็นการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากอำนาจของคณะรัฐประหารระหว่างการลงประชามติ

ทั้งหมดทั้งมวลเพียงเพื่อแสดงออกถึงการทวงสัญญาจากคณะรัฐประหารให้คืนอำนาจแก่ประชาชน

การลุกขึ้นต่อต้านและแสดงท่าทีไม่สยบยอมที่เกิดขึ้นเช่นนี้ ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากถูกปราบปรามและข่มขู่คุกคามผ่านการจับกุมดำเนินคดีทางกฎหมาย และข้อหาความมั่นคงต่างๆ ที่ถูกใช้ตีความขยายความเพื่อปิดกั้นสิทธิเสรีภาพที่ออกโดยคณะรัฐประหารเอง

จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึง 22 พฤษภาคม 2562 ช่วงเวลาที่คณะรัฐประหารกุมอำนาจ มีประชาชนอย่างน้อย 106 คน ถูกกล่าวหาดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ โดยมีมูลเหตุของคดีเกิดจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออก ขณะที่ประชาชนอย่างน้อย 121 คน ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือ ยุยงปลุกปั่น ในหมวดความมั่นคงภายในราชอาณาจักร อันกลายเป็นข้อหาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้จนดาษดื่นอย่างไม่เคยมีมาก่อน

นอกจากนี้ยังมีประชาชนอย่างน้อย 428 คน ที่ถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ซึ่งเป็นคำสั่งที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้นเอง

อีกทั้งประชาชนอย่างน้อย 245 คน โดนตั้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 อันเป็นกฎหมายที่ออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ถูกแต่งตั้งโดย คสช.

รวมไปถึงประชาชนอีกอย่างน้อย 144 ราย ถูกกล่าวหาในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในส่วนที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือการแชร์ข้อมูลทางการเมืองในโลกออนไลน์อีกด้วย

ยังไม่นับรวมข้อหาทางอาญาและลหุโทษต่างๆ อีกจำนวนมาก ที่มีพลเรือนถูกกล่าวหาด้วยข้อหาความผิดในหมวดความมั่นคง ข้อหาฝ่าฝืนประกาศ/คำสั่ง คสช. และข้อหาเกี่ยวกับอาวุธปืน ต้องถูกพิจารณาพิพากษาในศาลทหาร ซึ่งคณะรัฐประหารควบคุมสั่งการได้

ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนอะไร?

เหตุใดผู้ที่อ้างว่าจะเข้ามาคืนความสุข ถึงมีอำนาจล้นฟ้า และใช้ข้อกฎหมายเป็นเครื่องมือในการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพประชาชนเช่นนี้?

มนุษย์ผู้ไม่สยบยอม

ท่ามกลางอำนาจอยุติธรรม ผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองหลายคนจำยอมที่จะรับสารภาพ เพื่อให้คดีสิ้นสุดลงโดยเร็วและไม่ต้องรับโทษที่รุนแรงนัก แต่นักต่อสู้หลายคน เลือกที่จะเผชิญหน้ากับคณะรัฐประหารและต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมจนถึงที่สุดด้วยหัวใจอันกล้าหาญ

  • อภิชาต พงษ์สวัสดิ์ นักกิจกรรมผู้ถูกจับกุมเข้าค่ายทหารจากการชูป้าย ‘ไม่ยอมรับอำนาจเถื่อน’ ก่อนถูกดำเนินคดีการชุมนุมทางการเมืองตามมา คดีของอภิชาตนับเป็นความผิดตามประกาศ/คำสั่ง คสช. คดีแรกๆ ที่เกิดขึ้นจากการแสดงออกหลังการรัฐประหาร และยังมีความสำคัญในฐานะเป็นคดีที่มีการต่อสู้ในศาลพลเรือน ก่อนที่คดีลักษณะเดียวกันนี้จะถูกประกาศให้อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร
  • สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ ‘บก.ลายจุด’ และ สิรภพ กรณ์อรุษ เป็นสองนักต่อสู้คนสำคัญที่ควรถูกบันทึก เขาประกาศตัวต่อต้านการรัฐประหารทุกครั้งที่เกิดขึ้น ครั้งนี้เขายืนหยัดเคลื่อนไหวต่อต้านการยึดอำนาจมาตั้งแต่ต้น จนกระทั่งกว่าสองอาทิตย์หลังการยึดอำนาจ เขาถูกเจ้าหน้าที่จับกุมเข้าค่ายทหารและกล่าวหาดำเนินคดีถึง 3 คดี โดยในคดีฝ่าฝืนไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งเรียกของ คสช. นับเป็นคดีการเมืองไม่กี่คดีที่มีการต่อสู้ถึงชั้นศาลฎีกา กินเวลากว่า 3 ปี
  • สิรภพ กรณ์อรุษ ภายใต้นามปาก ‘รุ่งศิลา’ กวีการเมือง นอกจากจะโดนคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. โดยการไม่เข้ารายงานตัวแล้ว เขายังถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 ซึ่งเขายืนหยัดต่อสู้ทุกคดี จนทำให้ถูกคุมขังในเรือนจำมาเกือบ 5 ปี กว่าจะได้รับการประกันตัว สิรภพนับเป็นผู้ต้องขังในคดีการเมืองที่ถูกคุมขังยาวนานที่สุดคนหนึ่งในยุคสมัยนี้ และการต่อสู้คดีของเขาก็ได้ยืนยันถึงเจตจำนงในการอารยะขัดขืนต่ออำนาจอันไม่เป็นธรรม
  • ‘กลุ่มดาวดิน’ นักศึกษากลุ่มนี้ลุกขึ้นหาญกล้าชูสามนิ้วต่อหน้าหัวหน้าคณะรัฐประหาร พวกเขารวมตัวถือป้าย ‘คัดค้านรัฐประหาร’ จนถูกควบคุมตัวและดำเนินคดี ที่ผ่านมาพวกเขาเคลื่อนไหวหนุนเสริมเสียงของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการรัฐต่างๆ ในพื้นที่ภาคอีสาน รวมถึงการถูกดำเนินคดีถึง 5 คดีของ ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา สมาชิกคนสำคัญของกลุ่ม จนนำไปสู่การถูกจองจำในเรือนจำถึงกว่า 2 ปี
  • ในช่วงการลงประชามติ ประชาชนคนเล็กคนน้อยรวมตัวกันรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และทำให้พวกเขาถูกจับกุมและกล่าวหาดำเนินคดี ข้อหาตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ และข้อหาห้ามชุมนุมทางการเมือง แม้รัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหารจะผ่านการลงประชามติ แต่ก็เกิดขึ้นภายใต้การลงคะแนนที่ไม่เสรีและเป็นธรรม จึงนับเป็นเสี้ยวส่วนสำคัญในการยืนยันถึงความไม่ชอบธรรมของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ยังมีผลสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
  • ‘กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง’ ที่รวมตัวกันโดยมีหมุดหมายเพื่อกดดันเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้ง หลังรัฐประหารผ่านไปเกือบ 4 ปี ก็นำไปสู่การดำเนินคดีต่อทั้งผู้จัดการชุมนุมและผู้เข้าร่วมชุมนุมกว่า 130 คน จำนวน 10 คดี

เมื่อ ‘กฎหมาย’ ถูกใช้เป็นเครื่องมือปิดปากประชาชนจากคณะรัฐประหาร จึงเกิดเป็นความพยายามจะสะสางความผิดต่อผู้ละเมิดสิทธิประชาชน โดยใช้กฎหมายเช่นกัน ทว่าคำตัดสินที่ออกมาจะมีลักษณะในทิศทางที่น้อมรับอำนาจของคณะรัฐประหารและการใช้อำนาจอันไม่เป็นธรรม การฟ้องกลับคณะรัฐประหารในข้อหากบฏจากการใช้กำลังล้มล้างรัฐธรรมนูญ และการฟ้องละเมิดทางแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ จากกรณีใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มนักกิจกรรมและนักศึกษา หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ทั้งสองคดีถูกโต้กลับและไม่เป็นผล

ความทุกข์ทรมานบนวาทกรรมคืนความสุข

หากคุณคือวัยหนุ่มสาวที่เพิ่งอายุ 20 หมาดๆ ย้อนเวลาไปสัก 7-8 ปี คุณคือเยาวชนที่กำลังตั้งใจศึกษาเล่าเรียน และมีความหวังว่าระบบการศึกษาในประเทศจะนำพาไปเจอเส้นทางที่เหมาะสมและได้เป็นตัวเอง

หากคุณคือวัยหนุ่มสาวที่เพิ่งอายุ 30 หมาดๆ ย้อนเวลาไปสัก 7-8 ปี คุณคือบัญฑิตจบใหม่ไฟแรง หวังใช้แรงและศักยภาพที่ติดตัวมาในการก่อร่างสร้างตัว มุ่งมั่นทำงานเก็บเงินเพื่อสร้างอนาคตที่ดีให้กับตัวเอง

เวลา 7-8 ปี หลังจากคณะรัฐประหารที่นำโดย ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสมือนหลุมดำที่พรากสิทธิเสรีภาพ พรากอนาคต และพรากเสียงของประชาชนให้หายไปอย่างแท้จริง

หนังสือ ราษฎรกำแหง เป็นตัวแทนแห่งความพยายามในการรวบรวมเรื่องราวของประชาชน รวมถึงเอกสารสำคัญในคดีบางส่วนที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและติดตามความเคลื่อนไหวของคดี ตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา

แม้ปัจจุบันจะยังไม่สามารถนำผู้กระทำความผิด ผู้ใช้ความรุนแรง ผู้ละเมิดสิทธิของประชาชน มาลงโทษได้ แต่ความพยายามบันทึกเรื่องราวเหล่านั้นไว้ ก็เพื่อจะส่งต่อความจริงให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ว่า บ้านเมืองเราเคยมีเรื่องราวใดเกิดขึ้นบ้าง สำคัญที่สุดคือได้รับทราบว่าบทบาทของกองทัพและตุลาการสูงสุดของประเทศเป็นเช่นไรในวันที่ประชาชนถูกปิดปาก เพื่อให้เป็นบทเรียนในการต่อสู้ต่อไปในภายภาคหน้า

นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้

ขอไว้อาลัยแด่สิทธิที่ถูกพราก

 

ราษฎรกำแหง: บันทึก 9 คดี ต้านรัฐประหารในยุค คสช.

จัดพิมพ์โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

 

author

Random books

© WAY MAGAZINE. All rights reserved