The Lemon Tree: มะนาวสีเลือดและน้ำตาที่แห้งเหือดจากการพราก

The Lemon Tree: มะนาวสีเลือดและน้ำตาที่แห้งเหือดจากการพราก

ความรักในแผ่นดินที่มาก่อนความรักในการเป็นมนุษย์นั้น คงไม่นำไปสู่สิ่งใด

ข้อคิดทำนองนี้คงเป็นหนึ่งในอีกหลากหลายข้อคิดที่ผู้เขียน The Lemon Tree อย่าง แซนดี โทแลน (Sandy Tolan) พยายามจะนำเสนอภายในเนื้อกระดาษที่จำกัดเพียง 513 หน้า แต่สามารถบรรจุประวัติศาสตร์อันยาวนานของการต่อสู้และสูญเสียของคนสองชาติพันธุ์ในดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งพันธสัญญาได้อย่างสมบูรณ์แบบ

หลังจากพลิกหน้าปกที่เป็นรูปลูกมะนาว ซ้อนทับไว้ด้วยกระดาษอีก 2 แผ่นที่เขียนคำว่า ‘อาหรับ’ และคำว่า ‘ยิว’ เข้าไปแล้ว แซนดีก็จะค่อยๆ ดึงผู้อ่านเข้าสู่สมรภูมิแห่งความขัดแย้งที่ดำรงต่อเนื่องมาอย่างยาวนานเสียตั้งแต่กระสุนนัดแรกยังไม่ถูกคิดค้นขึ้น และลากยาวผ่านเลือดและน้ำตาไปยังสะเก็ดระเบิดแห่งปัจจุบันที่ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าอาวุธประหัตประหารเหล่านี้นั้นจะหยุดการใช้งานลงในภูมิภาคนี้เมื่อใด

หนังสือเล่มนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ ส่วนของเหล่าตัวละครเอกทั้งหลายที่โลดแล่นอยู่ในเมืองอัล-รามลา ตั้งแต่กลุ่มลูกพี่ลูกน้องชาวอาหรับที่ได้กลับมาเยือนบ้านเกิดเมืองนอนของตนหลังถูกขับไล่ออกไปด้วยไฟสงคราม กับกลุ่มครอบครัวชาวยิวที่ลี้ภัยการสังหารหมู่ของฟาสซิสต์จากประเทศบัลแกเรีย และเริ่มลงหลักปักฐานอยู่ ณ บ้านที่มีต้นมะนาวของผู้อยู่อาศัยเดิม และส่วนที่สอง อันเป็นการบรรยายเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์การเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของประชาชนทั้งชาวยิวและชาวอาหรับเหนือแผ่นดินปาเลสไตน์ตลอดหลายศตวรรษ ประกอบกับฉากการสู้รบของ ‘มหาสงครามเพื่ออิสรภาพ’ ของชาวยิว ที่ถูกเรียกในอีกชื่อว่า ‘นัคบา’ หรือเหตุการณ์มหาวินาศของชาวอาหรับ ที่แสดงให้เห็นถึงการรับรู้ที่แตกต่างกันสุดขั้วของสองชนชาติบนผืนแผ่นดินเดียวกัน

สำหรับในส่วนแรกของหนังสือ เล่าเรื่องผ่านชาวอาหรับผู้สูญเสียบ้านเกิดอย่าง ‘บาเชียร์ ไครี’ ที่เพิ่งได้มีโอกาสกลับมายังเมืองอัล-รามลา อีกครั้งพร้อมญาติอีกไม่กี่คน ความหวังเดียวของเขาคือ การได้เห็นบ้านหลังที่พ่อและแม่ของเขาเคยอยู่อาศัย เตียงที่เคยนอน และต้นไม้ที่เคยปลูก แต่เป็นเพราะเหตุการณ์ในวัน ‘นัคบา’ ครั้งนั้นที่ทำให้ครอบครัวของเขาต้องถูกขับไล่ออกจากบ้านของตนเอง ไม่มีแม้แต่เวลาจะเก็บข้าวของเครื่องใช้ใดๆ ไปด้วย ต้องเดินทางผ่านทะเลทรายร้อนระอุจนแทบขาดใจ พอๆ กับชาวอาหรับอีกนับหมื่นชีวิตที่ดิ้นรนหนีปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลเพื่อไปพึ่งพิงชายแดนของประเทศทรานส์จอร์แดน

โชคชะตายิ่งเล่นตลก เมื่อเขารวบรวมความกล้ากลับมาเคาะประตูบ้านเก่าของครอบครัวเพียงเพื่อจะพบ ‘ดาเลีย เอชเคนนาซี’ หญิงสาวชาวยิวผู้รักมั่นในอิสราเอลอย่างสุดหัวใจ เธอกลับยิ่งต้องเผชิญกับความท้าทายทางศรัทธาต่อรัฐใหม่ของเธอ เมื่อพบว่าเจ้าของบ้านเก่าอย่างบาเชียร์และชาวอาหรับอีกนับหมื่นชีวิตนั้น ไม่ได้ ‘ทิ้งบ้าน’ ไปเฉยๆ ตามคำกล่าวของรัฐบาลอิสราเอล และเริ่มจุดประกายความอยากรู้อยากเห็น การสำรวจความคิดและแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันให้มากยิ่งขึ้น เมื่อเธอเชื้อเชิญบาเชียร์ให้ก้าวข้ามธรณีประตูเข้ามา

ระหว่างบทสนทนาของบาเชียร์และดาเลียที่ถกเถียงถึงสิทธิความเป็นเจ้าของผืนดินและทรัพยากรแห่งปาเลสไตน์ หนังสือเล่มนี้ก็โยนเรากลับเข้าไปในห่ากระสุนและรังปืนกลของทหารอิสราเอลและกลุ่มต่อต้านชาวอาหรับในเหตุการณ์บนหน้าประวัติศาสตร์ เกมการเมืองของผู้นำโลกอาหรับและการพยายามทุกวิถีทางของอิสราเอลที่จะปกป้องแผ่นดินที่เกิดใหม่ สงครามหกวันและความย่อยยับของโลกอาหรับที่ทำให้ความเชื่อมั่นที่จะได้กลับบ้านเกิดของชาวปาเลสไตน์สั่นคลอน รถถังและยานเกราะไปจนถึงฉากการยิงกันอย่างดุเดือดเลือดพล่านมากมายถูกประเคนเข้ามาในหนังสือประหนึ่งฉากหนังสงคราม หากแต่เพียงว่าสงครามที่ว่านั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ทั้งในเมือง ในถนน ในตลาด และในที่ชุมชนที่มีผู้บาดเจ็บล้มตายนับไม่ถ้วนทั้งทางร่างกายและจิตใจ

หนังสือเล่มนี้อาจจะไม่ได้ให้คำตอบที่เป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับทั้งสองชนชาติที่ไม่สามารถสูญเสียเป้าหมายหลักอย่างการยึดครองดินแดนและตั้งรัฐอิสระได้ ถึงแม้ว่าบทสนทนาของบาเชียร์และดาเลียจะทำให้ทั้งสองชนชาติดูเข้าใกล้กันมากยิ่งขึ้น เป็นมิตรกันมากยิ่งขึ้น จนทำให้สันติภาพที่ดูเหมือนไกลเกินจะไขว่คว้า แต่ก็ไม่ยากเกินจะฝันถึง การกล้าเคาะประตูบ้านของคนที่บาดหมางด้วยและกล้าพอที่จะพูดคุยและรับฟังกัน ก็อาจจะเพียงพอแล้วสำหรับการเริ่มต้นใหม่และยุติความตายที่เกิดขึ้นรายวัน ส่วนความฝันของบาเชียร์และดาเลียจะเป็นจริงได้หรือไม่ คงไม่อาจคาดเดาได้ เพราะภายนอกหน้ากระดาษ ณ เวลานี้ จรวดและห่ากระสุนยังคงลอยข้ามเส้นพรมแดนและตัวเลขผู้เสียชีวิตยังคงพุ่งสูงต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีทีท่าว่าจะมีคนอย่างบาเชียร์ที่กล้าเคาะประตูบ้าน และไม่มีคนอย่างดาเลียที่กล้าต้อนรับให้ข้ามธรณีประตูเข้ามาเพื่อพูดคุย

สิ่งดีที่สุดอย่างหนึ่งของ The Lemon Tree อาจจะเป็นการที่ผู้เขียนใช้ข้อมูลหลักฐานที่มีอยู่จริงทั้งหมดแล้วนำมาเล่าอย่างเป็นวัตถุวิสัย (objective) ทำให้ค่อนข้างมั่นใจได้ว่าเรื่องราวต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นบนหน้ากระดาษ ได้เกิดขึ้นไปแล้วและกำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน ผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และเด็กกำพร้ามีตัวตนจริง สงคราม การระเบิด การสั่งขัง เกิดขึ้นจริง จนบางทีหนังสือเล่มนี้อาจจะเป็นผลมะนาวที่ขมที่สุดเท่าที่จะหาอ่านได้ เพราะมันถูกราดรดด้วยเลือดและหยาดน้ำตาที่ไร้ที่สิ้นสุด

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าพิจารณานอกจากว่าดินแดนปาเลสไตน์เป็นของใครกันแน่ หรือใครควรตายไม่ควรตายบ้างนั้น เรากลับพบความเหมือนและเชื่อมโยงกันอย่างน่าแปลกประหลาดระหว่างสองชนชาติที่หันปากกระบอกปืนเข้าหากันเกินศตวรรษ ชาวอาหรับผู้หนีตายออกมาจากปาเลสไตน์นั้น ความจริงก็ไม่ต่างจากชาวยิวที่รอดจากห้องรมแก๊สของนาซีในยุโรปแต่อย่างใด การใฝ่ฝันที่จะได้กลับไปอยู่และตายบนผืนแผ่นดินของตนเองที่ชาวปาเลสไตน์สู้และฝันถึง ก็ไม่ต่างไปจากความโหยหาของชาวยิวที่อยากจะมีที่อยู่เป็นของตนเอง สถานที่ที่พวกเขาจะไม่ถูกดูถูก ถูกเย้ยหยัน และถูกกระทำเยี่ยงการทำปศุสัตว์

บางทีคำกล่าวที่ว่า “ศัตรูของเรา คือหุ้นส่วนหนึ่งเดียวที่เรามีอยู่” ของดาเลีย อาจจะเป็นความจริงก็ได้ และคงไม่มีใครรู้ได้ว่าจะต้องใช้สิ่งใดรดต้นมะนาวนี้แทนหยดเลือดและน้ำตา เพื่อที่จะให้รสของมันไม่ขมเฝื่อนเช่นที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ จะต้องใช้อะไรแทนซากร่างและชีวิตเป็นปุ๋ยบ่มเพาะให้มันเติบโตขึ้นมา The Lemon Tree เองก็ไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดนัก แต่ขณะเดียวกันมันกลับผลักดันให้เราออกไปค้นหาคำตอบเอาเองในโลกแห่งความหลากหลายข้างนอกนั่น

ทำอย่างไรมะนาวจึงจะหายขม และทำอย่างไรต้นมะนาวจะเจริญเติบโตได้ดีในดินที่สมบูรณ์

 

“จงร้องเพลงเพื่อสันติภาพจะดีกว่า

ด้วยเสียงตะโกนก้อง!”

ท่อนหนึ่งของบทเพลง ‘เชียร์ ลาชาโลม’ บทเพลงเพื่อสันติภาพ เขียนขึ้นในปี 1969, สองปีหลังสงครามหกวันสิ้นสุดลง

 

The Lemon Tree

Sandy Tolan เขียน

ไพรัช แสนสวัสดิ์ แปล

สำนักพิมพ์ WAY of BOOK

 

author

Random books

© WAY MAGAZINE. All rights reserved