ในแดนวิปลาส: ชีวิตผู้คนเหวอะหวะ ขาดวิ่น และสูญสิ้นไปอย่างวิปริต

ในแดนวิปลาส: ชีวิตผู้คนเหวอะหวะ ขาดวิ่น และสูญสิ้นไปอย่างวิปริต

เรื่อง: วรรณา แต้มทอง

ในแดนวิปลาส: บันทึกบาดแผลสามัญชนบนโลกคู่ขนาน เราได้เห็นแผลสด แผลเป็น แผลเก่า แผลใหม่ของผู้คนมากหน้าหลายตา แต่ไร้ชื่อเสียงเรียงนามที่แท้จริงในหนังสือเล่มเล็กๆ ของ ‘รัช’ ซึ่งก็เป็นนามแฝงของคนเขียนเช่นกัน เธอยินดีจะบอกกับคนอ่านแค่ว่า รัช เขียน

แม้คนเขียนจะอยากปกปิดชื่อจริงของตัวเองและคนที่อยู่ในหนังสือก็ไม่ใช่สาระสำคัญอะไร ชื่อไม่ได้เป็นหลักประกันความยุติธรรมของชีวิตสามัญชนในแดนวิปลาสอยู่แล้ว ในทางกลับกัน ชื่อไม่ใหญ่ไม่โตนี่แหละที่จะนำพาความวิปริตผิดเพี้ยนมาสู่ชีวิตพวกเขา หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ติดตามความเป็นไปในบ้านเมืองนี้อยู่บ้าง คุณก็จะรู้ได้ไม่ยากว่าคนเขียนกำลังเปิดบาดแผลของใครออกมาบนหน้ากระดาษแผ่นนั้น

ในแดนวิปลาส เป็นหนังสือที่กลั่นออกมาจากสายตาของนักข่าวคนหนึ่งที่เฝ้าสังเกต ‘ประสบการณ์อัปลักษณ์ในทศวรรษก่อนหน้า’ หน้าที่การงานพาให้รัชเข้าไปนั่งอยู่ในห้องพิจารณาคดีของนักโทษการเมืองหลายคนที่ไม่เคยพบเจอกันมาก่อนในชีวิต ได้รู้จักกับภรรยาที่สูญเสียสามีให้กับการไล่ล่าของคนอำมหิต หรือมีโอกาสร่วมฉลองวันเกิดให้กับคนที่ไม่อยู่ในบ้านของพ่อแม่ที่ถูกพรากลูกชายไปเพราะการใช้กฎหมายที่บิดเบี้ยว แต่ไร้หนทางโต้แย้ง

รัช เก็บทุกความเจ็บปวดของผู้คนในแดนวิปลาสที่ต้องมีชีวิตอยู่ท่ามกลางทุ่งดอกไม้แสนสวย แต่มีหุ่นไล่กาเป็นกระบอกปืน มงกุฎเปื้อนเลือด ตราชูเอียงกระเท่เร่ และเศษซากโครงกระดูกของผู้คนบนโลกคู่ขนาน ทั้งหมดอัดแน่นและทะลุผ่านตัวอักษรออกมาเป็นภาพปกหนังสือของเธอที่สวยงาม แต่เต็มไปด้วยมลทินและคำถาม

“เรารู้ว่ายักษ์น่ากลัวแค่ไหน เมื่อมันจับเอามนุษย์ตัวจิ๋วเข้าปาก เรารู้ว่าหมาดุแค่ไหน เมื่อมันฝังเขี้ยวลงในขาต่อหน้าต่อตา”

สุภาษิตคิดเองที่ดูพิลึกพิลั่นของคนเขียน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเป็นความจริง เมื่อใดที่ความอยุติธรรมเดินทางมาถึงชีวิตเรา นาทีนั้นเราจะรับรู้ได้เองถึงความสยดสยองของมัน เหมือนอย่างที่สามัญชนในหนังสือเล่มนี้รู้แล้วว่ายักษ์ร้ายแค่ไหน และหมาชั่วมีอิทธิฤทธิ์ทำร้ายทำลายชีวิตพวกเขาให้ย่อยยับได้เพียงใด

รัชบอกเล่าเรื่องราวและบาดแผลของผู้คนที่เธอเก็บสะสมมาตลอด 10 ปีในโลกคู่ขนาน ผ่านเนื้อหา 3 บทด้วยกัน — พ่อ ไพล่ และพายุ

 

[พ่อ] 

ในเรื่องของพ่อ เมื่ออ่านแล้วเราพบบาดแผลเหวอะหวะของลูกเต็มไปหมด หนึ่งในนั้นคือแผลเป็นของลูกชายวัย 8-9 ขวบ จากพ่อสามัญชนมากๆ คนหนึ่ง ทั้งคู่ต้องแยกจากกัน หลังผู้เป็นพ่อถูกศาลตัดสินจำคุก 13 ปี ด้วยเหตุที่ปล่อยให้มีข้อความของคนอื่น 2 ข้อความ ปรากฏบนหน้าเว็บไซต์ที่เขาดูแล เมื่อสิ้นเสียงอ่านคำพิพากษาอันทรงพลังของศาลที่ไม่ไยดีต่อชีวิตผู้คน ราวกับเป็นเครื่องจักรตัดสินคดีตามตัวบทกฎหมาย เขียนสั่งไว้ว่าอย่างไร ก็ตัดสินออกมาไปตามนั้น สมกับเป็นนักนิติอักษรศาสตร์

เด็กชายที่เคยเป็นเสมือนความรักและจิตใจของพ่อ กลายเป็นภาระก้อนใหญ่ในชีวิตของคนอื่นทันที คนแปลกหน้าที่เพิ่งรู้จักกับพ่อ ใช้ความเมตตารับลูกชายของนักโทษไปดูแลระหว่างที่พ่อของเด็กต้องถูกจองจำ แต่โทษทัณฑ์ของพ่อไม่ใช่แค่วันหรือสองวัน การจากกันครั้งนี้นานพอที่จะทำให้เด็กชายเป็นส่วนเกินของครอบครัวผู้ใจบุญและเติบโตมาอย่างโดดเดี่ยวในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต

“ในวันปีใหม่ ครอบครัวผู้อุปการะจัดงานเลี้ยงสนุกสนาน ลูกๆ ของพวกเขาชวนเพื่อนมาร่วมงานสังสรรค์อย่างครึกครื้น เด็กชายต้องเก็บตัวอยู่ในห้อง ไม่ได้รับอนุญาตให้ลงมายุ่มย่ามกับคนอื่น และอีกมากมายหลายเรื่องที่เด็กชายไม่เคยปริปากเล่าจนพ่อออกจากคุก”

คุกไม่ได้เอาแค่เวลาไปจากชีวิตของพ่อ แต่มันยังเอาชีวิตปกติที่ควรจะเป็นของลูกชายนักโทษคนหนึ่งไปด้วย ระหว่างที่พ่อติดคุก เด็กชายก็เหมือนถูกขังอยู่ในความ (ไม่) ดูแลของคนแปลกหน้าเช่นกัน

 

[ไพล่]

ไพล่อัดแน่นไปด้วยแผลบาดของ 5 สามัญชนที่แสดงความคิดเห็นทั้งทางการเมืองและไม่การเมือง ซึ่งควรจะเป็นสิทธิเสรีภาพอย่างหนึ่งของพวกเขาในประเทศประชาธิปไตย แต่ในแดนวิปลาสแห่งนี้การมีความคิดแตกแยกออกไปจากความเชื่อของคนบางกลุ่ม รังแต่จะนำพามาซึ่งความเจ็บปวดในชีวิตของตัวเองและครอบครัว

รัชหยิบเอาซอกหลืบของชีวิตสามัญชนที่ไม่สามารถหาอ่านได้จากข่าวทั่วไปที่ไหนออกมาให้คนอ่านได้รับรู้ถึงความบอบช้ำนั้น

ความหนักใจแสนสาหัสของนักศึกษากฎหมายหนุ่ม ก่อนที่เขาจะต้องพยักหน้ารับสารภาพในคดีที่พยายามต่อสู้มาตลอด เบื้องหน้าเขาเต็มไปด้วยรอยยิ้ม แต่เบื้องหลังครอบครัวอันเป็นที่รักของเขาแทบพังทลายลงต่อหน้า เขาที่ขาข้างหนึ่งเป็นนักสู้ของขบวนการประชาธิปไตย และอีกข้างเป็นลูกชายของพ่อกับแม่ เป็นพี่ชายของน้องสาว…เลือกอะไรได้บ้าง

สลอธหนุ่มและสลอธแก่ 2 สามัญชนที่ไม่เคยออกหน้าเป็นแกนนำที่ไหน คนหนึ่งเป็นเพียงพนักงานโรงงานอายุ 19 ปี อีกคนเป็นผู้ป่วยจิตเภทอายุ 60 ปี จุดเปลี่ยนของชีวิตทั้งคู่อยู่ที่การแสดงความคิดของพวกเขาไปกระทบใจใครหลายคน จนส่งผลให้ชีวิตต้องกระเด็นเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในแบบที่รัชกล่าวว่า

“การสืบพยานเป็นไปอย่างเข้มข้น อัยการเอาเป็นเอาตาย เก็บทุกเม็ดทุกดอกเพื่อให้การลงโทษเป็นไปอย่างสมบูรณ์ที่สุด หนักหน่วงที่สุด”

อีกคนที่รัชเลือกเอ่ยถึงในหนังสือเล่มนี้ เป็นชะตากรรมของภรรยาผู้ลี้ภัยทางการเมืองคนหนึ่ง หลังจากมีข่าวหนาหูว่าสามีของเธอและเพื่อนถูกฆ่าอย่างเหี้ยมโหด เธอต้องหล่อเลี้ยงความหวังอันริบหรี่ของตัวเองด้วยคำทำนายของคนทรงเจ้าเข้าผี และเก็บเอาบทสนทนาครั้งสุดท้ายของทั้งคู่ในแอพพลิเคชั่นสีเขียวมาเป็นประวัติศาสตร์ความรู้สึกที่ยังคงเด่นชัดในใจภรรยาที่ยังอยู่และจดจำ

 

[พายุ]

ทศวรรษก่อนพายุได้โหมกระหน่ำเข้าสู่ชีวิตของสามัญชนหลายคน ทั้งคนหัวแข็งไปจนถึงคนที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร แต่เมื่อใดที่พายุเลือกแล้วว่าจะพัดมาทางเขา “เมื่อนั้นเองที่เขารู้สึกถึงความมืดมิด ยิ่งกว่าความมืดมิดใดที่เคยเจอ”

พายุรุนแรงตรงที่คนเขียนเริ่มเล่าจากชีวิตของยามจากต่างจังหวัดคนหนึ่งที่ไม่รู้เรื่องอะไร หลายวันคืนเอาแต่ตั้งใจฟังปราศรัยของเวทีการชุมนุมสีแดงผ่านวิทยุ ก่อนที่เขาจะอดรนทนไม่ได้ ตัดสินใจลาออกจากงานเดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาเสนอตัวเป็นการ์ดให้กับการชุมนุมที่เขาเคยได้ยินแต่เสียง

เขามาทันได้เห็นผู้ชุมนุมถูกพายุฝนที่ตกลงมาเป็นกระสุนปืนพรากชีวิตไปต่อหน้าต่อตา

ก่อนที่วันถัดมาจะมีผู้คนออกมาล้างเลือดบนถนนกันอย่างชื่นบานราวกับได้ทำความดีครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต เหตุการณ์นี้ทำเอาใครคนหนึ่งคลุ้มคลั่งและพาตัวเองไปทำอะไรบางอย่าง จนคนธรรมดาคนหนึ่งต้องกลายเป็นนักโทษคดีอาชญากรรมทางการเมืองอย่างเจ็บปวด และไม่มีใครอยากยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือในคดีที่ใช้อาวุธร้ายแรงลักษณะนั้น

รัชส่งท้ายพายุลูกนี้ด้วยชีวิตของนักต่อสู้ที่ดื้อด้าน อดีตนักโทษการเมืองที่ย้ายไปอยู่ในภพภูมิอื่น แต่ทิ้งคำขอครั้งสุดท้ายเป็นการฝากเก็บกวาดข้าวของในอพาร์ตเมนต์เก่าลงลังและนำไปบริจาค ผลลัพธ์ของคนดื้อในแดนวิปลาสมักต้องจบลงที่คุก เธอคนนี้ก็เช่นกัน เวลาในคุก 7-8 ปี ไม่ได้ทำให้การต่อสู้ของเธอเป็นแรงบันดาลใจหรือได้รับการกล่าวถึงจากนักเคลื่อนไหวรุ่นหลังมากมายเท่าใดนัก ฉันคิดว่านี่เป็นโศกนาฏกรรมที่น่าเศร้าอย่างหนึ่งของนักต่อสู้ที่ยอมแลกหลายอย่างในชีวิต เพื่อการเคลื่อนไหวของขบวนการประชาชน แต่ไม่ได้รับการจดจำ

“การต่อสู้ของเธอไม่ได้รับการกล่าวถึง ไม่มีมวลชนต่อแถวต้อนรับอย่างอบอุ่น กระบวนการยุติธรรมบิดเบี้ยวแทบไม่ถูกจารึกไว้ที่ใด พรรคการเมืองที่รักยิ่งของเธอก็พ่ายแพ้ยับเยินครั้งแล้วครั้งเล่า เรียกได้ว่า เธอออกมาเฉลิมฉลองอิสรภาพด้วยขาลงของทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งชีวิตของตัวเอง ชีวิตของประเทศชาติ”

ก่อนที่เธอจะจบชีวิตลงด้วยโรคร้ายอย่างตัวคนเดียว “ชีวิตที่นี่ช่างโดดเดี่ยวและยากไร้”

เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับชีวิตของผู้คนในแดนวิปลาส เป็นบททดสอบความเป็นมนุษย์ของคนอ่านและคนเขียนได้เป็นอย่างดี เราเห็นอะไรในสังคมที่วิปริตผิดปกติของทศวรรษที่แล้ว และยังดำเนินอยู่ต่อไปในทศวรรษนี้…รัชกอบเอาบาดแผลของสามัญชนในทศวรรษก่อนมาบันทึกไว้ในหนังสือเล่มนี้ได้อย่างแหลมคมที่สุด บอบช้ำที่สุด และอยุติธรรมที่สุด

 

ในแดนวิปลาส

ผู้เขียน รัช

สำนักพิมพ์ พารากราฟ

 

author

Random books

© WAY MAGAZINE. All rights reserved