หนึ่งปีแห่งการอ่าน ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’

หนึ่งปีแห่งการอ่าน ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’

เรื่อง: รุจิภาส กิจติเวชกุล

 

ผมหยิบหนังสือ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว มาเปิดอ่าน ด้วยได้ยินกิตติศัพท์ความท้าทายและยิ่งใหญ่ทั้งปวงของหนังสือเล่มนี้ แต่อ่านไปได้เพียงไม่ถึงตอน ก็ต้องปวดหัวไปกับตัวหนังสือเป็นพรืดและ ‘การค้นพบ’ น้ำแข็งในโลกยุคบรรพกาลที่สิ่งต่างๆ ยังไม่มีชื่อเรียก ตำนานถูกปิดลงเพียงเท่านี้ ผมปิดหนังสือไปหนึ่งปีเต็ม

ปีหนึ่งอาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงคนคนหนึ่งไปมาก แต่หนังสือสักสิบเล่ม ประกอบด้วย ชีวประวัตินักรบอหังการ เจงกิสข่าน ประวัติศาสตร์การถูกกดขี่และความสิ้นหวังของชนพื้นเมืองอเมริกา ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี มิตรภาพของเพื่อนฝูงที่เจือปนด้วยความโดดเดี่ยว พันธุ์หมาบ้า วรรณกรรมจิกกัดอนุรักษนิยม ปีศาจ จุลสารการเมือง สามัญสำนึก นิยายปรัชญาตะวันตก โลกของโซฟี หนังสือสวนกระแสการเมืองในยุคผีคอมมิวนิสต์ โฉมหน้าศักดินาไทย ชีวิตที่ถูกเอาเปรียบของนายฟัก คำพิพากษา วรรณกรรมที่เขียนเป็นพรืด เงาสีขาว (อ่านไม่จบ) และ สายตระกูลเอลฟ์พลัดถิ่นที่ยุ่งเหยิง ตำนานแห่งซิลมาริล ถ้าท่านเคยอ่านเรื่องเหล่านี้ จะพบว่าใน หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว มีบางส่วนคล้ายกับหนังสือที่ข้าพเจ้าอ่านในหนึ่งปี เรื่องเหล่านี้ จึงเป็นสารตั้งต้นสำคัญของข้าพเจ้าในการอ่านหนังสือเล่มนี้อีกครั้ง

หนังสือนั้นเปลี่ยนแปลงความคิดอย่างเห็นได้ชัด ผมกลับมาหยิบหนังสือเล่มนี้จากชั้นวาง อ่านมันอย่างลื่นไหล

‘สัจนิยมมหัศจรรย์’ แนวหนังสือก็ทำให้สงสัยแล้วว่า เมื่อมหัศจรรย์ เพราะอะไรถึงไม่เรียกมันว่าแฟนตาซี เพียงเปิดมาไม่กี่บท หลังจากบูเอนดิยาคนแรกซัดหอกทะลุคอหอยเพื่อน ผู้อ่านก็ได้เจอกับผีเสียแล้ว และผีตนนี้ก็ทำให้เกิดตำนานบทการสร้างเมืองมาคอนโด ครั้งนี้ ผมปล่อยตนเองให้ไหลไปกับเรื่อง อ่านเรื่องของยิปซีลากแท่งเหล็กที่ดูดหม้อไหตามบ้าน หรือมาเยือนอีกครั้งพร้อมพรมเหาะ ตื่นตาตื่นใจไปกับการเล่นแร่แปรธาตุ ไม่กังขากับยิปซีเมลกียาเดสที่ตายแล้วตายอีก

ผม ผู้ที่เคยอ่านประวัติศาสตร์ของลาตินอเมริกาอย่างตื้นเขิน และก่อนอ่านเพียงทราบมาก่อนว่าเรื่องนี้จะมีการสังหารหมู่บริษัทกล้วย (การสังหารหมู่คนงานของบริษัทผลไม้สหรัฐ หรือ Banana Massacre) ซึ่งเหตุการณ์นั้นในหนังสือคือการบันทึกประวัติศาสตร์ที่ถูกลืมเลือน ยิ่งผมอ่าน ผมยิ่งมีความคิดขึ้นมาว่า ทุกตัวละครที่มาร์เกซเขียนลงไป ไม่ได้ถูกเขียนอย่างขอไปที แต่มันคือภาพสะท้อนของเหตุการณ์อะไรสักอย่างในโคลอมเบียเป็นแน่ หากเป็นตัวละครอย่างผู้พันหรือวัยรุ่นซ้ายจัดอย่าง อาร์คาดิโอ นั่นก็พอจะเดาได้ว่าเกี่ยวข้องกับสังคมแน่ อย่างไรก็ตาม ตัวละครที่ผมสนใจอย่างยิ่งคือ เฟอร์นันดา สะใภ้ของตระกูลบูเอนดิยา ผู้นำวัฒนธรรมผู้ดีเข้ามาในตระกูล บังคับให้คนในบ้านเป็นผู้ดีอย่างเธอ ตัดสินทุกการกระทำทุกคนว่าไม่เป็นผู้ดีพอ หรือ เรเมดิออส ที่ชอบกินดินและปูนขาว และเป็นผู้ที่แพร่โรคนอนไม่หลับไปทั่วมาคอนโด

 

แผนผังตระกูลบูเอนดิยา

 

นวนิยายชื่อ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว แต่กลับเป็นเรื่องของตระกูลบูเอนดิยาเจ็ดรุ่น เมื่อสัมผัสตัวละครทุกตัว จึงรู้สึกร่วมกับความโดดเดี่ยวนั้น บ้านที่เต็มไปด้วยคนไม่ได้ขจัดความโดดเดี่ยวในหัวใจของเหล่าออเรลิยาโนเลย พวกเขายังคงขังตนเองในห้องและหมกมุ่นอยู่กับการประดิษฐ์หรืออ่านหนังสือ หรือจะออกไปใช้ชีวิตสำมะเลเทเมาแบบเหล่า โฆเซ อาร์คาดิโอ แต่กลับมิอาจเติมเต็มความว่างเปล่าในจิตใจลงได้ ในทุกตัวละครล้วนมีพฤติกรรมแปลกๆ แต่ผู้อ่านก็ยังคงเชื่อว่าตัวละครเหล่านั้นมีความเป็นมนุษย์ ชะตาชีวิตทุกตัวก็ยังคงแนวจินตนาการสัจนิยมไว้ เช่นเมื่อพันเอกออเรลิยาโนอยู่ในท้องอูซูล่า เขาร้องไห้ แม้คนอื่นจะบอกอูซูล่าว่าเป็นลางดีอย่างไร นางก็รู้แก่ใจว่า คนคนนี้จะรักใครไม่เป็นทั้งชีวิต

เรื่องดำเนินโดยไม่ได้ให้ความสำคัญเพียงความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในเมืองมาคอนโดก็ยังคงผุดขึ้นมา ตั้งแต่การเลี้ยงนกเพื่อให้พ่อค้าพบเมืองจนมีคนอาศัยเพิ่มขึ้น จนรัฐบาลส่งคนมาบริหารจัดการจนเกิดชนวนจากการโกงเลือกตั้งของฝ่ายขวา โหมไฟความอหังการของพันเอกออเรลิยาโน ไปถึงยุคล่าอาณานิคมใหม่ กระทั่งหลงเหลือเพียงความสิ้นหวังและปลิวหายไปกับลม

บ้านสีขาวที่มีเสียงดนตรีขับกล่อมและสมาชิกครอบครัวมากมาย กลับกลายเป็นบ้านผุพังที่เต็มไปด้วยปลวกและมดกินเนื้อ มีคนตายซากอยู่ไม่กี่คน และหายไป ภาพเหล่านั้นดูผ่านไปอย่างรวดเร็วและดูผ่านไปอย่างเชื่องช้า ช่างน่าใจหายยิ่งนัก มันคล้ายว่าบูเอนดิยาคนแรกเพิ่งเดินทางมาถึงเมื่อวาน และคล้ายผ่านมาร้อยสี่สิบกว่าปีจริงๆ มันเป็นความรู้สึกอาลัยและปลอดโปร่งในเวลาเดียวกัน

 

ในบทสัมภาษณ์ท้ายเรื่องของมาร์เกซได้เล่าถึงแรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องของพระที่ถือถ้วยโกโก้แล้วลอยได้ ว่ามาจากพระถือแก้วไวน์แล้วลอยได้ ผมเลยอยากรู้ว่าผู้อ่านจะเชื่อเหมือนผมไหม มาร์เกซทำราวกับว่า อย่าได้ถือหนังสือของผมจริงจังไปหน่อยเลย ทั้งยังเคยกล่าวว่า เรื่องนี้มันไม่มีอะไรเลย แค่เรื่องของสามีภรรยาที่ลูกอาจจะเกิดมามีหางหมู พอผ่านไปเจ็ดรุ่น ลูกก็มีหางหมู–แค่นั้นเอง

ใดๆ เหล่านี้คงมาจากความโดดเดี่ยวทางความคิด เมื่อความจริงถูกบิดเบือนและปกปิด จึงมีเพียงการนำความมหัศจรรย์มาพ่วงสัจนิยม เพื่อพูดในสิ่งที่ไม่อาจพูด สังคมที่วุ่นวายและไร้ซึ่งอิสรภาพทางความคิดกลับยิ่งขับเน้นผลงานขบถวิพากษ์สังคมชิ้นเอกของโลกวรรณกรรม

ในความเห็นของข้าพเจ้านั้น วรรณกรรมคือกระจกสะท้อนความเป็นไปของยุค โดยจะเชื่อมโยงผู้อ่านและพาผู้อ่านเข้าไปในยุคนั้นๆ ด้วยพฤติการณ์และความรู้สึกนึกคิดของคน ทุกผู้คนล้วนโดดเดี่ยว ไม่มีใครสักคนที่จะมีผู้ที่เข้าใจอย่างถ่องแท้ จวบจนขณะนี้ นิยายเรื่องนี้จะยังคงมีชีวิตตราบใดที่ในสังคมยังคงมีการเอารัดเอาเปรียบอย่างเป็นระบบ แบบที่เมืองมาคอนโดต้องเจอ ตราบใดที่คนต้องอยู่ในสังคมแห่งความสิ้นหวัง อีกทั้งเมื่อเป็นมนุษย์ ย่อมหลีกหนีไม่พ้นความโดดเดี่ยว ผู้อ่านจึงไม่ต้องมีอายุร่วมร้อยปีเพื่ออ่านและเชื่อมโยงกับมัน

หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว

กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ เขียน

ปณิธาน-ร.จันเสน แปล

สำนักพิมพ์ สามัญชน

 

หมายเหตุ: บทความนี้อ้างอิงการถอดเสียงอ่านจากฉบับแปลจากภาษาอังกฤษของสำนักพิมพ์สามัญชน แต่ปัจจุบันนิยายเล่มนี้มีการจัดพิมพ์ใหม่และเป็นการแปลตรงจากฉบับภาษาสเปน โดยสำนักพิมพ์บทจร

author

Random books

© WAY MAGAZINE. All rights reserved