Returning to Omelas: ล้างคำสาป ปลดโซ่ตรวน คืนความยุติธรรมให้กับเด็กคนนั้น

Returning to Omelas: ล้างคำสาป ปลดโซ่ตรวน คืนความยุติธรรมให้กับเด็กคนนั้น

ท่ามกลางสถานการณ์การต่อสู้ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน การหยิบวรรณกรรมเล่มบางๆ เรื่อง The Ones Who Walk Away From Omelas ขึ้นมาปัดฝุ่นและอ่านในบริบทใหม่อีกครั้งก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย ผู้อ่านหลายคนอาจมีโอกาสได้ทำความรู้จักกับหนังสือเล่มนี้ผ่านเพลง ‘Spring Day’ ที่ร้อยเรียงโดยศิลปินวงเกาหลีอย่าง BTS โดยชื่อเมือง Omelas นั้นได้ไปปรากฏอยู่ใน MV ดังกล่าว

The Ones Who Walk Away From Omelas เป็นเรื่องสั้นแนวปรัชญาที่ประพันธ์โดยนักเขียนชาวอเมริกัน เออร์ซูลา เค. เลอ กวิน (Ursula Kroeber Le Guin) ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1973 โดยในช่วงปลายทศวรรษ 1960 จนถึงต้นทศวรรษ 1970 นี้เองที่อาจนับได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกา เหล่าหนุ่มสาวเสรีชนผู้ไม่เชื่อในสงครามและความรุนแรงจำนวนหนึ่งต่างออกมาเคลื่อนไหวเพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านการส่งทหารไปร่วมรบในสงครามเวียดนาม ภายใต้คำขวัญ ‘Flower Power’ (พลังแห่งดอกไม้) การเดินขบวนประท้วงของพวกเขาเปรียบได้กับกลีบดอกไม้บานสะพรั่งที่หยัดท้าอย่างกล้าแกร่งและหล่อเลี้ยงด้วยความเชื่อมั่นในสันติวิธี โดยการประท้วงครั้งนั้นได้ผลิบาน อีกทั้งอุดมการณ์ได้ส่งต่อ จนในปี ค.ศ. 1969 มีผู้ร่วมเดินขบวนประท้วงหลักแสนคนในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กระทั่งปีถัดมา เหตุการณ์อันเลวร้ายได้ปะทุขึ้น

วันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1970 กองกำลังรักษาดินแดนแห่งชาติ รัฐโอไฮโอ (Ohio National Guard) ได้ระดมยิงปืนเข้าใส่บรรดานักศึกษาที่กำลังชุมนุมประท้วงต่อต้านสงครามเวียดนาม ณ มหาวิทยาลัยเคนท์สเตท (Kent State University) โดยการกราดยิงผู้ประท้วงครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 4 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 9 คน ซึ่งนับว่าเป็นจุดพลิกผันสำคัญทางประวัติศาสตร์ชาติสหรัฐอเมริกาที่รัฐแสดงออกอย่างเป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นศัตรูต่อเหล่าหนุ่มสาวเสรีชนผู้เป็นส่วนหนี่งของการขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งเหตุการณ์สังหารผู้ประท้วงนี้เองที่อาจมีอิทธิพลต่องานเขียนของ เออร์ซูลา เค. เลอ กวิน โดยเธอได้ตัดสินใจตีพิมพ์เรื่องสั้น The Ones Who Walk Away From Omelas ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1973 และคว้ารางวัลฮิวโก สาขาเรื่องสั้นยอดเยี่ยม (Hugo Award for Best Short Story) ในปี ค.ศ. 1984 จากเรื่องนี้อีกด้วย

ยินดีต้อนรับสู่ Omelas ‘ดุจเทพสร้าง’

เออร์ซูลา เค. เลอ กวิน ได้พาผู้อ่านไปเยี่ยมเยือนและทำความรู้จักกับเมือง Omelas ผ่านสายตาของบุคคลภายนอก ในตอนต้นเรื่องนั้นผู้อ่านจะพบว่า Omelas เป็นดั่งเมืองแห่งความผาสุก เมื่อฤดูร้อนผลัดมาเยี่ยมเยือน ผู้คนต่างก็หลั่งไหลเข้ามายังเมืองแห่งนี้ พวกเขาร่วมเดินขบวน ร่ายรำอย่างมีความสุขท่ามกลางเสียงดนตรีที่บรรเลงอย่างไพเราะและอาคารบ้านเรือนที่แต่งแต้มไปด้วยสีสัน และหากกล่าวถึงสภาพความเป็นอยู่ ในเมืองนี้ประชากรทุกคนล้วนเท่าเทียมกัน พวกเขาต่างก็ใช้ชีวิตอย่างสงบสุข โดยไม่จำเป็นต้องมีกษัตริย์ปกครองโดยไม่มีการปกครองระบอบกษัตริย์ หรือแม้แต่ชนชั้นเจ้าขุนมูลนาย ไม่มีไพร่ทาส ว่ากันว่าผู้คนที่นั่นได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ มีสติปัญญาฉลาดปราดเปรื่อง อีกทั้งยังปรากฏไมตรีจิตและเป็นมิตรในทุกหนแห่ง พวกเขาได้รับสวัสดิการที่เพียบพร้อม มีคุณภาพชีวิตที่ดี ใบหน้าจึงประดับประดาไปด้วยรอยยิ้ม อาจกล่าวได้ว่าเมือง Omelas เป็นสังคมในอุดมคติที่ใครหลายคนฝันถึง หรือที่เรียกกันว่า ‘ยูโทเปีย’ เลยก็ว่าได้

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ใบหน้าอันยิ้มแย้มของผู้คนในเมืองนี้ พวกเขาต่างเก็บซ่อนความลับที่เรียกได้ว่าเป็น ‘คำสาป’ ผู้ประพันธ์ได้ใช้สรรพนามบุรุษที่สองแทนตัวผู้อ่าน เพื่อพาเราไปทำความรู้จักกับเมืองนี้ให้มากยิ่งขึ้น และจมดิ่งไปกับด้านที่มืดมนที่สุดของเมือง ภายใต้อาคารอันโออ่าแห่งหนึ่ง หรืออาจจะเป็นชั้นใต้ดินของบ้านพักหลังใหญ่ที่มิอาจทราบได้ มีห้องขนาดเล็กห้องหนึ่งลงกลอนไว้ ภายในห้องอันคับแคบนี้ไม่มีหน้าต่าง มีเพียงแสงจากภายนอกเล็ดลอดผ่านเข้ามาทางรอยร้าวบนฝ้าเพดานเล็กน้อยเท่านั้น กลิ่นเหม็นสาบคละคลุ้งไปทั่วทั้งห้อง บนพื้นที่อับชื้นและสกปรกมีเด็กผอมโซคนหนึ่งอายุราว 10 ขวบ นั่งอยู่

ผู้ประพันธ์ได้บรรยายลักษณะเด็กผู้ถูกกักขังคนนี้ไว้อย่างน่าเวทนา โดยกล่าวถึงเด็กคนนี้ด้วยสรรพนามว่า ‘มัน’ (it) ซึ่งสามารถบอกเป็นนัยได้ว่า เขาได้รับการปฎิบัติราวกับว่าไม่ใช่มนุษย์ ลักษณะท่าทางของเด็กคนนี้ดูงุ่มง่าม อ่อนล้า อีกทั้งสีหน้าแสดงความรู้สึกหวาดผวาอยู่ตลอดเวลา พร้อมกับส่งเสียงกรีดร้องอ้อนวอนซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า “โปรดปล่อยหนูไปเถอะ หนูสัญญาว่าจะเป็นเด็กดี!” (Please let me out. I will be good!) ซึ่งผู้เยี่ยมเยือนต่างเงียบเฉยไร้ปฏิกิริยาโต้ตอบ

ในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต ประชากรทุกคนในเมือง Omelas จะได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของเด็กคนนี้ รวมถึงคำสาปของเมืองที่ว่า การคุมขังเด็กคนนี้ไว้คือเครื่องประกันความผาสุกของชาวเมือง Omelas กล่าวอย่างง่ายคือ การที่ชาวเมือง Omelas ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในยูโทเปียทุกๆ วันนั้นต้องแลกมากับการสูญเสียอิสรภาพของเด็กผู้โชคร้ายคนนี้นั่นเอง คำสาปที่เล่าขานกันมาอย่างช้านานระบุว่า หากเด็กผู้นี้เป็นอิสระหรือได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ความศิวิไลซ์ ความงดงาม รวมถึงความสุขสำราญของผู้คนใน Omelas ก็จะถูกทำลายหายไป ทำให้ไม่มีผู้ใดกล้าหยิบยื่นความช่วยเหลือให้เด็กผู้เคราะห์ร้าย ว่ากันว่าคำสาปนี้มีเงื่อนไขที่เคร่งครัดยิ่งนัก แม้แต่ถ้อยคำเอื้อนเอ่ยที่แสดงถึงความปรารถนาดีก็เป็นเรื่องที่ต้องห้าม ชาวเมืองบางคนใช้เท้าสะกิดและเตะให้ ‘มัน’ ลุกขึ้น ชายตามองด้วยความรู้สึกขยะแขยง แสดงออกว่าตนนั้นเหนือกว่า หลายคนที่ได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของเด็กคนนี้ไม่เคยกลับมาซ้ำอีกเลย บ้างก็กลับมาเมียงมองเป็นบางครั้งบางคราว

ทว่าก็มีคนหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งที่รับไม่ได้เมื่อได้รับรู้ถึงเรื่องราว พวกเขาสะเทือนใจที่พบว่าความสุขของพวกเขาผูกมัดกับความอยุติธรรมอันขมขื่นของเด็กคนหนึ่ง ความรู้สึกผิดได้เข้าแทรกซึมและอยู่เหนือทุกความรู้สึก เมื่อพวกเขากลับบ้านไป คิดทบทวน ไตร่ตรองในสิ่งที่เกิดขึ้น จึงได้ตัดสินใจร่ำลาเมือง Omelas และออกเดินทางเสาะแสวงหาเส้นทางชีวิตของตนโดยลำพัง ด้วยสำนึกอันแน่วแน่และไม่คิดจะหวนกลับมายังเมืองนี้อีกเลย

ฉากท้ายๆ ของ MV เพลง ‘Spring Day’ โดย BTS

Omelas กับสถานการณ์บ้านเมืองไทยในปัจจุบัน

เมื่อย้อนกลับมาอ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้อีกครั้ง ทำให้รู้สึกอดไม่ได้ที่จะนึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ระบอบการปกครองในเมืองไทยนั้นมีความซับซ้อนและห่างไกลจากความเป็นยูโทเปียแบบ Omelas อยู่มากโข อาจกล่าวได้ว่ามีทุกอย่างที่เมือง Omelas ไม่มีเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นการมีอยู่ของสถาบันกษัตริย์ การคงอยู่ของลำดับชนชั้นต่างๆ ที่ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ระบบไพร่ทาส แต่ก็นับว่าคล้ายคลึงอยู่ไม่น้อย เพียงแต่มันได้แปรสภาพและพรางตัวในรูปแบบที่ต่างออกไปตามกาลเวลาเท่านั้น ผู้คนในประเทศไทยไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน และความเหลื่อมล้ำนั้นปรากฏชัดในทุกซอกทุกมุม และในขณะที่ใครหลายๆ คนต่างก็ตั้งหน้าตั้งตาใช้ชีวิตของตนเอง กลับมีผู้คนจำนวนหนึ่งที่มีอุดมการณ์ที่แตกต่างออกไป พวกเขาได้สังเกตเห็นถึงความผิดปกติของบ้านเมืองและไม่อาจทนต่อสภาวะอันเน่าเฟะเหล่านี้ได้ จึงเลือกที่จะยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ อย่างไรก็ตาม บุคคลเหล่านี้กลับถูกคุมขังหรือยัดเยียดข้อหาอย่างไม่เป็นธรรม เนื่องจากการแสดงออกของพวกเขาเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าความเชื่อและความศรัทธาที่เคยมีอยู่เดิมต่อผู้กุมอำนาจนั้นค่อยๆ เสื่อมสลายไปแล้ว

นอกจากนี้พวกเขายังถูกตีตราจากสังคมว่าเป็นตัวบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ และเป็นเรื่องน่าสลดใจที่หลายคนในกลุ่มเหล่านี้เป็นเพียงเยาวชนเท่านั้น แต่สิ่งหนึ่งที่แตกต่างออกไปคือ ในขณะที่ทุกคนในเมือง Omelas ต่างก็ได้รับรู้ถึงการมีตัวตนอยู่ของเด็กผู้ถูกลิดรอนความเป็นมนุษย์ผู้นี้ แต่เยาวชนไทยหลายคนที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ของตนเองและถูกปฎิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจำนวนไม่น้อยกลับไม่ถูกรับรู้ถึงการมีอยู่ อาจเพราะแสงไฟส่องไปไม่ถึง บ้างถูกกดขี่และถูกทอดทิ้งอยู่ในมุมมืดอันเงียบงัน

เด็กไทยจำนวนมากถูกกดทับจากหลากหลายมิติ บ้างก็เป็นเหยื่อของการทารุณทางร่างกายและจิตใจภายในครอบครัว (domestic violence) โดยตัวผู้กระทำส่วนมากก็คือคนสนิทใกล้ชิดที่มีอำนาจในความสัมพันธ์ที่เหนือกว่า บ้างก็ถูกทารุณโดยระบบการศึกษาที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน พวกเขาเปรียบเสมือนเครื่องจักรทางการศึกษา หายใจออกมาเป็นฝุ่นควัน เตรียมตัวเป็นทาสรับใช้ในระบบทุนนิยม บ้างถูกขูดรีดภายใต้กระบวนการฝึกงานที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรม อีกทั้งยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นค่าหน่วยกิตฝึกงาน ค่าเดินทาง ค่าที่พักอาศัย ฯลฯ ยอมจำทนกับข้ออ้างของเหล่านายทุนที่มอมเมาเป่าหูว่าอย่างน้อยก็ถือว่าเป็นค่าประสบการณ์ และเมื่อจบออกไปก็มีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นเพียงแรงงานคนหนึ่งที่โดนเอารัดเอาเปรียบ (exploitation of labour) ได้รับค่าแรงที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน และเกลียดชังวันจันทร์ หรือซ้ำร้ายไปกว่านั้น อาจจะตกอยู่ในสภาวะตกงานเนื่องจากไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในระบบทุนนิยม และเมื่อขยับออกไปก็จะพบกับความเน่าเฟะของบ้านเมืองที่มีเพียงชนชั้นปกครองปรสิตที่ผูกขาดอำนาจและใช้มันในทางที่ไม่ชอบธรรม ยิ่งไปกว่านั้นกลุ่มคนเหล่านี้ก็พร้อมที่จะกลั่นแกล้ง ทารุณ และเข่นฆ่าเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเพื่อปกป้องความมั่นคงและผลประโยชน์ของพวกพ้องตนเอง

การตัดสินใจของเหล่าเยาวชนคนรุ่นใหม่

ด้วยปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทับซ้อนกัน และในหลายๆ ครั้งก็ไม่สามารถหลีกพ้นได้ เยาวชนคนรุ่นใหม่จำนวนมากจึงมีความคิดที่จะออกไปใช้ชีวิตในต่างแดน มิตรสหายหลายๆ คนเริ่มเก็บเงิน บ้างก็หาช่องทางขอทุนเพื่อที่จะไปหางานและอยู่อาศัยในต่างประเทศ เห็นได้ชัดจากใน Facebook ที่มีการตั้งกลุ่มเพื่อให้ความรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูลสำหรับผู้ที่สนใจย้ายออกจากประเทศไทย ซึ่งหากมีคนรุ่นใหม่จำนวนมากเลือกที่จะไปทำงานหรือศึกษาในต่างประเทศ และกลายเป็นผู้อพยพถาวรในประเทศเหล่านั้น ภาวะสมองไหล (brain drain หรือ human capital flight) อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

ประเทศไทยอาจต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ บุคคลเหล่านี้อาจเปรียบได้กับ The Ones Who Walk Away From Omelas (เหล่าผู้ร่ำลาจากเมืองโอเมลาส) ที่ไม่สามารถทนใช้ชีวิตในสภาพบ้านเมืองอันเลวร้ายได้ และออกเดินทางเพื่อเสาะแสวงหาเส้นทางชีวิตที่ดีกว่า

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่แท้จริงก็ยังไม่ถูกแก้ไข เนื่องจากยังมีใครอีกหลายๆ คนที่ไม่ได้รับโอกาสเหล่านั้น พวกเขาไม่ได้มีสิทธิพิเศษ (privilege) ที่จะจากไป จึงต้องดิ้นรนใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในประเทศต่อไปเสมือนกับเด็กน้อยผู้น่าเวทนาที่ถูกคุมขัง กดทับ และเป็นทาสรับใช้ของผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า หวังเพียงว่าสักวันหนึ่งตนจะมีโอกาสได้รับเสรีภาพอย่างแท้จริง

ในทางกลับกัน ผู้ที่ยังอยู่ที่นี่บางส่วนก็สมาทานคำกล่าวที่ว่า “Ignorance is a bliss” (การทำตัวไม่รู้ไม่ชี้นั้นดีที่สุด) เพราะพวกเขาถือครองสิทธิพิเศษในด้านต่างๆ และใช้ชีวิตอย่างสุขสบายโดยไม่ได้ตระหนักถึงความลำบากยากแค้นของผู้ที่ถูกกดขี่ (the oppressed) มิหนำซ้ำบ่อยครั้งบุคคลเหล่านี้ยังสวมบทบาทผู้กดขี่เสียเอง (the oppressor) ไม่ต่างอะไรกับชาวเมือง Omelas ที่ได้แต่ชำเลืองมองดูผู้ที่ตนเอารัดเอาเปรียบด้วยสายตาอันเหยียดหยามปนความรู้สึกสมเพช บ้างก็ฉายแววตาอันแสนสลดพร้อมกับประโปรยละอองแห่งความสงสาร และเดินจากไปราวกับว่าเป็นการเยี่ยมชมสวนสัตว์มนุษย์แต่เพียงเท่านั้น

ร่วมกันตั้งคำถามเพื่อค้นหาทางออก

นอกจากเส้นทางเหล่านี้ ยังพอจะมีหนทางอื่นๆ อีกบ้างไหม

เรื่องสั้นเรื่องนี้ฉายภาพให้ผู้อ่านได้เห็นเพียงแค่สองทางเลือกเท่านั้น คือผู้ที่อยู่ต่อและผู้ที่เลือกจะจากเมืองนี้ไป แต่จะเป็นไปได้ไหม เมื่อยุคสมัยผันแปรเปลี่ยนไป เสียงกรีดร้องคร่ำครวญหวนไห้ของเด็กผู้นี้จะกระทบต่อโสตประสาทการรับรู้ของเหล่าผู้มีอำนาจและเหล่าปุถุชน วันที่ชาวเมือง Omelas ไม่ต้องการใช้ชีวิตอย่างสุขสำราญบนความทุกข์ทรมานของผู้อื่น

พวกเขาเลือกที่จะอยู่ต่อในเมืองแห่งนี้ เพราะต่างก็เติบโตมาที่นี่ แต่เริ่มที่จะตั้งคำถามต่อ ‘คำสาป’ ที่เล่าขานต่อๆ กันมาช้านานโดยไร้ซึ่งการหาเหตุผล

วันที่ชาวเมืองต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์คำสาปที่อาจเป็นเพียงแค่วาทกรรมลวงหลอกที่ห่อหุ้มด้วยความหวาดกลัวว่าตนจะเสียผลประโยชน์ และร่วมกันยืนหยัดต่อสู้กับความอยุติธรรมในทุกรูปแบบ และช่วยเหลือผู้ถูกกดขี่ให้ออกมาจากความมืดมิด ให้เขาได้มีโอกาสออกมาสูดกลิ่นอายแห่งเสรีภาพ และใช้ชีวิตแบบที่มนุษย์คนหนึ่งสมควรจะได้รับ โดยไม่ปล่อยให้ชะตาชีวิตของตนถูกลิขิตไว้โดยผู้ใดอีกแล้ว

และถ้าผู้อ่านเป็นหนึ่งในตัวละครในเมือง Omelas ตอนนี้คุณกำลังสวมบทบาทตัวละครตัวไหนอยู่?

 

อ้างอิง
author

Random books

© WAY MAGAZINE. All rights reserved