บ้านที่กลับไม่ได้: หลายชีวิตของคนไร้บ้าน และการเดินทางภายในของนักมานุษยวิทยาพลัดถิ่น

บ้านที่กลับไม่ได้: หลายชีวิตของคนไร้บ้าน และการเดินทางภายในของนักมานุษยวิทยาพลัดถิ่น

text: เพ็ญนภา หงษ์ทอง

รวมเรื่องสั้นที่บันทึกเรื่องราวของคนไร้บ้านในฟิลิปปินส์ 8 คน ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของนักมานุษยวิทยาคนไทยที่ลงไปสัมผัสชีวิตพวกเขาและเก็บข้อมูลสำหรับการทำวิทยานิพนธ์เพื่อสอบจบปริญญาเอกมหาวิทยาลัยในอเมริกา

ผู้เขียน บุญเลิศ วิเศษปรีชา เล่าเรื่องราวทั้ง 8 ชีวิต ที่เข้ามาสัมพันธ์กับตัวเองผ่านตัวละครที่ชื่อว่า ‘บุน’ ซึ่งก็คือตัวเขาในสายตาของคนไร้บ้านทั้ง 8 การเลือกสร้าง ‘บุน’ ให้เป็นตัวเดินเรื่องแทนการใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 ทำให้จริงๆ แล้วหนังสือเล่มนี้มีตัวละครทั้งหมด 9 ตัว โดยมีบุนเป็นตัวละครเอก ผู้อ่านจึงไม่เพียงได้สัมผัสชีวิตคนไร้บ้านชาวฟิลิปปินส์ 8 คน หากยังได้สัมผัสชีวิตนักมานุษยวิทยาชาวไทยในระหว่างการเก็บข้อมูลภาคสนามด้วย และถ้าอ่านอย่างพิจารณาให้ละเอียดแล้ว บ้านที่กลับไม่ได้ เป็นเรื่องราวการเดินทางภายในของบุน ในฐานะนักมานุษยวิทยาที่พยายามเข้าใจและเข้าถึงชีวิตของคนทั้ง 8 มากกว่าเรื่องราวของทั้ง 8 คนนั้นด้วยซ้ำ เพราะตัวละครทั้ง 8 ต่างได้รับพื้นที่เฉพาะในบทที่พูดถึงตัวเอง แต่บุนมีพื้นที่ของตัวเองในทุกตอน

“มาถึงตอนนี้บุนเพิ่งรู้ตัวว่าคำขอที่ให้มาร์ลีนกลับมาเยี่ยมบ้านนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แบบที่เขาเข้าใจตอนแรก แต่เป็นการขอที่ผลักให้เพื่อนต้องบากหน้ามาเผชิญกับการถูกหมิ่นหยาม”

(หน้า 110)

“บุนยังนั่งหั่นผักต่อไปจนล่วงถึงห้าทุ่มก็ยังไม่เสร็จ ตอนนี้ความคิดของเขาเริ่มหยาบขึ้นตามระดับความล้าของสายตา เขาบอกตัวเองว่าเงินแค่สามร้อยเปโซ ถ้าคิดเสียว่าเป็นค่าจ้างลอรานซ์มาช่วยหั่นผักทุกคืนวันเสาร์ก็ไม่ได้มากมายอะไร อะไรหนอที่ทำให้ตัวเองปากหนัก ไม่ยอมบอกว่าทุนนี้ให้เปล่า บุนยังนึกโทษตัวเองไม่หยุด”

(หน้า 47)

“บุนเห็นสีหน้ากังวลของลูกสาวโจเซฟจนต้องถามตัวเองว่าเป็นความผิดของเขาหรือไม่ที่ซื้อยินถึงสองขวดให้โจเซฟ นึกแล้วเขาพยายามแก้ไขสถานการณ์ด้วยการช่วยโจเซฟกินยืนให้หมดโดยเร็วจะได้พากันกลับลูเนต้า แต่ความที่บุนไม่คุ้นเคยกับยินที่มีกลิ่นแรง เขาช่วยโจเซฟดื่มได้ไม่มาก”

(หน้า 141)

มองในเชิงเนื้อหา บ้านที่กลับไม่ได้ นอกจากทำให้เราได้สัมผัสชีวิตของคนไร้บ้านชาวฟิลิปปินส์ทั้ง 8 คน ที่ล้วนมีความหลังกับ ‘บ้าน’ ของตัวเองและเลือกที่จะเดินจากมา ดำรงชีวิตการเป็นคนไร้บ้านด้วยวิถีที่แตกต่างกัน ได้เห็นสังคมของชุมชนคนไร้บ้านในมะนิลา ที่เชื่อว่าคนฟิลิปปินส์จำนวนมากก็ไม่เคยรู้จักชุมชนที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างสังคมเมืองหลวงของตนเสียด้วยซ้ำ ขณะเดียวกันก็ทำให้มองเห็นแง่มุมการทำงานของนักมานุษยวิทยาภาคสนามที่ต้องแบกรับอารมณ์ความรู้สึกจากการได้สัมผัสความจริงในชีวิตของผู้อื่นที่ตนเองเข้าไปศึกษา

มาร์ลีน สาวที่มีบุคลิกและแสดงออกในลักษณะทอมบอย เป็นสาวไร้บ้านคนหนึ่งที่บุนสนิทด้วย สนิทถึงขั้นเอ่ยปากขอให้พาไปเยี่ยมบ้านที่เธอไม่อยากกลับ “เพราะมึงแท้ๆ ที่อยากให้กูพามาที่นี่ กูไม่อยากมาเลยมึงเห็นไหม”

มาร์ลีนเกิดจากแม่ที่ทำงานกลางคืน เมื่อพ่อตาย ญาติฝ่ายพ่อก็ไม่ยอมรับเธอ สุดท้ายเธอเลือกออกไปมีชีวิตอย่างคนไม่มีบ้าน ดีกว่าอยู่กับบ้านที่ไม่มีความสุข ความ ‘ดื้อรั้น’ ของบุนที่อยากมารู้จักบ้านของมาร์ลีน จึงทำให้มาร์ลีนต้องกลับมาเจอกับความทุกข์ที่ผลักให้เธอออกจากบ้าน การเดินทางกลับบ้านของมาร์ลีนในวันนั้นจึงเป็นความทุกข์ทั้งของตัวเธอและของบุน

ลอรานซ์ หายไปจากสังคมของโบสถ์ที่ทั้งตัวเขา บุน และคนไร้บ้านคนอื่นร่วมเป็นอาสาสมัครทำอาหารแจกคนไร้บ้านคนอื่นหลายวันแล้ว ตั้งแต่ได้รับเงิน 350 เปโซที่บุนให้ยืม เพื่อไปลงทุนซื้อบุหรี่และลูกอม เดินขายตามสี่แยก เรื่องราวของลอรานซ์ทำให้เห็นการต่อสู้ทางความคิดของบุนในฐานะนักมานุษยวิทยาได้ชัดเจนมากที่สุดในบรรดา 8 เรื่อง เริ่มตั้งแต่การตั้งคำถามกับตัวเองว่าควรให้คนไร้บ้านยืมเงินหรือไม่ เมื่อลอรานซ์หายไป ท่าทีของบุนก็สับสนไปหมด ทั้งเตือนตัวเองอย่าให้โอกาสคนไร้บ้านคนไหนอีก ทั้งโทษตัวเองว่าน่าจะแค่ให้ยืม แทนที่จะให้เงินไปเลย เพื่อไม่ให้ลอรานซ์ต้องหลีกหนีจากสังคมคนไร้บ้านของโบสถ์ซ้ำเติมการหลีกหนีจากบ้านตัวเองอีก การปรากฏตัวของลอรานซ์กลางดึกคืนหนึ่งพร้อมด้วยเงินที่นำมาคืนบุน หลังจากออกไปขายบุหรี่และลูกอมในอีกย่านหนึ่งที่ขายดีกว่า ทำให้บุนต้องกลับมาอยู่กับความรู้สึกผิดที่ด่วนสรุปและตัดสินลอรานซ์ไปอีกนาน

โจเซฟ ที่มักโอ้อวดคนไร้บ้านด้วยกันเสมอว่า ลูกสาวมีบ้านและอยากให้ตัวเองกลับไปอยู่ด้วย แต่ตัวเองเลือกที่จะมีชีวิตอยู่อย่างคนไม่มีบ้าน เมื่อโจเซฟเอ่ยปากชวนให้ไปเยี่ยมบ้านลูกสาว บุนจึงไม่รีรอ แต่เมื่อกลับมายังลูเนต้า สวนสาธารณะที่่ทั้งสองคนใช้เป็นบ้าน บุนกลับไม่มีคำตอบให้คนไร้บ้านคนอื่นที่ขอให้เขาเล่าเรื่องบ้านของลูกสาวโจเซฟให้ฟัง

ในแง่ของการเขียน บุญเลิศเรื่องนำเสนอเรื่องราวทั้งหมดในรูปของเรื่องสั้น 8 เรื่อง เดินเรื่องจากปัจจุบัน คลี่คลายไปสู่เรื่องราวในอดีตของตัวละครผ่านบทสนทนา แม้จะเป็นมือใหม่ในวงการเรื่องสั้น แต่ถือว่าทำได้ดี โดยเฉพาะเรื่องมาร์ลีนที่พลิกไปมาตลอดเรื่อง หลังจากโกรธเกรี้ยวบุนที่ทำให้เธอต้องกลับบ้านที่ไม่อยากกลับ มาร์ลีนกลับพาบุนลัดเลาะไปยัง ‘บ้าน’ ลับๆ ของตัวเองอีกหลังหนึ่งที่เต็มไปด้วยความจริงที่คาดไม่ถึง จริงอยู่ที่บุญเลิศอาจไม่ได้ใช้ความสามารถในการสร้างตัวละคร เพราะตัวละครทุกตัวต่างมีเรื่องราวของตัวเองก่อนที่จะเดินทางมาพบบุน แต่การถ่ายทอดเรื่องราวของพวกเขาอย่างมีลีลาและสีสัน ดึงอารมณ์ความรู้สึกเบื้องลึกในใจของตัวละครออกมาเป็นตัวอักษรจนซึมเข้าไปกระทบใจคนอ่าน เป็นเรื่องที่ต้องใช้ฝีมือการเขียนค่อนข้างมาก ซึ่งเขาทำได้ไม่มีที่ติ การเปิดเรื่องสามารถดึงให้คนอ่านอยากติดตามไปจนจบเรื่อง ซึ่งหลายเรื่องสามารถจบได้แรงและสะกดใจคนอ่าน

จุดอ่อนที่สำคัญยิ่งของ บ้านที่กลับไม่ได้ มาจากจุดแข็งของบุญเลิศเอง พื้นฐานของการเป็นนักวิชาการทำให้เขาให้ความสำคัญกับข้อมูลข้อเท็จจริง เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าใจผิดของคนอ่านที่เกิดจากการตัดทอนหรือคัดเลือกข้อมูลของคนเขียน ทำให้ บ้านที่กลับไม่ได้ กลายเป็นวรรณกรรมเรื่องสั้นที่เต็มไปด้วยข้อมูลที่มากล้นจนเกินไป ข้อมูลที่สำคัญมากสำหรับงานวิชาการกลายเป็นเนื้อหาส่วนเกินเมื่อมาปรากฏในงานวรรณกรรม การมีข้อเท็จจริงมากมายเกินไปในงานวรรณกรรม นอกจากจะรุ่มร่ามแล้ว ยังปิดกั้นจินตนาการของคนอ่าน โดยส่วนตัวมองว่าความงามประการหนึ่งของวรรณกรรมคือ การมีช่องให้ได้ใช้จินตนาการและการตีความ แขวนอารมณ์ความรู้สึกตัวเองไว้กับความคลุมเครือของเรื่องราว บ้านที่กลับไม่ได้ ไม่มีตรงนี้ให้สัมผัส เพราะทุกอย่างถูกทำให้ชัดเจน

หากบุญเลิศเขียนหนังสือเล่มนี้ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่มีวิถีต่างจากวิถีของคนส่วนใหญ่ และทำให้เรื่องราวของคนไร้บ้านได้มีพื้นที่ในโลกวรรณกรรม ต้องถือว่าเขาทำได้สำเร็จ แม้จะยังมีข้ออ่อนในเชิงการเขียน แต่ต้องถือว่าอยู่ในระดับของการเปิดตัวได้ดีถึงดีมาก แน่นอนว่าหากมีเล่ม 2 3 4 ตามมา เราเชื่อว่าเขาจะทำได้ดีมากขึ้นเรื่อยๆ

รออ่านเล่มต่อไปอยู่นะ…

บ้านที่กลับไม่ได้ผู้เขียน บุญเลิศ วิเศษปรีชา

สำนักพิมพ์มูลนิธิกระจกเงา โดยโครงการอ่านสร้างชาติ

author

Random books

© WAY MAGAZINE. All rights reserved