เต้านมในความเป็นหญิง รังไข่ในความเป็นแม่: Breasts and Eggs ของ Mieko Kawakami

เต้านมในความเป็นหญิง รังไข่ในความเป็นแม่: Breasts and Eggs ของ Mieko Kawakami

นวนิยายเริ่มด้วยความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงต่างวัยสามคน คนแรกชื่อ ‘มากิโกะ’ (Makiko) อายุ 39 ปี ทำงานเป็นสาวบริการประจำบาร์โฮสต์แห่งหนึ่งในโอซาก้ามาตั้งแต่ยังเยาว์วัย สามีของเธอทิ้งร้างให้ต้องเลี้ยงดูลูกเล็กคนเดียวมากว่า 12 ปี

จำนวน 12 ปีนี้เอง คืออายุของ ‘มิโดริโกะ’ (Midoriko) ลูกสาวของมากิโกะ นั่นหมายความว่าตลอดชีวิตของมิโดริโกะ หน้าตาและความทรงจำเกี่ยวกับพ่อเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีอยู่ในชีวิต จากการบรรยายของตัวดำเนินเรื่อง แจ้งให้ทราบว่า ด้วยเหตุบางประการ ทำให้มิโดริโกะไม่พูดกับแม่ของเธอมาเป็นเวลากว่าครึ่งปีแล้ว วิธีเดียวที่เธอใช้สื่อสารกับแม่คือการขีดเขียนตัวอักษรผ่านสมุดโน้ต

การเสริมหน้าอกของมากิโกะ คือธุระที่ทำให้ทั้งสองต้องเดินทางจากโอซาก้าเข้ามายังโตเกียว เมืองซึ่งตัวละครที่สามและยังเป็นตัวดำเนินเรื่อง เข้ามาไล่ล่าความฝันที่จะเป็นนักเขียนมาตั้งแต่สมัยที่เธอยังมีแค่อายุ 20 ปี หรือก็คือเมื่อ 10 ปีก่อน นั่นหมายความว่า ณ ตอนนี้เธอมีอายุอยู่ที่ 30 ปี อันเป็นช่วงอายุที่มักถูกพร่ำบอกให้ต้องมีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันสักอย่างในชีวิต

ผู้อ่านต้องใช้เวลากว่า 35 หน้า ซึ่งนับเป็นหน้าสุดท้ายของบทแรก กว่าจะรู้ว่าชื่อของเธอคือ ‘นัตซุโกะ’ (Natsuko) และต้องอ่านไปจนถึงหน้า 161 ถึงจะรู้ชื่อเต็มของเธอ ‘นัตซุโกะ นัตซุเมะ’ (Natsuko Natsume) ชื่อที่ทุกคนในเรื่องทักทุกครั้งที่เธอเอ่ยแนะนำตัว ว่า “นี่เป็นนามปากกาของเธอหรือ?”

ระยะทาง 126 หน้า หรือเวลาที่เหลื่อมกัน 8 ปีตามเนื้อเรื่อง คือ จำนวนระยะห่างที่กว่าชื่อต้นและนามสกุลของเธอจะมาบรรจบกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า มันต้องรอการข้ามจากส่วนที่หนึ่ง (book one) ไปยังส่วนที่สอง (book two) ตามโครงสร้างของนิยายเลยทีเดียว กว่าที่ชื่อ ‘นัตซุโกะ’ จะแสดงตัวเข้าผูกกับนามสกุล ‘นัตซุเมะ’ การที่มิเอโกะ คาวาคามิ (Mieko Kawakami) ผู้แต่ง เลือกเขียนเช่นนี้อาจบอกอะไรบางอย่าง เพราะในสังคมญี่ปุ่น ‘ชื่อ/นาม’ เป็นเรื่องสำคัญอย่างมากกับตัวตน (อนิเมชั่นเรื่อง Spirited Away (2001) ของ ฮายาโอะ มิยาซากิ แห่งค่ายสตูดิโอจิบลิ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นความสำคัญของชื่อ/นามในสังคมญี่ปุ่น ที่ตัวตนของตัวละครจะหายไปหากชื่อของตนเองถูกลืม) ในแง่นี้ เมื่อสังคมให้ความสำคัญกับครอบครัวเป็นใหญ่ การที่ผู้หญิงต้องเปลี่ยนไปใช้ ‘นามสกุล’ ของฝ่ายชาย ย่อมทำให้ชื่อและตัวตนของเธอถูกกำกับโดย (ครอบครัว) สามี

“ฉันก็ไม่ได้แต่งงานเหมือนกัน” เซนกาวะพูด “แต่ฉันพอเข้าใจได้ว่ามันเจ็บจี๊ดแค่ไหนที่ต้องละทิ้งชื่อตัวเอง…” – หน้า 162

หลังจากถูกพ่อทิ้งไปตั้งแต่เด็ก มากิโกะและนัตซุโกะเติบโตกับการอาศัยอยู่กับยาย (ชื่อ Komi) แม่ของพวกเธอเป็นคนที่ต้องวุ่นทำงาน (นอกบ้าน) อยู่ตลอดเวลา ชีวิตของมากิโกะและนัตซุโกะเองก็ต้องดำเนินไปตามสูตรของครอบครัวฐานะยากจน พวกเธอทำงานในบาร์ตั้งแต่เด็ก มีแต่นัตซุโกะลูกสาวคนเล็กของบ้านเพียงคนเดียวเท่านั้น ที่ถูกเลือกให้ได้รับการศึกษาตามระบบปกติ

ชีวิตของทั้งสองยิ่งลำบากมากขึ้นไปอีก เมื่อแม่ของพวกเธอมาด่วนจากไปด้วยโรคมะเร็งเต้านมในวัย 46 ปี เคราะห์ซ้ำกรรมซัด หลังจากเสียแม่ไปเพียงสองปี ยายของพวกเธอก็จากไปด้วยโรคมะเร็งปอดในวัย 70 ปี

ตัวเลข 70 ปี ยังเป็นอายุของหญิงชราคนหนึ่ง ที่ข่าวบนโทรทัศน์รายงานว่า เป็นเจ้าของชิ้นเนื้อซึ่งถูกพบในถังขยะ โดยผู้ต้องสงสัยว่ากระทำผิดเป็นหนุ่มวัย 19 ปี การข่มขืนเป็นข้อสันนิษฐานหนึ่งที่คาดว่าเกิดก่อนที่หญิงชราจะจบชีวิต

ข่าวอาชญากรรมยังไม่จบเพียงเท่านั้น ก่อนหน้านี้ยังมีการรายงานว่า เกิดเหตุชายคนหนึ่งจ้วงแทงสาวมหา’ลัยไปทั่วร่าง ไล่ตั้งแต่หน้าท้อง หน้าอก ลำคอ และใบหน้า ด้วยความร้ายแรงของบาดแผล ทำให้สัญญาณชีวิตของหญิงผู้นั้นต้องหยุดลงในที่สุด

เหตุการณ์เหล่านี้เป็นบรรยากาศของสังคมที่ทั้งสามกำลังดำเนินชีวิตอยู่ หรือหากกล่าวให้ชัดเจนตามเนื้อเรื่องก็ต้องบอกว่า มันเป็นบรรยากาศของ ‘สังคมญี่ปุ่น’ ที่ห้อมล้อมชีวิตของผู้หญิง มันไม่มีการตายดีหรือจากไปอย่างสงบเสียเท่าไหร่ ปลายทางของพวกเธอหากไม่จบลงด้วยการเป็นโรค (มะเร็ง) ก็เป็นอันต้องถูกฆาตกรรม

แต่การคิดถึงความตายคงเป็นอะไรที่เร็วและไกลตัวไปหน่อยสำหรับคนวัยกลางคน และคงเร็วและไกลตัวยิ่งขึ้นไปอีกสำหรับเด็กอายุ 12 ปี แต่ก็เป็นไปได้ว่า พวกเธออาจหลีกเลี่ยงที่จะคิดถึงมัน ด้วยการคิดถึงอะไรที่ดูเพ้อฝันอย่าง ‘การมีชีวิต’

ไม่ว่าชีวิตและความตายจะสามารถพิจารณาแยกส่วนกันได้หรือไม่ก็ตาม คำถามพื้นฐานอย่าง “เราเกิดมาทำไม?” คือสิ่งที่มิโดริโกะกำลังหมกมุ่นครุ่นหาคำตอบ โดยผู้อ่านจะเรียนรู้ความคิดของมิโดริโกะได้ก็ผ่านสิ่งที่เธอบันทึกลงในไดอารี่/บล็อกส่วนตัว (กระทั่งตัวนัตซุโกะเอง ผู้อ่านก็จะรู้เกี่ยวกับตัวเธอได้จากสิ่งที่เธอพูดกับตัวเองในหัวเป็นส่วนใหญ่)

ประจำเดือนคือความเสื่อมทางกายอย่างแรกๆ ที่มิโดริโกะเคลือบแคลง การตั้งคำถามง่ายๆ ของเธอ ทำให้มองเห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เอาเปรียบร่างกายของผู้หญิง อาทิ ทั้งๆ ที่ ‘รังไข่’ เป็นสิ่งซึ่งมีอยู่ในร่างกายของเธอ ในขณะที่ ‘สเปิร์ม’ ไม่ได้เป็นส่วนประกอบของร่างกายเธอแต่อย่างใด แต่ทำไมเธอถึงถูกสอนให้รู้จักสเปิร์มก่อนที่จะรู้จักรังไข่ หรือทำไมคำว่า ‘menarche’ (การมีประจำเดือนครั้งแรก) และ ‘menstruation’ (ประจำเดือน) ถึงมีคำว่า ‘men’ (ผู้ชาย) ประกอบอยู่ด้วย ทั้งๆ ที่สองอย่างนี้ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับผู้ชายเลยโดยสิ้นเชิง ด้วยอะไรเหล่านี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มิโดริโกะจะรู้สึกว่า เธอติดอยู่ใน ‘กับดัก’ ที่เรียกว่า ‘ร่างกาย’

ความรู้และค่านิยม ใครกำหนด?

เมื่อมิโดริโกะเปิดดูหนังสือที่อธิบายเกี่ยวกับประจำเดือน เธอพบว่าหนังสือเหล่านี้พยายามอย่างหนักที่จะบอกว่า การมีประจำเดือนเป็นสิ่งที่ดีเหลือเกิน คำอธิบายในลักษณะนี้ ทำให้เธอตั้งคำถามกับค่านิยมที่บอกว่า การมีประจำเดือนเป็นโชคดีของผู้หญิงเพราะมันสัมพันธ์กับการมีลูกและการได้กลายเป็นแม่คน ตลอดถึงการบอกว่า การเป็นแม่คือคุณลักษณะตามธรรมชาติที่ผู้หญิงทุกคนต้องน้อมนำไปปฏิบัติตามอย่างภาคภูมิใจ

การภาคภูมิใจต่อการมีประจำเดือน ดูจะส่งเสริมโลกของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เพราะการมีประจำเดือนถูกมองว่าเป็นสัญญาณบอกถึงความพร้อมที่จะมีลูกและมีผัว การมีลูก (ชาย) เป็นเรื่องสำคัญมากในโลกที่ผู้ชายเป็นใหญ่ หรือที่นิยมเรียกกันว่า ‘สังคมปิตาธิปไตย’ (patriarchy) เพราะอย่างน้อยที่สุด เมื่อกฎเกณฑ์ทางสังคมถูกกำหนดให้ต้องนับสายเครือญาติของฝ่ายชายเป็นหลัก (patrilineal) การมีลูก (ชาย) ก็จะทำให้เกิดการสืบเชื้อสายสกุลของผู้ชายต่อไปได้ การนับญาติแบบนี้จะสัมพันธ์กับความต่อเนื่องและความมั่นคงในยศถาบรรดาศักดิ์และทรัพย์สินของตระกูลฝ่ายชาย (สามารถเห็นประเด็นนี้ได้ในช่วงท้ายบทที่ 13 ‘A Tall Order’ ผ่านชีวิตของ จุน ไอซาวะ (Jun Aizawa) เพื่อนชายของนัตซุโกะ) ในแง่นี้ ความภาคภูมิใจต่อการมีประจำเดือน ตลอดถึงระเบียบความรู้เกี่ยวกับร่างกายของผู้หญิง จึงถูกกำหนดขึ้นจากผู้ชาย แทนที่ผู้หญิงจะเป็นฝ่ายนิยามและให้ความหมายตนเอง

พุทธศาสนาเป็นตัวอย่างหนึ่งที่คล้ายจะเป็นค่านิยมและความรู้/คำสอนที่ถูกกำหนดโดยผู้ชาย เพราะถ้าเป้าหมายของพุทธศาสนาหรือการนิพพาน คือการละหรือไร้ตัวตน ก็ไม่แปลกที่ผู้หญิงจะไม่สามารถนิพพานได้ เพราะหากพิจารณาให้สาระสำคัญของตัวตนคือความสามารถในการกำหนดชีวิตตนเอง ในหลายๆ สังคม โดยเฉพาะสังคมญี่ปุ่น ผู้หญิงย่อมถูกทำให้ไม่มีตัวตนมาตั้งแต่แรก เมื่อไม่มีตัวตนให้ละ การบรรลุนิพพานจึงเป็นไปไม่ได้

การถูกทำให้ไร้ตัวตน มักเป็นต้นเหตุของการไม่กล้าแสดงตัวตน ชัดเจนมากในบทที่ 12 ‘Merry Christmas’ ตอนที่ เรอิ คอนโนะ (Rei Konno) เพื่อนของนัตซุโกะ บอกว่า เธอใช้โลกออนไลน์เป็นช่องทางบ่นระบายเรื่องส่วนตัวของตัวเอง (แน่นอนว่า เรื่องครอบครัวเป็นประเด็นหลัก) แต่ถึงอย่างนั้น เธอก็โพสต์ระบายในรูปแบบ ‘นิรนาม’ (anonymous)

หรือจะเป็นในฉากที่มากิโกะบอกกับมิโดริโกะว่า เหตุผลที่นัตซุโกะมีหนังสือ (ที่ส่วนใหญ่เขียนโดยผู้ชาย) อยู่เต็มห้องไปหมด เพราะเธอมีอาชีพเป็นนักเขียน เมื่อมิโดริโกะรู้เช่นนั้นจึงเกิดอาการตื่นเต้นเพราะนักเขียนคืออาชีพที่เธออยากเป็น

แต่นัตซุโกะกลับรีบปฏิเสธทันควัน ในความคิดของเธอ เธอไม่กล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียน แม้นั่นจะเป็นสิ่งที่เธออยากทำจริงๆ ก็ตาม แต่ด้วยความที่เธอยังไม่มีผลงานออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน เธอจึงรู้สึกไม่ดีที่จะถูกแนะนำตัวเช่นนั้น

ด้านมากิโกะยังคงคะยั้นคะยอที่จะเรียกเธอว่าเป็นนักเขียน แต่นัตซุโกะก็ไม่เลิกที่จะปฏิเสธอย่างแข็งขืน จนสุดท้าย หยดน้ำตาก็ไหลออกมาจากดวงตาของนัตซุโกะ มันเป็นน้ำตาของความผิดหวังในตัวเอง เป็นน้ำตาแห่งความสมเพชต่อชีวิต

แต่สุดท้าย ความเศร้าหรือความผิดหวังเหล่านี้ก็ไม่อาจแสดงออกมาได้ ทันใดที่น้ำตาไหลออกมา เธอรีบแกล้งหาวเพื่อเบี่ยงเบนที่มาของหยดน้ำตา และกล่าวโทษไปยังเบียร์ที่กำลังกินดื่มว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เธอง่วง

ฉากนี้ทำให้คิดได้ว่า การแกล้งหาวคงไม่ใช่เพื่อปกปิดหยดน้ำตาในตัวมันเอง เพราะน้ำตาก็ได้ไหลออกมาแล้ว สิ่งที่นัตซุโกะต้องการปกปิดเป็นความล้มเหลวและความผิดหวังอันเหลือทนในชีวิตที่เธอกำลังแบกอยู่เต็มบ่าต่างหาก

กระทั่งการเสริมหน้าอก (และทำให้หัวนมชมพู) ของมากิโกะ ก็เป็นสิ่งน่าพิจารณา อย่างที่นัตซุโกะว่าไว้ในบทที่ 2 ‘To Be More Beautiful’ เต้านมที่เธอต้องการนั้น แท้จริงมันคือเต้านมของใคร? เวลาเธอบรรยายกับคลินิกศัลยกรรม เธอกำลังนึกถึงเต้านมของใคร? เธอใช้ใครเป็นมาตรฐานเปรียบเทียบ? บางทีคำตอบอาจอยู่ในบทที่ 3 ‘Whose Boobs Are They?’ ที่นัตซุโกะเล่าถึงร่างกายที่เธอเคยคาดหวังในวัยเด็ก

“ตอนยังเด็ก เมื่อไหร่ก็ตามที่ฉันเห็นผู้หญิงเปลือยบนแมกกาซีน… หรือเห็นผู้หญิงโตเต็มวัยเผยเรือนร่างอยู่บนจอทีวี… ฉันคิดว่าสักวันหนึ่งฉันจะมีทรวดทรงบางส่วนเหมือนพวกเธอ และฉันก็จะมีร่างกายแบบเดียวกับพวกเธอ…. นั่นหรือคืออะไรที่ฉันเคยต้องการ? ร่างกายแบบที่คุณเห็นตามนิตยสารผู้หญิงทั้งหลาย หุ่นที่เป็นไปตามสิ่งที่ผู้คนพากันเรียกว่า ‘เซ็กซี่’ ร่างกายที่ทำให้เกิดแฟนตาซีทางเพศ เป็นบ่อเกิดของแรงปรารถนา ฉันว่าฉันสามารถพูดได้ว่านั่นคือร่างกายที่ฉันเชื่อว่าจะทำให้เกิดคุณค่าอะไรบางอย่าง ฉันคิดว่าผู้หญิงทุกคนจะโตขึ้นไปมีร่างกายแบบนั้นเหมือนกันหมด แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง”- หน้า 55

นี่ดูจะเป็นความปกติทางรูปร่าง ที่ผู้ชายเป็นคนกำหนด เป็นความน่ารักที่ต้องมีเพื่อจะสามารถตอบสนองและอยู่ในโลกของผู้ชายได้ เป็นคุณค่าสำคัญที่ผู้หญิงจำเป็นต้องมี หรือต่อให้ไม่มี ก็จำเป็นต้องไล่ล่าให้มีจนได้ (หน้า 56-57) การกล่าวเช่นนี้ไม่ใช่การดูแคลนคนที่ศัลยกรรม แต่หากพิจารณาถึงการคัดเลือกพระสนมและพระมเหสี หรือ ประเพณีการรัดเท้า ในจีน หรือในญี่ปุ่น เพื่อจะได้ชื่อว่าเป็น ‘หญิงงาม’ (Bijin) ก็ต้องผ่านการ Hikimayu หรือการถอนขนคิ้วแล้วเขียนขึ้นใหม่ (สามารถเห็นได้ในอนิเมชั่นเรื่อง The Tale of Princess Kaguya (2013) ของ อิซาโอะ ทาคาฮาตะ) ย่อมทำให้เห็นว่า อะไรเหล่านี้ต่างเป็นการตอบสนองต่อแรงปราถนาในโลกที่ผู้ชายเป็นใหญ่  ในแง่นี้ เป็นไปได้ว่าการศัลยกรรมหน้าอกของมากิโกะก็อาจเป็นในทำนองเดียวกัน มันคือการครอบงำที่ผลักให้ผู้หญิงต้องการมีร่างกายของคนอื่น ต้องมีร่างกายที่เป็นไปตาม ‘มาตรฐาน’ ความงาม (อันที่จริงผู้ชายจำนวนมากก็เป็นเหยื่อของมาตรฐานนี้ไม่ต่างกัน แต่ผู้ชายในฐานะปัจเจกกับผู้ชายในฐานะระบบ/โครงสร้างครอบงำ ก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกันเสมอไป)

แรงงานฟรีที่มีจิ๋ม

ในสังคมแบบนี้ ตัวตนของผู้หญิงเป็นสิ่งที่ไม่ได้รับอนุญาตให้แสดงออก การไม่แสดงออกนี้มิได้จำกัดเฉพาะแต่เวลาอยู่กับผู้ชายเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการห้ามไม่ให้แสดงออกกับกระทั่งผู้หญิงด้วยกันเอง เช่น วงสนทนาในส่วนที่ 2 ของนวนิยาย เราจะพบว่าบทสนทนาระหว่างเพื่อนผู้หญิงของนัตซุโกะจำนวนมาก มีศูนย์กลางอยู่ที่ลูกและผัว เพราะการพูดถึงเรื่องของตัวเองเป็นพฤติกรรมต้องห้ามที่บ่งบอกถึงความเห็นแก่ตัวของผู้หญิงคนนั้นๆ เรื่องเล่าในชีวิตของผู้หญิงเหล่านี้จึงไม่สามารถมีได้โดยปราศจากผู้ชาย ชัดเจนที่สุดผ่านบทสนทนาในบทที่ 8 ‘Where’s Your Ambition?’ ที่พวกเธอคุยกันว่า ถ้าต้องบริจาคไตเพื่อรักษาสามีที่กำลังจะตาย พวกเธอก็ยอมให้ได้ เพราะ “ฉันต้องการให้เขาสามารถทำงานต่อไปได้ ฉันจะคงรูปแบบการใช้ชีวิตอย่างเดิมต่อไปได้ยังไงหากเขาจากฉันไป?” (หน้า 153)

มันอาจเป็นอย่างที่เรอิว่าไว้ก็ได้

“พวกหล่อนทำตัวเหมือนเป็นเพื่อน แต่จริงๆ แล้วมันเป็นแค่การแข่งขัน พวกหล่อนต้องการทำให้แน่ใจว่า อย่างน้อยชีวิตของคนอื่นก็บัดซบไม่ต่างไปจากของตัวเอง” – หน้า 243

ชีวิตของผู้หญิงในสังคมแบบนี้ ไม่สามารถเป็นอะไรได้มากไปกว่าการเป็นแม่ เมีย โสเภณี และทาส

ผู้หญิงมีสภาพไม่ต่างไปจากวัตถุสิ่งของ พวกเธอสังเวยชีวิตตัวเองเป็นคนรับใช้คอยปรนนิบัติครอบครัวและผู้ชาย หากเรียกตามเรอิก็ต้องบอกว่า ผู้หญิงเป็น “แรงงานฟรีที่มีจิ๋ม” และไม่ได้มีหน้าที่อะไรสำคัญมากไปกว่า ‘การผลิตลูก’

การมีลูกคือสาระสำคัญของการแต่งงาน หากหญิงใดไม่สามารถมีลูกให้แก่ตระกูลฝ่ายชายได้ ก็ต้องถูกประณามสาปส่ง (ไม่ว่านั่นจะเป็นความบกพร่องฝ่ายหญิงหรือชายก็ตาม) ในแง่นี้ การแต่งงานจึงเป็นไปในทำนองเดียวกับที่มาร์กซ์ (Karl Marx) และเองเกลส์ (Friedrich Engels) แสดงไว้ใน Communist Manifesto ว่า การแต่งงานคือการค้าบริการอย่างเป็นทางการ (ที่จำเป็นต้องถูกทำลาย)

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เรอิจะสรุปว่า “ครอบครัวคือรากเหง้าของความทุกข์ทรมานทั้งปวง” (หน้า 251)

เมื่อครอบครัวเป็นที่มาของความทุกข์ทรมาน ความคิดที่จะพยายามตัดวงจรอุบาทว์จึงเป็นสิ่งที่ปรากฏตลอดนวนิยายทั้งเล่ม ความคิดปฏิเสธชีวิตแบบกรอบคิด Nihilism (กรอบคิดนี้มองว่าไม่มีอะไรที่มีคุณค่าในตัวมันเองโดยธรรมชาติ) หรือการปฏิเสธที่จะสืบเผ่าพันธ์ุแบบ Antinatalism (ไม่เชื่อว่าการมีลูกเป็นเรื่องดี หนำซ้ำยังมองว่าผิดศีลธรรม) ต่างเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของนิยาย มันอยู่ในความคิดตั้งแต่ตัวละครเด็กอย่างมิโดริโกะ ไปจนถึงตัวละครผู้ใหญ่ (วัยคราวเดียวกับนัตซุโกะ) อย่าง ‘ยูริโกะ เซ็น’ (Yuriko Zen) เพื่อนของไอซาวะ ดังที่เธอแสดงออกมาในบทที่ 15 ‘Take It or Leave It’ ว่า การมีลูกเป็นการกระทำความรุนแรง (act of violence) เพราะมันบังคับให้ใครคนหนึ่งเกิดมาโดยปราศจากยินยอม

แต่สำหรับนัตซุโกะความคิดที่จะปฏิเสธการมีลูกกับความคิดที่จะมีลูกคือสิ่งที่ต่อสู้ภายในหัวเธออยู่ตลอด และยิ่งชัดมากในส่วนที่ 2 ของนิยาย ในด้านหนึ่งเธอมองว่าการมีลูกคือการหยิบยื่นความทุกข์ทรมานไปให้คนที่เธอไม่แม้แต่จะรู้จัก แต่ในอีกด้านหนึ่ง การมีลูกหรือการเป็นแม่กลับมีมนต์อะไรบางอย่างดึงดูดให้เธอต้องการจะมีและจะเป็น อีกทั้งยังมองได้ว่า การหยิบยื่นชีวิตให้ใครสักคนนั้น เป็นการมอบโอกาสที่พวกเขาจะได้ประสบกับความสุขด้วย

แต่ด้วยความที่เธอใช้ชีวิตโดดเดี่ยวไม่มีคู่ หนำซ้ำยังไม่ชอบการมีเซ็กส์อย่างแรง (เธอน่าจะเป็น Asexuality) วิธีการรับบริจาคสเปิร์มจากคนอื่น มาปฏิสนธิกับไข่ของเธอ จึงเป็นตัวเลือกที่เธอต้องการ โดยเธอเรียกวิธีการแบบนี้ว่าเป็นการปฏิสนธิแบบ ‘me and no one else’

เป็นไปได้ว่า การปฏิสนธิแบบนี้อาจปรับเปลี่ยนความหมายของคำว่า ‘make love’ ใหม่ มันอาจเป็นการ make love ที่ไม่ได้หมายถึงกิจกรรมเข้าจังหวะอย่างที่เคยเข้าใจกัน

ยังเป็นไปได้อีกว่า ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ อาจทำให้มนุษย์เกิดจาก ‘no one else’ เช่น การปฏิสนธิระหว่างไข่และสเปิร์มที่ฝากไว้กับโรงพยาบาลของคนที่ตายไปแล้ว โดยประเด็นนี้ไม่ได้ถูกพูดถึงในนวนิยายโดยตรง จะมีก็แต่การพูดถึงรังไข่ที่ถูกฝากไว้ของผู้หญิงที่ตายไปแล้ว กับการฝากสเปิร์มไว้กับองค์กรทางการแพทย์ ซึ่งแน่นอนว่า หากเกิดกรณีดังว่า ความหมายของการเป็นพ่อแม่ (รวมถึงความหมายของการเป็นมนุษย์) ย่อมถูกกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ดี ความคิดที่ว่าการมีลูกคือการกระทำความรุนแรง (ในทำนองเดียวกับที่ยูริโกะว่าไว้) กลับเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้นัตซุโกะไม่สามารถตัดสินใจเด็ดขาดได้เสียที สิ่งที่เธอต้องการคือการได้ ‘เจอลูก’ ของเธอ ‘ก่อนที่จะมีลูก’

การเจอคนที่ยังไม่ได้เกิด เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้พอๆ กับการเจอคนที่ตายไปแล้ว บางทีอาจยากกว่าด้วยซ้ำ เพราะคนตายคือผู้ที่มีอยู่ในความทรงจำ พวกเขาเป็นคนที่คนเป็นเคยพบปะพูดคุยและรู้นิสัยใจคอ ทำให้อาจปฏิสัมพันธ์ผ่านการนึกหรือการฝันถึงได้ แต่กรณีของคนที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่มีความทรงจำ เมื่อไม่มีความทรงจำย่อมไม่มีอะไรให้นึกถึง การเชื่อมต่อระหว่างปริมณฑลแห่งชีวิตและปริมณฑลที่ไม่ใช่หรือนอกเหนือไปจากชีวิต เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากพอๆ กับการเข้าพบพระผู้เป็นเจ้า และนี่อาจเป็นสาเหตุที่นัตซุโกะเริ่มดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นสิ่งซึ่งเธอเคยพูดกับมิโดริโกะในบทที่ 6 ‘The Saftest Place In The World’ ว่า เหตุผลที่คนจำนวนหนึ่งเลือกดื่ม เป็นเพราะพวกเขาต้องการหนีห่างจากตัวเอง

ความวิตกกังวลที่จะมีลูกนี้ ยังอาจทำให้ตั้งข้อสงสัยได้ว่า จริงๆ แล้ว อาการไม่ชอบเซ็กส์ของนัตซุโกะเป็นเพราะเธอไม่ชอบเซ็กส์โดยตัวมันเอง หรือเธอกลัวว่ามันจะนำไปสู่การมีลูกกันแน่

ความจริงในฟองไข่

ถึงที่สุดแล้ว ไม่ว่าการมีชีวิตจะเป็นเรื่องที่มีพื้นฐานอยู่บนความสุขหรือความทุกข์ หรือเป็นการผสมกันระหว่างสองอย่างนี้ การให้คำตอบที่ชี้ชัดตายตัวก็เป็นสิ่งเป็นไปได้ยาก กระทั่งเป็นไปไม่ได้เลย การหาความหมายให้ชีวิตเป็นสิ่งที่ถูกถกเถียงมาตลอดประวัติศาสตร์มนุษยชาติ แต่ความหมายของชีวิตมีความสำคัญมากเพียงใด? เพราะสิ่งมีชีวิตตระกูล Homo เพิ่งมีอายุอยู่บนโลกได้อย่างมากก็แค่ไม่กี่แสนปี เป็นเพียงจุดเล็กๆ เมื่อเทียบกับอายุหลายพัน/หมื่น/แสนล้านปีของโลก (แล้วแต่ว่าจะเชื่อทฤษฎีไหน) และจะยิ่งเล็กน้อยลงไปอีกเมื่อเทียบกับอายุแทบจะเป็นอนันต์ของจักรวาล กล่าวอีกอย่างคือ การมีชีวิตเป็นเพียงจุดเล็กๆ ในห้วงกาลเวลาของมนุษย์ จะมีคุณค่าหรือความหมายมากขนาดนั้นเลยหรือ?

กระนั้น สำหรับคนจำนวนมาก ชีวิตที่ไร้ความหมายก็หนักเกินกว่าที่จะแบกรับไว้ได้ อะไรเหล่านี้ไม่ใช่ข้ออ้างที่ทำให้มนุษย์ยกเลิกการสร้างความหมายหรือตามหาความจริงในชีวิต ความทะเยอทะยานยังคงเป็นสิ่งที่ผลักดันมนุษยชาติไปข้างหน้า

อะไรคือความจริงของชีวิต? บางทีฉากคลี่คลายความสัมพันธ์ระหว่างมากิโกะและมิโดริโกะ ในบทที่ 7 ‘All That You Hold Dear’ ซึ่งเป็นบทสุดท้ายของส่วนแรกในนวนิยาย อาจพอให้คำตอบอะไรบางอย่างได้

มันเป็นวันนัดศัลยกรรมเสริมหน้าอกของมากิโกะ และเป็นวันสุดท้ายที่มากิโกะและมิโดริโกะจะอยู่โตเกียว โดยนัตซุโกะกับมิโดริโกะรอคอยมากิโกะกลับมาบ้านเพื่อปาร์ตี้ฉลองส่งท้ายก่อนสองแม่ลูกจะกลับโอซาก้า พวกเธอรอจนดึกดื่นแต่มากิโกะก็ไม่กลับมาเสียที นัตซุโกะเกรงว่ามิโดริโกะจะเป็นกังวลว่าจะเกิดอันตรายกับแม่ของตน จึงชวนเปิดดูคำศัพท์ในพจนานุกรมเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับดูจะแย่ลง เพราะมันเริ่มจากการเปิดไปเจอคำว่า ‘jinx’ (ลางร้าย) ที่มีความหมายเชื่อมโยงกับคำว่า ‘fate’ (เคราะห์กรรม) ซึ่งโยงไปคำว่า ‘fatal’ (อันตราย) ที่ยังไปโยงกับคำว่า ‘murder’ (ฆาตกรรม) อีกต่อหนึ่ง นัตซุโกะเห็นท่าไม่ดีจึงรีบยกเลิกกิจกรรมผจญภัยคำศัพท์นี้ในทันใด

โชคดีที่ลางร้ายตามพจจานุกรมไม่ได้เกิดขึ้นกับมากิโกะ แต่ด้วยเหตุอะไรบางอย่างเธอดันกลับบ้านมาในสภาพเมาอย่างหนัก

ด้วยฤทธิ์ความเมาทำให้เกิดการทะเลาะกันระหว่างมากิโกะและมิโดริโกะ การทะเลาะนี้นำไปสู่การสัมผัสทางกายภาพครั้งแรกในเรื่องของแม่ลูกคู่นี้ มันคือการที่มิโดริโกะตบเข้าที่ใบหน้าแม่ของตัวเองอย่างจัง

จากนั้นน้ำตาก็ปรากฏขึ้นในฉากความสัมพันธ์

การทะเลาะครั้งนี้นำมาซึ่งการเปล่งเสียงพูดกับแม่ครั้งแรกในรอบครึ่งปีของมิโดริโกะ

“แม่” คือคำแรกที่มิโดริโกะพูดออกมา

“แม่” ยังคงเป็นคำที่มิโดริโกะพูดเป็นครั้งที่สอง

“แม่” ยังคงเป็นคำที่มิโดริโกะพูดเป็นครั้งที่สาม

ต้องรอจนถึงครั้งที่สี่ คำพูดถึงค่อยถูกจัดเรียงเป็นรูปประโยค “ขอแค่พูดความจริงกับหนู”

“บอกหนูมา” การขอร้องเป็นการเปล่งเสียงครั้งที่ห้า

ระหว่างนั้น มิโดริโกะยื่นมือหยิบไข่ที่วางอยู่ในระยะช่วงแขนมาชูขึ้นเหนือหัว เธอค่อยๆ บีบให้มันแตกคามือไปทีละฟองๆ มากิโกะเห็นลูกทำดังนั้น จึงทำตามบ้าง

มากิโกะถามมิโดริโกะว่าความจริงอะไรกันที่เธอต้องการ

“ความจริง” มิโดริโกะตอบกลับเป็นปริศนาธรรมเพียงเท่านี้

แม้ไข่ที่สองแม่ลูกผลัดกันบีบแตกไปทีละฟองจนเกลี้ยง จะคล้ายเป็นการบีบก้อนปัญหาที่รบกวนหัวใจให้สลายไปตามจำนวนฟองที่ลดลง และทำหน้าที่เป็นเครื่องสงบสติอารมณ์ของทั้งคู่ กระนั้นเอง มันก็ไม่ได้ทำให้มิโดริโกะได้รับความจริงที่เธอต้องการแต่อย่างใด

หลังจากที่มิโดริโกะถามหาความจริงจากมากิโกะ มากิโกะกลับไม่มีความจริงอะไรจะมอบให้

“มิโดริโกะ มิโดริโกะ … แกอยากรู้ความจริงงั้นเหรอ? แกคิดว่ามันต้องมีความจริงอยู่เสมอใช่ไหม? ใครกันจะไม่อยากเชื่อว่ามันมีความจริงบางอย่างของชีวิต? แต่รู้ไหม? ทุกอย่างมันไม่ได้เป็นไปแบบนั้น บางอย่างมันไม่ได้เป็นไปแบบนั้นเลย” (หน้า 140-141)

การทะเลาะจบลงเพียงเท่านี้ ทั้งคู่หมดแรงสลบไปในไม่กี่อึดใจ

เช้าวันรุ่งขึ้น ทั้งคู่ก็เดินทางกลับโอซาก้าตามกำหนดการ เรื่องราวยังคงดำเนินต่อไปโดยที่ มากิโกะ มิโดริโกะ นัตซุโกะ (รวมถึงผู้อ่าน) ยังไม่รู้แน่ชัดว่าความจริงที่ว่ามันคืออะไร

กระนั้น ความจริงจะมีค่าอะไรเมื่อเทียบกับสายสัมพันธ์ (แม่ลูก) ที่เหนียวแน่นแข็งแกร่งขึ้น ความจริงจะมีค่าอะไรเมื่อเทียบกับการได้เห็นแม่ลูกซุกตัวอยู่ในอ้อมกอดของกันและกัน (โปรดดูหน้า 430)

 

อ้างอิง
author

Random books

© WAY MAGAZINE. All rights reserved