แกะรอยความรัก นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ผ่าน หลักประกันสุขภาพที่รัก

แกะรอยความรัก นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ผ่าน หลักประกันสุขภาพที่รัก

นี่คือหนังสือที่เหมาะแก่การหยิบขึ้นมาอ่าน ในห้วงยามแห่งความหดหู่ สิ้นหวัง และโกรธแค้น

อ่านเพื่อให้ไม่ลืมว่า เราเคยมีระบบสาธารณสุขที่ดีกว่านี้ เราเคยทำได้ดีกว่านี้ มีประสิทธิภาพสูงกว่านี้ ตรงไปตรงมาน่านับถือกว่านี้ และเราเคยมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีทัศนคติต่อผู้คนร่วมสังคมดีกว่านี้

ทัศนคติดังกล่าว นำมาสู่ความพยายามออกแบบระบบสวัสดิการพื้นฐานเพื่อเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข บนหลักคิดที่มองเห็นผู้คนเท่าเทียมกัน ไม่มีใครมีอภิสิทธิ์เหนือใคร สิทธิในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์เป็นพื้นฐานพึงมีพึงได้เสมอหน้าตั้งแต่เกิด ไม่ต้องจ่ายเงิน ไม่ต้องใช้เส้นสายแก่งแย่งกัน ไม่ต้องกังวลว่าจะมีใครมือยาวกว่าเข้ามาฉกฉวยลัดคิว

ปี 2546 นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เข้าไปเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านจิตเวช 1 ใน 35 คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มีคณะกรรมการ 2 คณะ 1. คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2. คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน) แน่นอนว่าหนังสือเล่มนี้ทำหน้าที่เสมือนบทบันทึกเส้นทางการสร้างระบบประกันสุขภาพ แต่กระบวนท่าไม้ตายของคุณหมอประเสริฐเวลาเขียนหนังสือคือ สังเคราะห์และจัดการเรื่องซับซ้อนให้ฟังเข้าใจง่าย โดยใช้เรื่องเล่าพาเราไปสู่ประเด็นที่ต้องการสื่อสาร

เพราะฉะนั้น หนังสือเล่มนี้จึงอ่านเพลินได้อรรถรสครบเครื่องตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้า 287 อ่านแล้วเกิดรอยยิ้ม แรงบันดาลใจ ฮึกเหิม โกรธ อิ่มเอม พูดสำนวนนักเขียนคือ ตัวหนังสือหมอประเสริฐมีลูกฮุคทำงานในจังหวะหวังผลได้เสมอ และถ้าเผลอไผลไม่ทันตั้งการ์ดก็อาจโดนอัปเปอร์คัทช้อนเข้าปลายคาง น้ำตาอาบแก้มไม่ทันรู้ตัว

นายแพทย์ประเสริฐตั้งชื่อหนังสือว่า หลักประกันสุขภาพที่รัก แต่ถ้าอ่านจนจบเล่ม เราอาจแกะรอยได้ว่าคุณหมอไม่ได้รักแค่หลักประกันสุขภาพหรอก แต่มีความรักอื่นซ้อนอยู่ในนั้น อาทิ

รักความเท่าเทียมเสมอหน้า

หมอประเสริฐเขียนไว้ตั้งแต่บทแรกๆ ว่าเป็นนักศึกษาแพทย์ที่อยู่ท่ามกลางกระแสประวัติศาสตร์ยุคหลัง 14 ตุลาคม 2516 เพราะฉะนั้นจึงถูกหล่อหลอมด้วยอุดมคติและอุดมการณ์บางอย่างแน่ๆ แต่อย่างไรก็ดี คุณหมออธิบายคำว่าอุดมการณ์ไว้ว่า

“อุดมการณ์ไม่ใช่สิ่งถูกต้องหรือดีงามโดยตัวมันเอง ในทางจิตวิทยาอุดมการณ์เป็นพัฒนาการของวิธีคิดระดับสูง เป็นส่วนต่อเนื่องหรือส่วนขยายของวิธีคิดเชิงนามธรรม (formal operation) ตามทฤษฎีของ ฌอง เพียเจต์ (Jean Piaget 1896-1980) เมื่อวัยรุ่นคนหนึ่งผ่านพ้นพัฒนาการวิธีคิดเชิงรูปธรรมมาสู่นามธรรมและสูงขึ้นไป พวกเขาจะมาถึงอุดมคติและอุดมการณ์” (หน้า 167)

ระบบหลักประกันสุขภาพเกิดขึ้นบนหลักคิดของการ ‘เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข’ (ภาษาสุภาพนุ่มนวลของ นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์) แต่โดยความหมายที่แข็งแรงและเคร่งครัดคือ มันถูกผลักดันภายใต้แนวคิดสำคัญคือ ประชาชนต้องเข้าถึงบริการทางการแพทย์โดยเท่าเทียมกัน ไม่ต้องจ่ายเงิน ไม่ควรมีใครล้มละลาย สูญเสียทรัพย์สินไร่นาเพียงเพราะป่วยไข้ไม่สบาย ยารักษาโรคที่จำเป็นต้องถูกบรรจุในบัญชียาของระบบประกันสุขภาพ

ลำพังหลักการเบื้องต้นนี้ก็ผ่านการถกเถียงยาวนาน บางคนยังท่องเป็นอาขยานมากระทั่งบัดนี้ว่า ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ดื่มเหล้าแล้วตับแข็ง ผู้สูบบุหรี่ ผู้ประสบอุบัติเหตุเมาแล้วขับ ฯลฯ เป็นผู้กระทำตัวเอง ควรจ่ายเอง (หรือไปไกลกว่านั้น นาทีปัจจุบันยังมีแพทย์ประกาศไม่รับรักษาผู้คนที่มีจุดยืนทางการเมืองคนละฝั่ง) ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นประเด็นที่เคยถกเถียงต่อรองในที่ประชุมคณะกรรมการมาแล้ว

“การร่วมจ่ายที่จุดบริการ คือสถานที่ที่ต่อรองได้ แต่เนื่องจากร้านค้านี้มีชื่อว่าโรงพยาบาล การต่อรองจึงมิใช่การต่อรองสินค้า แต่เป็นการต่อรองความตาย คุณภาพชีวิต ความกตัญญู และความพึงพอใจ…

อาจารย์ผู้ใหญ่ท่านนั้นพูดในที่ประชุมว่า ‘เราควรเสนอผู้ป่วยว่าเรามียาแก้ปวดกล้ามเนื้อ 2 ชนิด ชนิดที่หนึ่งคือ Diclofenac ยาตัวนี้ฟรี ใช้สิทธิ 30 บาทได้ แต่กัดกระเพาะอาหารรุนแรง สามารถทำให้กระเพาะทะลุได้ กับมียาอีกตัวหนึ่งชื่อ COX-2 Inhibitor ตัวนี้ไม่กัดกระเพาะ ออกฤทธิ์เร็วกว่ามาก หายปวดรวดเร็ว แต่ต้องจ่ายเพิ่มในราคาเม็ดละ 30 บาท (ราคา พ.ศ. 2546) เราให้ผู้ป่วยเลือกว่าอยากใช้ยาตัวไหน เป็นสิทธิผู้ป่วย’

เมื่อผมค้านและพยายามอธิบายเรื่องอำนาจต่อรองของผู้ป่วยที่จุดบริการที่ไม่น่าจะมี จึงได้ข้อหาคอมมิวนิสต์มาโดยไม่ทันระวัง” (หน้า 82-83)

ลองเติมคำในช่องว่างก็ได้ว่า ถ้าสมัยนั้นใช้ข้อหาคอมมิวนิสต์ เมื่อเป็น พ.ศ. ปัจจุบัน คนที่ต่อสู้ต่อรองเพื่อความเท่าเทียมเสมอหน้า จะถูกยัดข้อหาด้วยคำว่าอะไร

รักเชียงราย

หมอประเสริฐปักหลักใช้ชีวิตที่จังหวัดเชียงรายมาตั้งแต่ปี 2526 เริ่มจากนักศึกษาแพทย์หนุ่มคนหนึ่งผู้โหนรถเมล์ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ประถมจนเป็นนักเรียนแพทย์ จิ้มนิ้วลงบนแผนที่ประเทศไทย เลือกเอาจังหวัดที่ไม่ต้องแย่งตำแหน่งแพทย์ฝึกหัดกับใคร อาจจะมีอารมณ์ผจญภัยผูกพ่วงอยู่ด้วยตามช่วงวัย

คุณหมอเขียนเล่าเรื่องวัด ถนน เมือง ภูเขา ฤดูกาล อากาศ เป็นชิ้นส่วนจิ๊กซอว์เอาไว้ เมื่อประกอบขึ้นมาเป็นภาพใหญ่เราจะเห็นร่องรอยความรักความผูกพัน

คนเราไม่เห็นจำเป็นต้องรักแต่บ้านเกิด เราสามารถรักเมืองที่เราอยู่ เมืองที่เราใช้ชีวิตสอดคล้องสภาพแวดล้อม มีคุณภาพ และมีความสุข ก็ย่อมทำได้

ทั้งหมดนี้หากต้องการรับอรรถรส ควรอ่านด้วยตนเอง

เปรียบเทียบรูปถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2526 รูปวาดเมื่อ พ.ศ. 2543 และรูปถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2558

รักมนุษย์

ก่อนที่ประเทศนี้จะมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ชะตากรรมของผู้ป่วยยากไร้ ไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา หรือผู้ป่วยชาติพันธุ์จะอยู่ในมือของหมอ ผู้มีอำนาจที่จะเขียนคำว่า ‘ฟรี’ ลงในบัตรสงเคราะห์ นายแพทย์ประเสริฐเขียนเล่าว่า การเป็นหมอในชนบทนั้นนอกจากจะมีฐานะทางสังคมตั้งแต่ต้นแล้ว การมีอำนาจดังกล่าวยิ่งช่วยเสริมส่งสถาปนาความเป็นนักบุญ สร้างสถานะความเป็นผู้ให้ เดินไปไหนมาไหนก็มีแต่คนเกรงใจพินอบพิเทา

“ปี พ.ศ. 2526 คือเวลา 20 ปีก่อนที่ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ จะก่อร่างสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เรามีชาวเขาและชาวบ้านยากจนมากมาย คนเหล่านี้เป็นบุคคลชั้นล่างสุดของโครงสร้างสังคม พวกเขาไม่รู้ว่าความเจ็บป่วยเป็นสิทธิมนุษยชนที่เขาควรได้รับการรักษาฟรี เป็นสิทธิที่ก้าวข้ามพรมแดนรัฐชาติ

เขามีสิทธิพูดว่า “ไม่มีเงิน” และมีสิทธิ “ร้องขอ” บัตรสงเคราะห์จากรัฐ ‘ด้วยกติกาที่เป็นธรรม’

ในทางตรงข้าม คุณหมอเช่นผมไม่มีสิทธิกร่างว่าตนเองมีอำนาจดลบันดาลให้ใครได้ฟรี

เพราะที่แท้แล้ว มันคือหน้าที่” (หน้า 35)

อีกตัวอย่างหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นความรักในแง่มุมนี้ เช่น

“คนบางคนทนไม่ได้ที่เห็นความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ เห็นความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นตำตา เห็นความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างที่ไม่มีทางออก คนเหล่านี้เห็นได้เพราะเขามีความสามารถที่เรียกว่าเอมพาที (empathy) คือเข้าถึงและเข้าใจความทุกข์ยากของผู้คนรวมทั้งสรรพสัตว์ พวกเขาเครียดและจะเก็บกดความเครียดนั้นลงในจิตใต้สำนึก แต่การเก็บกด (repression) เป็นกลไกไม่ดี ใช้ไปนานก็จะก่อโรค ไม่นับว่าใช้ไปนานๆ จะอ่อนกำลังลง …

แต่สำหรับคนที่มีเอมพาทีดีกว่า มักจะดึงกลไกที่ดีเข้ามาช่วย หนึ่งในกลไกที่ดีนั้นคือ อัลทรูอิสม์ (altruism) หมายถึงการทำประโยชน์แก่ผู้อื่น ทำแล้วตนเองสบายใจ หายทุกข์ใจ คลายความเก็บกดลงอย่างน้อยก็ชั่วขณะ” (หน้า 192)

 

ถนนไปบ้านหินแตก พ.ศ. 2526

รักวิชาชีพ

ตั้งแต่บทแรกจนถึงบทสุดท้าย ไม่มีการเอ่ยคำรักนี้ เพราะขืนพูดขึ้นมาตรงๆ นอกจากชวนขนลุกแล้ว ผู้เอ่ยถ้อยคำเช่นนี้ก็ยิ่งไม่น่าไว้วางใจ หากแต่มันถูกสาธิตผ่านพฤติกรรม ผ่านเรื่องเล่า บางเรื่องเป็นประเด็นหลักการ บางเรื่องเป็นรายละเอียดที่ส่งผลกระทบต่อผลลัพธ์

ประเด็นหลักการ อาทิ ข้อถกเถียงที่ว่าด้วยการรักษาฟรีให้ยาฟรี จะทำให้ผู้ป่วยแห่กันเข้าโรงพยาบาลมารับยาโดยไม่จำเป็น ซึ่งข้อเท็จจริงในพื้นที่จังหวัดเชียงรายก็คือ บางกรณีหมอต้องตัดสินใจให้ยาปฏิชีวนะขั้นสูงสุด ขัดกับหลักมาตรฐานการรักษาเฉพาะโรค (Clinical Practice Guideline: CPG)

เหตุผลคือ แพทย์ในพื้นที่ประเมินได้ว่าคนไข้รายนั้นจะไม่กลับมารับยาอีกโดสในเวลาที่กำหนด เนื่องจากการเดินทางข้ามดอยเพื่อมาโรงพยาบาล จำเป็นต้องใช้เงิน ใช้เวลา และสูญเสียโอกาสสูญเสียแรงงานในไร่นา

แพทย์ตัดสินใจรับผิดชอบละเมิดกฎ เพื่อผลประโยชน์ของผู้ป่วย

ประเด็นรายละเอียด อาทิ การใช้ล่ามช่วยงานซักประวัติอาการผู้ติดยาชนเผ่าชาติพันธุ์ ต้องการรับยาเมธาโดน (Methadone) ซึ่งเป็นยาทดแทนเฮโรอีน แพทย์จะมีล่ามอีกคนซ่อนอยู่หลังตู้ แอบฟังการแปลของล่ามผู้ติดยาว่าแปลบทสนทนาตรงความหมายหรือไม่ เพราะบางครั้งคุยกันยาวแต่แปลออกมาเป็นประโยคสั้นนิดเดียว

นี่เป็นประเด็นความไว้วางใจที่เป็นหลักจริยธรรมวิชาชีพด้านสุขภาพ โดยเฉพาะทางจิตเวช

การรักษาจะได้ผลต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายไว้วางใจกัน กฎข้อนี้คุณหมอประเสริฐยอมรับว่าในวัยหนุ่มไม่เข้าใจและไม่เห็นด้วย แต่เมื่ออายุมากขึ้นจึงพบว่าความไว้ใจผู้ป่วยเป็นเรื่องสำคัญสูงสุด ไว้ใจเขาก่อนแล้วเขาจะดีขึ้น ซึ่งนี่เป็นหน้าที่ของแพทย์

“ฟังผู้ป่วยของคุณ เขากำลังบอกการวินิจฉัยโรคแก่คุณ”  วิลเลียม ออสเลอร์ (William Osler) บิดาการแพทย์สมัยใหม่กล่าวไว้ (หน้า 207)

อาจกล่าวได้ว่าความรักในหมวดหมู่นี้ เป็นการสาธิตให้เห็นว่า integrity มีความหมายชัดถ้อยชัดคำในทางปฏิบัติเยี่ยงนี้

รักศิลปะ

คุณหมอประเสริฐเปิดตัวตนให้เห็นความรักศิลปะหลากหลายแขนง บางอย่างเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่รู้อยู่แล้ว เช่น ความเป็นเนิร์ดทางการ์ตูน ความเป็นคนรักภาพยนตร์ เอาหนังมาเป็นเครื่องมือเล่าเรื่อง อาทิ สังคมผู้สูงวัยโดยใช้หนังเรื่อง Amour ภาวะสมองเสื่อมใน Still Alice หรือเล่าเรื่องโครงสร้างระบบสาธารณสุขของอังกฤษผ่านซีรีส์ Call the Midwife รวมถึงการใช้หนังสือเป็นตัวเล่าเรื่อง อาทิ แรงบันดาลใจในการออกแบบระบบหลักประกันสุขภาพในอังกฤษ ได้มาจากนวนิยายที่เขียนเรื่องจริง The Citadel เป็นต้น

แต่บางเรื่องก็เป็นการเปิดเผยแง่มุมใหม่ๆ อาทิ ชอบถ่ายรูปโดยมีข้อจำกัดด้านอุปกรณ์ ต้องชดเชยด้วยความแข็งแรงด้านการจัดองค์ประกอบ ส่งภาพถ่ายประกวดชิงรางวัล รวมถึงการเขียนสีน้ำ บันทึกภาพสถานที่ และฉากเหตุการณ์ระหว่างทำงานในดอยสูง

กวาดทุกแขนง แทบไม่เหลือที่ทางให้คนอื่นเลยทีเดียว

ชาวเขาบนดอยช้าง ภาพสีน้ำ พ.ศ. 2542

รักหมอหงวน

เช่นเดียวกัน ในหนังสือเล่มนี้ไม่มีคำไหนเขียนตรงๆ ว่าหมอประเสริฐมีความนับถือรักใคร่ นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ หรือ หมอหงวน ผู้ผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพียงแต่ว่าตั้งแต่หน้าแรกจนถึงบทอวสานในหนังสือเล่มนี้ บอกเอาไว้แบบนั้น

ไม่รักเผด็จการ

เป็นจุดยืนที่ผู้เขียนบอกเอาไว้ตั้งแต่บทแรกของหนังสือ

หากการถูกเชิญเข้าไปร่วมออกแบบระบบหลักประกันสุขภาพ ก็คือการถูกดึงดูดเข้าไปในเครือข่ายการทำงานขององค์กรตระกูล ส. ในแผนงานต่อเนื่องอื่นๆ ถัดมา

เหตุการณ์รัฐประหาร 2557 ก็คือจุดแตกหักที่ผู้เขียนแสดงความผิดหวังต่อท่าทีองค์กร และเครือข่ายคนทำงานด้านสาธารณสุข กระทั่งดีดตัวเองออกไปจากวงโคจรเครือข่ายนี้ เพื่อรักษาหลักการและจุดยืน

งานสื่อสารให้ความรู้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู ว่าเราควรปฏิบัติกับเด็ก เยาวชน บุตรหลาน อย่างไร พวกเขาจึงจะได้รับโอกาสและพัฒนาการที่ถูกต้องเหมาะควร จนกระทั่งชื่อ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ กลายเป็นอินฟลูเอนเซอร์ในเวทีนี้ ก็คือการทำงานกับอนาคต

หากทุกระบบในสังคมพังพินาศ เราสามารถเยียวยาตัวเองได้อย่างน้อยสองเรื่อง

หนึ่ง กลับไปศึกษาหาตัวอย่างสิ่งที่เคยทำได้ดี

สอง สนับสนุนสิ่งที่มีอนาคต

 

หนังสือเล่มนี้ไม่มีจำหน่ายทั่วไป สามารถดาวน์โหลดอ่านฟรีได้ที่ https://www.the101.world/our-universal-health-care-e-book/

หรือหากต้องการฉบับตีพิมพ์ สอบถามรายละเอียดได้ที่ คุณสุกัญญา ศรีประวรรณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อีเมล sukanya.s@nhso.go.th

 

author

Random books