กษัตริย์คือ (อะ) ไร? เหตุใดจึงห้ามพูดถึง

กษัตริย์คือ (อะ) ไร? เหตุใดจึงห้ามพูดถึง

“กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว คนบางคนพยายามจะเกลี้ยกล่อมคนอื่นๆ ที่เหลือว่าพวกเขาเป็นพระเจ้า หรือไม่ก็พยายามทำให้คนอื่นปฏิบัติต่อพวกเขาราวกับเป็นเทพเจ้า

“การขบคิดเกี่ยวกับกษัตริย์นั้นเป็นเรื่องน่าสนุก นั่นคือสาเหตุว่าทำไมผู้คนจำนวนมากถึงชอบแต่งตัวเลียนแบบกษัตริย์ หรือไม่ก็เล่นเกมที่ทำให้พวกเขาสามารถสวมบทบาทเป็นกษัตริย์หรือราชินีได้

“คำถามส่วนใหญ่ของเราก็คือ ทำไมเรื่องราวเกี่ยวกับกษัตริย์และราชินีถึงดึงดูดและน่าสนใจ เราสนใจใคร่รู้สิ่งใดในเรื่องราวของพวกเขา และอะไรที่เราคิดว่าน่ารำคาญหรือแม้แต่น่าสะพรึงกลัวเวลาที่พวกเขาวนเวียนอยู่รอบตัว พวกเขามีที่มาจากไหน และเพราะเหตุใดกษัตริย์ถึงไม่เคยหายไป”

นี่คือข้อความบนปกหลังจากหนังสือ กษัตริย์คือ (อะ) ไร?: มานุษยวิทยาสำหรับเยาวชน เขียนโดย เดวิด เกรเบอร์ (David Graeber) และ นิกา ดูบรอฟสกี (Nika Dubrovsky) แปลโดย เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ซึ่งฉบับภาษาไทยตีพิมพ์ครั้งแรกในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 อันเป็นช่วงเวลาแหลมคมทางการเมืองไทยจวบจนปัจจุบัน

หนึ่งในข้อเรียกร้องของการเคลื่อนไหวชุมนุมตั้งแต่ปี 2563 เรื่อยมา คือ การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ข้อเรียกร้องนี้เป็นดั่งค้อนกระทุ้งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลจนสั่นคลอน เป็นดั่งแรงกระเพื่อมมหึมาของน้ำทะเลที่ซัดสาดเข้ากำแพงกันคลื่นอันถมึงทึงน่าอัปลักษณ์ คลื่นทะเลรับเหลี่ยมคอนกรีตจนแตกซ่านเป็นฝอยๆ แม้มันสร้างเพียงความเปียกปอน ทว่าหน้าหาดและกำแพงกันคลื่นก็ไม่เคยร้างราจากมรสุมแต่อย่างใดเลย

ที่สำคัญมันได้สร้างข้อถกเถียง ตั้งคำถาม หรือสำรวจตรวจตราสังคมไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน ดั่งแฮชแท็กร้อนในโลกนกฟ้าอย่าง #กษัตริย์มีไว้ทำไม

เพื่อสอดรับกับกระแสธารของคำถามเกี่ยวกับเบื้องบน เราจะพบหนังสือมากมายที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์และราชินี ซึ่งขุดลากหีบห่อข้อเท็จจริงออกมาจัดเรียงบรรจงบนหน้ากระดาษและปรากฏอยู่บนหน้าฟีดอย่างไม่ขาดสาย ขณะเดียวกัน นวนิยายซึ่งมีกษัตริย์หรือราชวงศ์เป็นแกนหลักดำเนินเรื่องก็มักได้รับความนิยมแพร่หลาย เรื่องราวเหล่านี้อยู่คู่กับเราราวมิตรสหายที่คุ้นหน้าคุ้นตา เป็นเรื่องราวหลากรสให้เลือกลิ้มลองตามความปรารถนาใคร่รู้ของแต่ละปัจเจก

ความบางกะทัดรัดหาใช่อุปสรรคต่อการบรรจุคำตอบของคำถามหลายหลากไม่ นิกาและเดวิดเขียนตอบแต่ละข้อคำถามด้วยสำบัดสำนวนยียวนแพรวพราว ชี้ชวนให้เราตั้งคำถามกับกษัตริย์และราชินีด้วยการนำเสนอแง่มุมทางประวัติศาสตร์อย่างเอร็ดอร่อยเคี้ยวง่าย

พวกเขาชวนตั้งคำถามว่า มันมีสิ่งที่เรียกว่ากษัตริย์มาก่อนแล้วหรือไม่ หากมี แล้วกษัตริย์มีที่มาที่ไปอย่างไร กษัตริย์ต้องการชาวบ้านธรรมดาหรือไม่ คนเพียงคนเดียวปกครองคนจำนวนมหาศาล ทั้งยังรักษาอำนาจไว้ได้อย่างไร?

เรื่อยมาจนถึงคำถามที่ว่า ในโลกยุคปัจจุบันกษัตริย์อยู่ส่วนใดในสมการทางสังคม?

การพิจารณาว่าแท้จริงแล้วกษัตริย์คืออะไรกันแน่ มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการอธิบายและทำนายว่าสิ่งดังกล่าวนั้น ดำรงอยู่ สานสัมพันธ์ และจะส่งผลกระทบกับตัวเราในอนาคตอย่างไร (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่ความเป็นกษัตริย์แผ่ขยายปกคลุมตามผนังบ้าน)

แม้ว่านิกาและเดวิดจะไม่ได้บรรยายด้วยภาษาวิชาการอย่างลงลึกถึงรายละเอียดหรือเผยให้เห็นขั้นตอนการประกอบสร้างกษัตริย์ขึ้นมา หากแต่มันมากพอสำหรับภาพโครงสร้างว่า เหตุไฉนเส้นเรื่องแบบเจ้าหญิงเจ้าชาย ราชอาณาจักร การกอบกู้ และความ epic ต่างๆ นานา ถึงยังคงไหลเวียนในโลกปัจจุบัน ทั้งในรูปแบบของเรื่องเล่า เกมการ์ด ภาพยนตร์ บรรษัท หรือครอบครัวหนึ่งๆ ซึ่งยังมีตัวตนอยู่จริงในขอบเขตรั้ววัง เรื่องราวเหล่านี้ยังคงผูกติดแนบชิดกับวิถีชีวิตประจำวันอย่างอ้อยอิ่ง โกรธเกรี้ยว และยากบรรยาย

พวกเขาเผยให้เห็นว่า ในด้านหนึ่งเรื่องราวของกษัตริย์นั้น แม้คลับคล้ายคลับคลากับนิทานปรัมปรา แต่ก็เป็นนิทานที่ตลกร้าย เฉกเช่นชาวทูปินัมบ้า ชนพื้นเมืองจากบราซิลที่ถูกนำมาจัดแสดงที่กรุงปารีสเมื่อราว 400 ปีก่อน มองตาญ (Montaigne) นักเขียนชาวฝรั่งเศส ถามชาวทูปินัมบ้าว่า คิดเห็นอย่างไรกับมหานครปารีสอันยิ่งใหญ่ พวกเขาตอบกลับว่า

“เมืองของพวกท่านช่างดูแปลกประหลาด ตรงนี้ท่านจะเห็นผู้คนอาศัยอยู่ในบ้านอันใหญ่โตโอ่อ่า ส่วนตรงนู้นก็เห็นผู้คนจำนวนหนึ่งนอนอยู่ข้างถนน เหตุใดคนไร้บ้านเหล่านั้นไม่จุดไฟเผาบ้านใหญ่โตเหล่านั้นเสียล่ะ”

สิ่งนี้สร้างความฉงนสงสัยแก่มองตาญ เขายอมรับว่าไม่เคยคิดเช่นนี้มาก่อน และแน่นอนว่าสังคมของชาวทูปินัมบ้ามิได้มีกษัตริย์

และนี่เป็นส่วนหนึ่งจากหนังสือเล่มบางเล่มนี้

(รับประกันว่ามันเป็นหนังสือที่ไม่เข้าข่ายดองเค็ม หากคุณเริ่มพลิกหน้าแรกอ่าน)

 

กษัตริย์คือ (อะ) ไร?: มานุษยวิทยาสำหรับเยาวชน 

เดวิด เกรเบอร์ และ นิกา ดูบรอฟสกี เขียน

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ แปล

สำนักพิมพ์ ILLUMINATIONS

 

author

Random books

© WAY MAGAZINE. All rights reserved