ทำไมระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามถึงจุดจบ 

ทำไมระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามถึงจุดจบ 

ความเข้าใจว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสยามดำรงมาอย่างยาวนานเป็นเรื่องถูกต้อง ถ้าหากเราจดจำโครงเรื่องจากหนังพีเรียดไทยที่ถูกสร้างขึ้นอย่างเกลื่อนกลาดมากมายหลายภาคตอน ทว่าจากการศึกษาทางวิชาการด้านไทยศึกษา พบว่า ระบอบนี้เกิดขึ้นและมีระยะเวลาที่สั้นมาก เพราะปรากฏขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) และจบลงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.7)

เรื่องที่น่าสนใจมากกว่าคือ อะไรทำให้ระบอบที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่จึงจบลงในระยะเวลาอันสั้นเมื่อเทียบกับรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในยุโรป และในทางกลับกัน ระบอบนี้ยังทิ้งมรดกอีกไม่น้อยให้สังคมไทยจวบจนถึงปัจจุบัน

ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์: วิวัฒนาการรัฐไทย (2562) เขียนโดย รองศาสตราจารย์กุลลดา เกษบุญชู มี้ด อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ซึ่งแปลมาจากหนังสือ The Rise and Decline of Thai Absolutism โดยสำนักพิมพ์ชั้นนำของโลกอย่าง Routledge เมื่อปี 2004 นำเสนอการก่อรูปของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม โดยผนวกคำอธิบายทางทฤษฎีและข้อมูลชั้นต้นจำนวนมากเพื่อแสดงให้เห็นการตั้งอยู่และดับไปของระบอบดังกล่าว

งานชิ้นนี้ได้รับอิทธิพลส่วนหนึ่งจากข้อเสนอของ เบเนดิคท์ แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson) ในบทความขนาดยาวเรื่อง ‘Studies of the Thai State: The state of Thai Studies’ ซึ่งเสนอไว้ว่า รัฐต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีลักษณะร่วมกันประการหนึ่งคือ การรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางเพื่อรองรับการขยายตัวของระบบทุนนิยม

แต่กุลลดาเพิ่มเติมต่อไปว่า ในบรรดารัฐรวมศูนย์สมัยใหม่ล้วนถือกำเนิดขึ้นมาในอาณาบริเวณที่ได้ติดต่อสัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจโลกในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง โดยในกรณีของสยามมีลักษณะเฉพาะที่ควรนำมาพิจารณา คือ พัฒนาการของรัฐสยามในการผนวกตัวเองกับระบบทุนนิยมโลกนั้น กระทำผ่านกษัตริย์ที่ต่อสู้ช่วงชิงอำนาจทางการเมืองจากขุนนางผู้ใหญ่ (the great nobles) ข้อมูลส่วนนี้จึงนับเป็นเสน่ห์ของหนังสือที่ทำให้คนทั่วไปอ่านได้อย่างเพลิดเพลิน ผ่านโครงเรื่องที่ซับซ้อน แต่ก็ไม่สับสน เพราะผู้เขียนเล่าเรื่องราวได้อย่างสนุก เป็นธรรมชาติ และขมวดปมแต่ละจุดไว้อย่างชัดเจน พร้อมๆ กับการเชื่อมโยงให้เห็นภาพใหญ่ทางทฤษฎี ซึ่งเหมาะสำหรับผู้สนใจค้นคว้าทางประวัติศาสตร์และหาความรู้ทางการเมืองในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นถึงกลาง

 

จากการสะสมกำลังคนมาสู่การสะสมทุน

เดิมทีในเอเชีย ดูเหมือนว่าจะมีเพียงญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวที่พัฒนาการของรัฐได้ผ่านยุคฟิวดัลคล้ายคลึงกับรัฐในยุโรป ในขณะที่รัฐอื่นๆ ของเอเชีย ล้วนดำรงอยู่ภายใต้สภาพของรัฐสันตติวงศ์ บ้างก็เป็นรัฐสุลต่าน หรือไม่ก็รัฐศักดินา เฉกเช่นกรณีของไทย ซึ่งพระราชอำนาจของกษัตริย์แผ่กว้างออกไปราวกับแสงเทียน โดยมีผู้ปกครองย่อยๆ ดำรงอยู่ห่างออกไปอย่างอิสระ ภาพของการแย่งชิงอำนาจในราชบังลังก์สมัยอยุธยาจึงเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปตลอดหน้าประวัติศาสตร์

ความเปลี่ยนแปลงค่อยๆ ก่อตัวขึ้น นับตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าตากสินถูกโค่นราชบังลังก์โดยสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก อดีตขุนนางอยุธยาและแม่ทัพของพระองค์ ได้สถาปนาตนเองเป็น ‘พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก’ (2325-2352) แห่งราชวงศ์จักรี กษัตริย์องค์ใหม่รื้อฟื้นสิ่งสำคัญของฐานอำนาจแบบศักดินาในสมัยอยุธยา คือการกำหนดให้ไพร่ทุกคนเป็นไพร่หลวง ต้องถูกเกณฑ์แรงงานเข้าเดือนออกสองเดือน แต่ถึงกระนั้นรัฐก็ล้มเหลวในการควบคุมกำลังคนให้เพียงพอกับความต้องการของราชสำนัก

การแก้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นในรัชกาลถัดมา เช่น รัชกาลที่ 2 ต้องให้ไพร่ทาสที่ซุกซ่อนในป่าดงกลับเข้ามาหามูลนายหรือสมัครใจอยู่กับมูลนายใหม่ได้ โดยให้แรงจูงใจมากขึ้นด้วยการให้มูลนายสามารถสงวนให้ไพร่สม 1 คน ในไพร่สม 10 คน ไว้เป็นสมบัติ โดยให้มีสถานภาพสูงกว่าไพร่สม กรณีเช่นนี้ทำให้สถานะของขุนนางขึ้นอยู่กับการควบคุมกำลังคน รวมไปถึงการเปลี่ยนการผูกขาดของพระคลังสินค้ามาสู่การเก็บภาษีภายในราชอาณาจักร

ขุนนางเหล่านี้ค่อยๆ เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนสามารถประชันอำนาจแต่ละฝักฝ่ายได้อย่างมีสีสัน เมื่อสยามเปลี่ยนเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 4 และ 5

สภาพการต่อสู้แย่งชิงอำนาจในราชสำนักเช่นนี้ดำเนินเรื่อยมา แม้กระทั่งเมื่อสยามต้องหันหน้าเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลก จนเป็นส่วนหนึ่งของ Pax Britannica (ระบบเศรษฐกิจโลกที่มีอังกฤษเป็นผู้นำ) และส่งผลอย่างสำคัญในการก่อตัวของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามในเวลาต่อมา

ช่วงรอยต่อก่อนและหลังสนธิสัญญาเบาว์ริง (2398) ถือเป็นหลักหมายในการผนวกสยามเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลก สนธิสัญญาฉบับนี้มุ่งเน้นไปที่เรื่องพิกัดอัตราภาษี โดยมีการยกเว้นภาษีฝิ่นซึ่งเป็นสินค้าหลักของอังกฤษ แต่การเมืองภายในราชสำนักสยามก็ยังคงเต็มไปด้วยความเห็นที่แตกต่างกัน และอาจจะมากยิ่งกว่าเดิมเมื่อฝ่ายหนึ่งต้องการปรับปรุงสยามให้ทันสมัยขึ้น เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าป้อนตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ชนชั้นขุนนางส่วนใหญ่ซึ่งได้ประโยชน์จากการสะสมกำลังคนในช่วงรัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 3 นั้น มองว่าการปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยจะกลายเป็นภัยคุกคามฐานะความเป็นอยู่ของตน เรื่องราวดังกล่าวคลี่คลายได้เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงเห็นด้วยกับความจำเป็นที่ต้องตอบสนองตลาดโลก และสิ่งที่พระองค์ให้ความสำคัญลำดับแรก คือ การใช้กระบวนการสร้างความทันสมัยเป็นเครื่องมือกระชับอำนาจทางการเมืองของพระองค์ (น. 18)

 

การเมืองกลุ่มก๊กในราชสำนัก

เพื่อที่จะเข้าใจรูปแบบการเมืองในราชสำนักสยาม งานชิ้นนี้เสนอให้มองกลุ่มการเมืองในหมู่ชนชั้นนำเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ หนึ่ง ฝ่ายสยามเก่า (Old Siam) คือกลุ่มขุนนางส่วนใหญ่ สอง ฝ่ายสยามอนุรักษนิยม (Conservative Siam) เป็นกลุ่มชนชั้นนำเล็กๆ ศูนย์กลางอยู่ที่ตระกูลบุนนาคและพรรคพวก และ สาม ฝ่ายสยามหนุ่ม (Young Siam) คือกลุ่มพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ และผู้สนับสนุนพระองค์ ทั้งขุนนาง ข้าราชการ และพระราชวงศ์ที่ยังทรงพระเยาว์ ซึ่งในปีกหลังสุดต้องการนำระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาใช้ในสยาม พวกเขาสะสมชัยชนะจนสำเร็จถึงเป้าหมายสูงสุดหลังจากนั้นอีกไม่กี่ทศวรรษถัดมา

เหตุผลหลักที่กลุ่มสยามหนุ่มต้องการสร้างรัฐใหม่ก็เนื่องมาจากรัฐรวมศูนย์สมัยใหม่จะช่วยรวบเอาความมั่งคั่งและอำนาจเอาไว้ที่สถาบันกษัตริย์ ส่วนระบบราชการและระบบภาษีสมัยใหม่จะดึงความมั่งคั่งและอำนาจจากขุนนางผู้ใหญ่ และกำจัดชนชั้นขุนนางออกจากการเป็นตัวกลางระหว่างกษัตริย์กับราษฎร (น. 80-81)

กรณีเช่นนี้ มีความพยายามเป็นระลอกตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯแล้ว ดังเช่นเมื่อแรกสยามเข้าสู่โลกเศรษฐกิจของยุโรปในช่วงต้นรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงปรึกษากับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ในการยกเลิกเกณฑ์แรงงานและหันมาใช้แรงงานรับจ้างแทน แต่ก็เผชิญปัจจัยอุปสรรคหลายประการจนไม่อาจดำเนินการปฏิรูปกำลังคนได้ ขั้นตอนแรกในการหยุดวงจรอุบาทว์นี้ จึงได้แก่การเลิกทาส ซึ่งเป็นมาตรการที่ฝ่ายสยามอนุรักษนิยมตัดสินใจดำเนินการในที่สุด และนำมาสู่ความขัดแย้งของทั้งสามฝ่าย (น. 83-84)

การเริ่มสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาปรากฏอย่างจริงจัง ในปี 2417 เริ่มจากมีการค้นคว้าว่าบรรดารัฐสมัยใหม่รวบรวมและกระจายทรัพยากรกันอย่างไร และยังให้มีการวิเคราะห์รัฐธรรมนูญของสหราชอาณาจักร บริติชอินเดีย และจักรวรรดิฝรั่งเศสที่สอง ซึ่งแบบอย่างจากฝรั่งเศสกลายเป็นแม่แบบของการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินที่ไทยเลือกรับหลักการมาบางส่วน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกของการพยายามปฏิรูปภายใต้การนำของรัชกาลที่ 5 ก็ยังเผชิญแรงเสียดทานและความขัดแย้งรุนแรงกับฝ่ายสยามเก่า และสยามอนุรักษนิยม กรณีที่ร้ายแรงที่สุดซึ่งนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในภายหลังคือ วิกฤตการณ์วังหน้า รัชกาลที่ 5 ต้องรอเวลาอีกสักระยะจนกระทั่งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ผู้นำของฝ่ายสยามอนุรักษนิยมถึงแก่พิราลัย การปฏิรูปอย่างเต็มกำลังตามพระราชประสงค์จึงมาถึง

 

เมื่อระบอบ ‘สมบูรณ์สิทธิ์’ กลืนกินตัวเอง

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เดินหน้าสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การสร้างระบบราชการสมัยใหม่ผ่านการศึกษากลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างกำลังคนแบบใหม่ป้อนเข้าสู่ระบบราชการ ในแง่หนึ่งจึงทำให้สามัญชนหน้าใหม่มีโอกาสเลื่อนชั้นทางสังคมผ่านการศึกษา แต่นั่นก็นำมาสู่การเกิดปัญหาใหม่อีกประการคือ ปัญหาความจงรักภักดี

หนังสือเล่มนี้นำเสนอตัวอย่างหลายกรณีที่เผยให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ต้องเผชิญภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เนื่องจากพระองค์มีพระราชประสงค์ทั้งจะปกปักรักษาชนชั้นปกครองไว้ ขณะเดียวกันก็ต้องการกำลังคนในระบบราชการสมัยใหม่ ทำให้ต้องแต่งตั้งสามัญชนเข้ามาร่วมปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่ของชนชั้นปกครอง (น. 156)

นอกจากนั้นการมีมเหสีหลายคนยังนำมาสู่การแข่งขันภายในราชสำนัก รวมไปถึงการแยกพระคลังมหาสมบัติออกจากพระคลังข้างที่ ทำให้บางครั้งต้องประสบปัญหาการใช้จ่าย เพราะรูปแบบการคลังเช่นนี้ก็จำกัดการเข้าถึงรายได้ของกษัตริย์เองด้วย

ระบบราชการที่กำเนิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ยังนำมาสู่ปัญหาอีกประการหนึ่ง คือ ปัญหาว่าด้วยการผนวกชาติซึ่งเป็นสิ่งใหม่ กับสถาบันกษัตริย์ที่ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ตัวอย่างสำคัญข้อนี้ มาปรากฏให้เห็นในวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 เมื่อข้าราชการและราษฎรขันอาสาเข้าต่อสู้กับฝรั่งเศสเพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พวกเขาไม่ได้กล่าวถึง ‘ชาติ’ แต่ประการใด ในเวลานั้นมีเพียงคนไทยกลุ่มเล็กๆ ที่ได้รับการศึกษาแบบตะวันตกเท่านั้นที่แสดงความเป็นปฏิปักษ์ต่อฝรั่งเศสบนพื้นฐานความคิดแบบชาตินิยม

ในช่วงต้นของระบอบจึงเผชิญการท้าทายครั้งแรก จากบรรดาเจ้านายเชื้อพระวงศ์ที่เห็นว่าผลประโยชน์ของพวกตนจะเพิ่มพูนรวดเร็วยิ่งกว่าที่เป็นอยู่หากระบอบยินยอมให้เกิดการมีส่วนร่วมทางการเมืองมากยิ่งขึ้น ดังจะเห็นในคำกราบบังคมทูลฯ ปฏิรูปการปกครองของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ใน ร.ศ. 103 ซึ่งได้รับการปฏิเสธจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ

ในส่วนข้าราชการใหม่ที่เติบโตมาจากการปฏิรูปการศึกษา ก็มีลักษณะแตกต่างจากชนชั้นขุนนางเก่าอย่างชัดเจน ตรงที่ยึดโยงผลประโยชน์และค่านิยมของตนเข้ากับสถาบันระบบราชการสมัยใหม่มากกว่าจะยึดโยงกับพระมหากษัตริย์ ซึ่งในงานของกุลลดาเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ‘กระฎุมพีราชการ’

ทางออกของความตึงเครียดในประเด็นความจงรักภักดีนี้ ถูกแก้ไขด้วยการที่รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างกลุ่ม ‘secret league’ ขึ้นมา เพื่อรวมกลุ่มผู้คนที่ไว้ใจได้ และเมื่อถึงรัชกาลที่ 6 กลุ่มที่ได้รับความไว้วางใจแสดงให้เห็นในนาม ‘กองเสือป่า’

ถึงตรงนี้กุลลดามองว่า การเติบโตของกองเสือป่าทั้งมิได้คาดหมายและมิได้ตั้งใจ สะท้อนให้เห็นความสับสนของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ที่มีต่อวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งองค์กร ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่มาจากข้าราชบริพารและข้าราชการหลายระดับชั้น ซึ่งแต่เดิมต้องการให้เป็นเพียงเครื่องมือของ ‘ชาตินิยมทางการ’ เพื่อสานต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทว่าพระองค์ขาดพระปรีชาสามารถและพระราชอุตสาหะ ทั้งยังปราศจากทักษะในการตีความแนวคิดเรื่องชาติเพื่อดึงดูดกลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลายเข้าด้วยกัน (น. 279) ความเป็นชาตินิยมที่แบ่งแยกผู้คนออกห่างจึงไม่เป็นผลดีต่อระบอบ

กระนั้นก็ตาม หนังสือเล่มนี้เสนอว่า เหตุที่ความเสื่อมถอยของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เกิดขึ้นนั้นมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างภายในระบอบเป็นสำคัญ มากกว่าความไม่พอใจพระมหากษัตริย์พระองค์ใดเป็นการเฉพาะ

ดังจะเห็นว่า เมื่อเข้าสู่ปลายรัชกาลที่ 5 ก็เริ่มมีกลุ่มวิจารณ์การใช้จ่ายของราชสำนักเสียแล้ว ขณะที่ข้าราชการที่ได้รับการศึกษาตามตะวันตกก็เรียกร้องให้ใช้เกณฑ์แบบที่ตัวเองได้รับมาเป็นพื้นฐานในการตัดสินเลื่อนตำแหน่งและความก้าวหน้าในราชการ

ความไม่พอใจอีกส่วนหนึ่งได้รับแรงกระตุ้นจากการปฏิวัติที่เกิดขึ้นในรัฐอื่นๆ เช่น ตุรกี และจีน เมื่อถึงรัชกาลที่ 6 ความไม่พอใจในกองเสือป่าที่สั่งสมมาก็ทวีความเข้มข้นขึ้น ดังแสดงให้เห็นจากการเคลื่อนไหวเพื่อโค่นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในนาม ‘กบฏ ร.ศ. 130’ หรือ ‘กบฏหมอเหล็ง’ ก่อนที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะปิดฉากลงอย่างเป็นทางการในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

 

ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์: วิวัฒนาการรัฐไทย

รองศาสตราจารย์กุลลดา เกษบุญชู มี้ด เขียน

สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

 

author

Random books