แปดขุนเขา และลูกที่เก้าใต้หลังคาบ้าน

แปดขุนเขา และลูกที่เก้าใต้หลังคาบ้าน

บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาในเรื่อง
โปรยปกหลังย่อหน้าแรกของหนังสือเขียนไว้ว่า
แปดขุนเขาพูดถึงมิตรภาพระหว่างเด็กชายสองคนที่ก่อเกิดบนภูเขาแห่งหนึ่งในเทือกเขาแอลป์ ทั้งคู่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับความผูกพันที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง แม้นว่าคนหนึ่งจะไม่เคยจากขุนเขาบ้านเกิดไปไหนเลย ส่วนอีกคนเดินทางท่องโลกด้วยเหตุผลที่เขาตอบคนอื่นว่า ปรารถนาจะเห็นยอดเขาสวยๆ ในที่ไกลๆ ชายชราชาวเนปาลคนหนึ่งจึงเล่าให้เขาฟังว่า มีแปดขุนเขาล้อมรอบเขาพระสุเมรุ และถามว่า ระหว่างคนที่ท่องไปทั้งแปดขุนเขา กับคนที่ไปถึงยอดเขาพระสุเมรุ ใครได้เรียนรู้มากกว่ากัน คำตอบของเขาอยู่ในนวนิยายเรื่องนี้ แต่นั่นอาจไม่ใช่สารัตถะของเรื่อง

มีข้อความสำคัญอย่างน้อยสองจุดในโปรยย่อหน้านี้

หนึ่ง “แต่นั่นอาจไม่ใช่สารัตถะของเรื่อง” เพราะย่อหน้าดังกล่าว ไม่ใช่สารัตถะของนวนิยายเรื่องนี้จริงๆ

สอง คำถามว่าระหว่างคนที่พิชิตยอดเขาทั้งแปดกับผู้ป่ายปีนขึ้นยอดเขาพระสุเมรุ ใครได้เรียนรู้มากกว่ากัน

คำถามนี้ก็มีปัญหาในตัวมันเอง เพราะการที่ใครจะได้เรียนรู้มากกว่ากัน อาจไม่เป็นสาระสำคัญเท่ากับว่าสิ่งที่แต่ละคนได้เรียนรู้นั้นมันสอดคล้องและสัมพันธ์กับเงื่อนไขชีวิตที่เลือกหรือไม่ 

เอาเข้าจริงนวนิยายเรื่องนี้แทบไม่ใช่เพียงเรื่องราวมิตรภาพของเด็กชาย 2 คนด้วยซ้ำ หากแต่มันกำลังเล่าเรื่องความแหว่งวิ่น ไม่สมบูรณ์แบบ ถวิลหาชิ้นส่วนชีวิตที่ตกหล่นสูญหาย การป่ายปีน ดิ้นรน ทดลองแผ้วถางพื้นที่ชีวิตตนเอง ซึ่งไม่มีหลักประกันใดเลยว่าความพยายามดังกล่าวจะลงเอยด้วยความสำเร็จ

ความแหว่งวิ่น ไม่สมบูรณ์ และการเดินทางตามหาชิ้นส่วนชีวิตที่หล่นหาย เกิดขึ้นและดำเนินไปใต้ชายคาคำว่าครอบครัว มันจึงมีคำกล่าวว่าทุกบ้านล้วนมีนวนิยายของตนเอง บ้านมิได้มีแต่แง่มุมปลอดภัยอบอุ่น หากแต่ยังแอบลอบสร้างภูเขาให้สมาชิกแต่ละคนปีนป่าย ขุดค้น พิสูจน์ ตีความ สร้างถ้ำโถงของตนเอง หรือกระทั่งบางคนก็เลือกที่จะเดินออกจากบ้าน เมื่อพบว่าหมดความสามารถจะผนวกตัวให้กลมกลืน

 

พ่อ เป็นตัวละครที่ดูเหมือนผู้เขียนจงใจสร้างให้เป็นบุคคลน่ารำคาญมากที่สุดตั้งแต่บรรทัดแรกของเรื่อง ชายผู้มีบุคลิกนิสัยกระหายการเป็นผู้พิชิต นอกจากพิชิตยอดเขาลูกแล้วลูกเล่าแล้ว ยังหิวโหยสถิติเวลาที่ดีกว่านักเดินเขาคนอื่นๆ พร้อมจะเลือกเดินขึ้นสู่ทางเฉียบชันกว่า เพียงเพื่อไปให้ถึงยอดเขาก่อนนักเดินเขาทีมอื่น ขณะเดียวกันก็เรียกร้องและตั้งกฎกับลูกทีมอย่างเข้มงวด ห้ามหยุดเดิน ห้ามเอ่ยปากแสดงความเหนื่อยล้า ห้ามถามว่าอีกไกลไหม

เปาโล คนเญตติ ค่อยๆ ทำให้ผู้อ่านทำความรู้จักพ่อมากขึ้นว่า ภูมิหลังชีวิตชนิดใดจึงสร้างให้เขาพร้อมจะเป็นอริถาวรกับโลก เพราะอะไรชายผู้บ้าบิ่นดันทุรังจึงหน้าถอดสีแสดงความกลัวเมื่อเห็นลูกชายมีอาการแพ้ความสูง (altitude sickness) ขณะเดินอยู่บนธารน้ำแข็ง แผนที่เส้นทางเดินเขาที่พ่อเขียนทิ้งไว้ในบ้านที่หมู่บ้านกรานา แผนที่เขียนด้วยหมึกสีดำ สีเขียว และสีแดง แต่ละสีเป็นตัวแทนนักเดินเขา 3 คน แต่ส่วนใหญ่เส้นทางที่เขียนด้วยหมึกสีดำเป็นการดุ่มเดินโดยลำพัง

ภายใต้ท่วงทำนองการออกแบบตัวละครที่ดูเหมือนผู้เขียนจงใจจะขยี้เย้ยหยัน แต่ก็ยังปรากฏน้ำเสียงแสดงความนับถืออยู่ในที ทั้งการทำงานอย่างหมกมุ่น ทั้งการเดินเขาอย่างหลงใหล ทั้งการรับมือวาระสุดท้ายของตัวเองที่มาถึงอย่างกะทันหันด้วยสัญชาติญาณนักแก้ปัญหา จัดการลมหายใจสุดท้ายโดยไม่ให้มีผู้ใดเดือดร้อน แม้ไม่มีเพื่อนคนใดร่ำไห้ในวันที่พ่อตาย

 

แม่ เป็นตัวละครลึกลับและเก็บงำ ลองนึกภาพผู้หญิงที่แต่งงานกับเพื่อนน้องชาย วันพิธีแต่งงานเจ้าบ่าวสวมชุดนักปีนเขา ไม่มีญาติฝั่งเจ้าสาวเข้าร่วมพิธีแม้แต่คนเดียว เนื่องจากน้องชายเจ้าสาวตกเหวเสียชีวิตขณะปีนเขากับเจ้าบ่าว

หญิงชาวบ้านจากแคว้นแวเนโตผู้ต้องใช้ชีวิตร่วมกับผู้ชายบุคลิกผสมผสานระหว่างปัญญาชน นักธุรกิจ และคนคลุ้มคลั่ง ชายผู้ไม่มีเพื่อนฝูงรายรอบเพราะเที่ยวได้วิวาทบาดถลุงกับผู้คนรอบตัว ชายบ้างานผู้แบกรับวิกฤติโรงงานบนไหล่บ่า ท่ามกลางบรรยากาศเศรษฐกิจถดถอยช่วงปี 1980 

ในช่วงหนุ่มสาว แม่ยังร่วมเดินเขากับพ่อ แต่เมื่อใช้ชีวิตด้วยกันถึงระยะเวลาหนึ่ง แม่บอกกล่าวกับพ่อว่า พึงพอใจและมีความสุขที่ได้ใช้ชีวิตที่ความสูงระดับชายเขา ไม่ได้มีความทะเยอทะยานที่จะป่ายปีนขึ้นไปสู่ความสูงหลายพันเมตรจากระดับน้ำทะเลแบบพ่อ ข้อเสนอนี้เป็นทั้งวิทยาศาสตร์และสุนทรียะของการเลือกใช้ชีวิต คนที่เคยหายใจอยู่ในระดับความสูงเกิน 4,500 เมตร จะยิ่งเข้าใจ

สิ่งที่แม่ปฏิบัติกับพ่อจึงมีทั้งการจัดระยะความสัมพันธ์ เก็บงำถ้อยคำ เข้มแข็ง ใจเย็น รวมถึงเล่นการเมืองประลองอำนาจต่อกันและกันอย่างเงียบงัน

ข้อเรียกร้องของแม่ที่ขอย้ายชีวิตจากกรุงมิลานไปอยู่กระท่อมชายเขาที่หมู่บ้านกรานา เป็นทั้งการหาพื้นที่ระดับความสูงพึงพอใจ และการตามเก็บชิ้นส่วนชีวิตที่สูญหาย เพราะแม่เติบโตมากับสภาพบรรยากาศแวดล้อมแบบนั้น

 

บรูโน เป็นตัวละครที่ผู้เขียนจงใจออกแบบให้ผู้อ่านหลงรักตั้งแต่แรก เด็กชายยากไร้ ขาดแคลนโอกาส ฝึกฝนดูแลชีวิตตนเองตั้งแต่เด็ก เคยเข้าใกล้ความฝันทางการศึกษา แต่ทำได้อย่างมาเพียงเฉี่ยวใกล้ ถัดจากนั้นจึงถูกชะตากรรมเฆี่ยนโบยบีบคั้นให้มีชีวิตรอดท่ามกลางภูมิประเทศเทือกเขาสูง ทุรกันดาร ปกคลุมด้วยหิมะและธารน้ำแข็ง

เขาเป็นขั้วหนึ่งของสายสัมพันธ์มิตรภาพ คนแบบบรูโนมีองค์ประกอบครบถ้วนให้ผู้คนหลงรัก ทั้งความโดดเดี่ยว น่าเวทนา การต่อสู้ดิ้นรน การเรียนรู้ฝึกฝนที่จะมีชีวิตรอด ความซื่อ และเหลี่ยมคูชั้นเชิงที่เราจับต้องได้พร้อมกับการแอบยิ้ม

บรูโนคือชิ้นส่วนอะไหล่ชีวิตที่พ่อตามหา ภายหลังสูญเสียความสัมพันธ์กับบุตรชาย นับตั้งแต่วันที่บุตรชายเดินมาบอกว่าจะเลิกเรียนคณิตศาสตร์เพื่อเปลี่ยนไปเรียนภาพยนตร์ จนถึงวันที่ปฏิเสธออกไปตั้งแคมป์ริมทะเลสาบกับพ่อ เราจะสัมผัสได้ว่าตอนที่พ่อกับบรูโนร่วมกันออกแบบวางแผนก่อสร้างกระท่อมเพิงผา กระท่อมที่มองออกไปเห็นทะเลสาบและยอดเขาเกรน็อน ระหว่างที่พ่อกับบรูโนคุยกันถึงขนาดหน้าตัดของเสาและคานเพื่อคำนวณการรับน้ำหนัก มันคือความสุขของคนรักคณิตศาสตร์และงานช่าง ซึ่งลูกชายของพ่อไม่มีคุณสมบัติข้อนี้

ลาราและธุรกิจเลี้ยงวัวนม เป็นชิ้นส่วนชีวิตที่บรูโนตามหาเพื่อถมเติมความพร่อง วันที่บรูโนพบลาราครั้งแรก เขาพยายามพูดคำศัพท์ยากๆ และออกท่าออกทางระหว่างพูดเกินปกติเพื่อให้ถูกใจหญิงสาวปัญญาชน มันเป็นรอยแหว่งวิ่นของผู้ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา ส่วนธุรกิจวัวนมที่บรูโนกู้ธนาคารมาลงทุนก็คือการปะชุนบาดแผลความยากไร้วัยเยาว์

 

ผม (ปิเอโตร) หากใครรำคาญบุคลิกชนชั้นฌ่วลเป็นทุนเดิม หมอนี่คือองค์ประกอบทางเคมีของปัญญาชนผู้น่ามคานอย่างครบถ้วน ทั้งสายตาช่างสังเกตสังกาเที่ยวสอดส่องจ้องมองพฤติกรรมผู้อื่นอย่างเงียบงันอำมหิต ทั้งความหยิบโหย่งเอาแต่ใจทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอัน เปราะบาง จุกจิกหยุมหยิม นอกเหนือจากความช่างคิดช่างสังเกตแล้วเกือบจะไม่มีทักษะชีวิตด้านอื่น ดูแลชีวิตตัวเองยังแทบไม่ได้

กระทั่งการกลับไปยังขุนเขาแห่งหมู่บ้านกรานาเพื่อปลูกสร้าง ‘บ้านประสานรอยร้าว’ ก็ยังต้องอาศัยต้นทุนที่พ่อสร้างไว้ให้ โดยมีบรูโนมิตรแต่วัยเยาว์เป็นทั้งมันสมองและกำลังหลักในพันธกิจประสานรอยร้าว ซ่อมแซมความทรงจำ และป่ายปีนภูเขาลูกที่เก้าที่ยืนทะมึนอยู่ใต้หลังคาบ้าน

ปิเอโตรเป็นเสียงของผู้เล่าในนวนิยายเรื่องนี้ มันเป็นน้ำเสียงของความไม่สมบูรณ์ ไม่เจนจัด แต่มีร่องรอยอารมณ์ของนักแสวงหา Le otto montagne ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 2016 ขณะผู้เขียนมีอายุ 38 ปี ฉบับแปลจากภาษาอิตาลีเป็นภาษาไทยตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว แน่นอนว่าท่วงทำนองเช่นนี้สอดคล้องสภาพจิตและอารมณ์ของยุคสมัย

 

หนังสือบางเล่มก่อให้เกิดแรงบันดาลใจอยากเขียนนวนิยายเมื่อได้อ่านจบ แปดขุนเขา เป็นหนึ่งในหนังสือกลุ่มดังกล่าว

เปาโล คนเญตติ เขียน
นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ แปล
สำนักพิมพ์ อ่านอิตาลี
author

Random books