จุมพิตสีขาว-ฟร็องซัวส์ โมริยัค: บทบรรเลงแห่งเพลงโซโลมอน

จุมพิตสีขาว-ฟร็องซัวส์ โมริยัค: บทบรรเลงแห่งเพลงโซโลมอน

ผมไม่มั่นใจว่า ฌ็อง เปลูแอร์ พระเอกของเรื่อง ตายตอนอายุเท่าไหร่ แต่พระเยซูตายตอนอายุ 33 ปี และโยเซฟ พ่อทางการของเขาตายเมื่ออายุ 110 ปี (ถ้าเชื่อตาม ปฐมกาล 50:22)

โดยปราศจากหลักฐานอ้างอิงใด ผมคิดว่า ข้อสันนิษฐานที่มองว่าคนชราอยู่ใกล้ความตายมากกว่าคนหนุ่มเป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ อย่างน้อยก็ต้องเป็นสมมติฐานที่ตั้งอยู่บนสังคมซึ่งปราศจากการเกณฑ์เข้ารบสงคราม หรือเป็นสังคมใดสังคมหนึ่งที่วิถีชีวิตของคนหนุ่มสาวมิใช่การไปเสี่ยงภยันตรายถึงขนาดจะพรากชีวิต ด้วยเงื่อนไขของสังคมที่สงบสุขนี้ย่อมทำให้ความคิดที่ว่าเราจะสามารถอยู่ไปจนถึงแก่เฒ่าเป็นไปได้

คำพูดของ เมอซิเยอร์เฌโรม เปลูแอร์ บิดาของฌ็อง ที่ว่า 

“พวกคนหนุ่มสาวมักจะไปก่อนเสมอ” (หน้า 77) 

จึงสะท้อนบริบทบางประการที่ตรงกันข้ามกับข้อสันนิษฐานในสังคมที่กล่าวไปข้างต้น มันชัดเจนมากว่า คือสำนึกในสังคมคริสต์ศาสนา หรือเจาะจงขึ้น มันคือสังคมคริสตัง หรือก็คือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก

โนเอมี ดาเตียลห์ เป็นตัวเลือกที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะมาแต่งงานกับ ฌ็อง เปลูแอร์ ผู้อัปลักษณ์และมีรูปร่างคล้ายจิ้งหรีด อย่างที่โมริยัคบรรยายไว้ 

“เธอเป็นเผ่าพันธุ์ซึ่งไม่แสวงหาความสุขทางกายในการแต่งงาน เป็นหญิงที่คำนึงถึงแต่หน้าที่ ยำเกรงพระเจ้าและเชื่อฟังสามี เธอจะเป็นแม่เหมือนแม่คนอื่นๆ ซึ่งยังพบเห็นได้ในปัจจุบัน และแม้จะตั้งครรภ์หลายครั้งหลายหน ความไม่รู้เดียงสาของเธอก็จะไม่มีวันผันแปรไป” (หน้า 36)

สำหรับผม คำบรรยายนี้สะท้อนว่าโนเอมีเป็นคริสต์ศาสนิกชนหญิงที่ดีมาก ดีถึงขนาดที่มันทำให้อดเปรียบเธอกับผู้เป็นต้นแบบของหญิงที่ดีในคริสต์ศาสนาอย่างพระแม่มารีมิได้ เธอเหมือนพระแม่มารีผู้แต่งงานและทำหน้าที่ตามบัญชาสวรรค์ จะต่างกันตรงที่เธอไม่ได้ให้กำเนิดลูกที่มาจากพระผู้เป็นเจ้า แต่หากละข้อต่างนี้ไปแล้ว ก็นับว่าเธอเป็น ‘ลูกแกะ’ ที่ดีตัวหนึ่ง (แม้ครั้นก่อนเข้าพิธีแต่งงานกับฌ็อง เปลูแอร์ เธอจะรู้สึกขยะแขยงคู่ของตน จนอยากจะหนีไปบวชชีก็ตาม)

Pastoral Power หรืออำนาจชุมพาบาล เป็นสิ่งสำคัญในคริสต์ศาสนา มันคืออำนาจของผู้เลี้ยงฝูงแกะ ดังที่ปรากฏใน อิสยาห์ 40:11 “พระองค์จะทรงเลี้ยงฝูงแกะของพระองค์เหมือนผู้เลี้ยงแกะ พระองค์จะทรงรวบรวมลูกแกะไว้ด้วยพระกรของพระองค์ พระองค์จะทรงอุ้มไว้ที่พระทรวง และจะค่อยๆ นำแม่แกะที่มีลูกอ่อน”

ใน จุมพิตสีขาว ผู้ใช้อำนาจชักนำและต้อนฝูงแกะที่ชัดที่สุดคือเจ้าอาวาส ผู้ซึ่งแนะนำให้เกิดการแต่งงานกันระหว่าง ฌ็อง เปลูแอร์ และโนเอมี ดาเตียลห์ อันเป็นคำแนะนำที่แฝงเร้นด้วยเหตุผลส่วนตัวของเจ้าอาวาส เพราะหากตระกูลเปลูแอร์ไร้ซึ่งทายาท ก็จะกระทบต่อความมั่นคงในสถานะของเจ้าอาวาสอย่างมาก

แต่ด้วยความเลือนรางของเส้นแบ่งระหว่างที่มาของอำนาจกับผู้ใช้อำนาจนั้น ก็พร้อมเสมอที่จะทำให้ผู้ใช้อำนาจเกิดความสับสนได้ตลอดเวลา อย่างที่เจ้าอาวาสเป็น 

“ในฐานะคนเลี้ยงแกะที่ดี เขากังวลสนใจเฉพาะแต่ฝูงแกะของเขาเท่านั้น ทุกครั้งที่ตัดสินตนเอง เจ้าอาวาสจะเห็นว่าตนบริสุทธิ์ แต่ก็ไม่หน่ายที่จะทบทวนอีกครั้ง เขาเกรงว่าตนไม่อาจจะแยกแยะระหว่างสิ่งที่ไม่ถูกต้องกับสิ่งที่ถูกต้อง อีกทั้งยังลังเลเกี่ยวกับคุณค่าแห่งการกระทำของตน ด้วยรู้สึกต่ำต้อย เขาจึงอวดโอ่น้อยลง ในการประกอบพิธีมิสซาประจำวัน เขาไม่ปลดจีบหางเสื้อคลุม และไม่สวมหมวกมิตรซึ่งทำให้เขาโดดเด่นจากพระรูปอื่นๆ สิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้เริ่มไร้ความหมายต่อเขาไปทีละอย่าง เขาไม่รู้สึกยินดียินร้ายเมื่อได้รับข่าวว่า แม้เขาจะมิได้เป็นพระสงฆ์หัวหน้าเขต แต่สังฆมณฑลก็อนุญาตให้เขามีสิทธิ์สวมผ้าคลุมศีรษะและคอเหนือเสื้อคลุมผ้าลินินสีขาว เหตุใดก่อนหน้านี้เขาจึงยึดถือสิ่งเล็กๆ น้อยๆ นี้ ทั้งๆ ที่เขานั้นเป็นผู้ดูแลจิตวิญญาณ ในช่วงเวลาปัจจุบันไม่มีอะไรสำคัญสำหรับเขาเท่ากับการถอนตัวจากเรื่องระทึกนี้ เขาเป็นเครื่องมือว่าง่ายของพระผู้เป็นเจ้า หรือเป็นเจ้าอาวาสชนบทผู้ต่ำต้อยที่สวมบทบาทพระผู้เป็นนิรันดร์กันแน่” (หน้า 108-109)

อย่างไรก็ดี แม้นวนิยายคล้ายจะเล่นกับเรื่องเล่าของคริสต์ศาสนา แต่มันก็เป็นระดับที่เล็กจิ๋วกว่ามาก ชะตากรรมของ ฌ็อง เปลูแอร์ ก็เป็นเรื่องเล็กจ้อยมากเมื่อเทียบกับพระเยซู

มรณสักขีของพระเยซู คือการต่อสู้กับอำนาจรัฐโรมัน มรณสักขีของ ฌ็อง เปลูแอร์ เป็นเพียงการสู้กับความต่ำต้อยของตัวเอง (แม้แต่การจะแสดงความรู้สึกเป็นผู้พิชิตผ่านคำกลอน เขาก็ยังเลือกที่จะแสดงออกผ่านคำกลอนของผู้ศิโรราบ)

มรณสักขีของพระเยซู คือการปลดปล่อยมนุษยชาติและกลับไปสู่อ้อมอกของพระผู้เป็นเจ้า มรณสักขีของฌ็อง เปลูแอร์คือการปลดปล่อยหญิงที่ตนรักจากความแห้งแล้งและความรู้สึกผิดในชีวิตสมรส เพื่อให้นางกลับไปแย้มบานงามสะพรั่งอีกครั้งหนึ่ง

ฝ่ายหนึ่งสู้กับอำนาจรัฐด้วยความรัก อีกฝ่ายหนึ่งสู้กับอำนาจรักด้วยความตาย แต่ถึงที่สุดแล้วทั้งคู่ต่างก็เป็นพวกเดียวกันกับทาสที่ ฟรีดริช นีตซ์เช (Friedrich Nietzsche) ประจานไว้

ฟร็องซัวส์ โมริยัค เขียน
วัลยา วิวัฒน์ศร แปล
อ่าน๑๐๑ สำนักพิมพ์





author

Random books