ภูผา วารี วิถีน่าน: การบันทึกคือสงครามช่วงชิงความทรงจำ

ภูผา วารี วิถีน่าน: การบันทึกคือสงครามช่วงชิงความทรงจำ

-1-

ผมรู้จักนามปากกา จันทนา ฟองทะเล ครั้งแรกตอนอ่านนิตยสารอาทิตย์หรือข่าวพิเศษรายสัปดาห์ เมื่อราว 30 กว่าปีที่แล้ว

ตอนอ่านข่าวพิเศษในยุคนั้น นอกจากอ่านงานเขียนของชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ ในหลายนามปากกาแล้ว ก็ต้องอ่านสำนวนเวิ้งว้าง เศร้างามของทินกร หุตางกูร อ่านประเด็นต่างประเทศ โดย ประชา สันติธรรม และคอลัมนิสต์อีกคนหนึ่งข้ามผ่านไม่ได้คือ จันทนา ฟองทะเล

ตัวหนังสือของจันทนา ฟองทะเล ไม่ได้ขรึมขลังแหลมคมเหมือนชัชรินทร์ในยุคนั้น ขณะเดียวกันก็ไม่ได้โรแมนติกสวยงาม ชำนาญการสร้างคำเปรียบเหมือนทินกร

แต่หากใครชอบงานเขียนสกุลน้อยแต่มาก ทุกคำทุกพยางค์มีความหมาย ตัดทิ้งไม่ได้ โครงสร้างประโยคเรียบง่าย แต่กลับทำหน้าที่สื่อสารความคิดและความรู้สึกอย่างครบถ้วนไม่ตกหล่นและไม่ล้นเกิน ตัวหนังสือของจันทนา ฟองทะเล เป็นเช่นนั้น

 

-2-

ทักษะในข้อหนึ่งสามารถฝึกฝนได้ และบรรณาธิการอาจช่วยได้ หากแต่ร่องรอยบางอย่างในตัวหนังสือเป็นเรื่องตัวตน ประดิษฐ์ไม่ได้ โกหกหลอกต้มได้แค่ชั่วครู่ชั่วคราว สุดท้ายคนเขียนมักแสดงตัวตน นิสัยใจคอ ผ่านถ้อยคำออกมาเสมอ ทั้งโดยตั้งใจและพลั้งเผลอ

ตั้งแต่ตอนอ่านคอลัมน์คิดแล้วเขียน ของจันทนา ฟองทะเล เมื่อ 30 ปีก่อน จนกระทั่งอ่านงานล่าสุดเล่มนี้ ผมสัมผัสได้ถึงความอ่อนโยน น้ำเสียงถ่อมตัว ตัวหนังสือไม่เคยมีร่องรอยเขื่องกร่าง แต่ขณะเดียวกันก็มีท่วงท่าเปิดเผย องอาจ ยืนหยัดหนักแน่นในหลักคิด ตามลักษณะของคนที่เคยจับปืนเอาชีวิตเข้าแลกในสงครามการเมืองมาแล้ว

 

-3-

ภูผา วารี วิถีน่าน เป็นงานบันทึกประวัติศาสตร์ในพื้นที่สู้รบเขตจังหวัดน่าน ผู้เขียนผูกพันกับชัยภูมิป่าเขาย่านนี้ลึกซึ้ง และน่าจะตั้งใจบันทึกเหตุการณ์หลายแง่มุมระหว่างสมรภูมิสงคราม

อาจนับได้ว่างานเล่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์ จากดอยยาวถึงภูผาจิ ผลงานอันเป็นลายเซ็นของผู้เขียน ซึ่งได้รับคำยกย่องว่าบันทึกประวัติศาสตร์ฉากเหตุการณ์สู้รบในเขตน่านอย่างสง่าองอาจ แต่ไม่มีน้ำเสียงโอ้อวดความสูงส่งวีรกรรม

หน้าที่ของการบันทึกไม่ใช่อะไรอื่น หากแต่มันคือการทำสงครามช่วงชิงความทรงจำ

 

-4-

สำหรับคนรุ่นหลังที่เบื่อหน่ายเรื่องเล่า และพฤติกรรมเลอะเทอะในช่วงปัจฉิมวัยของคนรุ่นเข้าป่า (จำนวนหนึ่ง) ก็อย่าเพิ่งเบือนหน้าหนี เพราะผู้เขียนบันทึกเหตุการณ์ในอดีตเพื่อเชื่อมโยงให้เห็นสถานการณ์ปัจจุบันอย่างน้อย 3 ประเด็น

หนึ่ง ที่ดินทำกิน

สอง สิ่งแวดล้อม

สาม การปรับตัวจากสังคมเกษตรมาสู่เศรษฐกิจท่องเที่ยวและบริการ

 

-5-

พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเริ่มเคลื่อนไหวในเขตน่านตั้งแต่ปี 2506-2507 เมื่อถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2510 เสียงปืนแตกครั้งแรกในจังหวัดน่าน ผู้ปฏิบัติการของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยถูกซุ่มยิงที่ตำบลนาไร่หลวง อำเภอเชียงกลาง เส้นทางเชื่อมต่อระหว่างภูแวกับเขตงานเชียงราย เมื่อถึงปลายปีเดียวกันนั้น รัฐบาลก็เปิดยุทธการทุ่งช้างกวาดล้างเผาบ้านประชาชนชาติพันธุ์

เดือนกุมภาพันธ์ปี 2511 ภูแวประกาศเป็นเขตปลดปล่อยแห่งแรกของจังหวัดน่านและประเทศไทย

นโยบายที่รัฐบาลยุคนั้นทำเพื่อสู้รบกับกองกำลัง พคท. คือเปิดพื้นที่ป่าดิบ ให้ประชาชนถากถางพื้นที่ป่า โดยสัญญาจะให้ที่ดินทำกิน

คำสัญญาและนโยบายคล้ายๆ กันนี้ถูกใช้อีกครั้ง หลังนโยบาย 66/23 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยล่มสลาย อดีตนักรบของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกลายเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ได้รับคำสัญญาว่าจะได้ที่ดินทำกิน

ระหว่างนั้นรัฐบาลก็ประกาศพื้นที่เขตป่าสงวนไปเรื่อยๆ เมื่อถึงปี 2534 โครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้ราษฎรผู้ยากไร้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมโทรม (คจก.) ก็กลายเป็นการเผชิญหน้าระหว่างรัฐกับเกษตรกร ซึ่งส่วนหนึ่งก็เคยเป็นแนวร่วมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

กระทั่งถึงยุคคสช. 2557-ปัจจุบัน นโยบายทวงคืนผืนป่า ก็ไล่รื้อที่อยู่อาศัยที่ดินทำกิน มีการจับกุมคุมขังเป็นคดีความกว่า 20,000 คดี มีผู้ต้องหา 4,000 กว่าคน

นี่คือหายนะซ้ำซากจากการเอาทหารมาแก้ปัญหาเชิงนโยบายของประเทศ

 

-6-

ประเด็นสิ่งแวดล้อม หมอกควัน เขาหัวโล้น และการสร้างสินค้าทางวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวใหม่ อ่านได้ในเล่ม

คนที่ชอบดูแผนที่ ศึกษาภูมิศาสตร์ ชอบภาษาและภูมิหลังการตั้งชื่อหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ น่าจะเพลิดเพลินกับหนังสือเล่มนี้ เพราะผู้เขียนจงใจอธิบายภูมิหลังพื้นที่ยุทธศาสตร์อย่างมีนัยสำคัญ

 

-7-

หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงมิตรสหายหลายคนที่ร่วงหล่นตายจากระหว่างเส้นทางการต่อสู้ ผมไม่แน่ใจว่ามันเหมาะแก่การอ่าน ในห้วงเวลาปัจจุบันหรือไม่

แต่โดยส่วนตัว มันเป็นการอ่านเพื่อเผชิญหน้าสภาพข้อเท็จจริงระหว่างสู้รบ บางทีอาจช่วยปลุกเร้าจิตใจคนหนุ่มสาวยุคปัจจุบัน

ไม่มีคำปลอบโยน แต่มีบันทึกความสูญเสียมิตรสหายคนแล้วคนเล่า ทั้งจากการสู้รบ และทั้งจากการเลือกจบชีวิตตนเอง

ความแตกต่างมีอยู่ว่า ยุคนั้นอย่างน้อยต่างฝ่ายต่างมีอาวุธและอยู่ในเงื่อนไขสงครามอย่างเปิดเผย แต่ปัจจุบันมีคนถือปืนและใช้กฎหมายอยู่ฝ่ายเดียว

 

-8-

ภาษาของความตาย

“เชียง บัณฑราภิวัฒน์ เพียรพยายามสังหารตัวเองอย่างเงียบๆ หลายวิธี เช่น ใช้มีดกรีดข้อมือ ในที่สุดเขาก็พบว่าใช้ปืนสั้นจ่อขมับแล้วลั่นไกเป็นวิธีง่ายและสะดวกที่สุด

“กลางดึก มิตรสหายนั่งลงปลงใจอยู่ข้างเตียงไม้ไผ่ที่เชียง บัณฑราภิวัฒน์อาศัยเป็นเรือนตาย เขาแต่งกายด้วยเครื่องแบบนักรบสวมหมวกแก๊ปสีเขียวปกปิดบาดแผล อากัปกิริยาของเขาเหมือนคนนอนหลับเป็นปกติ

“สายวันรุ่งขึ้น ร่างของเขาถูกฝังอยู่บนเนินดินที่มีแสงแดดอบอุ่นโลมไล้ตลอดวัน”

(หน้า 157-158)

 

-9-

ภาษาของความหวัง

“ครั้งหนึ่งผมเคยบอกเพื่อนชาวลัวะว่า วันใดถ้าหลงทาง ผมจะวิ่งลงไปหาถนน เขาไม่เข้าใจเพราะถนนบังคับเส้นทางไปอยู่เพียงสองทางเท่านั้น สำหรับเขาเขาจะวิ่งขึ้นไปบนสันสูงเพราะบนสันสูงมีเส้นทางให้เลือกเป็นร้อยๆ เส้นทาง

“ผมยังคิดถึงเพื่อนชาวลัวะ คิดถึงมือที่โค้งเป็นหลังเต่ามีนิ้วหักๆ งอๆ เป็นรูปกิ่วภูและร่องน้ำ คิดถึงฝ่าเท้าหยาบหนาที่ย่ำไปบนซากใบไม้อิ่มน้ำ ขณะหูได้ยินเสียงนก ตามองเห็นยอดภูอาบตะวันเบื้องหน้า และใจยังตระหนักนึกถึงภูห่มเมฆเบื้องหลัง

“วันนี้ผมยังย่ำไปบนที่ว่าง ตรงปลายเท้า”

(หน้า 172-173)

 

-10-

คำเตือนเก่าแก่ที่ว่า อย่าตัดสินหนังสือจากปก ใช้ได้จริงกับหนังสือเล่มนี้



author

Random books