ลุกไหม้สิ! ซิการ์ หนังสือรวมบทกวีนิพนธ์ของ ชัชชล อัจฯ ไม่เพียงเป็นตัวหนังสือที่กระแทกสายตาผู้อ่าน แต่ยังกระแทกทุกประสาทสัมผัส
เมื่ออ่านบทกวีของชัชชลคล้ายถูกฝ่ามือกระแทกใบหน้า คล้ายถูกมีดกรีดหัวใจอย่างจัง ระหว่างที่กำลังอ่าน ตัวอักษรในหนังสือคล้ายกลายสภาพไปเป็นเพลงฮิปฮอปที่มีดนตรีหนักหน่วงแบบ heavy metal ทว่าคำและ rhyme ของชัชชล ไม่ได้อวดรวย อวดเก่ง หรืออวดดี ซิการ์มวนนี้ร้อนแรงพร้อมแผดไฟเผาสิ่งเหล่านั้นให้เป็นจุล แต่ขณะเดียวกัน มันก็ยังคงแฝงความงดงามและความสุนทรีย์ชนิดที่ยาสูบชั้นดียังต้องอาย
มิพักสงสัยเลยว่า ซิการ์มีนัยถึง เช เกวารา (Che Guevara) นักปฏิวัติฝ่ายซ้ายชื่อดัง เจ้าของวาทะ “หากคุณเห็นความอยุติธรรมอยู่ตรงหน้าแล้วโกรธจนตัวสั่น เราก็เป็นสหายกัน”
และบทกวีของชัชชลก็แสดงความชิงชังต่อความอยุติธรรมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองตามสปิริตของเชออกมาอย่างไม่กระมิดกระเมี้ยน
อย่าเพิ่งเข้าใจผิด บทกวีชุดนี้มิได้ต้องการยกยอปอปั้นให้ใครเป็นมหาบุรุษ หากมันจะให้อารมณ์สรรเสริญได้บ้าง ก็คงเป็นการยกย่องเชิดชูความเป็น ‘มนุษย์’ ของปุถุชนเท่านั้น
“ชีวิตคนหนึ่งมีค่าเท่ากับชีวิตคนอีกคนหนึ่ง
สำเร็จ ล้มเหลว ถูก ผิด ได้พอกัน”
(หน้า 21)
เพราะเราล้วนเป็นคนธรรมดา ชั่วบ้าง ดีบ้าง เก่งบ้าง โง่บ้าง ฯลฯ ไม่ต่างกัน นี่เองอาจมีนัยว่า การลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงหรือจัดการกับความไม่เป็นธรรมทางสังคมสามารถเริ่มจากใครหน้าไหนก็ได้ ไม่ต้องงอมืองอเท้า รอบุคคลพิเศษที่ ‘ฟ้าประทาน’ มาเป็นคนริเริ่ม
สามัญชนก็จุดไฟให้ ‘ซิการ์’ ได้ ไม่เพียงเฉพาะ ‘คนดีย์’ ในฟากขวา หรือร่างทรงของ ‘น้าเช’ ในฟากซ้าย
ยิ่งไปกว่านั้น ใครก็ตามที่ชอบอ้างสถานะพิเศษเหนือคนอื่น เก่งกว่า ดีกว่า รู้มากกว่า สู้กว่า ฯลฯ กลับเป็นบุคคลน่าสงสัย ไม่ว่านั่นจะเป็นนักการเมือง นักวิชาการ กวี นักบวช รัฐ หรือกระทั่ง ‘เหนือ’ กว่านั้นขึ้นไปอีก
บทกวีคือการทรยศ
“คนบอกว่าบทกวีคือภาษา
“คือถ้อยคำจำนรรจ์ท่วงทำนอง คือข้อความดีที่สุดเรียงร้อยกันหมดจดงดงามที่สุด คือคำเปรียบเปรย อุปมาอุปไมย คือภาษาในจุดสูงสุดของพลัง คือโยนดอกกุหลาบลงจากหน้าผา และรอคอยเสียงสะท้อนจากก้นเหว คือเสียงหวานของนกไนติงเกล ซึ่งโดดเดี่ยวในความมืด ปลอบประโลมความเดียวดายของตัวเอง
“แต่ผมกำลังจะบอกว่าบทกวีคือการทรยศ”
(บางส่วนจาก บทกวีคือการทรยศ ของ วาด รวี)
หากจะมีบทกวีใดที่ให้น้ำเสียงของการทรยศ ลุกไหม้สิ! ซิการ์ ก็ต้องถูกจัดเข้าไว้ในลิสต์นั้นอย่างไม่ต้องสงสัย โดยเฉพาะในภาคแรกของหนังสือ ‘2553’ ซึ่งคงน้ำเสียงที่ดุดันและดิบเถื่อนเอาไว้มาก
‘2553’ น่าจะเขียนถึงและเขียนขึ้นในปี 2553 ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่แหลมคม ในขณะที่คนบางกลุ่มเกิด ‘ตาสว่าง’ แต่กลับก้มหน้าใช้ชีวิตต่อไปในสังคมที่ยัง ‘มืดบอด’
มีคำกล่าวเตือนกันเองในหมู่คนพวกนั้นว่า “ตาสว่างได้ แต่อย่าปากสว่าง” เพราะการพูดอะไรมิบังควรออกมาอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ แต่ถึงกระนั้น ก็ไม่วายเกิดการสังหารหมู่อย่างโหดเหี้ยมในย่านใจกลางเมือง
ทว่าแม้ความโหดร้ายและอยุติธรรมจะปรากฏขึ้นต่อหน้า แต่ผู้สังเกตการณ์หลายคนกลับเลือกที่จะเงียบ เพราะเกรงจะเป็นอันตราย แต่ก็ยังมีคนอีกไม่น้อยพยายามส่งเสียง บอกเล่าเหตุการณ์สังหารโหดนี้ผ่านน้ำเสียงที่สั่นเทา
ชัชชลก็จัดอยู่ในหมวดนี้ น้ำเสียงของเขาสั่นเทา หากแต่แยกออกได้ยากว่าสั่นเพราะความกลัวหรือสั่นเพราะความโกรธเคืองต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา
“เราไม่อาจมีชีวิตอยู่ในประเทศที่มีแต่คนตาย
และคำโป้ปดที่ลั่นปังจากปากกระบอกปืน
ฉันไม่รู้จริงๆ หรือแกล้งทำเป็นไม่รู้กันแน่”
(หน้า 51)
บางครั้งเสียงของความโกรธอาจระคายหูอย่างในบท บทกวีของผมอยู่ในกูเกิล
“แน่ล่ะ!
มันหยาบคายเกินไป
ก้าวร้าวเกินไป
เย่อหยิ่งและไม่มีสัมมาคารวะ
บ่อนทำลายศีลธรรมอันดี
ไม่หยุดอยู่แค่ภาษาชั้นต่ำ
แต่เสือกเปิดเผยตรรกะแข็งขืน
สาธยายความเปราะบางของเขาคนนั้น
ภาษาราชการเรียกว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง”
(หน้า 23)
แม้รู้ดีว่าเสียงของกวีไม่อาจเป็นตัวแทนของ ‘เหยื่อ’ จากความรุนแรงได้โดยตรง แต่อย่างน้อยก็ได้ส่งเสียงออกมาทำลายความเงียบของเหตุการณ์ที่ต่างคนก็รู้กันดี แต่ไม่พูดออกมา
เพราะบทกวีคือการทรยศ และซิการ์แห่งการทรยศได้ถูกจุดแล้วในสยามประเทศ…
บทกวีคือการทรพี
สำหรับผม ซิการ์ของชัชชลไม่ได้มีเพียงกลิ่นของเช แต่ยังอบอวลไปด้วยกลิ่นของฟรอยด์ (Sigmund Freud) ด้วย ซึ่งหากเปรียบเป็นเด็กน้อย ก็ไม่ต่างจากเด็กที่มีปมปัญหากับพ่อ (และอำนาจของพ่อ)
การชวนพ่อทะเลาะปรากฏขึ้นตรงนั้นทีตรงนี้ทีกระจายทั่ว ลุกไหม้สิ! ซิการ์ อาทิ ในบท มนุษย์!
“อย่าเข้าใจผิด
ท่านผู้ปกครอง
มนุษย์ไม่ใช่บุตรของท่าน
ไม่
ไม่มีวัน!
มนุษย์!
ไม่จำเป็นต้องคุกเข่าเคารพ
หรือเดินตามรอยเท้า
พวกเขารู้
ทหารเหล่านั้นไม่ใช่เทวทูต
ส่วนท่านไม่ใช่พระผู้เป็นเจ้า”
และบท ไม่มีใครกลับบ้าน
“พ่อ
คำถามที่เรายังเฝ้ารอคำตอบ
ไม่เกี่ยวกับเยื่อใยและสิ่งละอันพันละน้อยที่ผ่านพ้น
แต่อะไรคือความรักและการตอบแทนบุญคุณ
อะไรคือความหมายที่ไม่ได้อยู่ในตำราลูกที่ดี
อะไรคือคำสั่งสอนที่ไม่ถูกปั้นแต่งด้วยความดีงาม
บอกมาเถอะพ่อ
อะไรคือความจริง”
(หน้า 53)
ก็เฉกเช่นซิการ์ ‘พ่อ’ ในบทกวีชิ้นนี้สื่อถึงบางสิ่งบางอย่างหรือใครบางคน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเอามาแบให้เห็นกันโต้งๆ ตรงนี้ เพราะอย่างที่ชัชชลว่าไว้ “คนอ่านของผมย่อมรู้ดีว่าหมายถึงอะไร”
เมื่ออำนาจของพ่อล้นฟ้ามากเสียจนลูกที่ไม่เชื่อฟัง ไม่รัก ไม่ภักดี หรือไม่สำนึกในบุญคุณ ถูกขับไล่ไสส่งออกจากบ้านของพ่อโดยบรรดาลูกๆ ที่รักพ่อ บ้างก็หนีหัวซุกหัวซุนไปต่างแดน บ้างติดคุกหัวโตจนตายในนั้น บ้างตายนอกบ้านอย่างลึกลับ หรือบ้างก็ใช้ชีวิตต่อไปโดยแสร้งว่ารักพ่อ
‘ลูกรัก’ เหล่านั้นคงไม่อยากสูญเสียโลกที่มีพ่อคอยป้อนข้าวป้อนน้ำ คอยปกป้องดูแล และยังอยากทำตัวเป็นเด็กดีของพ่อตลอดเวลา แต่พวกเขากลับมองไม่เห็นว่าภายใต้การใช้อำนาจของพ่อเช่นนี้ก็สร้างความทุกข์แก่บรรดาพี่น้องร่วมบ้านจำนวนมาก
มิหนำซ้ำยังพลอยจะทำให้มนุษย์กลายเป็นเด็กไม่รู้จักโต ต้องพึ่งพาและอวดอ้างบารมีของพ่ออยู่เสมอ ในขณะที่เด็กคนอื่นที่ไม่เชื่อฟังหรืออยากจะกำหนดชีวิตของตนเองต้องกลับกลายเป็นผู้กระทำความผิดหรือเป็นเด็กมีปัญหา
หากจะใช้น้ำเสียงแบบฟรอยด์ ทางออกของเด็กมีปมกับพ่อเช่นนี้คือ การปิตุฆาต (patricide) นี่ไม่ได้หมายความว่าการฆ่าพ่อต้องเป็นความรุนแรงในเชิงกายภาพ หากแต่เป็นการ ‘ฆ่า’ ในเชิงสัญลักษณ์และความเชื่อ
เพราะในทางกายภาพ ‘พ่อ’ ของเรานั้นตายไปนานแล้ว แต่ความเชื่อในอำนาจของพ่อไม่เคยหายไปจากสังคม พูดง่ายๆ คือ วิญญาณของพ่อยังคงวนเวียนและส่งอิทธิพลแก่ลูกๆ จนถึงทุกวันนี้
ลุกไหม้สิ! ซิการ์ จึงไม่ได้ชวนเราจุดแค่ซิการ์ แต่ยังบ่งบอกว่าต้องจุดไฟเผา เพื่อสวดส่งวิญญาณของพ่อให้ไปสู่สุคติ เลิกยุ่งเกี่ยวกับสังคมและการเมืองเสียที การจุดไฟครั้งนี้จึงมิได้มุ่งเป้าไปแผดเผาร่างกายพ่อ แต่ให้จุดไฟผลาญภาพและมโนทัศน์ของพ่อต่างหาก
บทกวีจึงเป็นทั้งการทรยศและการทรพี!
บทกวีแห่งการลุกไหม้
บทกวีอาจเป็นการทรยศต่ออำนาจใดๆ ก็ตามที่กดขี่มนุษย์ แต่ ลุกไหม้สิ! ซิการ์ ย่อมไม่ใช่บทกวีที่ทรยศต่อสิ่งที่ตนเองยึดถือ
และนี่ก็ไม่ใช่บทกวีที่เหมาะแก่การอ่านเงียบๆ คนเดียวในห้อง หากคือบทกวีที่ต้องขับขานออกมาท่ามกลางหมู่มิตรสหายร่วมอุดมการณ์ เพื่อแสดงการพยศต่ออำนาจและปลดปล่อยมนุษย์ออกจากความสัมพันธ์ที่ไม่เท่า เพื่อกระตุ้นเร้าให้ใครต่อใครช่วยกันทำลายความอยุติธรรม และเพื่อสิ่งต่างๆ มากมายเท่าที่ใครจะนึกได้
เพราะนี่ก็คือการทรยศอย่างหนึ่งของกวี ไม่เชื่อก็ลองอ่านดูครับ
“ลุกไหม้สิ! ซิการ์
ทะลุทะลวงปวงเทวาแห่งยุคสมัย
ทุบทำลายความกลัวในหัวใจ
กล้าจุดไฟจนไหม้ฟ้าลุกไหม้สิ!
ลุกไหม้สิ!
วันพรุ่งนี้ต้องดีกว่า…
ทุกคนเป็นประชาชน คนธรรมดา
ที่งดงาม ชั่วช้า เก่งกล้า หรือโง่เง่า – เท่าเท่ากัน!”
(หน้า 14)
ลุกไหม้สิ! ซิการ์
ชัชชล อัจฯ เขียน สำนักพิมพ์ P.S. |